|
"ประกันชีวิตไทย-เทศ"เจรจาสงบศึกสมานฉันท์เบรกจ่ายค่าต๋งองค์กรอิสระ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ธุรกิจประกันชีวิตโลกตะวันออก และทุนตะวันออก เปิดโต๊ะ"เจรจาสงบศึก"ชั่วคราว ผนึกกำลังภายในเบรกจ่ายค่าต๋ง "องค์กรอิสระ" หน่วยงานที่จะเข้ามามีบทบาทแทน "กรมการประกันภัย" ในอนาคตชนิดถึงลูกถึงคน ตั้งคำถาม ปัญหาคือ ใครสมควรจ่าย?..." ....ฝ่ายธุรกิจ หรือ ฝั่งผู้บริโภค.... เดินเกมวิ่งเต้นต่อรองเฮือกสุดท้าย ก่อนจะถูกบังคับใช้เป็นกฎหมาย แต่ท้ายที่สุดบทสรุปคือ ผู้บริโภคก็ต้องจ่ายทั้งขึ้นทั้งล่อง...
การจ่ายเงินสมทบให้กับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยหรือ (คปภ.) องค์กรอิสระ ที่จะเข้ามาแทนที่กรมการประกันภัย ตามกฎหมายฉบับใหม่ที่ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ (สนช.) กลายเป็นหัวข้อร้อนที่ธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ต้องนำขึ้นมาถกเถียงอยู่นานหลายเดือน และดูเหมือนจะเป็นเหตุการณ์เดียวที่ทำให้ "ศัตรู" กลายมาเป็น "มิตร"
ฝั่งสมาคมประกันชีวิตไทย ที่เคยออกโรงตั้งหัวข้อโต้แย้งเกี่ยวกับตัวเลขสมทบหรือ ค่าตั๋ง มาก่อนชุดแรกมีทั้ง นายกสมาคมประกันชีวิตไทยและกรรมการแทบทั้งคณะ แต่ก็มีเสียงตอบกลับยังไม่เป็นที่น่าพอใจของแต่ละฝ่าย
เพราะกฎหมายตั้งเพดานสูงสุดระดับ 0.5% ของเบี้ยรวม ยังไม่นับรวมรายได้จากค่าธรรมเนียมอีก ซึ่งหลังมีการเรียกร้องอยู่ระยะหนึ่ง ก็มีการหั่นตัวเลขลงมาที่ 0.35% กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นระยะ
...แต่ดูเหมือน การคิดค่าต๋งไม่ว่าจะอยู่ระดับใด ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตก็มักจะทิ้งปริศนาไว้ให้ขบคิดว่า มันคือต้นทุนที่จำเป็นต้องผลักไปให้ผู้บริโภควันยังค่ำ ไม่ว่ารูปใดรูปหนึ่ง...
.....ซึ่งจะให้ดีที่สุด ทุกบริษัทก็คงไม่ต้องการจ่ายค่าต๋งด้วยซ้ำ...
สมาคมประกันชีวิตไทย ถึงกับกางตารางเปรียบเทียบให้ดูในอัตราตัวเลขที่ภาครัฐกำหนดคือ 0.35% และตัวเลขที่เอกชนต้องการคือ 0.05% รวมถึงค่าเผื่อในอัตราไม่เกิน 0.1% ซึ่งพบว่า เงินที่จ่ายเข้าไปสนับสนุนองค์กรอิสระยังมีเหลือเป็น สิบๆถึงหลัก เกือบ 1 พันล้านบาท หากเอารายได้หักจากค่าใช้จ่าย เหลือเป็นดอกผล รวมกับดอกเบี้ยทบต้นอีก 5%
ว่ากันว่า ตัวเลขที่สูงติดเพดานคือ 0.5% จะสร้างความเสี่ยง จนหลายบริษัทอาจต้องเพิ่มทุน และถ้าลูกค้าซื้อกรมธรรม์กับบริษัทเหล่านี้ ก็จะเกิดความเสี่ยงพอๆกัน
ในขณะที่มุมหน่วยงานรัฐยังคงตกเป็นเป้าโจมตีถึงการวิ่งไม่ทันเกม ไม่ติดตามใกล้ชิดธุรกิจที่บริหารงานผิดพลาดในอดีตจนเกิดความเสียหายเรื้อรังถึงปัจจุบัน
ผู้บริหารธุรกิจปะกันชีวิตรายหนึ่ง ถึงกับลงความเห็นว่า ถ้าหน่วยงานรัฐเกาะติดความผิดพลาด และทันเวลา ธุรกิจและอุตสาหกรรมก็คงเสียหายไม่มาก จนต้องมาตั้งกองทุนจัดเก็บค่าต๋ง ซึ่งสุดท้ายผู้บริโภคจะต้องรับภาระจากการคิดราคาเบี้ยที่สูงขึ้น แบบไม่มีทางเลี่ยง
การเจรจาที่ออกจะยืดเยื้อ ทำให้มีการผนึกกำลังเรียกร้องออกมาเป็นระลอก จนมาถึงคิวนายทุนจากโลกตะวันตก ซึ่งการออกโรงคราวนี้กำลังจะสื่อข้อความไปถึงฝั่งรัฐบาลว่า ค่าตั๋งที่คิดคำนวณไว้ในใจ ใครจะเป็นผู้จ่ายระหว่าง ผู้ซื้อ ซึ่งก็คือ ผู้บริโภค หรือ ผู้ขาย ฝั่งผู้ประกอบการ
วิลฟ์ แบร็คเบิร์น กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อยุธยา อลิอันซ์ ซีพี ประกันชีวิต (เอเอซีพี) อ้างถึงประเทศทั่วโลก ใช้วิธีจัดเก็บภาษีเพื่อสนับสนุนหน่วยงานนี้ โดยไม่เลือกว่าจะสังกัด กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลังหรือจะเป็นองค์กรอิสระ ที่พยายามจะให้ปลอดการเมือง
" ผู้กระทบมากที่สุด ก็คือ ผู้บริโภค ส่วนผู้ถือหุ้น และตัวแทนก็ยังเข้มแข็งเช่นเดิม ดังนั้นก็ต้องหันมาคิดว่า ควรจะผลักภาระให้ผู้ซื้อหรือจะเป็นทางออกอื่นคือ สนับสนุนให้ซื้อประกันชีวิต เป็นการออม และได้รับการลดหย่อนภาษีมากขึ้นแทน"
วิลฟ์ ถึงกับบอกว่า การเก็บค่าต๋งจากเบี้ยเท่าไร ธุรกิจก็จะมีต้นทุนมากเท่ากัน ดังนั้นบริษัทใหญ่ๆอาจเลือกจะรับภาระเอาไว้ได้จากกำไรที่ไหลเข้ามา แต่บริษัทขนาดเล็กคงมีปัญหา และวิธีเดียวก็คือ การให้ผู้ซื้อประกันภัยและประกันชีวิตแบกรับเอาไปเต็มๆ
นอกจากนั้น การจัดเก็บค่าต๋งก็ยังถูกมองว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของทุนจากต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กที่จะมีสภาพไม่ต่างจาก "ตกนรกทั้งเป็น" เพราะสถานะทางการเงินไม่แข็งแกร่งพอจะจ่ายได้
โดนัลด์ คาร์ดีน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต เห็นด้วยกับการเตรียมจัดตั้ง "องค์กรอิสระ" ที่จะช่วยให้เกิดความคล่องตัวในทุกด้าน แต่ก็ต้องมาหยุดอยู่ที่ ปัญหาคือ ใคร?...จะเป็นคนจ่ายค่าต๋งที่ว่านี้
นายฝรั่งจาก นิวยอร์ค แนะนำว่า ในประเทศต่างๆ ทุกบริษัทจะถูกจัดเก็บภาษีอยู่แล้ว และภาครัฐก็สามารถเจียดเอาเงินส่วนนั้นมาเป็นค่าใช้จ่ายให้หน่วยงานใหม่ได้ เพราะถ้าจะดึงเอาเงินจากธุรกิจก็มองว่าสูงเกินกำลังจะจ่ายได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะผลประกอบการกำไรเป็นตัวเลขเพียงหลักเดียว ซึ่งหากหมดทางเลือกจริงๆ ธุรกิจก็คงต้องผลักค่าใช้จ่ายไปที่ผู้ซื้อแบบไม่มีทางเลือก
" ในบางประเทศ หรือยกตัวอย่างในอเมริกา ที่รัฐจะบริหารกันอย่างเอกเทศ จะให้หน่วยงานนั้นตั้งงบขึ้นมา โดยให้ภาครัฐพิจารณาค่าใช้จ่ายจากภาษีที่จัดเก็บจากธุรกิจ"
โดนัลด์บอกว่า ระหว่างที่ยังไม่มีข้อสรุป ก็ยังพอมีช่องทางจะเจรจากันได้ โดยแนะนำว่า ควรตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณา ก่อนจะตัดสินใจในขั้นสุดท้าย
" ตราบใดที่ยังคงหารือกันได้ ถึงแม้กฎหมายจะเข้าสภาไปแล้ว ธุรกิจก็ยังมีความหวัง ยังมีโอกาสแก้ไขเปลี่ยนแปลง จนกว่าจะถึงวันสุดท้ายที่กฎหมายประกาศบังคับใช้"
ปัญหาใครจะเป็นผู้จ่ายค่าต๋ง ซึ่งเคยถูกมองเป็นเรื่องไกลตัวผู้บริโภค ในที่สุดก็ถูกดึงเข้ามาเป็นเรื่องใกล้ตัว ผู้ซื้อกรมธรรม์
ถ้าเปลี่ยนวิธีจัดเก็บ ผู้ซื้อก็คงรอดตัว ในทางตรงกันข้ามหาก ตัวเลขค่าต๋งวิ่งไปมาไม่แน่นอน และสุดท้ายต้องใช้อัตราใดอัตราหนึ่ง ถึงวันนั้นผู้ซื้อก็คงต้องรับผลของชะตากรรมแบบไม่มีทางเลือก
"องค์กรอิสระ" ที่ควรจะปลอดจากอำนาจการเมือง จึงเป็นประเด็นรองไปในทันที เพราะประเด็นหลักคือ ผู้บริโภคมักจะเสียเปรียบวันยังค่ำ....
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|