ผวาเงินไหลออกฉับพลัน-ธปท.จับตาบาททุกวินาที!


ผู้จัดการรายวัน(1 สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

“ธาริษา” หวั่นทุนนอกไหลออกแบบฉับพลัน เผยจับตาดูบาททุกวินาที “โฆสิต” ไม่ต้องห่วง ส่วน 6 มาตรการคุมบาทแค่ระยะสั้น ด้านสภาอุตฯ เผยความคืบหน้ากองทุนอุ้ม SME 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 กอง กองแรก 4,500 ล้าน สำหรับปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำจากแบงก์ชาติ 1.5% และแบงก์พาณิชย์ MLR-2.5 อย่างละ 2.25 พันล้าน ส่วนอีกกอง 500 ล้าน กันไว้ช่วยผู้ส่งออก NPL เตรียมสรุปร่วมกับภาครัฐ 6 สิงหาคมนี้

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท.กำลังติดตามผลจากการใช้ 6 มาตรการดูแลปัญหาค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพราะเกรงจะเกิดปัญหากลับด้าน คือมีเงินต่างประเทศไหลออกมากเกินไป ธปท.ยังจำเป็นต้องมีเครื่องมือเพียงพอ เพื่อดูแลความผันผวนของค่าเงิน ขณะนี้มีภาคเอกชนเข้ามาช่วยหลังจากออกมาตรการฯ ธปท.จึงไม่ได้ดำเนินการตามลำพังอีกต่อไป อย่างไรก็ตามเป็นมาตรการระยะสั้นที่สนับสนุนให้มีเงินไหลออกมากขึ้นเท่านั้น

“เบื้องต้นผลที่เห็นได้ในขณะนี้คือเงินบาทเริ่มนิ่งแล้ว แต่ในระยะต่อไปก็ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากคาดว่าปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงจะเกิดขึ้นต่อไป จึงจะส่งผลให้มีเงินไหลเข้าออกรุนแรงมากขึ้นอีกระยะหนึ่ง”

สำหรับ 6 มาตรการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ประกอบด้วย 1.การเปิดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สามารถลงทุนในหุ้นหรือการฝากเงินในต่างประเทศได้ไม่เกิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี พร้อมขยายเพดานการลงทุนของบริษัทจดทะเบียนจากปีละ 6.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ 2.ผู้ที่มีรายได้จากต่างประเทศ เช่น ผู้ส่งออกหรือกู้เงินจากต่างประเทศ ที่มีภาระผูกพันภายใน 12 เดือน สามารถฝากเงินได้ไม่เกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับบุคคลธรรมดา ส่วนนิติบุคคลไม่เกิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ 3.ปรับเพิ่มวงเงินที่ต้องการโอนไปต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ เช่น การโอนเงินให้ญาติในต่างประเทศ หรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อรายต่อปี 4.ขยายเวลาให้บุคคลที่มีรายรับเงินตราต่างประเทศ ต้องนำเงินดังกล่าวเข้าประเทศภายใน 120 วัน เป็นไม่เกิน 360 วัน

5.การยกเลิกข้อกำหนดผู้มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ ต้องขายออกหรือฝากภายใน 15 วัน เป็นไม่มีกำหนด 6.ให้นักลงทุนประเภทสถาบันสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ หรือฝากเงินกับสถาบันการเงินต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงาน

ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอให้นำทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศไปตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในต่างประเทศ นางธาริษาให้ความเห็นว่า จะต้องศึกษาและหารือกับผู้เกี่ยวข้องก่อนว่า มีความจำเป็นหรือสามารถจะรับมือ หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปได้หรือไม่

“วันพฤหัสฯ จะเล่าให้ฟังว่าหลังออกมาตรการไปเป็นอย่างไร”ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

นางธาริษา กล่าวถึงกรณีที่นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม กำชับให้ ธปท.ติดตามค่าเงินบาททุกชั่วโมงว่า ธปท.จะติดตามทุกวินาทีก็ได้ เพราะ ธปท.มีข้อมูลมากกว่าที่ตลาดมีอยู่ ขอให้สบายใจได้ เราไม่ได้นั่งหลับ

ขณะที่การประชุมผู้ว่าการธนาคารกลาง 16 ประเทศในภูมิภาคเอเชียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นางธาริษา กล่าวว่า ที่ประชุมได้แสดงความห่วงใยกับผลของเงินทุนที่ไหลเข้ามายังภูมิภาคเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาการไหลออกที่รุนแรงได้ในอนาคต

นายโฆสิต กล่าวถึงประเด็นค่าเงินบาทในระหว่างการเดินทางเยือนนักลงทุนยุโรป เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ตราบใดที่มีการหมุนเวียนของเงินทุนไปทั่วโลก และสถานการณ์การเงินโลกยังมีความผันผวน ธปท.ก็ต้องดูแลและบริหารเงินบาททุกชั่วโมง ทุกวัน เพราะไม่จำเป็นที่เงินดอลลาร์สหรัฐจะต้องอ่อนค่าลงทุกวัน เหมือนกับที่มีการคาดการณ์กัน ดังนั้นการติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนของโลกจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

“วันนี้ที่ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องค่าเงินบาท ก็จะต้องบริหารจัดการไม่ให้มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงมากเกินไป ต้องอยู่ในแถวเดียวกับเงินสกุลเพื่อนบ้าน”นายโฆสิต ระบุ

เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

วานนี้ (31 ก.ค) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 33.77/79 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 33.72/74 บาท/ดอลลาร์ นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพกล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าสุดของวันที่ระดับ 33.73 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดของวันที่ระดับ 33.85 บาท/ดอลลาร์

“วันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าในช่วงเช้าเนื่องจากวันศุกร์ตลาดหุ้นติดลบ ทำให้มีแรงซื้อดอลลาร์เข้ามาจากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ แต่ในช่วงบ่ายเงินบาทก็กลับมาแข็งค่าขึ้นจากแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออก ขณะที่เงินเยนและเงินยูโรเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากการทำ carry trade เมื่อตลาดหุ้นดาวโจนส์กลับมาปิดบวก”

สำหรับวันที่ 1 ส.ค. เขาคาดว่า เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.75-33.85 บาท/ดอลลาร์ โดยคืนวานนี้สหรัฐจะประกาศตัวเลข CORE PCE เดือน มิ.ย. และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในเขตชิคาโกเดือน ก.ค.

ดอกเบี้ยกองทุน SME ยังไม่ลงตัว

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกองทุนเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม หรือกองทุนสนับสนุน มูลค่า SMEs 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีจากวิกฤตค่าเงินบาทว่า จากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ได้ข้อสรุปว่า จะแบ่งกองทุนเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก มูลค่า 4,500 ล้านบาท ช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่ส่งออกและประสบกับปัญหาเรื่องค่าเงินบาทกู้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยมีแหล่งที่มาของเงินแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนละ 2,250 ล้านบาท โดยครึ่งแรกมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 1.5% อีกครึ่งหนึ่งขอกู้กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทางธนาคารพาณิชย์ เสนออัตราดอกเบี้ยมาที่อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) -2.5 โดยขณะนี้กำลังเจรจาต่อรอง เพราะภาคเอกชนต้องการให้ได้ดอกเบี้ย MLR-3 ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ ปัจจุบัน MLR ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อยู่ที่ 6.875 เปอร์เซ็นต์

ก่อนหน้านี้ นายสมมาต ขุนเศษฐ รองเลขาธิการ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า กลุ่มสถาบันการเงินยืนยันที่จะให้ใช้ MLR-2.25 แต่ภาคเอกชนต้องการดอกเบี้ย 1.5 เปอร์เซ็นต์ หรือเท่ากับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสนับสนุน

นายสันติ กล่าวต่อว่า เงินจำนวนอีก 500 ล้านบาท กันสำรองเอาไว้จะนำมาช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีด้านส่งออกที่ประสบกับปัญหาเป็นหนี้เสีย หรือ NPL โดย ธปท.จะอนุมัติเงินสมทบ 90 เปอร์เซ็นต์ และธนาคารพาณิชย์สนับสนุนเพิ่มเติมอีก 10 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ ในวันที่ 6 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จะประชุมหาข้อสรุปเกี่ยวกับ 6 มาตรการช่วยแก้วิกฤตค่าเงินบาท และเมื่อได้ข้อสรุปต่างๆ แล้ว จะให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้านส่งออกที่ประสบปัญหาค่าเงินบาท ได้มาขึ้นทะเบียน เพื่อขอรับการช่วยเหลือ ซึ่งจะทำให้รู้ตัวเลขที่ชัดเจน ว่ามีจำนวนผู้ประกอบการด้านเอสเอ็มอีด้านส่งออกที่ได้รับผลกระทบจำนวนเท่าไร หลังจากนั้น จะเสนอข้อสรุปเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และคณะรัฐมนตรีต่อไป

“มั่นใจขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือน เงินจะถึงมือเอสเอ็มอีได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ กกร.จะหารือมาตรการลดผลกระทบค่าเงินบาทในด้านอื่นๆ ซึ่งหลังจาก ธปท.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือยังต้องใช้เวลาในการติดตามประมาณ 1 - 2 เดือน ขณะนี้เห็นว่าแนวโน้มค่าเงินบาทได้เริ่มอ่อนค่าลงเล็กน้อย ถือว่าเอกชนมีความพึงพอใจแม้จะมีเงินทุนไหลเข้ามา แต่ค่าเงินบาทไม่ผันผวนมากนัก “นายสันติ กล่าว และเผยต่อว่า ในเบื้องต้นเอสเอ็มอีส่งออกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มสิ่งทอ กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา เพราะเจอการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่ง สิ่งที่ทำได้ขณะนี้ ต้องพยายามหาตลาดใหม่ ในส่วนของค่าเงินบาท แม้เริ่มอ่อนค่าลงมาบ้างเล็กน้อย แต่ต้องการให้ค่าเงินมีเสถียรภาพและอ่อนค่าลงมามากกว่านี้ เชื่อว่า หลังจากที่กองทุนต่างๆของภาครัฐได้ไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาเสถียรภาพของค่าเงินบาทได้

อีกทั้ง จากการจับมือกันทำงานของรัฐบาลและเอกชน แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของตลาดทุนไทย ซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินไม่ให้แกว่งมากนัก แม้แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF) ยังเห็นว่า การแก้ปัญหาค่าเงินบาทของไทยเป็นแนวทางที่ดี แต่คงต้องรอดูอีก 2-3 อาทิตย์ เพื่อเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น

สสว.เผย SME รายใหม่เจ๊งปีละ 35 เปอร์เซ็นต์

นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวยอมรับวานนี้ว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบการ SME ที่เกิดขึ้นใหม่ได้ปิดกิจการลงแล้วประมาณร้อยละ 30-35 ต่อปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการ SMEเกิดใหม่ประมาณร้อยละ 50 จากที่ตั้งเป้าไว้จำนวน 4 หมื่นรายในช่วงระหว่างปี 2550 – 2554

ทั้งนี้ สสว.ได้เตรียมงบประมาณไว้ 80 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องจากผู้ประกอบการ SME รวมถึงผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.