|
ช้างปลุกตลาดแรงเยอร์เสริมพอร์ต
ผู้จัดการรายวัน(1 สิงหาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ช้าง แสงโสม เหล้าขาว เปิดเผยว่า นโยบายของบริษัทไทยเบฟเวอเรจคือการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มทุกประเภท ที่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทและเสริมความแข็งแกร่งให้แก่พอร์ตโฟลิโอ ดังนั้นขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาซื้อโรงงานผลิตเครื่องดื่มชูกำลังภายใต้แบรนด์”แรงเยอร์” จากตระกูลเวศย์วรุฒม์ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ทั้งนี้การเข้าซื้อโรงงานผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการทำธุรกิจของบริษัท เพื่อขยายไลน์สินค้าให้ครอบคลุม
สำหรับเมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทภิรมย์สุราซึ่งเป็นบริษัทลูกของไทยเบฟเวอเรจ ได้เทกโอเวอร์เหล้าขาวยี่ห้อ"เสือขาว"ของตระกูลเวศย์วรุฒม์มาแล้ว สำหรับโรงงานผลิตเครื่องดื่มชูกำลังแรงเยอร์ ทางเจ้าของแบรนด์ได้แจ้งความประสงค์มาจะขายให้บริษัทไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งปัจจุบันเครื่องดื่มชูกำลังแรงเยอร์ ถือว่าเป็นแบรนด์ที่ดีในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังอยู่แล้ว ดังนั้น หลังจากได้ข้อสรุปที่ชัดเจน การทำตลาดคงจะไม่เปลี่ยนเป็นแบรนด์ใหม่ แต่จะอาศัยการมีดิสทริบิวชั่นด้านการกระจายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ครอบคลุมเอื้อต่อการทำธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่บริษัทเข้ามาดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง มีแนวโน้มว่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาทจะมีความคึกคักมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมองว่า การแข่งขันที่รุนแรงจะส่งผลดีให้แก่ผู้บริโภคมากกว่า ส่วนปัญหาความสัมพันธ์ที่มีกันมาอย่างยาวนาน ระหว่างเครื่องดื่มชูกำลังคาราบาวแดง ซึ่งกลุ่มคาราบาวตะวันแดงดำเนินธุรกิจ ส่วนกระทิงแดง กลุ่มเฉลียว อยู่วิทยา หรือกระทั่งเอ็ม-150 เป็นของกลุ่มโอสถสภา เชื่อว่าไม่กระทบ เพราะที่ผ่านมาแรงเยอร์ก็มีการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง
คาราบาวแดงชี้ตลาดแข่งขันสนุก
นายกมลดิษฐ สมุทรโคจร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อคาราบาวแดง เปิดเผย ว่า การตัดสินใจซื้อโรงงานผลิตเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อแรงเยอร์ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการ ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จากตระกูลเวศย์วรุตม์ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพ่อค้า ย่อมมองหาโอกาสแตกไลน์เครื่องดื่มนอนแอลกฮอล์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจ ทั้งนี้การก้าวเข้ามาดำเนินธุรกิจดังกล่าวจะส่งผลให้ตลาดมีความคึกคัก
“ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมีมูลค่าสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท แม้อัตราการเติบโตลดลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2ปีที่ผ่านมา เนื่องจากกำลังการซื้อของผู้บริโภคในระดับรากหญ้าลดลง แต่เชื่อว่าคุ้มค่า หากเข้ามารุกทำตลาดอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมา แบรนด์แรงเยอร์ ในตลาดถือว่าเป็นแบรนด์ที่ผู้คนไทยรู้จัก แม้ว่าจะมี ส่วนแบ่งตลาดไม่มากนัก ราว 2-3%โดยปัจจุบันในตลาดดังกล่าว เอ็ม-150 เป็นผู้นำตลาดครองส่วนแบ่งกว่า 50% คาราบาวแดง 25% เป็นต้น”
ตอกย้ำผู้นำข่มน้องใหม่ลุยเหล้าขาว
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อถึงกรณีกลุ่มนายวานิช ไชยวรรณ ผู้ถือหุ้นบริษัทไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ไฮเนเก้น ได้ร่วมทุนกับกลุ่มซาน มิเกล จากฟิลิปปินส์ ตั้งโรงงานผลิตเหล้าขาว จังหวัดกาญจนบุรี ในนาม”ซี.เอ็น.ที. ไวน์ แอนด์ ลิเคอร์ ตนมองว่า เป็นไปตามระบบการค้าเสรี ที่ทุกธุรกิจสามารถดำเนินการได้ ดังนั้นในเรื่องของการแข่งขันเป็นเรื่องพื้นฐานที่จะต้องเจออยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันบริษัทถือว่ามีความแข็งแกร่งในตลาดเหล้าขาว โดยเป็นผู้นำตลาดครองส่วนแบ่งถึง 70 % จากมูลค่า 3.7 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังมีโรงงานผลิตเหล้าขาวอยู่ถึง 12 โรง ครอบคลุมทั่วภูมิภาคในประเทศไทย ส่วนโรงงานผลิตสุราสีไทยอีก 4 โรง และโรงงานผลิตเบียร์อีก 3 โรง
“การเข้ามาของคู่แข่งมองว่าเป็นเรื่องที่ดี นับว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้บริโภคที่จะได้รับสินค้าที่ดีมีคุณภาพภายใต้ราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังส่งผลดีกระแสข่าวลบที่เหล้าขาวไม่ต้องโฆษณาที่ขายได้ เพราะที่ผ่านมาคู่แข่งโจมตีแต่เฉพาะไทยเบฟเวอเรจรายเดียว ในขณะที่ในตลาดมีผู้ประกอบการอื่นๆ อีกตั้งหลายราย”
ด้านนายวิโรจน์ จันทรโมลี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า เป็นเรื่องปกติที่ตลาดเหล้าขาวจะมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาดำเนินธุรกิจ เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่มีมูลค่าถึง 3.7 หมื่นล้านบาท ดังนั้นคู่แข่งคงเล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาด แม้ว่าขณะนี้ภาวะตลาดเหล้าขาวและเหล้าสีไทยมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท จะไม่ค่อยหวือหวาหรือดีมากนักก็ตาม
ล่าสุดบริษัทได้ทุ่มงบกว่า 300 ล้านบาท จากงบรวมการตลาดทั้งหมดร่วม 1 พันล้านบาท เปิดตัวโครงการ”ไทยเบฟ ไทยทาเลนท์” ซึ่งเป็นโครงการแรกภายใต้แนวคิดซีเอสอาร์ (Corporate Social Responsibilities:CSR) หรือการดำเนินธุรกิจภายใต้การรับผิดชอบสังคม โดยโครงการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมความสามารถและพรสวรรค์ของคนไทย โดยแบ่งให้การสนับสนุนออกเป็น 4 หมวด ได้แก่ กลุ่มทาเลนต์ด้านดนตรี กลุ่มทาเลนต์ด้านกีฬา กลุ่มทาเลนต์ด้านศิลปวัฒนธรรม และกลุ่มทาเล้นท์ด้านการศึกษา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|