|

ตลท.เล็งรื้อระบบค่าคอมฯ ขาใหญ่ขู่ต้นทุนพุ่งหยุดเทรด
ผู้จัดการรายวัน(1 สิงหาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลท.ให้สมาคม บล.ศึกษาแยกเก็บค่าธรรมเนียมธุรกรรม “เคลียริ่ง-รีเสิร์ช-เทรดหุ้น” รองรับการเปิดเสรีค่าคอมฯ ในอนาคต คาด 2-3 เดือนได้ข้อสรุปเบื้องต้นก่อนเสนอให้ตลท.พิจารณาอีกครั้ง “กัมปนาท” เผย ตลท.ขอความร่วมมือให้สมาคม บล.ผลักดันโบรกเกอร์เปิดสาขาย่อย หรือ Cyber Brance วงการชี้การปฎิบัติจริงอาจจะยาก แม้ว่าทฤษฎีจะดีก็ตาม ด้านนักลงทุนรายใหญ่โวยต้นทุนปัจจุบันสูงอยู่แล้ว หากเก็บเพิ่มอีกเชื่อมีหลายคนหยุดเทรดหุ้นแน่
นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการอำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เปิดเผยถึงการหารือระหว่างตัวแทนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสมาคม บล.ว่า ตลท.ได้ให้สมาคม บล.ศึกษาทบทวนเกี่ยวกับการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน ในการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเทรดดิ้ง จากเดิมที่ต้องวางค้ำประกันทั้ง 100% ซึ่งจะครบกำหนดภายในสิ้นปี 2550
นอกจากนี้ ได้หารือเพื่อให้สมาคมตั้งทีมงานศึกษารายละเอียด ในการแยกเก็บค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับธุรกรรมต่างๆ เช่น ระบบหักบัญชี ค่าใช้บทวิจัย รวมถึงค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ จากปัจจุบันที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมเพียงแค่การซื้อขายหลักทรัพย์เท่านั้น ซึ่งการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเป็นไปเพื่อรองรับการเปิดเสรีค่าคอมมิชชัน และใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับขั้นตอนในการศึกษาคาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนเพื่อหาข้อสรุปในเบื้องต้นก่อนจะเสนอตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป
“ตลท.อยากให้ศึกษาในเรื่องการแยกการเก็บค่าธรรมเนียมในธุรกรรมแต่ละประเภท ส่วนหนึ่งเป็นการรองรับการเปิดเสรีในอนาคต และเป็นการเพิ่มช่องให้มีการแข่งขันในธุรกิจได้อย่างเต็มที่” นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์กล่าว
นายกัมปนาท กล่าวอีกว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯอยากให้สมาคมบล.ร่วมผลักดันให้บริษัทหลักทรัพย์หันมาเปิดสาขาย่อย (Cyber Brance) โดย ตลท.ตั้งเป้าให้บริษัทหลักทรัพย์เปิดสาขาออนไลน์ 100 สาขาในปีนี้ โดยในเรื่องดังกล่าวบริษัทที่มีธนาคารเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จะได้เปรียบ เนื่องจากสามารถนำสาขาออนไลน์เข้าไปเปิดในพื้นที่ของธนาคารได้ทันที
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่มีบริษัทแม่หรือผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นธนาคาร การเปิดสาขาในศูนย์การค้า หรือ สถานที่ที่มีประชาชนที่สนใจลงทุนเป็นจำนวนมากก็เป็นอีกช่องทางในการเพิ่มรายได้และสร้างนักลงทุนหน้าใหม่
“กลุ่มที่มีธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นใหญ่คงได้เปรียบ เพราะหากพร้อมเปิดสาขาก็จะมีสาขาเพิ่มอีกค่อนข้างมาก แต่กลุ่มที่ไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์ ก็คงต้องหาแหล่งที่มีประชาชนเข้าไปใช้บริการ อย่างเช่น ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น” นายกัมปนาทกล่าว
แหล่งข่าวจากผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า การแยกค่าธรรมเนียมการซื้อขายกับธุรกรรมอื่นๆ ในทางทฤษฎีถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้บริษัท เร่งหาความแข็งแกร่งของบริษัท เนื่องจากการกำหนดค่าธรรมเนียมที่ไม่เท่ากัน จะทำให้นักลงทุนสามารถที่จะเลือกใช้บริการในสินค้าแต่ละประเภทได้อย่างเสรี โดยขึ้นอยู่กับการบริการและความน่าเชื่อถือของบริการนั้นๆ
ทั้งนี้ ในแง่ปฎิบัติของตลาดทุนไทยเรื่องดังกล่าวอาจจะทำได้ยาก เนื่องจากนักลงทุนไม่เคยที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์หลายประเภท แต่อาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการซื้อขาย จะกลายเป็นเกราะที่ทำให้นักลงทุนไม่เข้ามาซื้อขายหรือนักลงทุนที่ซื้อขายอยู่ในปัจจุบัน เปลี่ยนการลงทุนไปในลักษณะอื่นๆแทนก็ได้
“ก็ต้องถือว่าเป็นแนวความคิดที่ดีที่จะให้มีการแยกการเก็บค่าคอมมิชชั่นในแต่ละธุรกรรม โบรกเกอร์ที่มีความเด่นในเรื่องบทวิเคราะห์และวิจัย ก็จะมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น เพราะสามารถเก็บค่าคอมมิชชันได้ในระดับที่สูงกว่าที่อื่น แต่เรื่องดังกล่าวอาจจะทำให้นักลงทุนเบื่อที่จะติดตาม จนเลือกที่ไม่ซื้อขายก็ได้” แหล่งข่าวผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์กล่าว
นักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า หากมีการศึกษาให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมหลายอย่าง อาจส่งผลให้ต้นทุนในการลงทุนสูงขึ้นกว่าปัจจุบันที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในอัตรา 0.25% เชื่อว่าอาจจะทำให้นักลงทุนจำนวนหนึ่งหยุดซื้อขายในตลาดหุ้นไทย ขณะที่เชื่อว่านักลงทุนที่มีวอลุ่มการซื้อขายจำนวนมาก อาจจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นให้เสียค่าบริการในระดับที่ต่ำกว่านักลงทุนรายย่อย
“ทุกวันนี้ เราลงทุนก็มีต้นทุนหลายเรื่องอยู่แล้ว ถ้าต้นทุนที่เคยเสียอยู่ต้องเพิ่มขึ้น รายใหญ่ๆจำนวนหนึ่งคงเปลี่ยนการลงทุนไปลงทุนอย่างอื่นแทน เราหวังลึกๆ ว่าเขาน่าจะมีการยกเว้นให้แก่นักลงทุนรายใหญ่ที่มีพอร์ตลงทุนเยอะๆ ให้เสียค่าคอมมิชชันน้อยกว่าปกติ เพราะอย่างน้อยก็ช่วยให้ตลาดหุ้นเคลื่อนไหว” แหล่งข่าวนักลงทุน กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|