Core Group ของ บัณฑูร ล่ำซำ

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

อำพล และ ยุทธชัย คือ "ผู้ร่วมอุดมการณ์" ของกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยยุคนี้ เขาทั้งสองอยู่ในทีมแรกของการปรับรื้อระบบ (Re-engineering) ธนาคารกสิกรไทยเมื่อปี 2537

อำพล โพธิ์โลหะกุล ปัจจุบันอายุเพียง 34 ปี เขามีตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสแล้ว โดยมีอายุงานเพียง 9 ปีเท่านั้น หลังจากจบปริญญา วิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาฯ ก็ได้ทุนธนาคารกสิกรไทยไปเรียน MBA ที่ University of Michigan, Ann Arbor (สถานศึกษาเดียวกับบัญชา ล่ำซำ) จาก นั้น ก็เริ่มทำงาน ที่ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ดูแลแผนกบัตรเครดิต เมื่อปี 2533 จากนั้น ก็ถูกคัดเลือกอยู่ในทีมงานใหม่ ที่เรียกว่าส่วนยุทธศาสตร์ และนวัตกรรมในปี 2537 พร้อมกับพบทีมงาน ที่ถูกคัดเลือกมารวมกันเพียงกลุ่มเล็กๆ

รวมทั้งยุทธชัย ชูศักดิ์ภักดี (อายุ 41 ปี) กับตำแหน่งผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมการปฏิบัติการในปัจจุบัน ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานกิจการสาขามากว่า 12 ปีแล้ว จากพื้นความรู้ปริญญาตรีด้านบริหาร ที่มหาวิทยาลัยเปิด (สุโขทัยธรรมาธิราช) เมื่อเข้าทำงานสาขา และมีโอกาสเข้ามาประจำสำนักงานใหญ่ ก็ได้ทุนธนาคารเรียนต่อ ที่ศศินทร์ในระดับปริญญาโท (สาขาการบริหาร-MM)

ทั้งสองมีประสบการณ์แตกต่างกันแต่ประสานกันลงตัวในเรื่อง Re-engineering พอดี

อำพลมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างดี ยิ่งเป็นคนหนุ่มย่อมไม่มีกรอบความคิด ที่แน่นหนาในเรื่องกระบวนการทำงานเก่าของธนาคารทำให้ การประยุกต์กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ในมุมมอง ที่กว้างขึ้น

เทคโนโลยีสารสนเทศ ถือว่ามีส่วนสำคัญในการจัดข้อมูลในระบบธนาคารใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะสาระสำคัญของกระบวนการธนาคาร ก็คือ การจัดการกับข้อมูลนั่นเอง

ขณะเดียวกันยุทธชัย คนหนุ่ม ที่อายุยังน้อยแต่มีประสบการณ์ด้านสาขาธนาคารมากถึง 12 ปี โดยเฉพาะในช่วง ที่สาขาธนาคารกสิกรไทยขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ประสบการณ์ของเขาเป็นพื้นฐานสำคัญมาก เพราะ Re-engineering ของธนาคารกสิกรไทยครั้งนี้ เริ่มรื้อระบบบริการที่สาขาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ทั้งสองโคจรมาพบกัน และร่วมในทีมแรก ที่ทำงานร่วมกับบัณฑูร ล่ำซำ ในการบุกเบิกการทำงานครั้งใหญ่

ทั้งสองบอกว่าเขาประทับใจในความมุ่งมั่นอย่างเต็มเปี่ยมของกรรมการผู้จัดการที่ทุ่มเทอย่างมาก โดยเฉพาะกับผลงานสาขาแรก ที่สาขาสนามเป้า กรุงเทพมหานคร "ทุกอย่างเริ่มทำกันในวันเสาร์-อาทิตย์ และก็จบลงใน 2 วันตามเป้าหมาย โดยท่านกรรมการผู้จัดการอยู่กับเราตลอดเวลา" อำพล เล่าให้ฟัง

เขาเน้นว่า นี่คือ ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ

จากนั้น สาขาอื่นๆ จึงตามมา เมื่อแผนการทดลองเป็นที่ยอมรับของ กรรมการธนาคาร ที่บัณฑูรขออนุญาตทำให้ปรากฏเป็นจริงเพียงสาขาเดียวก่อน

ทั้งสองก็คือ บุคคล ที่ "ร่วมอุดมคติ" กับกรรมการผู้จัดการ ตั้งแต่นั้น มาพวกเขาก็คือ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ที่เติบโตในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว ในยุคใหม่ ยุคของการให้รางวัลอย่างเต็มที่สำหรับคนที่มีผสานดี

เมื่อปี 2538 ทั้งสองขึ้นสู่ระดับผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย และพัฒนา กระบวนการทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานต่อเนื่องมาจากแผนใหญ่ Re- engineering ส่วน ยุทธชัย มาดูแลฝ่ายส่งเสริมปฏิบัติการ ทำหน้าที่ให้ความกระจ่างเรื่อง กระบวนการทำงานของสาขา ที่เกี่ยวกับกระบวนการทำงานใหม่ ซึ่งถือว่าไม่แยก ออกจากงานรื้อระบบเสียทีเดียว

ปัจจุบัน อำพลก้าวหน้าไปอีก ขึ้นเป็นผู้อำนวยการอาวุโส ด้วยวัยเพียง 34 ปี ขณะที่ยุทธชัยยังอยู่ ที่เดิม

พวกเขาคือ กลุ่มระดับผู้อำนวยการรุ่นใหม่อีกจำนวนมาก ที่ทยอยขึ้นมา สามารถตอบสนองงานกรรมการผู้จัดการได้อย่างเต็มที่ ไม่มีเพียงเฉพาะอำพล และยุทธชัยเท่านั้น

"เดี๋ยวนี้มีแนวคิดใหม่ หน้าใหม่ๆ อายุ 30-40 ปีเยอะ เพราะถ้าอยู่แบบแต่ก่อนนะ ป่านนี้คงไปแล้ว นี่คือ สำคัญที่สุด ไม่ได้ Core Group เหล่านี้โงหัวไม่ขึ้นหรอก" บัณฑูร ล่ำซำ เรียกคนรุ่นใหม่อย่างอำพล และยุทธชัยว่า Core Group



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.