|

แนะทำซีเคียวฯรับมือบาทผันผวนธปท.จี้แบงก์ปรับตัวก่อนเปิดเสรีการเงิน
ผู้จัดการรายวัน(26 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ธอส.ระดมกึ๋น 14 แบงก์ไทย-เทศจัดสัมมนาลดความเสี่ยงสถาบันการเงินโดยทำซีเคียวรีไทเซชั่นและประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย รมว.คลังหนุนบริหารความเสี่ยงตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ฝั่งแบงก์ชาติชี้ระบบการเงินเปลี่ยนแบงก์พาณิชย์มีโอกาสทำกำไรสูงแต่ต้องบริหารความเสี่ยงให้ครบทั้ง 5 ด้าน "ทิสโก้"ระบุจากประสบการณ์ทำซีเคียวแห่งแรกในประเทศส่งผลให้รอดพ้นจากวิกฤตต้มยำกุ้ง "บัวหลวง"ย้ำหากทำสำเร็จส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง"การลดความเสี่ยงของสถาบันการเงินโดยใช้การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์และการประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องมือ”วานนี้(25 ก.ค.) ที่โรงแรมดุสิตธานี ว่า การบริหารความเสี่ยงถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งยอมรับว่าในปัจจุบันตลาดเงินและตลาดทุนของโลกมีความผันผวนอย่างมาก โดยเฉพาะในตลาดทุนในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวขึ้นกว่า 30 จุด ในขณะที่ตลาดต่างประเทศปรับตัวลดลง เพราะฉะนั้นถือเป็นความผันผวนในตัวเองที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับตลาดเงินก็มีความผันผวนค่าเงินสหรัฐฯ ก็อ่อนลงเป็นประวัติการณ์ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงขึ้นมาดูแลสิ่งเหล่านี้อย่างเต็มที่
"ปัจจุบันมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในปัจจุบันที่ตลาดเงินตลาดทุนมีความผันผวนสูง เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามากทำให้ค่าเงินแข็งขึ้นมากซึ่งมองในอีกมุมการที่ค่าเงินแข็งค่าอาจมีผลดีหลายด้านเช่นกันเพราะหากค่าเงินยังไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นปีอาจต้องเติมน้ำมันแพงถึงลิตรละ 35 บาท แต่สำหรับเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นจำนวนมากจึงต้องดูแลอัตราแลกเปลี่ยนควบคู่ไปด้วยเช่นกัน”นายฉลองภพกล่าว
รมว.คลังกล่าวว่า สังคมจะต้องเข้าใจถึงเรื่องการบริหารความเสี่ยงว่าหากทำได้อย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถป้องกันปัญหาได้ทุกภาคส่วนไม่เฉพาะแต่ในระบบสถาบันการเงินเท่านั้น จากประสบการณ์ที่ประเทศไทยเคยประสบวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 การบริหารความเสี่ยงของประเทศในทุกระดับประสบความล้มเหลวเพราะการลงทุนหรือใช้จ่ายทุกอย่างเกินตัว
ดังนั้น ภายหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานปรัชญาการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงให้กับคนไทยทุกคนนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ซึ่งนับว่าเป็นแนวทางที่ค่อนข้างตรงกับการบริหารความเสี่ยงได้อย่างแท้จริง แต่หลายๆ ฝ่ายยังไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างไรต้องทำความเข้าใจและนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม
"ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจทำทุกอย่างตรงข้ามกับเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อเกิดเหตุการณ์ต้องมาประยุกต์ใช้ทำอะไรก็อย่าให้เกินพอดี พอประมาณ มีเหตุผลซึ่งจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี การทำซีเคียวรีไทเซชั่นและมอร์เกจ อินชัวรันส์ถือเป็นการช่วยลดความเสี่ยงที่ดีแต่ต้องทำอยู่บนพื้นฐานของธรรมาภิบาลที่ดี และจะช่วยให้ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านไม่ผันผวนส่งผลให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยขยายตัวได้อีกมากทั่วประเทศ” รมว.คลังกล่าว
ธปท.แนะบริหารความเสี่ยงให้ครบ 5 ด้าน
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ในปัจจุบันระบบเศรษฐกิจไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากโดยเฉพาะด้านตลาดเงินตลาดทุนอันเนื่องมาจากการเปิดตลาดการเงินอย่างเสรีและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ออกมามาก การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือเป็นโอกาสที่ธนาคารพาณิชย์จะสามารถกอบโกยกำไรจากการทำธุรกิจได้มากขึ้นกว่าเดิม
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวและโอกาสในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นนั้นจะต้องไม่ลืมการบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมาพร้อมกันถึง 5 ด้าน ประกอบไปด้วย 1.ความเสี่ยงทางด้านเครดิตถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเพราะธุรกิจหลักของธนาคารคือการปล่อยสินเชื่อการควบคุมของธปท.จึงได้กำหนดปริมาณการให้วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 25% ของกองทุนขั้นที่ 1 เพื่อไม่ให้สินเชื่อกระจุกตัวมากเกินไป นอกจากนี้แล้วเดิมที่คำนึงถึงเพียงความคุ้มค่าของหลักประกันต่อไปนี้ต้องพิจารณาความสามารถในการชำระเงินของลูกหนี้ เครดิตสกอริ่ง เครดิตเรตติ้งและเครดิตบูโรมาเป็นส่วนประกอบด้วย
2.ความเสี่ยงด้านตลาดเนื่องจากแบงก์มีการลงทุนในตราสารต่างๆ มากขึ้นสินค้าที่มีออกมามีความซับซ้อนและมีบทบาทมากขึ้นจึงต้องหาเครื่องมือที่เหมาะสมในการควบคุมปัจจัยความเสี่ยงนี้ 3.ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องซึ่งแม้ว่าผลการดำเนินการของแบงก์จะออกมาดีแต่หากมีปัญหาสภาพคล่องก็อาจเกิดปัญหาอื่นตามมาได้ แบงก์เองควรกำหนดสภาพคล่องให้มีความเหมาะสมกับธุรกรรมที่มีอยู่
4.ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการจะต้องมีระบบธรรมาภิบาลที่ดีให้สถาบันการเงินมีการตัดสินใจโดยมีการถ่วงดุลอำนาจกัน ขณะที่ความเสี่ยงที่ 5 คือด้านกลยุทธ์ต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาให้มีความเหมาะสมกับขอบเขตของธุรกิจสถาบันการเงิน
นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจสถาบันการเงินเน้นการเพิ่มสัดส่วนของการทำการตลาดมากจนละเลยการบริหารความเสี่ยง ธอส.ได้ตระหนักถึงความสำคัญในจุดนี้จึงตั้งริเริ่มจัดตั้งเครดิตบูโร ตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เพื่อเตือนภัยด้านอสังหาริมทรัพย์ การเปิดตลาดบ้านมือสองเพื่อลดสินทรัพย์รอการขาย(NPA)ของธนาคารลง แต่การจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ เหล่านั้นขึ้นมายังไม่เพียงพอที่จะบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของธนาคารดังนั้นจึงเห็นว่าแนวทางในการลดความเสี่ยงของสถาบันการเงินโดยใช้การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์(ซีเคียวรีไทเซชั่น)และการประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องมือ(มอร์เกจ อินชัวรันส์) มาเป็นส่วนช่วยในการบริหารความเสี่ยงที่น่าจะมีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่ง
"ตอนนี้ธอส.กำลังหาสถาบันการเงินที่เหมาะสมมาทำซีเคียวฯ และมอร์เกจฯ เพื่อออกบอนด์แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาดูความเหมาะสมของเศรษฐกิจเป็นส่วนประกอบ อย่างไรก็ตามขั้นตอนการทำต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เพราะเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมอาจทำไม่ทันได้ ซึ่งหวังว่าภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจะให้การสนับสนุนเพื่อลดความเสี่ยงของสถาบันการเงินและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน” นายขรรค์กล่าว
นางสาวชมพูนุท สุมนะเศรณี ที่ปรึกษาโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์และโครงการประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธอส. กล่าวว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์จะช่วยลดหรือปิดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ช่วยสร้างแหล่งเงินทุนที่หลากหลายมีการผสมผานเงินทุนไม่ให้มีการกระจุกตัวหรือพึ่งพาแหล่งเงินทุนประเภทใดประเภทหนึ่ง เช่น เงินฝาก มากจนเกินไป
นอกจากนี้ ยังทำให้ธนาคารสามารถให้สินเชื่อเพิ่มมากขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มทุนและเป็นภาระของกระทรวงการคลัง สามารถออกตราสารหนี้ระยะยาวได้ซึ่งในบางครั้งอาจยาวกว่าการออกตราสารหนี้ตามปกติที่ใช้งบดุลของสถาบันค้ำประกัน และการทำซีเคียวฯ มีการจัดชั้นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำไม่มีการล้มละลาย ไม่ต้องกลัวว่าสถาบันนั้นจะมีการบริหารจัดการที่ดีมีกำไรหรือไม่ เนื่องจากความเสี่ยงจะขึ้นกับคุณภาพของลูกหนี้เป็นหลักซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก โอกาสที่พอร์ตทั้งหมดจะเป็นหนี้เสียจึงมีน้อย
ทิสโก้ฟุ้งพ้นวิกฤตเพราะทำซีเคียวฯ
นางอรชุน อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการและรองกรรมการอำนวยการ ธนาคารทิสโก้ จำกัด(มหาชน) TISCO กล่าวว่า การทำซีเคียวรีไทเซชั่นในระยะยาวถือว่ามีประโยชน์อย่างมากจะช่วยทำให้เศรษฐกิจทั้งระบบแข็งแกร่งไม่ใช่การลดความเสี่ยงเฉพาะระบบสถาบันการเงินเท่านั้น และเป็นการลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ไม่มีความสมดุลทั้งด้านรายรับและรายจ่ายต้องบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่ออยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้ ธนาคารทิสโก้เองในฐานะที่เป็นสถาบันการเงินแห่งแรกของประเทศที่มีการทำซีเคียวรีไทเซชั่นตั้งแต่ปี 2537 แต่ขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับและสถาบันการเงินต่างๆ ก็ไม่สนใจที่จะร่วมทำซีเคียวฯ ดังนี้กระบวนการขั้นตอนต่างๆ ทิสโก้จึงเป็นผู้ดำเนินการโดยลำพังซึ่งใช้เวลาในการดำเนินการยาวนานมากเนื่องจากระบบของการติดตามข้อมูลไม่สะดวกสบายดังเช่นทุกวันนี้
แต่พอหลังจากสถาบันการเงินอื่นเห็นความสำคัญและเข้ามาร่วมทำซีเคียวฯ กับทิสโก้จึงสามารถดำเนินการได้ในช่วยต้นปี 2540 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งภาพรวมของเศรษฐกิจในขณะนั้นถือว่าดีมาก แต่พอหลังจากที่กระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้นเพียงสองเดือนหลังจากนั้นก็มีการลอยตัวค่าเงินบาทจาก 25 บาท เป็น 50 กว่าบาททันทีแต่ทิสโก้แทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจเลยและยืนหยัดมาได้จนถึงทุกวันนี้
"การทำซีเคียวต้องมองภาพในระยะยาวไม่มีใครตอบได้ว่าใน 1-2 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นจะต้องมองภาพในระยะยาวเท่านั้นแล้วจะเกิดประโยชน์มหาศาลกับสถาบันการเงิน เพราะพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อที่ทำซีเคียวฯ ออกไปจำนวน 6 พันล้านบาททำให้ทิสโก้รับรู้ความเสี่ยงที่ถูกตัดออกไปได้ไปสู่ผู้ที่ยอมแบกรับความเสี่ยงในตลาดต่างประเทศ เป็นการเปลี่ยนสินเชื่อที่ไม่มีสภาพคล่องให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง” นางอรชุนกล่าว
ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม
นายสุรพันธ์ ปูรณคุปต์ SVP สายวานิชธนกิจ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) BBL กล่าวว่า ประโยชน์ที่เกิดจากการทำซีเคียวรีไทเซชั่นในระดับมหภาคสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนได้แก่ 1.ประโยชน์ต่อระบบสถาบันการเงินจะทำให้ระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพเกิดความแข็งแกร่ง ทางด้านสภาพคล่องจะลดความเสี่ยงของความไม่สมดุลจากการปล่อยกู้โดยการพึ่งพาเงินฝากเพียงอย่างเดียวและเป็นการเพิ่มแหล่งเงินทุน
ขณะที่ด้านผลประกอบการจะช่วยลดการกระจุกตัวของสินเชื่อทำให้ลดผลกระทบจากภาวะอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ เป็นการโอนสินเชื่อและความเสี่ยงออกจากงบดุลทำให้ขยายธุรกิจและรายได้โดยไม่ต้องเพิ่มทุน และยังช่วยเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมลดความผันผวนของรายได้จากดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังมีส่วนทำให้คุณภาพสินทรัพย์ที่ดีพัฒนาระบบสัญญาณเตือนภัยเพื่อรักษาคุณภาพสินเชื่อ
2.ประโยชน์ต่อตลาดเงินตลาดทุนช่วยให้ระบบตลาดเงินตลาดทุนมีมาตรฐานสากลมีการพัฒนาที่ต่อเนื่อง เกิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ช่วยเพิ่มขนาดหรือมูลค่าของตลาดให้ใหญ่ขึ้นซึ่งช่วยให้ตลาดมีสภาพคล่องมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเพิ่มความหลากหลายของนักลงทุนทั้งนักลงทุนต่างประเทศ นักลงทุนในประเทศทั้งสถาบันและรายย่อย และทำให้เกิดมุมมองที่ต่างกันของผู้ลงทุนประเภทต่างๆ ทำให้มีการซื้อขายในตลาดและสร้างสภาพคล่อง
นอกจากนี้ ยังเพิ่มระบบการกำกับดูแลที่ดีและโปร่งใสมีการควบคุมโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการควบคุมที่ดีและโปร่งใส ส่วนความเห็นของนักลงทุนยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการควบคุมที่ดีและโปร่งใสได้เช่นกัน
และ3.ประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมจะมีความมั่นคงมากขึ้นเป็นระบบเศรษฐกิจที่เติบโตพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องลดภาระของรัฐบาลในการดูแลที่อยู่อาศัยของประชาชนสามารถนำเงินงบประมาณส่วนนี้ไปพัฒนาด้านอื่นแทน เป็นการพัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังสามารถระดมทุนได้ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำและแม้ว่าประเทศจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ
"และประโยชน์ที่เกิดขึ้นอีกทางคือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น โดยธนาคารสามารถให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นโดยไม่มีภาระที่ต้องเพิ่มทุน ขณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้นและมีต้นทุนในการกู้เงินที่ถูกลงและท้ายที่สุดเป็นการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนสำหรับประชาชน” นายสุรพันธ์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|