จับตาบาทอ่อนฉุดตลาดหุ้นรูด


ผู้จัดการรายวัน(26 กรกฎาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดหุ้นเริ่มผันผวนหลังเห็นสัญญาณนักลงทุนมีการขายทำกำไร วอลุ่มยังหนาแน่นถึง 4.1 หมื่นล้าน นายกสมาคมโบรกเกอร์ ชี้จับตาสัญญาณต่างชาติขายเมื่อค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่า รับหากเงินร้อนไหลออกพร้อมกันกว่า 1 แสนล้านกระทบตลาดหุ้นแน่ ระบุมาตรการบรรเทาค่าบาทแข็งหากใช้ยาอ่อนเกินไปยิ่งกระตุ้นให้บาทแข็ง โบรกเกอร์ชี้หุ้นน้ำมันราคาพุ่งแตะราคาเป้าหมายปีหน้าแล้ว จับตาโยกหุ้นจากกลุ่มพลังงาน-แบงก์ไปกลุ่มอื่น

ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ (25 ก.ค.) ดัชนีแกว่งตัวค่อนข้างผันผวนตลอดทั้งวัน แต่ยังมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นขนาดใหญ่หลายบริษัทส่งผลทำให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นไปปิดที่ 883.65 จุด เพิ่มขึ้น 2.70 จุด หรือ 0.31% โดยจุดสูงสุดของวันอยู่ที่ 891.33 จุด และจุดต่ำสุดอยู่ที่ 875.69 จุด มูลค่าการซื้อขาย 41,074.59 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 312.37 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 336.83 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 24.46 ล้านบาท

นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างรุนแรง ซึ่งตามทฤษฎีต้องมีการปรับตัวลดลง โดยจุดสำคัญในรอบนี้ที่จะเป็นสัญญาณว่าตลาดหุ้นอาจจะมีการปรับตัวลดลง คือ สัญญาณของค่าเงินบาท ซึ่งหากมีการอ่อนค่าการทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติ 2 ด้านทั้งจากราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไปและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นก็จะเปลี่ยนไปและอาจจะทำให้ตลาดหุ้นเริ่มปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ เม็ดเงินที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิมากกว่า 1 แสนล้านบาทในปีนี้หากมีการนำถอดเงินที่ลงทุนออกไปพร้อมกันมูลค่าเงินกว่า 1 แสนล้านบาทที่จะถูกถอนออกไปก็น่าจะส่งผลกระทบอย่างไม่น้อยกับตลาดหุ้นไทย

"ต้องจับตาค่าเงินบาทหากอ่อนค่าด้วยปัจจัยพื้นฐานจริงๆ กำไร 2 ทางของนักลงทุนต่างชาติที่ได้จากเดิมก็จะเหลืออย่างเดียวซึ่งอาจจะเป็นจังหวะที่จะมีการขายหุ้นออกไปซึ่งหากมีการขายเต็มทุกบริษัทเม็ดเงินกว่า 1 แสนล้านก็น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นแน่นอน"นายกัมปนาทกล่าว

ในส่วนของมาตรการของทางการเพื่อบรรเทาการแข็งค่าเงินบาทส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่จะช่วยในแก้ปัญหาในระยะยาวโดยในช่วงเวลาสั้นๆคงไม่เห็นผลได้อย่างชัดเจนแต่อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงเทคนิคเท่านั้น

ทั้งนี้ มาตรการใดๆที่รุนแรงเกิดไปในหลายครั้งที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงตามมา แต่ในขณะเดียวกันการใช้มาตรการที่อ่อนเกินไปก็อาจจะยิ่งทำให้ปัญหาในเรื่องนั้นๆรุนแรงมากขึ้น โดยปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าการบรรเทาปัญหาด้วยมาตรการที่อ่อนก็อาจจะยิ่งทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าได้อีก

นางสาวจิตติมา อังสุวรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟาร์อีสท์ จำกัด กล่าวว่า วานนี้ในช่วงบ่ายดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีการปรับตัวลดลง เนื่องมาจากนักลงทุนเทขายทำกำไร หลังจากดัชนีเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัจจัยจากตลาดต่างประเทศที่มีการปรับตัวลดลง แต่ยังมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นกลุ่มพลังงานซึ่งเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ทำให้ดัชนียังปิดในแดนบวกได้

ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่หลังจากนี้ หุ้นที่จะดันดัชนีให้ปรับตัวขึ้นจะเปลี่ยนกลุ่ม โดยปัจจุบันหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่หลายตัว ทั้งในกลุ่มพลังงาน และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ราคาเท่ากับราคาอ้างอิงของปีหน้าแล้ว โดยเฉพาะหุ้นบมจ.โรงกลั่นน้ำมันระยอง หรือ RRC และบมจ.อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) หรือ ATC ที่ราคาในปัจจุบัน เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับระดับราคาหลังการควบรวมกิจการกัน

"โอกาสที่จะดันขึ้นไปถึง 900 จุดนั้น ยังคงมีอยู่ขึ้นอยู่กับเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ โดยมองว่าตอนนี้ยังไม่มีปัจจัยลบ และถ้าดอลลาร์ยังอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ก็ยังคงมีโอกาสที่เม็ดเงินจะไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเซียอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน " นางสาวจิตติมากล่าว

แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ บีที กล่าวว่า ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ 890 จุด แต่ไม่สามารถผ่านขึ้นไปได้ ทำให้เกิดการเทขายทำกำไรออกมา โดยในระยะสั้นดัชนีน่าจะแกว่งตัวในกรอบแคบ และอาจจะมีแรงเทขายทำกำไรออกมา ทั้งนี้ กรอบแนวรับที่ 875 จุด และแนวต้านที่ 890 จุด

"ปัจจัยการเมืองจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาด หรือการเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เพราะสิ่งที่ต่างชาติกังวลจริงๆ คือมาตราการของธนาคารแห่งประเทศไทยมากกว่า เพราะถ้าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง ก็คงกดดนให้แบงค์ชาติออกมาตรการอื่นๆ มาอีก"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.