ทิสโก้เตรียมเป็นแบงก์


ผู้จัดการรายวัน(17 เมษายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

นายปลิว มังกรกนก ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเงินทุนทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (TISCO) เปิดเผยว่าขณะนี้ บริษัทเขาพร้อมแล้วที่จะยกฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ ยืนยันพร้อมแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ โดยบริษัท หากยกฐานะเป็นแบงก์ จะทำธุรกิจเฉพาะทางที่บริษัทถนัด โดยเฉพาะการเน้นเจาะลูกค้าองค์กร (Wholesale banking) ขณะที่บริษัทพัฒนาระบบบแบ็คออฟฟิศรองรับแล้ว พร้อมเสริมด้วยระบบไอที ที่ทำให้บริษัท หากยกฐานะเป็นแบงก์ ไม่จำเป็นต้องมีสาขามาก

พร้อมเป็นแบงก์

เขากล่าวว่า บง. ทิสโก้พัฒนาทุกระบบของบริษัทพร้อมแล้ว เพื่อยกฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีประสิทธิภาพแห่งใหม่ รอเพียงไฟเขียวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เท่านั้น

แต่เขากล่าวว่า แม้บริษัทเขาขณะนี้มีฐานะเป็นเพียงบริษัทเงินทุน “ผมเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์หลายแห่งปัจจุบัน ไม่ได้บริหารดีกว่าบริษัทเงินทุนของไทยทุกแห่งที่มีอยู่ปัจจุบัน รวมถึง บง. ทิสโก้ โดยเฉพาะหลังจากฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540” เขากล่าวอย่างหนักแน่น

ณ สิ้นปี 2545 บง. ทิสโก้ทรัพย์สินรวม 4.92 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% จากปี 2544 กำไรสุทธิ 1,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.5% มูลค่าบัญชี 10.25 บาท เพิ่ม 7.5% อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) 19% เพิ่ม 11.8%

เล็งทายาท 2-3 คน

นอกจากนี้ เขายังเตรียมทายาทนั่งตำแหน่งของเขาในอนาคต หลังจากที่เขาเกษียณอายุอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจต่ออายุออกไปอีก โดยขณะนี้ คณะกรรมการสรรหาของบริษัทมองไว้ 2-3 คน ทั้งคนใน-นอกบริษัท

ขณะนี้ เขากล่าวว่า บง. ทิสโก้เน้นการให้บริการลูกค้า เพื่ออำนวยความสะดวกมากที่สุดเป็นหลัก แม้จะเป็นเพียงบริษัทเงินทุน นายปลิวเชื่อว่าบริษัทเขา บริหารงานประสิทธิภาพดีกว่าธนาคารพาณิชย์ในไทยหลายแห่ง รวมถึงคล่องตัวในการบริหารงานมากกว่า

เช่น สินเชื่อธุรกิจเช่าซื้อ ที่บริษัทเงินทุนในไทยขณะนี้ คิดจากลูกค้าต่ำกว่าดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้า เพราะต้นทุนบริหารบริษัทเงินทุนน้อยกว่า นอกจากนี้ บริษัทเงินทุนมีความยืดหยุ่นที่จะทำหรือไม่ทำธุรกิจการเงินได้มากกว่าธนาคารพาณิชย์ปัจจุบัน

แต่เขายอมรับว่า หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวเต็มที่ ธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะขนาดใหญ่ที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ จะได้เปรียบในแง่การประหยัดต่อขนาด (Economyo of scale) ซึ่ง บง. ทิสโก้ก็มุ่งหวังที่จะยกฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ ที่มีจุดเด่นดำเนินธุรกิจเฉพาะ เพราะขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายให้บริษัทเงินทุนที่พร้อม ยกฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นธนาคารจำกัดธุรกิจ เช่น ธนาคารธนชาต

เพราะด้วยการพัฒนาระบบแบ็ค ออฟฟิศรองรับของบริษัทไว้แล้ว รวมถึงการพัฒนาอย่างรวดเร็วของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การมีสาขาครอบคลุมอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนปัจจุบัน ที่สำคัญคือ การเพิ่มขนาดฐานลูกค้าให้ได้มากที่สุด

“ธุรกิจธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุน ก็เหมือนธุรกิจสื่อสาร เช่น เอไอเอส ที่ลูกค้าเป็นอันดับ 1 มากกว่าดีแทคปัจจุบัน ที่สำคัญคือ การอนุญาตให้บริษัทเงินทุนยกฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความยุติธรรม บนพื้นฐานการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน” เขากล่าว

ธรรมาภิบาลดึงต่างชาติลงทุน

ซีอีโอ บง.ทิสโก้ กล่าวว่าการบริหารงานของบริษัทที่ผ่านมา เน้นให้ความสำคัญบรรษัทภิบาลมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นจริยธรรม ศีลธรรม ผู้บริหารและพนักงาน จนได้ชื่อว่าเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมการบริหารงาน

แต่ระยะแรก ไม่ได้เรียกวัฒนธรรมดังกล่าวว่าบรรษัทภิบาล (Good Corporate Governance) จึงทำให้ไม่เป็นที่รู้วงกว้างมากนัก อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ผู้บริหารระดับสูงบริษัททุกคนจะถูกส่งไปอบรมกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directorsั Association)

ขณะที่คณะกรรมการบริษัท 10 คน ซึ่งวางนโยบาย ทิศทาง และควบคุมการบริหารงานบริษัท โดยไม่ก้าวก่ายการบริหารงานบริษัทในรายละเอียด ก็ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลชัดเจน จนส่งผลนักลงทุนต่างประเทศสนใจลงทุนหุ้นบริษัทเพิ่ม

“เพราะนอกเหนือจากเรื่องของผลประกอบการแล้ว บรรษัทภิบาลก็เป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนต่างประเทศพิจารณา ดังนั้นปัจจุบัน บริษัทมีผู้ถือหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะกองทุนจากชาติตะวันตก สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 52% ของทุนจดทะเบียนบริษัททั้งหมด 700 ล้านหุ้น พาร์ 10 บาท

นักลงทุนสถาบันในประเทศ ซึ่งรวมทั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 22% ที่เหลือ 26% เป็นนักลงทุนรายย่อยในประเทศ

สงคราม-หวัดมรณะไม่กระทบปล่อยสินเชื่อ

ปัจจัยภายนอกสงครามมะกัน-อิรักรอบ 2 ที่มะกันประกาศชัยชนะแล้ว ทั้งที่ยังจับซัดดัม ฮุสเซน ประธานาธิบดีอิรักไม่ได้ และโรคทางเดินลมหายใจเฉียบพลัน (หวัดมรณะหรือซาร์) กระทบระยะสั้น แต่เขาเชื่อว่า อัตราขยายตัวการปล่อยสินเชื่อ ยังขยายตัวได้ 20% จากปีที่แล้ว

พอร์ตสินเชื่อรวมบริษัทปัจจุบันประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ 2.6 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็นช่วง ็น้ำขึ้นต้องรีบตักิ สำหรับบริษัทเงินทุน สินเชื่อธุรกิจ 1 หมื่นล้านบาท

โครงสร้างรายได้หลักบริษัท ยังคงจากการปล่อยสินเชื่อ 50% รายได้ค่าธรรมเนียม 25% และรายได้การซื้อขายหลักทรัพย์ 25% บริษัทมีแผนจะขยายสำนักงานอำนวยสินเชื่ออีก 4 แห่งปีนี้ ตามจังหวัดขนาดใหญ่ รวมถึงระยอง และภาคใต้ โดยขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว จากปัจจุบัน 10 แห่ง

เพื่อขยายฐานสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น เพราะรายได้จากการปล่อยสินเชื่อ 60% มาจากการปล่อยสินเชื่อเขตภูมิภาค

นายปลิว ให้ความเห็นว่า การที่บริษัทรถยนต์ให้บริการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อเอง ไม่ถือว่ากระทบการทำธุรกิจบริษัทเงินทุนมากนัก เพราะการปล่อยสินเชื่อบริษัทรถยนต์เอง จะทำเพื่อต้องการเพิ่มยอดขายรถยนต์ช่วงทำการตลาด (โปรโมชั่น) ซึ่งอาจมีผลกระทบระยะสั้น

แต่หากภาพรวมตลาดยังขยายตัวได้ ธุรกรรมเช่าซื้อบริษัทเงินทุนยังขยายตัวได้ การขยายเครือข่ายระยะยาว ต้องใช้เวลาพอสมควร นอกจากนั้น บริษัทรถยนต์แต่ละแห่งที่ปล่อยสินเชื่อเอง ก็ถูกจำกัดเฉพาะรถยนต์ของค่ายตน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.