ฌาน ดาร์ก (Jeanne d' Arc)

โดย สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษลุ่มๆ ดอนๆ ด้วยสาเหตุจากอดีตที่ผลัดกันรบชนะและแพ้ ความรู้สึก "หมิ่น" กันในทีถ่ายทอดมาจนถึงชนชั้นปัจจุบัน ยามพูดถึงกันและกัน จะ "เยาะเย้ย ถากถาง" พอให้คันๆ ในอารมณ์ เคยชมรายการโทรทัศน์อังกฤษ นำนโปเลอง (Napoleon) มาแสดงตลกได้น่าขัน ก็นโปเลองผู้ยิ่งใหญ่ที่รบชนะเกือบทุกประเทศในยุโรป มีอันต้องแพ้ดุ๊คแห่งเวลลิงตัน (duke of Wellington) ของอังกฤษที่วอเตอร์ลู (Waterloo)

กีโยม ดุ๊กแห่งนอร์มองดี (Guillaume, duc de Normandie) ยกทัพไปรบชนะอังกฤษที่เฮสติ้ง (Hasting) จึงได้สมญานาม ว่า Guillaume le Conquerant ซึ่งก็คือ William the Conqueror นั่นเอง Guillaume le Conquerant จึงเป็นทั้งกษัตริย์ฝรั่งเศสและอังกฤษ และเป็นที่มาของความสัมพันธ์อันสับสนยุ่งเหยิง ด้วยว่ามีการแต่งงานระหว่างเจ้าฝรั่งเศสและเจ้าอังกฤษ จนเกิดการอ้างสิทธิในบัลลังก์ของอีกฝ่ายอยู่เสมอ

เมื่อถึงปี 1328 ราชวงศ์กาเปเซียง (capetien) ของฝรั่งเศสมีเหตุให้สิ้นสุดลงเมื่อโอรสทั้งสามองค์ของกษัตริย์ฟิลิป เลอ เบล (Philippe le Bel) สิ้นพระชนม์ไล่เลี่ยกัน ขุนนางจึงพร้อมใจกันเชิญฟิลิป ดุ๊กแห่งวาลัวส์ (Philippe Comte de Valois) ขึ้นครองราชย์แทนที่จะเป็นกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 3 (Edward III) ของอังกฤษซึ่งเป็นหลานของฟิลิป เลอ เบล ต่อมาในปี 1340 เอ็ดเวิร์ดที่ 3 อ้างสิทธิในบัลลังก์ฝรั่งเศส และนั่นเป็นที่มาของสงคราม 100 ปีซึ่งต่างผลัดกันแพ้และชนะ

ปี 1415 กษัตริย์เฮนรีที่ 5 (Henry V) แห่งอังกฤษ ยกทัพมาตีฝรั่งเศสที่เมืองกาเลส์ (Calais) ฌอง ซองส์ เปอร์ ดุ๊กแห่งบูร์โกญ (Jean sans Peur, Duc de Bourgogne) และรัชทายาทคือชาร์ลส์ จำต้องประนี ประนอมกับอังกฤษ เซ็นสัญญาที่ชื่อว่า Pacte de Calais ยอมรับกษัตริย์อังกฤษ รวมทั้งรัชทายาทที่พึงมีในฐานะรัชทายาทในบัลลังก์ฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ฌอง ซองส์ เปอร์ ถูกคนใกล้ชิดของชาร์ลส์แทงตาย ฟิลิป เลอ บง (Philippe le Bon) ดุ๊กแห่งบูร์โกญคนใหม่ซึ่งเป็นโอรสของฌอง ซองส์ เปอร์ ได้เข้ากับอังกฤษ อังกฤษจึงถือโอกาสให้มีสัญญาเมืองทรัวส์ (Troies) กำหนดให้เฮนรีที่ 5 แห่งอังกฤษอภิเษกกับคาเธอรีน เดอ ฟรองซ์ (Catherine de France) ธิดาของชาร์ลส์ที่ 6 ดังนั้นสมบัติของราชวงศ์วาลัวส์ (Valois) จะตกแก่โอรสหรือธิดาของเฮนรีที่ 5 และคาเธอรีนหลังจากสิ้นรัชสมัยชาร์ลส์ที่ 6 อีกทั้งยกเลิกการแต่งตั้งรัชทายาท ที่เรียกว่า dauphin ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นโอรสของกษัตริย์

ขุนนางฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยกับสัญญาฉบับนี้ ถึงกระนั้นเมื่อชาร์ลส์ที่ 6 สวรรคต ฝรั่งเศสไม่มีการแต่งตั้งกษัตริย์อีก ชาร์ลส์ซึ่งเป็น dauphin ต้องหนีไปยังลุ่มแม่น้ำลัวร์ (Loire) หลังจากที่เฮนรีที่ 5 สวรรคต โอรสคือเฮนรีที่ 6 ซึ่งมีอายุเพียง 10 เดือน อ้างสิทธิในบัลลังก์ฝรั่งเศส

ในช่วงนี้เองที่เกิดวีรสตรีในฝรั่งเศส ได้แก่ ฌาน ดาร์ก (Jeanne d'Arc) หรืออีกนัยหนึ่ง โจน ออฟ อาร์ค (Joan of Ark) ในภาษาอังกฤษ เด็กสาวชาวเมืองดงเรมี (Domremy) ผู้ได้ยินเสียงสวรรค์เรียกให้เป็น ผู้นำฝรั่งเศสขับไล่อังกฤษและนำรัชทายาทกลับมาครองบัลลังก์ ฌานปลอมตัวเป็นผู้ชาย และเข้าเฝ้า dauphin คือชาร์ลส์ที่ปราสาทชีนง (Chinon) ฌานประกาศจะทำให้ชาร์ลส์ ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกที่เมืองแรงส์ (Reims) ชาร์ลส์จึงมอบหมายให้ฌานเป็นผู้นำในการปลดปล่อยเมืองออร์เลอองส์ (Orleans) ซึ่งอังกฤษยึดครองอยู่ แม้จนทุกวันนี้ชาวเมืองออร์เลอองส์ยังฉลองอิสรภาพในวันที่ 7 และ 8 พฤษภาคม อันเป็นวันที่ภารกิจของฌานบรรลุผลในปี 1429 ด้วยเหตุนี้ ฌานจึงได้สมญานามว่า la Pucelle d'Orleans สาวพรหมจรรย์แห่งออร์เลอองส์ หลังจากที่สามารถขับไล่อังกฤษให้พ้นจากลุ่มแม่น้ำลัวร์ ฌานนำชาร์ลส์ไปทำพิธีราชา ภิเษกที่เมืองแรงส์ เป็นกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 7

หลังจากนั้น ฌานพยายามหว่านล้อม ให้ชาร์ลส์ที่ 7 ยกทัพไปยึดกรุงปารีสคืน จากดุ๊กแห่งบูร์โกญ หากชาร์ลส์ที่ 7 ลังเล ฌานจึงนำทัพไปเอง เข้าโจมตีทาง Porte Saint-Honore (อยู่ไม่ห่างจากพระราชวังลูฟวร์ ปัจจุบันมีรูปปั้นขี่ม้าของฌาน ดาร์กตั้งอยู่) ทว่าชาร์ลส์ที่ 7 สั่งให้ล่าถอยกลับ ลุ่มแม่น้ำลัวร์ และยุบกองทัพเสีย อย่างไรก็ตาม ฌานนำทัพในนามของตนเอง และต้องสู้กับแม่ทัพท้องถิ่น หากไม่ประสบความสำเร็จและถูกจำขังในปราสาทเทรมุย (Tremouille) ฌานหนีออกมาได้เพื่อไปช่วยเมืองกงปิแอญ (Compiegne) ซึ่งถูกกองทัพ บูร์โกญล้อมอยู่ ฌานถูกจับได้และถูกขายแก่อังกฤษด้วยเงิน 100,000 ฟรังก์ อังกฤษนำตัวฌานไปส่งมอบแก่สังฆราชแห่งโบเวส์ (Beauvais) ซึ่งเป็นพันธมิตรของตน ฌานถูกนำไปขังที่ปราสาทของฟิลิป-โอกุสต์ (Philippe-Auguste) ที่เมืองรูออง (Rouen) ถูกกล่าวหาว่ามีความเห็นนอกรีต และถูกตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็นที่เมืองรูอองในวันที่ 30 พฤษภาคม 1431 ฌานถูกเผาถึงสามครั้งด้วยกันเพื่อให้เหลือแต่เถ้าถ่าน ซึ่งถูกนำไปโปรยในแม่น้ำแซน (Seine) ตรงที่เป็นสะพานฌาน ดาร์ก (Jeanne d'Arc) ในปัจจุบัน

เรื่องราวของฌาน ดาร์ก น่าจะหมดเพียงแค่นั้น หากไม่พบขวดแก้วบรรจุอัฐิของ วีรสตรีผู้นี้ในปี 1867 ในห้องใต้หลังคาของร้านขายยาแห่งหนึ่งในถนนตองปล์ (rue du Temple) ที่เข้าใจเช่นนั้นเพราะมีป้ายติดที่ขวดว่า อัฐิของฌาน ดาร์ก จากกองเถ้าถ่าน ณ ที่เผา ต่อมาในปี 1963 ขวดนี้ถูกนำไปเก็บที่พิพิธภัณฑ์ศิลป์และประวัติศาสตร์ของเมืองชีนง ในขวดมีเศษกระดูกซี่โครงยาว 10 เซนติเมตร ห่อด้วยผ้าลินินสีดำคล้ำยาวประมาณ 15 เซนติเมตร กระดูกต้นขาของแมวและเศษถ่าน

ขวดแก้วได้รับการดูแลอย่างดีและเป็นสมบัติของสังฆมณฑลแห่งตูรส์ (Tours) จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2006 ศาสนจักรจึงอนุมัติให้นำอัฐิดังกล่าวมาพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ตั้งคณะกรรมการ 18 คนเพื่อทำการทดลอง และพบว่ามีสิ่งผิดปกติตั้งแต่ปลายปี 2006 ตามการทดลอง ของฟิลิป ชาร์ลีเอร์ (Philippe Charlier) แพทย์ด้านนิติเวช อัฐิดังกล่าวไม่ได้ถูกเผาแต่อย่างใด คราบสีดำที่เกาะอยู่มาจากการปลงด้วยสารสกัดจากพืชและแร่ธาตุ ส่วนผ้าสีดำนั้นละม้ายผ้าหุ้มมัมมี่ของอียิปต์ นอกจากนั้นยังพบเศษเกสรสนเป็นจำนวนมาก ซึ่งในปี 1431 ยังไม่มีการปลูกต้นสนในนอร์มองดี (Normandie) ทว่า ชาวอียิปต์ใช้เรซินสนในการทำมัมมี่ เมื่อพิจารณาจากผลการทดลองทั้งปวง สรุปได้ว่า อัฐิดังกล่าวไม่ใช่ของฌาน ดาร์ก หากมีอายุเก่าแก่กว่านั้น กล่าวคือราวศตวรรษที่ 6 และ 3 ก่อนคริสต์ศักราช และเป็นเศษซากมัมมี่นั่นเอง

นอกจากนั้น คณะกรรมการยังได้เชิญ นักปรุงน้ำหอมสองคนจากฌอง ปาตู (Jean Patou) และแกร์แลง (Guerlain) มาดมกลิ่นในขวดโดยไม่บอกที่มา ได้ความว่าเป็น กลิ่นวานิลลาและกลิ่นปูนขาว อันว่าปูนขาวนั้นพอเกี่ยวเนื่องกับฌาน ดาร์กได้ เพราะฟืน ที่ใช้เผานั้นวางบนปูนขาว ส่วนกลิ่นวานิลลา เกิดจากปฏิกริยาเคมีเมื่อร่างกายเริ่มเปื่อยเน่า

ตั้งแต่ยุคกลาง ยุโรปนำเข้าเศษซากมัมมี่เพื่อนำมาทำยา

ตำนานอัฐิของฌาน ดาร์ก จึงจบลงด้วยประการฉะนี้ จึงไม่ต้องตามไปดูถึงเมืองชีนงอีก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.