|
It couldn’t be helped
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
Fumio Kyuma อาจเป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์โชกโชน และดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง
แต่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม วิบากกรรมที่ส่งผลให้เขาต้องพ้นจากตำแหน่ง กลับเป็นผลมาจากถ้อยคำจากปากของเขาเอง
โอษฐภัยของ Fumio Kyuma เกิดขึ้นจากปาฐกถาของเขาต่อนักศึกษามหาวิทยาลัย Reitaku ในเขต Kashiwa จังหวัด Chiba เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา
โดยเขาระบุว่าการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมือง Hiroshima และ Nagasaki ซึ่งเป็นเหตุให้สงครามสิ้นสุดลง เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้
"...the bombings of Hiroshima and Nagasaki brought the war to an end. I think it was something that couldn't be helped..."
กรณีของ Fumio Kyuma กลายเป็นหินหนักที่หล่นใส่หลังให้ Shinzo Abe และพรรค LDP ต้องเผชิญก่อนการเลือกตั้งวุฒิสภา ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมอย่างไม่อาจเลี่ยง
Fumio Kyuma สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว เมื่อปี 1964 เป็นชาว Nagasaki โดยกำเนิด (4 ธันวาคม 1940) และเริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองท้องถิ่นด้วยการเป็นสมาชิกสภาจังหวัดของ Nagasaki ตั้งแต่ปี 1971 ก่อนที่จะผันตัวสู่การเมืองระดับชาติในปี 1980
Fumio Kyuma สามารถชนะการเลือกตั้ง และเข้าสู่รัฐสภาของญี่ปุ่นในฐานะผู้แทนจากจังหวัด Nagasaki มาอย่างต่อเนื่องถึง 9 สมัย พร้อมกับการก้าวขึ้นมามีบทบาทและตำแหน่งสำคัญในพรรค LDP และในรัฐบาลด้วย
ในปี 1996 เมื่อ Ryutaro Hashimoto ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี Fumio Kyuma ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Minister of State for Defense และดำรงตำแหน่งดังกล่าวกระทั่ง พ้นสมัยของ Ryutaro Hashimoto ในปี 1998
ขณะที่ตลอดช่วงเวลาที่ Junichiro Koizumi ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2001-2006 บทบาทของ Fumio Kyuma ถูกจำกัดให้เป็นไปในกรอบของคณะกรรมาธิการ ระดับพรรคและกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
Fumio Kyuma กลับเข้ามามีบทบาทในคณะรัฐมนตรี โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็น Minister of State for Defense อีกครั้ง เมื่อ Shinzo Abe ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนกันยายน 2006
และกลายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง กลาโหม (Minister of Defense) คนแรกของญี่ปุ่น เมื่อหน่วยงานด้านความมั่นคงนี้ได้รับการยกฐานะเป็นกระทรวงเมื่อต้นปี 2007
การแสดงความคิดเห็นที่ติดตามมาด้วย เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะดังกล่าว มิได้ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หากแต่หลังจากที่ Fumio Kyuma ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกลาโหม เขากลับระบุว่าการสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในการรุกรานอิรัก เป็นเพียงท่าทีส่วนบุคคลของ Junichiro Koizumi ไม่ได้เกิดจากมติของคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น
แต่ต่อมา Fumio Kyuma ต้องขอถอน คำพูดและระบุว่าการสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในการบุกอิรักเป็นมติอย่างเป็นทางการของคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นแทน
กระนั้นก็ดี ในช่วงที่ญี่ปุ่นมีความขัดแย้ง กับสหรัฐอเมริกาว่าด้วยกรณีการย้ายฐานทัพสหรัฐฯ ในหมู่เกาะ Okinawa เมื่อช่วงต้นปี 2007 ที่ผ่านมา Fumio Kyuma ได้ระบุว่า การ ทำสงครามในอิรักเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และโจมตีสหรัฐฯ ในเรื่องการย้ายฐานทัพด้วย
แม้ว่าวลี it couldn't be help หรือ shikata ganai จะเป็นวลีที่ติดปากชาวญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางวัฒนธรรม เพื่อดูดซับข้อเท็จจริงอันยากลำบากและเจ็บปวดของชีวิต
และ Fumio Kyuma พยายามระบุว่าสำนวน shikata ganai หรือ shouganai เป็นเพียงสร้อยคำที่ใช้กันอย่างปกติในสำเนียงการพูดแบบ Kyushu
แต่กรณีดังกล่าวไม่สามารถทำให้ Fumio Kyuma ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องรับผิดชอบต่อคำพูดของเขาได้
เนื่องเพราะในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม การแสดงทัศนะดังกล่าวของ Fumio Kyuma กลับเป็นประหนึ่งการยอมรับให้มีการใช้ระเบิดปรมาณู ในฐานะที่เป็นกลไกในการยุติความขัดแย้งหรือสงคราม
ซึ่งนั่นย่อมไม่ใช่ท่าทีที่สาธารณชนญี่ปุ่น พึงใจ โดยเฉพาะประชาชนในจังหวัด Hiroshima และ Nagasaki ซึ่งตกเป็นเหยื่อความโหดร้ายของระเบิดปรมาณูมาแล้ว และยังเป็นเขตพื้นที่ เลือกตั้งของ Fumio Kyuma โดยตรงอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ภายใต้สถานการณ์ที่ญี่ปุ่น ตกอยู่ในวงล้อมของภัยคุกคามจากมหันตภัยของระเบิดปรมาณู โดยที่ญี่ปุ่นเองไม่มีศักยภาพ และความพร้อมในเรื่องดังกล่าวเลย กรณีดังกล่าวย่อมไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงของญี่ปุ่น แม้แต่น้อย
แม้ว่าผลกระทบจากกรณีดังกล่าวอาจไม่สามารถเทียบได้กับกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับระบบเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญ (pension fund) และความฉ้อฉลในระบบราชการ ที่บั่นทอนคะแนนนิยมของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้
แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นในทันทีที่ข่าวดังกล่าวปรากฏขึ้นในสื่อสาธารณะในวันถัดมา และมีแนวโน้มจะขยายต่อออกไปอีก ทั้งจากสาธารณชนทั่วไปและนักการเมืองฝ่ายค้าน รวมถึงนักการเมืองภายในพรรค LDP เอง ทำให้ Fumio Kyuma ถูกกดดันให้แสดงความรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกรณีของ Fumio Kyuma ถูกเชื่อมโยงให้เป็นความรับผิดชอบของ Shinzo Abe ในฐานะที่เป็นผู้แต่งตั้งบุคคลดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล
กรณีดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นอยู่บนพื้นฐาน ที่เลื่อนลอย หากในความเป็นจริง ตลอดระยะเวลาเพียง 10 เดือน รัฐมนตรีในรัฐบาล Shinzo Abe บางรายต้องมีอันเป็นไปหรือพ้นจากตำแหน่งจากผลของกรณีอื้อฉาวและการแสดงความคิดเห็นที่สะท้อนวุฒิภาวะที่ไม่เหมาะสม
เริ่มจาก Genichiro Sata ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการบริหารราชการ แต่กลับต้องลาออกจากตำแหน่งหลังการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีได้เพียง 3 เดือน จากผลของการรับบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนทางการเมือง โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายอย่างไม่เหมาะสม
ขณะที่ Hakuo Yanagisawa รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม ถูกโจมตีอย่างหนักจากคำกล่าวเปรียบเทียบสตรี ในฐานะที่เป็นเครื่องผลิตเด็ก (birth-giving machines) ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้เขาลาออก
หรือในกรณีของ Toshikatsu Matsuoka รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมง ซึ่งถูกตรวจสอบกรณีค่าใช้จ่ายในสำนักงานที่มีสูงผิดปกติ ด้วยการระบุว่า เป็นผลมาจากน้ำดื่มชนิดพิเศษที่มีราคาแพง ซึ่งเขาดื่มในสำนักงาน
ก่อนที่รัฐมนตรีรายนี้จะถูกรุมเร้าด้วยปัญหาความฉ้อฉลอื่นๆ และตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรมเมื่อไม่นานมานี้
Fumio Kyuma พยายามลดทอนกระแส วิจารณ์ด้วยการกล่าวคำขอโทษจากคำพูดที่ไม่เหมาะสม โดยระบุว่าสื่อมวลชนพยายามสื่อความผิดไปจากความตั้งใจของเขา ก่อนที่จะขอ ลาออกจากตำแหน่งในที่สุด
การลาออกของ Fumio Kyuma ติดตามมาด้วยการแต่งตั้ง Yuriko Koike ที่ปรึกษา ด้านความมั่นคงของนายกรัฐมนตรี ให้ขึ้นดำรง ตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งถือเป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลกิจการด้านความมั่นคง
การแต่งตั้งรัฐมนตรีหญิงขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญดังกล่าวทำให้ spotlight แห่งความสนใจ ฉายโชนกลับมาที่ Yuriko Koike อีกครั้ง หลังจากที่ Yuriko Koike ได้สร้างสีสันและผลงานว่าด้วย Cool Biz เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมในรัฐบาลของ Junichiro Koizumi
แม้ว่าสังคมญี่ปุ่นจะได้ชื่อว่าเป็น male dominant society มาอย่างยาวนาน ซึ่งทำให้ ความคาดหมายเกี่ยวกับอนาคตของ Yuriko Koike มีลักษณะที่แปลกแยกและอาจเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก
กระนั้นก็ดี จังหวะก้าวของ Yuriko Koike ที่กำลังสร้างประวัติศาสตร์จากตำแหน่ง รัฐมนตรีกลาโหมหญิงคนแรก อาจทำให้ความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เคลื่อนกระชั้นเข้ามาอีกเล็กน้อย
ขึ้นอยู่กับว่า Yuriko Koike จะสามารถ ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพื่อสั่งสมบทบาท และผลงาน ในห้วงเวลานับจากนี้อย่างไร
ซึ่งเมื่อถึงจุดเปลี่ยนนั้น บางทีนักการเมืองผู้ชายในญี่ปุ่นอาจต้องกล่าวคำว่า shikata ganai หรือ it couldn't be helped อย่างไม่มีทางเลี่ยงก็เป็นได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|