|

Eco-Shinkansen
โดย
ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ญี่ปุ่นมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและจริงจังมานานกว่าทศวรรษ ทุกวันนี้สินค้าและบริการที่ช่วยลดการทำลายชั้นบรรยากาศโลกสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ตั้งแต่กล่องกระดาษรีไซเคิลของเครื่องอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน, เสื้อผ้า Cool-Biz, เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน ไล่ไปจนถึงระบบขนส่งมวลชนอย่างเช่น Shinkansen รุ่นใหม่ล่าสุดก็ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
ข้อเท็จจริงที่ประจักษ์อยู่ในปัจจุบันมิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะว่าอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติฉบับที่ว่าด้วยการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้มาลงนามที่เมืองเกียวโตประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2540 ซึ่งรู้จักกันในนามของพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)
หากแต่มีกระบวนทัศน์ที่ลงลึกและเชื่อมโยงเข้ากับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสำหรับอนาคตที่จะธำรงไว้ ซึ่งสถานภาพของประเทศญี่ปุ่น ในฐานะประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำบนเวทีโลก
แม้ว่าแนวคิดดังกล่าวอาจขัดกับทฤษฎี Cost-Benefit Analysis ที่เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์อย่างหนึ่งซึ่งรัฐบาลในหลายประเทศใช้กันอยู่บ้างก็ตาม แต่สำหรับญี่ปุ่นนั้นได้ผนวกปรัชญาอื่นประกอบเข้าไปด้วยมุมมองที่แตกต่างยกตัวอย่างเช่น แนวโน้มของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในญี่ปุ่นนั้นประยุกต์เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าคุณภาพสูงและประหยัดพลังงานมากกว่ามุ่งเน้นที่จะลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้ได้สินค้าราคาถูก ในภาพรวมแล้วต้นทุนการผลิตซึ่งลดลงไปเพียงครั้งเดียวไม่อาจเทียบได้กับผลต่างและความคุ้มค่าในการประหยัดพลังงานได้นับร้อยนับพันครั้งต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าหนึ่งชิ้นตลอดช่วงอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า
นี่ยังไม่ได้นับรวมถึงความพึงพอใจ ความเชื่อถือและความปลอดภัยของผู้บริโภคภายใต้แบรนด์ Made In JAPAN ซึ่งยากที่จะตีค่าออกมาเป็นตัวเงิน นอกจากนี้แนวคิดที่ว่ายังสอดรับกับเนื้อหาสาระสำคัญของพิธีสารเกียวโตซึ่งได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นมา
ล่าสุดกับการเปิดตัวของ N700 series Shinkansen ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งพัฒนาโดย JR Central ร่วมกับ JR West ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2004 สำหรับเป็น Next Generation Shinkansen ที่จะใช้ทดแทน 700 series ของสาย Tokaido ที่วิ่งระหว่างสถานี Tokyo กับ Shin-Osaka ต่อเนื่องกับสาย Sanyo ซึ่งวิ่งระหว่างสถานี Shin-Osaka กับ Hakata ในจังหวัดฟุกุโอกะบนเกาะคิวชู
N700 series Shinkansen ได้รับการออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ 3 ประการคือ (1) High Technology-High Speed Shinkansen โดยใช้ระบบการขับเคลื่อน Automatic Train Control (ATC) แบบใหม่ในการควบคุมการทำงานเครื่องยนต์ที่มีความเร่งสูงถึง 2.6 km/h/s ซึ่งสามารถเข้าสู่ความเร็วปกติที่ 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ภายในเวลาเพียง 3 นาที
สมรรถนะที่สูงขึ้นของ N700 series ยังสืบเนื่องมาจากการทำงานของระบบ Air Suspension ที่สัมพันธ์กับระบบ ATC โดยใช้แรงดันอากาศยกขบวนรถด้านหนึ่งให้เอียงไปตามทางโค้งสอดคล้องกับกฎพื้นฐานทางฟิสิกส์ทำให้สามารถรักษาความเร็วนี้ได้ในขณะเข้าโค้งรัศมี 2.5 กิโลเมตร ที่มีมากถึง 60 โค้งตลอดเส้นทางสาย Tokaido (เมื่อเทียบกับรถไฟ 700 series Shinkansen ซึ่งวิ่งที่ความเร็วปกติ 255 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและต้องลดความเร็วขณะเข้าโค้งทุกครั้ง)
ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงของสาย Sanyo ตั้งแต่สถานี Shin-Osaka จนถึงปลายทางสถานีซึ่งข้ามไปยังเกาะคิวชูนั้นสามารถเพิ่มความเร็วขึ้นได้ถึง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ในขณะเดียวกัน (2) ความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นภายในห้องโดยสารเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่อาจละเลยไปได้ ด้วยระบบควบคุมการสั่นสะเทือนซึ่งติดตั้งตลอด 16 โบกี้พร้อมที่นั่งแบบใหม่ที่สามารถเอนได้มากกว่าเดิมซึ่งไม่ว่าจะนั่งอยู่ต้นหรือท้ายขบวนก็สามารถเพลิดเพลินกับการเดินบน N700 series Shinkansen ได้อย่างสบาย
สำหรับโบกี้พิเศษที่เรียกว่า Green Car นั้นได้ติดตั้ง Synchronized Comfort Seat ที่สามารถปรับเอนที่นั่งได้จนเกือบถึงแนวราบในลักษณะเดียวกันกับที่นั่ง J-Class ของสายการบิน JAL พร้อมด้วย Leg Warmer ใต้เบาะสำหรับการเดินทางในฤดูหนาว อีกทั้งในโบกี้ที่ 11 ยังติดตั้ง Baby Seat สำหรับผู้โดยสารที่มีเด็กเล็กเดินทางมาด้วย
แม้ว่าจำนวนหน้าต่างจะลดลงเมื่อเทียบกับ 700 series แต่ได้รับการชดเชยโดยการปรับความสว่างของแสงภายในห้องโดยสารให้เหมาะสมและมีเพดานที่ดูสูงโปร่งขึ้นด้วยวัสดุประกอบตัวรถที่เบาบางแต่แข็งแกร่งทนทาน
นอกจากนี้ผู้โดยสารสามารถใช้ Wireless LAN High-speed Internet ซึ่งจะติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2009
และที่สำคัญที่สุด (3) Environmental Friendly เมื่อคิดคำนวณเทียบจากพลังงานที่ใช้ในขบวนของ 700 series โดยเฉลี่ยแล้วสามารถลดการใช้พลังงานลงได้ 30% ต่อการเดินทางหนึ่งเที่ยวพร้อมกับลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และร่นระยะเวลาการเดินทางระหว่าง Tokyo-Osaka ลง 5 นาที
ในส่วนของเส้นทางสาย Sanyo นั้นต่างจากสาย Tokaido ตรงที่มีทางโค้งน้อยกว่าแต่กลับมากด้วยอุโมงค์ที่เจาะทะลุผ่านภูเขาหลายลูกซึ่งส่งผลให้มีการออกแบบช่วงหน้าขบวนขึ้นมาใหม่ในลักษณะเดียวกับการออกแบบเครื่องบินเพื่อลดแรงต้านในจังหวะก่อนแล่นเข้าอุโมงค์
จากผลการวิจัยของ Komaki Research Facility การออกแบบช่วงหน้าใหม่ซึ่งหากมองจากด้านหน้าจะดูคล้ายปีกของนกอินทรีย์อันเป็นที่มาของชื่อ Aero Doublewing ที่ยาวกว่าเดิม 1.5 เมตร ซึ่งนอกจากจะช่วยลดแรงต้านลงแล้วยังประหยัดพลังงานไปได้ในตัว
ในขณะเดียวกันการเชื่อมต่อโบกี้ในแบบใหม่มีส่วนช่วยให้ขบวนรถมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในขณะเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงซึ่งส่งผลให้ลดพลังงานลงได้ 19% ในช่วง Tokaido และ 9% ในช่วง Sanyo ตามลำดับ
นอกจากนั้นเทคโนโลยีของระบบ ATC และ Air Suspension ที่ใช้ในการขับเคลื่อนยังช่วยลดมลภาวะเสียงลงตลอดเส้นทางตั้งแต่ Tokyo ถึง Fukuoka
ไม่ว่านวัตกรรมของรถไฟ Eco-Shinkansen และการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในญี่ปุ่นจะก้าวหน้าไปมากเท่าไรก็ตามพิธีสารเกียวโตไม่สามารถบรรลุถึงเป้าประสงค์ในการควบคุมปริมาณก๊าซที่ส่งผลต่อการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกลงได้ด้วยความพยายามเพียงลำพังของประเทศเล็กๆประเทศหนึ่ง
ในวันนี้ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะหันมาจริงจังและจริงใจต่อการร่วมมือกันแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนแล้วหรือยัง?
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|