The Eugenia เสน่ห์โบราณแห่ง Colonial Fusion

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

โรงแรมบูติกคงไม่ใช่ของหายากอีกต่อไปสำหรับมหานครที่มีนามว่า "กรุงเทพฯ" แต่หากจะตระเวนหาโรงแรมสักแห่งที่อบอวลด้วยความสุนทรีย์แห่งการประสานศิลป์จากฟากฝั่งตะวันตกและตะวันออกตามสไตล์โคโลเนียลอย่างจัดจ้าน "The Eugenia" น่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่ลงตัวมาก

ในซอยสุขุมวิท 31 ที่เต็มไปด้วยตึกแถวแห่งร้านรวง ออฟฟิศ และบ้านพักอาศัย แต่ยังมีอาคาร 3 ชั้นสีนวลหลังหนึ่งที่ดูโดดเด่นด้วยต้นปาล์ม 2 ต้นตั้งตระหง่านหน้าบ้าน ดูแตกต่างด้วยจั่วหลังคาและตึกสไตล์ยุโรปโบราณ ที่ดูแปลกตา ให้อารมณ์ราวกับบ้านพักตากอากาศของคหบดีชาติตะวันตก ในยุคอาณานิคม

ทว่า เป็นที่ตั้งของโรงแรมบูติกที่มีชื่อว่า "The Eugenia" เพิ่งเปิดให้ บริการเมื่อต้นปี 2006

หลายคนมักเรียกขานศิลปะสไตล์นี้ว่า โคโลเนียล (Colonial style)

ในศตวรรษที่ 18-19 "ดินแดนไกลโพ้น" อย่างแอฟริกาและเอเชียกลายเป็นอาณาจักรเป้าหมายของฝรั่งตาน้ำข้าวหลากหลายเชื้อชาติ รวมถึง ดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้

ยุคล่าอาณานิคม ชาวตะวันตกในชาติเอเชียอาคเนย์ถูกมองเป็นผู้บุกรุก แต่สำหรับสถาปัตยกรรมสไตล์ตะวันตกที่แฝงด้วยกลิ่นอายอารยธรรมแห่งชาติ ท้องถิ่นกลายเป็นความงดงามทางศิลปะที่เป็นมรดกตกทอดมาจนทุกวันนี้ และกลับเพิ่มมูลค่าให้กับตึกอาคารและสถานที่แห่งนั้นได้อย่างน่าอัศจรรย์

ยิ่งโลกหมดยุคล่าอาณานิคม เสน่ห์แห่งสไตล์โคโลเนียลยิ่งกลายเป็นความโหยหา หลายประเทศอดีตเมืองขึ้น จึงดึงดูดนักท่องเที่ยวมหาศาลให้หลั่งไหลมาชมตึกเก่า เช่น ในประเทศเวียดนาม

ถึงจะไม่ใช่อาคารเก่าดั้งเดิมที่ตกทอดมานับร้อยปี ทว่าตึกสไตล์โคโลเนียลอายุปีกว่าของโรงแรมแห่งนี้ก็มีมนต์ขลังได้ไม่ต่างกัน เพราะล่าสุด นิตยสารท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง Conde Nast Traveller ยังยกให้โรงแรมแห่งนี้ เป็น 1 ใน Hot List ประจำปี 2007

ชื่อโรงแรมที่ฟังดูราวกับภาษาฝรั่งเศสอาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า เจ้าของโรงแรมเป็นฝรั่งตาน้ำข้าว ผู้ที่อาจนิยมหลงใหลอยู่กับความยิ่งใหญ่ในอดีตของชนชาติตน แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นดีไซเนอร์ชาวไต้หวันที่ชื่อ Yu-Ching Yeh หรือ Eugene

"ผมชอบสไตล์โคโลเนียล เพราะมันทำให้ผมรู้สึกเหมือนว่า ผมเคยอาศัยอยู่ในบ้านสไตล์นี้มาก่อนเมื่อชาติที่แล้ว" ยูจีนให้เหตุผลความเชื่ออันเป็นความสุขส่วนตัว

เสน่ห์ของ The Eugenia ไม่ได้อยู่แค่เพียงตัวตึกที่มีกลิ่นอาย "ความโบราณ" ที่ตระหง่านท่ามกลาง "โมเดิร์น-ลิซึ่ม" แห่งสุขุมวิทและแห่งยุคสมัย

แต่เสน่ห์ยังอยู่ที่เฟอร์นิเจอร์วินเทจ (Vintage) ในยุคโคโลเนียลที่เกือบทุกชิ้นล้วนเป็นของเก่าของสะสม ซึ่งยูจิน เพียรเสาะแสวงหามาสะสมจากหลากหลายประเทศตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี

โซฟาหนังจากเบลเยียม ตู้เย็นไม้จากบราซิล เตียงสไตล์บริติชโคโลเนียลจากเบลเยียม ผ้าทอพื้นเมืองสไตล์แอฟริกัน ประตูไม้เก่าจากอินเดีย กรอบประตูจากซานฟราน ซิสโก เก้าอี้โบราณจากกัมพูชา โต๊ะเก่าจากนิวยอร์ก บันทึกโบราณจากพม่า โคมไฟจากอินเดีย เก้าอี้เก่าจากจีนที่ตกทอด มาจากพ่อของเขา ฯลฯ

เฟอร์นิเจอร์เก่าร่วม 300 ชิ้นในโรงแรมแห่งนี้เป็นเพียง บางส่วน ยูจีนบอกว่า ที่บ้านในไต้หวันยังมีอีกหลายร้อยชิ้น ทั้งนี้เพราะเขาเคยเป็นผู้นำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากยุโรปและเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนที่จะขายกิจการมาอยู่เมืองไทยเมื่อปี 1998

"สไตล์โคโลเนียล โดยตัวมันเองก็เป็นการผสมความต่างระหว่างชาติตะวันตกกับท้องถิ่นอยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่แถบนี้ ยังมีแอฟริกา จีน และอินเดีย ผมพยายามผสมสไตล์ที่เป็นโคโลเนียลทั้งหมดในยุคนั้นมาไว้ที่นี่" ยูจีนอธิบายถึงที่มาที่บางคนนิยามสไตล์ของโรงแรมแห่งว่า Colonial Fusion

นอกจากเฟอร์นิเจอร์เก่า ยูจีนยังบรรจงบรรจุ "ความโบราณ" ลงรายละเอียดต่างๆ

สวิตช์ไฟเก่าแบบที่มักเห็นตามพระที่นั่งในยุครัชกาลที่ 5-6 ร่วม 300 ชิ้นที่ใช้ในโรงแรม เขาต้องลงแรงไปรื้อสต็อกและเก็บสะสมมาจากโรงงานหลายแห่งในเยาวราช หรืออ่าง อาบน้ำอะลูมิเนียมสไตล์วิกตอเรียนก็ต้องลงทุนไปจ้างช่างฝีมือชาวอินโดนีเซียสร้างเลียนแบบของเก่า หรือพื้นไม้ก็ไปซื้อไม้ที่เป็นบ้านเก่าของชาวนาทางภาคเหนือของไทย เป็นต้น

เหล่านี้ล้วนเป็นความพยายามเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับโรงแรมผ่านมนต์ขลัง "ความเก่าแก่"

กระทั่งรถที่ใช้รับ-ส่งแขกของโรงแรม เขายังเลือกใช้รถคลาสสิกอย่าง Mercedes Ponton 220S ปี 1958 และ Mercedes postwar 220 ปี 1964 หรือ Jaguar MK VII ปี 1953 และ Jaguar S-type ปี 1964 หรือจะเป็น Daimler Limousine รุ่น DS 420 ปี 1971 เป็นต้น

"สไตล์โมเดิร์น พอเวลาผ่านไป 5 ปี มันก็จะดูไม่ใหม่ ไม่ทันสมัยอีกต่อไป แต่สไตล์คลาสสิกอย่างนี้มันเป็นอมตะ ต่อให้อีก 10 ปี มันก็คลาสสิกไม่เปลี่ยน ไม่มีวัน ล้าสมัย ยิ่งดูเก่ากลับยิ่งดูดี" ยูจีนให้ความเห็น

The Eugenia มีห้องพักเพียง 12 ห้อง สนนราคาอยู่ระหว่าง 5,800-7,200 บาท ซึ่งรวม ทุกอย่างไว้แล้ว เช่น มินิบาร์ อินเทอร์เน็ต Wi-Fi และค่าบริการบัตเลอร์ 24 ชั่วโมง รวมทั้งค่าโทรศัพท์ ไม่ว่าจะโทรในหรือต่างประเทศ เพื่อที่ลูกค้าจะไม่ต้องเสียเวลาเช็กรายการตอนเช็กเอาต์

แม้จะเล็ก แต่ที่นี่ก็มีห้องสมุดที่อุดมด้วยหนังสือราคาแพง ทั้งหนังสือออกแบบตกแต่ง หนังสือท่องเที่ยว หนังสือทำอาหาร และหนังสือรถคลาสสิก รวมเกือบพันเล่มจัดวางไว้เพื่อจุดพลังความคิดสร้างสรรค์ให้กับแขก เฉกเช่นหนังสือเหล่านี้เคยสร้างให้เกิดขึ้นในตัวเจ้าของโรงแรมแห่งนี้มาแล้ว

นอกจากนี้ยังมีห้องอาหารถึง 2 แห่งภายในโรงแรมเล็กๆ แห่งนี้ ได้แก่ D.D. Bradley ซึ่งตั้งชื่อตามมิชชันนารีอเมริกันที่ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาเผยแพร่การแพทย์ตะวันตก และวางรากฐานกิจการหนังสือพิมพ์ในประเทศสยาม และเลาจน์ที่ตั้งชื่อว่า Zheng He ซึ่งเป็นชาวจีน ผู้เดินทางมากว่าครึ่งโลก และเชื่อกันว่าเขาอาจเป็นผู้ค้นพบประเทศอเมริกาก่อนโคลัมบัสเสียอีก

"ทั้ง 2 คนเป็นฮีโร่ของผม เพราะพวกเขาเดินทางได้ตั้งไกล ทั้งที่การเดินทางยังไม่สะดวกเหมือนยุคนี้ และผมก็ยังเชื่อว่า ผมอาจจะเคยร่วมเดินทางกับพวกเขามาแล้ว" อีกครั้งที่เขาพูดถึงความเชื่อเยี่ยงวิถีพุทธ

สำหรับชายวัย 46 ปีคนนี้ การเดินทาง มีความสำคัญกับชีวิตเขามาก เพราะการเดิน ทางให้ไอเดียสดใหม่สำหรับอาชีพนักออกแบบ ทำให้เขามีความสุขกับจำนวนของสะสมที่เพิ่มขึ้น และทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างโรงแรมแห่งนี้ หรืออาจยังหมายถึงแหล่งต่อๆ ไป

และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทุกวันนี้เขายังไม่ยอมหยุดเดินทาง

ส่วนคนที่ไม่มีโอกาสเดินทางบ่อย การ แวะมาพักและชื่นชมศิลปวัฒนธรรมในงานเฟอร์นิเจอร์ยุคโคโลเนียลภายในโรงแรมแห่งนี้ ก็อาจจะช่วยสร้างไอเดียและแรงบันดาลใจได้บ้างไม่มากก็น้อย สมความตั้งใจเจ้าของโรงแรมนักออกแบบนักเดินทางผู้นี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.