"บูติก สปา" ถึงยุคที่สปาต้องขายคอนเซ็ปต์

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ในยุคที่ Day Spa ผุดขึ้นมาหนาแน่นเป็นดอกเห็ดยามหน้าฝน การตกแต่งเพียงอย่างเดียวอาจไม่พออีกต่อไป เพราะเทรนด์สปากำลังมุ่งเข้าสู่ยุคซื้อขายไอเดีย ไม่ต่างจากกระแส "บูติก" ของโรงแรม...มาถึงวันนี้ สปาจะดังจึงไม่เพียงนวดดี ยังต้องมี "คอนเซ็ปต์แรงๆ" เป็นรากฐานอีกด้วย

ถ้านึกอยากสัมผัสชีวิตชุมชนในชนบทที่ยังคงความโบราณ ราวกับย้อนยุคไปกว่า 50 ปีก่อน ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุด หลายคนคงคิดถึงสุพรรณบุรี อยุธยา หรือสมุทรสงคราม

แต่เชื่อหรือไม่ว่า แค่ลงจาก BTS สถานีนานา เข้าซอยไป เพียง 200 เมตร ท่ามกลางตึกสูงและการจราจรที่ติดขัดในซอยสุขุมวิท 11 ยังมีบ้านไม้โบราณหลังหนึ่งที่จะนำพาคุณไปสัมผัสกับบรรยากาศ "บ้านนอก"

บ้านไม้เก่าๆ ขนาดย่อมหลังคามุงสังกะสี ข้างบ้านมีทั้งโอ่งดิน ตู้ไม้พร้อมโหลปลากัดเรียงราย ถาดไม้ไผ่และถาดสังกะสีที่มักใช้ในวัด อีกทั้งข้าวของเยี่ยงชาวชนบทถูกจัดวางเป็น ของตกแต่งและของใช้จริง

ช่างเป็นภาพที่ดูไม่เข้ากับทำเลที่ตั้งบนถนนสุขุมวิท แต่ดูเหมือนว่าภายในบ้านหลังนี้กลับยิ่งดูขัดแย้งกับบรรยากาศภายนอกอย่างสิ้นเชิงราวกับนั่งไทม์แมชชีนทะลุมาอีกมิติ

ยิ่งได้เห็นนางในชุดผ้าถุงห่มสไบชายปลิวไสว กิริยาเนิบนาบ พูดจาลงท้ายด้วยคำว่า "เจ้าค่ะ เจ้าขา" ยิ่งทำให้รู้สึกเหมือน อยู่คนละยุคกับโลกภายนอกที่เพิ่งเดินผ่านมา

"ผมอยากขัดใจสังคม อาจเรียกว่าเป็นการเอาคืนในวิถีทางเด็กบ้านนอกอย่างผมก็ได้" ฐานวัฒน์ สุวินัย พฤษเบ็ญจะ กล่าวในฐานะเจ้าของบ้านเก่าหลังนี้ อันเป็นที่ตั้งของสปาที่เขาตั้งชื่อว่า "สุขสปา"

ภูมิหลังความเป็นเด็กต่างจังหวัดเรียนจบเพียงแค่ ม.6 ทำให้ฐานวัฒน์ตระหนักดีถึงความด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม ภาพลักษณ์ "ความเป็นบ้านนอก" ที่มักถูกคนกรุงดูแคลน ยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อเข้ามาแสวงโชคในเมืองหลวงเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน

เริ่มต้นจากการเป็นเซลส์แมนขายของตามบ้าน จากนั้นก็ได้เป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เศรษฐกิจนิเวศน์ จุฬาฯ ซึ่งทำให้เขาพบและรู้จักกับลูกชายของสมเจตน์ ยศสุนทร เจ้าของโรงแรม SUK 11 จนในที่สุดก็ได้เช่าบ้านไม้เล็กๆ ด้านหน้า โรงแรมทำเป็นร้านอาหารที่มีชื่อว่า "11 แกลอรี่"

ต้องขอบคุณโรงแรมเล็กๆ ที่แฝงบรรยากาศ ของบ้านในชนบทกลางกรุงของสมเจตน์ ที่ทำให้ฐานวัฒน์ได้กรอบไอเดียและแรงบันดาลใจในการ ลงดีเทลของร้านอาหาร

"รู้สึกว่าทำไมพอเป็นของจากชนบท เป็นวิธีคิดแบบชาวบ้านนอกแล้วต้องถูกดูถูก ก็เลยคิดว่าเมื่อถนนสุขุมวิท พื้นที่พันล้าน เราก็เสิร์ฟด้วยปิ่นโตเถาเลยแล้วกัน ใช้ถาดของวัด ให้เด็กนุ่งโจงกระเบน นุ่งผ้าถุงราคา 99 บาท ใส่เสื้อคอ กระเช้าแทนผ้าไหม ให้ลูกค้าพับเพียบกับพื้นไม้แทนโซฟาราคาแพง"

เมื่อ 4 ปีก่อน เขาลงทุนปรับร้านนี้เพียง 2 หมื่นบาท แต่ถึงวันนี้เฉพาะกำไรก็หลักแสนบาท ต่อเดือน

เมื่อธุรกิจร้านอาหารโต ฐานวัฒน์เริ่มเห็นลู่ทางว่าไอเดีย "บ้านนอก" ยังสามารถต่อยอด ได้อีก จึงเป็นที่มาของ "สุขสปา" โดยมีคอนเซ็ปต์ที่ไม่ใครเหมือนคือ "สมุนไพร-ไสยศาสตร์"

ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ของคนบ้านนอก คนกรุงฟังแล้วบอกงมงาย หลายคนนึกถึงแต่มนตร์ดำ แต่ความดีของคำนี้มันอยู่ตรงที่ทำให้สถานที่ดูน่าเกรงขาม บังคับให้ผู้เข้ามาต้องสำรวมกิริยา

แต่ที่สำคัญฐานวัฒน์มองว่า ในอดีต ผู้หญิงไปหาหมอผีทำเสน่ห์ยาแฝดก็เพราะอยากให้สามีรักหลง ไม่ต่างจากการเข้าสปาของผู้หญิงยุคนี้ ผิดกันก็แค่วิธีการแต่เป้าหมายเดียวกัน

เมื่อปักธงคอนเซ็ปต์ลงบนความแปลก สไตล์การตกแต่งสปาจึงไม่ใช่แบบพิมพ์นิยม ไม่ใช่สปาสไตล์รีสอร์ต ไม่อิงแนวโมเดิร์น และไม่ใช่แบบไทยร่วมสมัย

บันไดวนที่เป็นพื้นไม้ส่งเสียงดังเอี๊ยดอ๊าด ประกอบกับความมืดสลัวทำให้ต้องก้าวอย่าง ระมัดระวัง ยิ่งขึ้นชั้นบนแขกยิ่งต้องสำรวมอาการกว่าเดิม เพราะเบื้องหน้ามีโต๊ะบูชาที่มีพระพุทธรูป ประดิษฐานและกลดพระสำหรับนั่งทำสมาธิ ดูแล้วเหมือนยกศาลาวัดบ้านนอกมาไว้ในนี้

มุมหนึ่งจำลองเป็นโรงหนังสมัยเก่า อีกด้านเป็นตลาดเช้าในชนบท ส่วนเก้าอี้หวายกลางบ้านเป็นฟังก์ชันสำหรับสปาเท้า ขณะที่ห้องนวดไทยถูกตกแต่งคล้ายร้านชำของชาวบ้าน

ชั้นบนสุดถือเป็นไฮไลต์ของที่นี่ด้วยการยกสลัมน้ำขังมาไว้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสลัมที่อยู่เกือบติดรถไฟฟ้า อยู่ในย่านไฮโซเลยทีเดียว ต่างกันก็ตรงที่นี่มีระบบรักษาความสะอาดของน้ำอย่างดี และผู้ที่เดินเข้าออกสลัมแห่งนี้บ่อยๆ ล้วนแต่เป็นฝรั่งและคนกรุงผู้มีอันจะกิน

การออกแบบทรีตเมนต์ก็นำเอาวัสดุพื้นบ้านและภูมิปัญญาเรื่อง "ธาตุเจ้าเรือน" มาใช้

แทนที่จะใช้ลูกประคบธรรมดา ที่นี่เลือกใช้หม้อเกลือใส่เกลือแล้วอุ่น เขย่าเพื่อกระจายความร้อนพันด้วยใบพลับพลึงสีขาวประคบ แทนที่จะใช้ครีมพอกตัว ที่นี่กลับใช้ดินสอพอง หรือแทนที่จะพันร่างกาย (body wrap) ด้วยพลาสติก ที่นี่เลือกใช้ใบตอง

ทั้งหมดนี้ ฐานวัฒน์ว่าจ้าง Spa Consultant เป็นที่ปรึกษาและหาข้อมูลสรรพคุณทางยาและการใช้งานตามแบบวิถีไทยโบราณมาอย่างลึกซึ้ง

แม้จะมีความเป็นไทยจ๋าขนาดนี้ แต่ลูกค้าส่วนใหญ่กลับเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และ 70% ของลูกค้าเป็นลูกค้าเดิมที่มาซ้ำ และหลายส่วนก็มาจากการบอกต่อจากลูกค้าคนอื่น

"คนไทยจะอินกว่า หลายคนนึกถึงยุคของคุณย่าคุณยาย ได้อารมณ์ "รีโทร" ส่วนฝรั่งเขาจะได้อารมณ์อีกแบบ มันแปลกสำหรับเขา น้องๆ ที่นี่คอยอธิบายว่ามันคืออะไร เป็นมาอย่างไร ฯลฯ กว่าจะถึงห้องนวด แขกก็อิ่มใจ ปีติไปแล้วครึ่งหนึ่งกับเรื่องราวของไทยในอดีต อีกครึ่งเป็นเรื่องของ การนวด"

นอกจากสุขสปาที่เพิ่งเปิดตัวยังไม่ถึง 1 ปี แต่ทำกำไรได้ร่วมแสนต่อเดือน

ฐานวัฒน์ยังเป็นหุ้นส่วนในสปาสไตล์ British Country สีชมพูหวานเจี๊ยบที่ชื่อ Emily Room ย่านสุขุมวิท 52 ที่เพิ่งเปิดตัวมาเพียง 6 เดือน

เนื่องจากทำเลที่ค่อนข้างไกลและเป็นโซนที่อยู่อาศัย กลุ่มเป้าหมายของเขาจึงเป็นลูกค้าสาวไทย

"หวานปัญญาอ่อน" คือนิยามธีมการตกแต่งของสปาแห่งนี้จากปากฐานวัฒน์

"ลึกๆ แล้วผู้หญิงทุกคนอยากสวยเหมือนกันหมด ไม่มีใครหรอกไม่อยากสวย ต่อให้เป็นทอม มันเป็นสันดานดิบของผู้หญิง เราเลือกใช้สีชมพูซึ่งเป็นสีที่อ่อนหวาน แต่เป็นสีชมพูจ๋า และก็ประดิษฐ์เยอะๆ ให้ดูกระแดะไปเลย" ความเห็นของฐานวัฒน์จากประสบการณ์ที่เห็นผู้หญิง มาตลอด 37 ปี

เมื่อก้าวเข้าไปในโลกสีชมพูของสปาแห่งนี้ ทุกแห่งที่หันล้วนเห็นแต่สีขาวและสีชมพู

ภาพประดับล้วนเป็นลายเขียนดอกกุหลาบสีชมพู ตุ๊กตาเด็กผู้หญิงสไตล์อังกฤษในชุดสีชมพู ของตกแต่งกระจุกกระจิกล้วนมีโทนชมพูและขาว แม้กระทั่งปลอกหมอน ผ้าปูเตียง ผ้าบุ โซฟา หมวกคลุมผม เสื้อคลุมอาบน้ำ ผ้าขนหนู ถ้วยใส่ชา ฯลฯ ล้วนแต่เป็นลายดอกสีชมพูขาว

"เหมือนเรากระตุกต่อมสาวของผู้หญิงยุคใหม่ให้ตื่นตัวอีกครั้ง เพราะทุกวันนี้หลายคนมัวแต่วุ่นอยู่กับการทำงาน วันๆ ใส่แต่เสื้อผ้าสีเข้ม สร้างมาดขรึมๆ ให้ตัวเองดูสมาร์ท จนลืม ความอ่อนหวานของตัวเอง และก็พลอยลืมดูแลตัวเองไปด้วย" หุ้นส่วนสาวในสปาเอมิลี่รูมกล่าว

สำหรับทรีตเมนต์ของที่นี่ เมนูส่วนใหญ่มีองค์ประกอบที่มี "สัญญะ" ของความเป็นผู้หญิง ไม่มากก็น้อย

เช่น Chocolate Perfect ทรีตเมนต์ที่ต้องมีการแช่ตัวในช็อกโกแลตอุ่น Lovely Paradise ที่ต้องนอนอยู่ในอ่างกลีบกุหลาบ หรือ Tea Time Story ที่เหมาะกับคนหลงใหลกลิ่นชาเอิร์ลเกรย์ ซึ่งทั้งขัด แช่ และประคบด้วยใบชา เป็นต้น

"พอคอนเซ็ปต์แน่น ดีเทลต่างๆ ก็ตามมา และมันยังต่อยอดเป็นกิมมิคสนุกได้เรื่อยๆ" ฐานวัฒน์กล่าว

ยกตัวอย่าง สปาเอมิลี่รูมที่กำลังจะต่อยอดไปเป็น "Lady Society" ด้วยการเป็นชมรม เล็กๆ สำหรับผู้หญิง พูดคุยเรื่องเทรนด์สุขภาพความงาม หรือแม้แต่งานอดิเรกแบบสาวๆ เช่น จัดดอกไม้ ทำเบเกอรี่ เป็นต้น

"สปาที่มีคอนเซ็ปต์ชัดและแรง ยิ่งใส่ไอเดียเยอะๆ ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนที่เป็นตัวเงิน ยังเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ อย่างข้าวเปล่าที่อื่นขาย 5 บาท แต่ที่นี่เอาใบตองครอบและมีดอกรักร้อยหน่อย ตั้งราคา 15 บาท ลูกค้าไม่บ่นว่าแพง แต่กลับยิ้มชื่นชอบพากันถ่ายรูปใหญ่ ทั้งที่ใบตองกับดอกรักรวมกันแล้วไม่ถึง 50 สตางค์"

ไม่ว่าจะเป็นสปาคอนเซ็ปต์ "หมอผี" หรือ "หวานปัญญาอ่อน" ล้วนเกิดจากมุมมองแบบเสียดสีและไม่พอใจในความคิดอ่านของคนในสังคมของอดีตเด็กชายต่างจังหวัดคนหนึ่ง ทว่าผ่านกระบวนการตีความและแปลความหมายออกมาเป็นธุรกิจอย่างมีแก่นความคิด

ถึงจะเป็น "ตลกร้าย" แต่สื่อหลายแห่งก็ยินดีนำเสนอคอนเซ็ปต์สปาของเขา เหมือนกับ ที่สาวๆ ในสังคมหลายคนเต็มใจบริโภคคอนเซ็ปต์ของสปาทั้ง 2 แห่งอย่างไม่มีทีท่าลังเล

"พอสปามันเป็นเอกลักษณ์ ไม่มีใครเหมือน ทีนี้ไม่ต้องทำการตลาดยังได้เลย นอนรออยู่บ้าน เดี๋ยวสื่อก็วิ่งมาหา ถึงวันนี้ทั้งร้านอาหาร สุขสปา และสปาเอมิลี่รูม ผมว่าลงนิตยสารทั้งไทยและเทศแล้วเกือบ 100 เล่ม"

ฐานวัฒน์กล่าวอย่างภูมิใจ แม้จะไม่รู้ว่า นิตยสารต่างประเทศเหล่านั้นชื่นชมหรือต่อว่าผลงานของเขา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.