|

ลุ้น6มาตรการแก้บาทแข็งได้ผลเตือนธปท.-เอกชนหาทางรับมือระยะยาว
ผู้จัดการรายวัน(25 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
"บัวหลวง"หวัง 6 มาตรการช่วยสถานการณ์ค่าบาทดีขึ้น ระบุช่วยเพิ่มอุปสงค์เงินดอลลาร์-สร้างสมดุลใตนตลาดเงิน ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้การปรับตัวอ่อนค่าลงของเงินบาทหลังออกมาตรการแค่ผลทางจิตวิทยา แต่ผลในทางรูปธรรมยังประเมินไม่ได้ชัดเจน เตือนต้องมีมาตรการต่อเนื่องปัจจัยหนุนให้บาทแข็งยังมี คาดแบงก์ชาติยังไม่ยกเลิกกันสำรอง 30%หวั่นค่าบาทผันผวนหนักคุมไม่อยู่
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงมาตรการที่ครม.เห็นชอบในมาตรการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาท 6 มาตรการว่า มีความเชื่อมั่นในมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ได้เสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรีว่า น่าจะทำให้สถาการณ์ค่าเงินบาทของไทยดีขึ้น เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มอุปสงค์ในค่าเงินดอลลาร์ และจะช่วยทำให้เกิดความสมดุลในหลายๆส่วนโดยเฉพาะในส่วนของตลาดเงิน ซึ่งทิศทางของค่าเงินบาทที่ดีขึ้นก็ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ด้วย
นายชาติศิริยังกล่าวอีกว่า ธนาคารมีพร้อมที่จะเข้าร่วมในโครงการแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)ตามที่ธปท.ต้องการที่ให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมลงเงินให้ครบ 5,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ในขณะนี้ ตนเห็นว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลจากมาตรการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบว่า มาตรการดังกล่าวมีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ เป็นมาตการเน้นการถือครองเงินตราต่างประเทศให้ยาวนานขึ้น ได้แก่ มาตรการผ่อนปรนการถือครองเงินดอลลาร์ฯ แก่ผู้ส่งออก ตลอดจนมาตรการขยายเวลาการนำเงินเข้าประเทศกรณีคนไทยขายสินค้าในต่างประเทศ และมาตรการที่อนุญาตให้เปิดบัญชีเงินฝากในรูปเงินตราต่างประเทศได้ โดยกลุ่มมาตรการดังกล่าวมีข้อดีก็คือทำให้ผู้ประกอบการสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ แต่มาตรการดังกล่าวจะเห็นผลก็ต่อเมื่อ ผู้ที่จะเพิ่มการถือครองเงินตราต่างประเทศมีความมั่นใจว่าเงินบาทจะมีทิศทางอ่อนค่าลง แต่หากผู้ที่มีแนวโน้มที่จะได้รับเงินตราต่างประเทศในอนาคตยังคงมีการคาดการณ์ว่า เงินบาทยังคงมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นอีกก็จะทำให้ปัญหาการเร่งเทขายเงินดอลลาร์ฯ ออกมา ยังไม่ถูกแก้ไขลง
มาตรการเน้นผ่อนคลายและสนับสนุนการไหลออกของเงินทุน ได้แก่ ให้รัฐบาลเร่งรัดการชำระหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การเร่งรัดการชำระหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนการปรับโครงสร้างและแปลงหนี้ต่างประเทศมาเป็นหนี้สกุลเงินบาท จะสามารถเพิ่มความต้องการเงินตราต่างประเทศและลดแรงกดดันต่อช่วงขาขึ้นของเงินบาทได้อย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องดูวงเงินที่สามารถทำได้จริงว่ามีมูลค่ามาก-น้อยเพียงไร และติดเงื่อนไขอื่นๆ หรือไม่ ในขณะที่ในส่วนของการแปลงหนี้ต่างประเทศกลับมาเป็นสกุลเงินบาทนั้น จะต้องมีเงื่อนไขที่ว่า ต้นทุนของการกลับมาก่อหนี้ในรูปเงินบาทจะต้องน้อยกว่าต้นทุนของการก่อหนี้ในรูปเงินตราต่างประเทศ
และเป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และผู้ส่งออก เพื่อเสริมสภาพคล่องโดยการปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท โดยจะมีวงเงินเริ่มต้นที่ 5 พันล้านบาท และการเร่งคืนภาษีให้กับผู้ส่งออกทั้ง 19 ทวิ และภาษีมุมน้ำเงินตามข้อเสนอของกกร. เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ
สำหรับทิศทางของค่าเงินบาทภายหลังมาตรการดังกล่าวนั้น ในช่วงสั้นเงินบาทปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าลงเพื่อรับข่าวมาตรการจากทางการ โดยล่าสุดในวันที่ 23 กรกฎาคม 2550 เงินบาทในประเทศ (Onshore) ปิดตลาดที่ระดับ 33.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ หรืออ่อนค่าลงแล้วประมาณ 1.5% หลังจากที่ได้ทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ระดับ 33.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2550 โดยเงินบาทมีปัจจัยลบจากแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งตลาดคาดว่าเป็นการเข้าแทรกแซงของธปท. นอกจากนี้ ยังเป็นผลทางด้านจิตวิทยาที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังรอการประกาศมาตรการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทจากทางการ ขณะที่ผู้เล่นหลักในตลาดเงินบาทในประเทศ กลายเป็นฝั่งผู้นำเข้าที่เริ่มกลับเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ฯ ขณะที่ ผู้ส่งออกชะลอแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ ออกไปก่อนเพื่อรอความชัดเจน และประเมินผลกระทบจากมาตรการของทางการ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการปรับตัวอ่อนค่าลงของเงินบาทเพื่อตอบรับกับมาตรการแก้ปัญหาค่าเงินบาทของทางการนั้น น่าจะเป็นเพียงผลทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ผลในทางรูปธรรมยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจน เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่จะสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องนั้นยังคงมีอยู่ ทั้งนี้ เงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะได้รับปัจจัยบวกจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจากปัญหาในตลาดซับไพร์มที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอาจทำให้เฟดต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความไร้เสถียรภาพของตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ อาจเป็นชนวนที่ทำให้เงินทุนจำนวนมากไหลออกจากตลาดการเงินสหรัฐฯ ซึ่งประเทศในแถบเอเชียรวมทั้งไทย อาจตกเป็นเป้าหมายของกองทุนเหล่านั้น และในท้ายที่สุดก็จะส่งผลทำให้แรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น มาตรการล่าสุดในการแก้ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงิน โดยยังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจจะสร้างความผันผวนให้กับค่าเงินบาทรออยู่ในช่วงถัดไป ซึ่งทำให้ความต่อเนื่องของมาตรการแก้ไขปัญหาค่าเงินเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเพื่อบรรเทาผลกระทบ และลดความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยได้มีเวลาปรับตัว ทั้งในส่วนของผู้ส่งออกที่จะต้องเร่งปรับตัวเอง เรียนรู้ที่จะประเมินความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินตามรอยเดิมเมื่อความผันผวนของเงินบาทกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกครั้งในอนาคต ขณะที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมมาตรการดูแลการเคลื่อนไหวของเงินทุนที่มีประสิทธิภาพ พร้อมๆกับการปรับโครงสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจังตามข้อเสนอระยะกลางและระยะยาวของกกร.เมื่อประเทศคู่แข่งทางการค้ามีความได้เปรียบอุตสาหกรรมไทยมากขึ้น เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และสามารถรักษาความสามารถทางการแข่งขันได้
สำหรับข้อเสนอให้มีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30%นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าการประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรองของธปท.ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม อาจไม่สามารถลดความผันผวนและหลีกเลี่ยงการเก็งกำไรเงินบาทได้ ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า ผลที่เกิดจากการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะออกมาในรูปของการไหลออกของเงินทุนอย่างรวดเร็ว หรือในรูปของเงินทุนไหลเข้าที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น ดังนั้น หากจะมีการประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรองเงินทุนระยะสั้น 30% ธปท.จะต้องมีการประเมินผลกระทบในทุกด้านอย่างถี่ถ้วน และจะต้องเลือกช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งยังไม่น่าจะเป็นช่วงเวลาขณะนี้ และจะต้องมีมาตรการอื่นที่พร้อมประกาศใช้เพื่อดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|