An Oak by the window...iPhone : มือถือเปลี่ยนโลก?

โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมตัดสินใจเขียนถึง iPhone อีกครั้งหนึ่งในคอลัมน์นี้ เพื่อต้อนรับการวางตลาดอย่างเป็นทางการของ iPhone เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

การออกวางตลาด iPhone ครั้งนี้ หลายๆ คนภาวนาอยากให้เป็นการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบถอนรากถอนโคนเหมือนที่แอปเปิล (Apple) เคยทำไว้กับอุตสาหกรรมเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนบุคคลหรือพีซีและอุตสาหกรรมดนตรีจากการออก iPod มาก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม มันอาจจะเกิดจากเหตุผลที่ว่า มาตรฐานของการปฏิวัติเปลี่ยน แปลงสำหรับแอปเปิลมันมีมาตรฐานสูงเกินไปเสียจนเกินกว่าที่จะทำมันซ้ำไปซ้ำมาเมื่อมองย้อนเทียบกับการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงของวงการพีซีและวงการเพลงในช่วงที่ผ่านมา

การออก iPhone ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ (OS) ของ OS X ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการเดียวกับที่เครื่องแอปเปิลใช้อยู่ โดยจะมีแอพพลิเคชั่นที่คนใช้เครื่องแมคคุ้นเคยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นบราวเซอร์อย่าง Safari, โปรแกรม iTunes และ iChat ซึ่งได้มีการปรับแต่งให้เหมาะกับการใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ นอกจากนี้ยังมีโปรแกรม email ผ่านระบบเมลของ Yahoo! และแผนที่จากการสนับสนุนของ Google อีกด้วย ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า มันเป็นแก็ดเก็ต (gadget) แบบทรีอินวัน คือเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่ เป็น iPod แบบไวด์สกรีน และเป็น เครื่องมือสำหรับใช้งานอินเทอร์เน็ตที่สุดแสนจะทันสมัย นอกจากนี้ต้องไม่ลืมว่า มันเป็นกล้องดิจิตอลขนาด 2 เมกะพิกเซลด้วย แต่คุณสมบัติเหล่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ iPhone ได้ชื่อว่ามาปฏิวัติเปลี่ยนแปลงวงการ โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบถอนรากถอนโคนได้

แม้สไตล์และรูปร่างหน้าตาของ iPhone จะดูเป็นการฉีกออกจากตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ค่ายอื่นๆ รวมถึงความสวยงามที่แอปเปิลทำออกมาได้ดีทีเดียว แต่ iPhone ก็ยังไม่ถือว่าสามารถเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้

ถ้ามองว่า iPhone คือโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็ถือว่า iPhone ฉีกหนีจากตลาดได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อมองว่ามันเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องเล็กๆ เครื่องหนึ่ง iPhone ก็ยังมีข้อจำกัดอีกมากมาย ในขณะที่บางคนอาจจะมองว่า iPhone เป็นแก็ดเก็ตที่ไร้จุดหมายที่ชัดเจนว่าต้องการเป็นอะไรกันแน่ ก็อาจจะเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงเกินไป หน่อย แต่สรุปได้ว่า iPhone ไม่ได้มาปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงอะไรแบบถอนรากถอนโคนได้

อีกสาเหตุสำคัญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ คือ การร่วมเป็นพันธมิตรกันระหว่าง AT&T และแอปเปิล

AT&T เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1878 โดยเป็นเจ้าของเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดรวมถึงแทบทุกๆ สิ่งที่อยู่บนเครือ ข่ายนั้น ในขณะที่แอปเปิลเริ่มต้นด้วยการเป็น บริษัทคอมพิวเตอร์ที่ฉีกหนีออกจากขนบของบริษัทคอมพิวเตอร์ในยุคทศวรรษ 1970 โดยอาจจะกล่าวได้ว่า แอปเปิลอยู่คนละข้าง กับทั้ง IBM และ AT&T ตั้งแต่ยุคแรกๆ

ปัญหาของ iPhone ในสายตานักวิเคราะห์หลายต่อหลายคนก็คือ iPhone ถูกผูกติดอยู่กับ AT&T โดยเครื่อง iPhone จะต้องใช้กับเครือข่ายของ AT&T เท่านั้น เมื่อมองถึงเครื่องพีซีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ แล้ว iPhone จึงเป็นของแปลก เพราะ ถ้าเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อใดๆ ถูกผูกติดให้ใช้กับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของเจ้าใดเพียง เจ้าหนึ่งแล้ว หรือโทรทัศน์ยี่ห้อใดๆ จะต้องใช้เปิดช่องใดช่องหนึ่งเท่านั้น ก็ไม่ต่างกับการที่ iPhone ถูกบังคับให้ใช้กับเครือข่ายของ AT&T เท่านั้น

และเมื่อมองถึงราคาเครื่อง iPhone ที่สูงกว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้ออื่นๆ แต่กลับไม่สามารถนำไปใช้กับเครือข่ายอื่นๆ ได้ ที่สำคัญสำหรับลูกค้า iPhone รายใหม่ๆ แล้วพวกเขายังต้องยอมรับข้อตกลงที่จะต้อง ใช้เครือข่ายของ AT&T ในระยะเวลา 2 ปีอีกด้วย ก็ยิ่งทำให้ iPhone เป็นตัวเลือกของโทรศัพท์มือถือที่ขัดกับความเป็นไปของตลาดแข่งขันเสรีอย่างมาก

นี่จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ iPhone ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะถ้าแอปเปิลต้องการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบถอนรากถอนโคน พวกเขาก็จะต้องขาย iPhone ในเวอร์ชั่นที่ปลดล็อกแล้ว โดยต้องเป็นเครื่องโทรศัพท์ที่สามารถทำงานกับเครือข่ายใดๆ ก็ได้ที่ผู้ใช้เห็นว่าให้บริการดีที่สุด

นอกจากนี้ iPhone ยังมีฟังก์ชัน Wi-Fi ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญเมื่อเทียบกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ค่ายอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ฟังก์ชัน Wi-Fi ถูกถอดออกจากโทรศัพท์เคลื่อนที่มานานแล้วเนื่องจากเหตุผลเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือทำให้อายุการใช้งานแบตเตอรี่ใช้ได้สั้นลง อย่างไร ก็ดี สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้พวกเขาถอดฟังก์ชัน Wi-Fi ออกจากโทรศัพท์ เคลื่อนที่ก็คือ เพื่อให้ผู้ใช้โทรศัพท์ใช้เวลากับเครือข่ายที่ใช้บริการอยู่ให้นานขึ้น ในขณะเดียวกันก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีการดาวน์โหลดริงโทนหรือสิ่งอื่นใดจากคอมพิวเตอร์ลงโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้โดยตรง ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายขาดรายได้ไปมหาศาล

นอกจากนี้การมี Wi-Fi ยังทำให้เราสามารถมีทางเลือกในการใช้งานที่หลากหลายขึ้นโดยในเวลาปกติเราอาจจะใช้เครื่อง iPhone โทรศัพท์ติดต่อตามปกติ แต่เมื่อถึงบ้านเราอาจจะต้องการให้มันรัน Skype เพื่อพูดคุยแทน เพราะราคาค่าบริการถูกกว่ามากและสามารถส่งเสียงที่มีคุณภาพมากกว่าได้ แต่ AT&T ก็ไม่ได้ฉวยโอกาสเพื่อทำคะแนนในจุดนี้

แต่ปัญหาก็คือ ถ้า iPhone ไม่ได้อยู่ใกล้ๆ ฐานส่งสัญญาณของ Wi-Fi เครื่อง iPhone ก็ต้องติดต่ออินเทอร์เน็ตโดยอาศัยเครือข่ายของ AT&T ซึ่งเป็นเครือข่าย EDGE ที่เชื่องช้ามากซึ่งทำให้ลดค่าความสามารถ ที่เอกอุของ iPhone ลงไปมาก และทำให้เรารู้สึกเหมือนย้อนไปอยู่ในยุคใช้โมเด็มต่ออินเทอร์เน็ตในขณะที่คนส่วนใหญ่หันไปใช้ไฮสปีดกันหมดแล้ว และนั่นก็ทำให้เครื่อง iPhone ไม่สามารถดาวน์โหลดเพลงจาก iTunes ได้เสียด้วยซ้ำไป ในความเป็นจริงคนใช้โทรศัพท์ต้องการหันไปใช้เครือข่าย 3G หรือเครือข่ายใดๆ ที่เร็วกว่าของ AT&T มากกว่า

นอกจากนี้ iPhone ยังถือว่าเป็นแพลตฟอร์มแบบปิดอีกด้วย เมื่อเทียบกับเรื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชแล้ว เครื่องแมคสามารถรันซอฟต์แวร์อะไรก็ตามที่ผู้พัฒนาเขียนขึ้นมาเพื่อเครื่องแมค ในขณะที่เครื่อง iPhone จะรันเฉพาะซอฟต์แวร์ที่แอปเปิลและ AT&T อนุญาตเท่านั้น แม้แอปเปิลอาจจะอ้างถึงเหตุผลเรื่องความปลอดภัยหรือเรื่องทางด้านเทคนิคก็ตาม แต่เมื่อมองในแง่ปรัชญาของการใช้งานแล้วก็อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้สักเท่าไร เมื่อเทียบกับหลักการของระบบเปิดของการปฏิวัติการใช้งานเครื่องพีซีและอินเทอร์เน็ตแล้ว iPhone จึงถือว่าอยู่กันคนละขั้วเลย

อย่างไรก็ตาม สตีฟ จ็อบ หัวเรี่ยวหัวแรงหลักของแอปเปิลก็ให้ความเห็นในทำนองว่า ได้เหลือพื้นที่ให้กับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นของ iPhone ด้วย โดยจากการที่ iPhone เป็นทั้งเครื่องแมคขนาดย่อและมาพร้อมกับบราวเซอร์ Safari นั่นทำให้นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นสามารถเขียนแอพพลิเคชั่นที่รันบนเว็บเพื่อให้สามารถทำงานกับ iPhone ผ่านบราวเซอร์ได้

แต่ปัญหาก็คือ คนใช้ iPhone ก็จะต้องออนไลน์เพื่อจะใช้เว็บ แอพพลิเคชั่นเหล่านั้น ซึ่งถ้าผู้ใช้ iPhone ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มี Wi-Fi อยู่ก็จะต้องเผชิญกับปัญหาความเชื่องช้าของเครือข่ายของ AT&T อีก นอกจากนี้เครื่อง iPhone ยังไม่สนับสนุนมาตรฐานของ Java และ Flash อีกด้วย ซึ่ง Java และ Flash ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้เว็บ แอพพลิเคชั่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เราอาจจะมองโลกในแง่ดีว่า นี่อาจจะเป็นแผนขั้นที่หนึ่งของแอปเปิลในการก้าวย่างเข้าสู่พื้นที่ของตลาดคนใช้โทรศัพท์ที่แอปเปิลยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน จึงต้องอาศัยยักษ์ใหญ่ในตลาดอย่าง AT&T และเมื่อใดที่แอปเปิลสามารถมีที่ยืนในอุตสาหกรรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ พวกเขาอาจจะเตรียมออก iPhone เวอร์ชั่นใหม่ที่มีสนับสนุน 3G และสามามารถทำงานกับเครือข่ายใดก็ได้ที่ผู้ใช้เห็นว่ามันดีที่สุด รวมถึงการสนับสนุนแอพพลิเคชั่นจากที่ใดๆ ก็ตาม และเมื่อนั้นสมดุลในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเปลี่ยนไป โดยแอปเปิลและบริษัทในวงการ คอมพิวเตอร์จะเริ่มเข้ามาแบ่งเค้กจากยักษ์ใหญ่ผูกขาดในอุตสาหกรรมรายเดิมๆ และนั่นคงเป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนแบบที่แอปเปิลรวมถึงผู้เฝ้ามองมากมายเฝ้าฝันถึง

iPhone คงจะยังไม่ใช่เทรนด์สำหรับตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเมืองไทยในปีนี้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ปีหน้าคงเป็นปีที่ iPhone จะมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ iPhone สามารถครอบตลาดผู้ใช้ได้ทั่วโลก เหมือนที่ iPod เคยทำสำเร็จมาแล้วอย่างสวยงามและ หลังจากนั้นเราคงจะได้เห็นการปฏิวัติเปลี่ยน แปลงอะไรบางอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม

1. Boutin, P. (2007), 'Assessing Apple' iPhone,' Slate.com, Jan 10, 2007.

2. Boutin, P. (2007), 'The iPhone Wannabes,' Slate.com, April 4, 2007.

3. Sessions, D. (2007), 'Where'd Apple Get Its Juice?,' Slate.com, June 22, 2007.

4. Shafer, J. (2007), 'iPhone Suck-up Watch,' Slate.com, June 29, 2007.

5. Shafer, J. (2007), 'Apple Suck-up Watch,' Slate.com, June 20, 2007.

6. Wu, T. (2007), 'Cut the Line, Do the Time?,' Slate.com, June 29, 2007.

7. Wu, T. (2007), 'Why the iPhone isn't really revolutionary,' Slate.com, June 29, 2007.


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.