AISมั่นใจเครือข่ายโหมตลาดสมาร์ทโฟน เกาะฐานวินโดว์สเจาะกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรซ์


ผู้จัดการรายวัน(9 เมษายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

เอไอเอสเชื่อมั่นในศักยภาพเครือข่ายที่พร้อม 100% โหมทำตลาดสมาร์ทโฟนผ่านจีพีอาร์เอสที่จะให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศภายในเดือนเม.ย.นี้ พร้อมโชว์บริการสมาร์ทโซลูชั่น สร้างสีสันให้ตลาดมือถือ เดินหน้าเจาะตลาดองค์กรระดับเอ็นเตอร์ไพรซ์ เกาะฐานผู้ใช้ไมโครซอฟท์ วินโดว์ส ที่ยังประเมินมูลค่าไม่ได้ ส่วนที่เป็นเครื่องลูกข่ายตั้งเป้าขาย 5,000 เครื่องต่อเดือน

นายกฤษณัน งามผาติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจีเอสเอ็ม แอดวานซ์ จีเอสเอ็ม 1800 และ One-2-Call! เปิดเผยว่า หลังจากเอไอเอสได้ประกาศถึงความร่วมมือกับไมโครซอฟท์คอร์ปอเรชั่นในการพัฒนาสมาร์ทโซลูชั่น ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่จะนำไปสู่บริการด้านนอนวอยซ์ได้อย่างไม่ขีดจำกัดนั้น ขณะนี้บริการสมาร์ทโซลูชั่นพร้อมที่จะให้บริการกับผู้ใช้บริการเอไอเอสแล้ว เนื่องจากเอไอเอสได้เตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานหลักหรืออินฟราสตรักเจอร์ ที่จะรองรับรูปแบบการให้บริการประเภทนี้ไว้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งประกอบด้วย

1. เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เอไอเอส ซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ และมีเทคโนโลยีจีพีอาร์เอส ที่สนับสนุนการให้บริการรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูงและบริการด้านมัลติมีเดีย โดยเครือข่ายจีพีอาร์เอสของเอไอเอสจะให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศภายในเดือนเม.ย.นี้ โดยเน้นพื้นที่ที่เป็นชุมชนและมีการใช้บริการมือถือเป็นจำนวนมากเป็นหลัก

2. สมาร์ทโซลูชั่น แพลตฟอร์มที่เอไอเอสร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในการพัฒนา ซึ่งจะก่อให้เกิดรูปแบบของบริการที่สอดคล้องกับแนวคิด S M A R T 3.อุปกรณ์สื่อสารหรือสมาร์ท ดีไวซ์ หลากหลายรูปแบบที่เหมาะกับความต้องการใช้งานของแต่ละบุคคล หรือไลฟ์สไตล์ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่, พีดีเอ, รวมถึงคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค

“เบสิกเน็ตเวิร์คเราได้สร้างไว้พร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว สิ่งที่เอไอเอสจะพูดถึงต่อจากนี้ไปคือบริการใหม่ๆ ที่นำเสนอให้กับผู้บริโภค โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเครือข่าย เพราะเราเป็นมากกว่าเน็ตเวิร์คโพรไวเดอร์แล้ว”

บริการสมาร์ทโซลูชั่น ภายใต้แนวคิด S M A R T ที่เอไอเอสร่วมมือกับไมโครซอฟท์ ที่พร้อมจะให้บริการ ได้แก่ S-System Integration ซึ่งเป็นบริการ Active Sync (Outlook) ที่จะสามารถอัปเดตตารางนัดหมาย บันทึก อีเมล จากเครื่องคอมพิวเตอร์ในสำนักงานผ่านเครือข่ายจีพีอาร์เอส ระหว่างที่อยู่นอกสำนักงาน และบริการโมบาย ออฟฟิศ ที่สามารถดัดแปลงไฟล์ที่ใช้บนคอมพิวเตอร์มาใช้บนโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือพีดีเอได้

M-Multimedia สามารถชมภาพวิดีโอบนเครือข่ายจีพีอาร์เอสได้ดีกว่าเดิม และใช้บริการประเภทมัลติมีเดียได้อย่างไร้ขีดจำกัด เนื่องจากเกิดการขาดหายหรือชะงักของสัญญาณภาพและเสียงน้อยมาก บริการตัวนี้จะรวมถึงการใช้เอ็มเอ็มเอส อัลบั้มภาพส่วนบุคคล และวิดีโอ เมลด้วย

A-Always on การรับ-ส่งข้อมูลบนเครือข่ายจีพีอาร์เอส จะไม่ขาดตอน เช่น การใช้งานอินเทอร์เน็ต เบราว์ซิ่ง ทั้งเว็บไซต์และแวพไซต์, เอ็มเอสเอ็น แมสเซสเจอร์ หรืออินสแตนท์ แมสเซส รวมถึง Chat via GPRS เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

R-Remote Access สามารถเชื่อมต่อหรือเข้าถึงข้อมูลจากระยะไกลได้ผ่านทางเครือข่ายจีพีอาร์เอส เช่น อีเมล ทั้งส่วนบุคคลและคอร์ปอเรต เมล ที่จะมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น รวมถึงการเข้าใช้โมบาย พอร์ทัล ของเอไอเอสจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว พร้อมมีการรับประกันการส่งข้อมูลจากเครือข่าย นอกจากนี้ยังสามารถเลือกเมนูส่วนตัวในลักษณะของคัสโตไมซ์ หรือออกชั่น เอ็นจิ้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการเอไอเอสได้รับความสะดวกสบาย

T-Terminal Convergence การผสมผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ไว้ในตัวอุปกรณ์สื่อสารเพียงเครื่องเดียว เพื่อให้อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถเป็นได้ทุกอย่างตามความต้องการ ทั้งเครื่องเล่นเกม, เครื่องเล่นวิดีโอ, โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือพีดีเอ

“หลังจากนี้ภาพของตลาดมือถือจะเปลี่ยนไป คือจะมีสีสันมากขึ้น เพราะจะมีบริการใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นอะไรที่มากกว่าโทรศัพท์”

จากการรุกตลาดสมาร์ทโฟน เอไอเอสประเมินว่าจะสามารถขายเครื่องลูกข่ายได้ประมาณ 5,000 เครื่องต่อเดือน พร้อมกันนี้ ได้มีการเข้าไปนำเสนอสมาร์ทโซลูชั่นให้กับองค์กรระดับเอ็นเตอร์ไพรซ์ ที่มีการใช้คอมพิวเตอร์พีซีมาก เพื่อให้ฟิกซ์พีซี เชื่อต่อกับมือถือที่เป็นโมบายได้ ซึ่งตลาดตรงนี้เอไอเอสยังไม่สามารถประเมินมูลค่าตลาดได้ เนื่องจากผู้ใช้พีซีส่วนมากใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ส และซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์

การโหมบุกตลาดประเภทนอนวอยซ์ของไอเอสเอสทั้งที่เป็นเอสเอ็มอสที่มีผู้ใช้บริการ 80 ล้านครั้งต่อเดือน เอ็มเอ็มเอส 3-4 หมื่นครั้งต่อเดือน รวมถึงสมาร์ทโซลูชั่น จะทำให้เอไอเอสมีรายได้จากบริาการประเภทนอนวอยซ์ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาทต่อเดือน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.