วงศ์วารี กาแฟคือชีวิต

โดย สมเกียรติ บุญศิริ
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

กลุ่มอโรม่าเริ่มต้นมาจากการเป็นผู้คั่วกาแฟในชื่อ มงคลสวัสดิ์ ขายส่งกาแฟคั่วเป็นปี๊บ หรือที่รู้จักกันในชื่อของกาแฟโบราณ ซึ่งรุ่นก่อตั้งอย่างประพันธ์ วงศ์วารี ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกาแฟมากที่สุดคนหนึ่ง

นงนภา วงศ์วารี ลูกสาวคนที่สอง ให้นิยามพ่อของเธอว่า ทั้งตัวและหัวใจเป็นกาแฟ หากจะคุยเรื่องกาแฟกันแล้วสามารถนั่งถกเถียงพูดคุยกันได้ทั้งวัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว รุ่นที่สองทั้ง 3 คน ความเข้มข้นของกาแฟในสายเลือดก็ไม่ได้เจือจางไปกว่ากันเท่าไร

จากร้านมงคลสวัสดิ์ที่ขายส่งกาแฟทั้งทางเรือ และทางรถยนต์ ขยับขยายขึ้นมาส่งกาแฟให้กับร้านอาหาร โรงแรมต่างๆ มากขึ้น เพราะความเชี่ยวชาญและซื่อสัตย์ต่อลูกค้าทำให้ ลูกค้าเชื่อถือจนขยับขยายธุรกิจให้ใหญ่โตในภายหลัง

กาแฟคั่วในชื่อ Aroma กลายเป็นแบรนด์หลักที่ต่อยอดออกไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ได้มากมาย ผ่านการลงมือทำงานของพี่น้อง 3 คน ที่ต้องยกประโยชน์ให้กับรุ่นพ่อที่วางรากฐานเอาไว้ให้เป็นอย่างดี

ลูกสาวคนโต วรางคณา วงศ์วารี ดูแลภาพรวมการลงทุน ของบริษัท เปรียบเหมือนแม่บ้าน ลูกสาวคนที่สอง นงนภา วงศ์วารี ดูแลเรื่องบัญชี การเงิน เหมือนกระเป๋าเงินของบ้าน และน้องชาย กิจจา วงศ์วารี ดูแลการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ที่แตกขยายออกมา

ธุรกิจกาแฟในมือรุ่นที่ 2 จึงเป็นการเติมส่วนที่ขาดไปให้สมบูรณ์ ไม่มีใครรู้ว่าธุรกิจกาแฟจะสามารถผลิตสินค้าอื่นๆ ประกอบได้มากมายขนาดนี้ แม้ว่ารูปแบบส่วนหนึ่งจะเห็นมาจากต่างประเทศก็ตาม แต่ผู้ประกอบการคนไทยเองยังไม่มีการ ลงทุนแบบครบวงจรอย่างนี้

อโรม่ามีโรงงานคั่วกาแฟ เนื้อที่ 10 ไร่ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา มีเครื่องจักรที่ทันสมัย สามารถคั่วกาแฟได้กว่า 4 ตันต่อวัน และโรงงานในประเทศเวียดนาม

จากนั้นก็มีบริษัทตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ร้านกาแฟร้านอาหาร มีร้านกาแฟ และธุรกิจอาหาร

นงนภาบอกอีกว่า เธอคลุกคลีอยู่กับกาแฟตั้งแต่เด็ก เริ่มตั้งแต่เห็นการคั่วกาแฟ บรรจุปี๊บ ช่วยส่งตามร้านหลังเลิกเรียน เวลาเล่นของเธอก็คือการช่วยงานที่บ้าน

ซึ่งน่าจะรวมความหมายถึงพี่น้องคนอื่นๆ ด้วยที่ได้สัมผัส มาตั้งแต่เล็ก

ไม่แน่ว่า หากเจาะเลือดพวกเขาทั้ง 3 คน อาจพบปริมาณ กาเฟอีนเข้มข้นก็ได้

การเติบโตของรุ่นที่สอง ส่วนหนึ่งอาจมาจากการวางรากฐานทางการศึกษา เพราะทั้งสามคนถูกส่งไปเรียนที่ University of Denver, Colorado, USA โดยวรางคณา หลังจากจบวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ไปเรียนต่อปริญญาโท เช่นเดียวกับนงนภา หลังจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ไปเรียนปริญญาโทด้านการเงิน ส่วนกิจจาจบมัธยมศึกษาในไทย แล้วไปต่อปริญญาตรีด้านการตลาด

เหมือนกับแบ่งงานกันดูแลไปโดยปริยาย คนหนึ่งดูโรงงาน คนหนึ่งดูการเงิน อีกคนหนึ่งดูการตลาด เท่านี้ก็สามารถเดินหน้า ธุรกิจของที่บ้านต่อได้แล้ว

ถ้าจะเปรียบพี่น้องสามคน ก็เหมือนกับคนหนึ่งเป็นแก้วกาแฟ อีกคนหนึ่งเป็นกาแฟ และอีกคนหนึ่งคือน้ำร้อนที่เมื่อนำมารวมกันแล้วกลายเป็นกาแฟหนึ่งแก้วที่รสชาติกลมกล่อม

ร้อน ขม หอม พร้อมอยู่ในกาแฟแก้วนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.