|

ส่งออกไม่ไว้ใจรัฐแก้บาท-บล.เฮได้วงเงินดอลลาร์หมื่นล้าน
ผู้จัดการรายวัน(25 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ครม.ไฟเขียว 6 มาตรการ ผ่อนคลายระเบียบการฝากเงินและการโอนเงินตราต่างประเทศ หวังคุมไม่ให้เงินบาทแข็งค่า ขณะที่แบงก์ชาติอนุมัติวงเงินลงทุนต่างประเทศเพิ่มเป็น 10,000 ล้านดอลลาร์ ให้ก.ล.ต.ไปจัดสรรแก่ บล.ที่ต้องการไปลงทุนโดยตรง ขณะที่ผู้ส่งออกไม่วางใจ ขอ 2 สัปดาห์เกาะติดมาตรการรัฐดูแลค่าบาท เมื่อเห็นทิศทางชัด-บาทนิ่งค่อยรับออร์เดอร์
วานนี้ (24 ก.ค.) นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. อุตสาหกรรม นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง และนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมแถลงถึงมติคณะที่รัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบ มาตรการ “การผ่อนคลายระเบียบการฝากเงินและการโอนเงินตราต่างประเทศ” เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อให้การบริหารการผันผวนของเงินและอัตราแลกเปลี่ยนทำได้ง่ายขึ้น
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท. เปิดเผยว่า ครม.ได้พิจารณาและอนุมัติเห็นชอบ มาตรการแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง ที่ทางกระทรวงการคลังและ ธปท.เสนอ โดยการผ่อนคลายการโอนเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศให้มีความสมดุลมากขึ้น และสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยมี ความคล่องตัวในการบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย โดยมี มาตรการ 6 ข้อ ได้แก่ 1.การอนุญาตให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นำเงินออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้ไม่เกิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปีโดยบริษัทดังกล่าวจะต้องมีส่วนผู้ถือหุ้นเป็นบวก และไม่อยู่ในกลุ่มที่เข้าข่ายถูกเพิกถอนจากการจดทะเบียน
2.การอนุญาตให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในประเทศไทยฝากเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงินได้คล่องตัวขึ้น โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศนั้น หากเป็นผู้ที่มีภาระผูกพันเป็นเงินตราต่างประเทศ กรณีเป็นบุคคลธรรมดาสามารถฝากได้ไม่เกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ และนิติบุคคลฝากได้ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนผู้ทีไม่มีภาระฯ หากเป็นบุคคลธรรมดาจะสามารถฝากได้ 1 แสนเหรียญสหรัฐ และนิติบุคคล 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ส่วนผู้ที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศจากในประเทศไทยหากเป็นผู้ที่มีภาระผูกพันเป็นเงินตราต่างประเทศ กรณีบุคคลธรรมดาสามารถฝากเงิน 5 แสนเหรียญสหรัฐ นิติบุคคล 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนผู้ที่ไม่มีภาระเป็นเงินตราต่างประเทศ บุคคลธรรมดาสามารถฝากได้ 5 หมื่นเหรียญสหรัฐและนิติบุคคล 2 แสนเหรียญสหรัฐ
3.ขยายเพดานการโอนเงินข้ามประเทศเป็นไม่เกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ/คน/ปี สำหรับการโอนไปให้ญาติที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศการบริจาคเงิน และการซื้ออสังหาริมทรัพย์ 4.ให้ผู้ที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศถือครองเงินตราต่างประเทศภายนอกประเทศได้นานขึ้น โดยให้นำเข้ามาในประเทศภายใน 360 วัน จากเดิมกำหนดไว้เพียง 120 วัน 5. ยกเลิกระยะเวลาถือครองเงินตราต่างประเทศภายในประเทศจาก 15 วันเป็นไม่จำกัดระยะเวลา
6. การปรับปรุงเงื่อนไขการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนประเภทสถาบันในรูปเงินฝากกับสถาบันการเงินต่างประเทศได้โดยไม่ต้องขออนุญาต โดยให้นับรวมกับวงเงินที่สามารถไปลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ
ทั้งนี้ มาตรการที่ประกาศ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2550 ยกเว้นการขยายระยะเวลาให้นำเงินตราต่างประเทศกลับเข้าประเทศตามข้อ 4 ให้มีผลในวันถัดจากวันประกาศกฎกระทรวงใน ราชกิจจานุเบกษา ซึ่ง ธปท. จะประกาศให้ทราบอีกครั้ง และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องสามารถดูได้จาก Website ของ ธปท. ที่ www.bot.or.thภายใต้หัวข้อ "เรื่องเด่น" และข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้จากศูนย์ Hot-line ธปท. โทร. 0-2283-6000
เพิ่มวงเงิน บล.เป็นหมื่นล้านดอลล์
นางธาริษากล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ธปท.ได้เพิ่มวงเงินเป็น 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากวงเงินเดิมที่เคยอนุมติให้ 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขณะนี้วงเงินดังกล่าวยังใช้ไม่เต็มวงเงิน โดยมีการใช้ไปเพียง 25% เท่านั้น โดยวงเงินดังกล่าว ก.ล.ต.จะเป็นผู้จัดสรร ซึ่งการไปลงทุนในต่างประเทศประชาชนสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดตั้งขึ้น คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์ มาตรการดังกล่าวนี้น่าจะประกาศใช้ได้ ทั้งนี้ ธปท.จะไม่มีการกำหนดเวลา หากวงเงินที่ให้ไปใช้หมดหากต้องการจะขอเพิ่มอีก หากอยู่ในวิสัยทัศน์ที่ธปท.จะเพิ่มให้ได้ก็จะเพิ่มให้อีก
“ในส่วนของ บล.เท่าที่ได้คุยกัน ขณะนี้มีผู้ลงทุนในประเทศต้องการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศประมาณ 1 แสนล้านบาท ก็แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนมีความต้องการที่จำนำเงินออกไปลงทุนจริง ประกอบกับในส่วนของทางการเองก็เปิดช่องทางให้แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นความเห็นที่ตรงกัน อย่างไรก็ตาม คิดว่ามาตรการที่ออกมาทั้ง 6 ข้อ เป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์ ซึ่งได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว ซึ่งมาตาการนี้ก็สอดคล้องกับข้อเสนอของ กกร.เสนอมา” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว ***(อ่าน...ขาใหญ่คึกลงทุนหุ้นต่างประเทศ...หน้า 30)***
ในส่วนของการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี วงเงิน 5,000 ล้านบาท นั้น ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า จะมีการตั้งเป็น 2 กองทุนย่อย โดยกองทุนแรก วงเงิน 4,500 ล้านบาท ธปท.จะสมทบเงิน 50%และธนาคารพาณิชย์ 50% ส่วนกองทุนที่ 2 วงเงิน 500 ล้านบาท ธปท.จะสมทบเงินให้ 90% และธนาคารพาณิชย์ สมทบเงิน 10% ทั้งนี้ ในส่วนของกองทุนที่ 2 วงเงิน 500 ล้านบาท นั้น ธปท.ต้องการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีจริงๆ ซึ่งอาจจะมีปัญหาทางธุรกิจ แต่ยังมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามา ซึ่งการที่ธปท.เข้าไปช่วยจะช่วยลดต้นทุนในการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ คือ ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องมีภาระในการกันสำรองหนี้จัดชั้น
“สำหรับการคิดอัตราดอกเบี้ย ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดชัดเจน แต่จะเป็นการปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟโลนส์) ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยจะถูกกว่าท้องตลาด ซึ่งคิดว่าการตั้งวงเงินช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี คงไม่ใช่เรื่องยุงยากอะไรเพราะธปท.ก็เคยให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจมาแล้ว เช่น การให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
เร่งกองทุนSMEให้เสร็จสิ้นเดือน
สำหรับ 2 มาตรการที่ต้องดำเนินการต่อไปนั้น นายโฆสิตเปิดเผยว่า ประกอบด้วย 1. การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากค่าเงินที่แข็งค่านั้น ครม.ได้เห็นชอบ ให้ตั้งกองทุน SMEs โดย ธปท.และสมาคมธนาคารไทยจะร่วมกันดำเนินการพิจารณาเงื่อนไขและรายละเอียดในวงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการได้ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ กับ 2. การดูแลเงินตราต่างประเทศยังมีมาตรการทางการคลัง ที่จะสนับสนุนการส่งออก เป็นเรื่องที่คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) เสนอในเรื่องของการคืนการเร่งรัดคืนภาษีมุมน้ำเงินของกรมศุลกากร และภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากปีนี้เป็นการเปลี่ยนรหัสของสินค้า จาก 6 หลัก เป็นตัวเลข 8 จึงคืนภาษีได้ช้า กว่าในอดีตโดยจะต้องกำหนดอัตราและประกาศกระทรวงการคลังใหม่โดยเร็ว
ให้ดูเงินบาทหลังออกมาตรการ
นายฉลองภพกล่าวว่า หลังจากที่ออกไปมาตรการไปแล้ว ค่าเงินบาทได้ปรับดีขึ้นแล้ว เพราะไม่ใช่มาตราการที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนหรือแข็ง แต่เป็นการเอื้อให้คนถือเงินตราต่างประเทศได้ง่ายขึ้น แม้จะมีมาตรการออกมา ก็จะต้องมีกระบวนการบริหารจัดการ การไหลเข้าออกของเงินจากต่างประเทศ ดังนั้นระบบการจัดการ ณ วันนี้จึงสามารถดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนไปค่อนข้าวดี จะเห็นจากการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่อ่อนลง ส่วนจะอ่อนกลับไปที่ 35 หรือ 36 บาทหรือไม่นั้น รัฐบาลคงจะพูดไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของสภาพตลาดที่จะต้องดูกันต่อไป
นายโฆสิตกล่าวว่า การดูแลค่าเงินให้มีเสถียรภาพ เป็นค่าเงินที่เปลี่ยนได้ แต่การเปลี่ยนแปลงนี้จะดูและให้ไม่ผันผวน และดูแลประเทศคู่เทียบ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เพราะฉะนั้นไม่ประเทศคู่เทียบใดที่อยู่นิ่ง เพราะฉะนั้นจึงขอให้เข้าใจว่า เราเป็นประเทศหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่ใช้ระบบการบริหารจัดการทางการเงินลักษณะเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน ถือว่าไม่ใช่วัตถุประสงค์ อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้เชื่อว่ายังจะคุมสถานการณ์ต่อไปได้
ส่งออกเกาะติดมาตรการรัฐ 2 สัปดาห์
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า มาตรการที่รัฐบาลออกมานั้นถือว่าเป็นนโยบายที่ดีที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ส่งออกได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามจะได้ผลหรือไม่คงต้องขอติดตามอย่างน้อย 2 สัปดาห์จึงจะพอเห็นทิศทางซึ่งหากมีผลทำให้บาทนิ่งขึ้นเชื่อว่าจะมีผลให้ผู้ส่งออกกล้าที่จะรับยอดคำสั่งซื้อหรือออร์เดอร์การผลิตที่เริ่มเข้ามาในการรองรับเทศกาลปีใหม่มากขึ้นก็จะทำให้ภาพรวมการส่งออก 6 เดือนหลังของปีนี้ยังจะขยายตัวได้ดีอยู่
“ขณะนี้เอกชนก็ติดตามใกล้ชิดหากมาตรการที่รัฐออกมาล่าสุด 6 มาตรการนี้มีผลในทางปฏิบัติได้จริงก็จะทำให้ทุกอย่างไปได้ด้วยดีและจะทำให้ส่งออกโตมากกว่านี้เพราะขณะนี้มีออเดอร์เริ่มเข้ามาแล้วเพื่อรองรับความต้องการช่วงสิ้นปีแต่หลายรายไม่กล้ารับเพราะเกรงว่าจะขาดทุน”นายธนิตกล่าว
ไม่แน่ใจจะฝากเงินดอลล์ได้
ทั้งนี้มาตรการที่ให้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาเปิดบัญชีฝากเงินในรูปดอลลาร์สหรัฐนั้นถือเป็นนโยบายที่ดีที่จะทำให้มีผู้เล่นมากขึ้นนอกเหนือจากธปท.แต่ก็ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายจะมีคนฝากหรือไม่เพราะหากไม่มั่นใจว่าบาทจะนิ่งก็คงยากที่จะเสี่ยงประกอบกับผู้ส่งออกและประชาชนเองก็ไม่ได้มีเงินมากเพราะจะต้องนำมาหมุนเวียนในการทำธุรกิจด้วย
นายไพบูลย์ พลสุวรรณา รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้ก็เริ่มเห็นว่าค่าเงินบาทเริ่มอ่อนลงเล็กน้อยดังนั้นมาตรการที่รัฐออกมาล่าสุดนี้จะมีผลมากน้อยเพียงใดก็จะต้องติดตามอีกระยะหนึ่งแน่นอนว่ามาตรการดังกล่าวถือว่ามาถูกทางแล้วแต่จะได้ผลหรือไม่ก็ต้องติดตามเพราะมาตรการก่อนหน้านั้นก็ดูเหมือนจะใช้ได้ระยะหนึ่งหลังจากนั้นก็มีปัญหา
เตือนเลือกตั้งบาทจะแข็งต่อ
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวยอมรับว่า ผู้ประกอบการไทยที่ผ่านมาได้ปรับตัวต่อภาวะค่าเงินบาทระดับหนึ่งแล้วหากค่าบาทนิ่งคงไม่เป็นปัญหาแต่ที่เป็นปัญหาที่ผ่านมาเพราะบาทแข็งค่าเร็วเกินไปดังนั้นมาตรการที่รัฐออกมา 6 ข้อตามที่เอกชนเสนอเชื่อว่าจะดูแลปัญหาค่าบาทได้อย่างดีและถือว่าตรงจุด อย่างไรก็ตามปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติคือสะท้อนตลาดภูมิภาคซึ่งหากรัฐธรรมนูญผ่านแล้วมีการเลือกตั้งจะทำให้ค่าเงินบาทของไทยมีโอกาสแข็งค่าต่ออีก
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|