ก้าวย่างใหม่กับรุ่นที่ 3

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ปิยะพล กัญจนาภรณ์ ไม่ได้เพียงแต่รั้งตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานซักฟอกซินไฉฮั้วเท่านั้น แต่พนักงานกว่าหนึ่งพันชีวิตที่อยู่ภายใต้แบรนด์ซินไฉฮั้วยังทราบดีว่า ปิยะพลคือลูกชายคนโตของพิพัฒน์ และทัศนา กัญจนาภรณ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการสอนงานเพื่อรับช่วงต่อกิจการทั้งหมดจากผู้เป็นพ่อและแม่ พนักงานทราบดีว่านี่คือคนรุ่นสามที่จะนำพาซินไฉฮั้วก้าวเดินต่อไป

ปิยะพลจบปริญญาโทด้านทรัพยากรมนุษย์ จากสหรัฐอเมริกา ในวัย 28 ปี เมื่อกลับบ้าน ภาระการสืบทอดธุรกิจทั้งหมดของครอบครัวดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เขารับรู้ล่วงหน้าอยู่แล้ว

พิพัฒน์เคยเปรยๆ กับปิยะพลเมื่อไม่นานมานี้ว่า ในอนาคตข้างหน้าอาจจะขยายบริการรับซักผ้าด้วยน้ำในระดับอุตสาหกรรมไปยังหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาค อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ หรือแม้แต่พัทยา และหน้าที่ของปิยะพลก็คือ เป็นผู้ทำให้สิ่งนั้นเป็นจริงได้ ภายใต้เงื่อนไขของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและเศรษฐกิจที่น่าจะลงทุน

แม้จะพักโครงการไว้ก่อน ด้วยความไม่แน่นอนอะไรหลายๆ อย่าง แต่พิพัฒน์ก็คาดหวังว่า ปิยะพลจะเป็นแรงสำคัญที่ขยายธุรกิจซักน้ำแบบก้าวกระโดด สิ่งที่เขาคิดและอยากจะเห็นก็คือ การนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์

การแยกบริษัทเพื่อรับซักน้ำอุตสาหกรรมออกจากการซักแห้ง ทำการระดมทุนเพื่อขยายศักยภาพในการให้บริการให้มากขึ้นในหัวเมืองใหญ่ โดยชี้ให้ผู้ที่จะเข้าร่วมถือหุ้นเห็นว่าซินไฉฮั้วมีองค์ความรู้หรือ know how ด้านการซักผ้ามายาวนาน มีบุคลากรที่สั่งสมมานานหลายชั่วอายุ โดยที่คนอื่นมั่นใจได้ว่าหากฝากผีฝากไข้ไว้กับซินไฉฮั้วแล้วจะไม่ขาดทุน

"ซักน้ำ ยิ่งทำแล้วยิ่งสนุก เป็นงานบริการที่ไม่ต้องแข่งกับชาวบ้านเขา ไม่ต้องแข่งกับจีน หรือกับใครใกล้บ้าน เพราะเรามีพื้นที่ของเรา ทำให้เราเห็น potential เป็นอย่างมาก ประกอบกับชื่อของเราก็น่าเชื่อว่าจะไปได้ดี ตอนนี้ก็ต้องรอว่าบรรยากาศในการลงทุนเป็นอย่างไร ถึงจะเลือกว่าจะลงทุนหรือขยายธุรกิจในรูปแบบไหน" พิพัฒน์กล่าว

"เศรษฐกิจไม่ดี ธุรกิจซักผ้าก็ไม่ดีไปด้วย" คือสิ่งที่ทั้งพิพัฒน์ บอกเล่าต่อไปยังปิยะพลให้ระมัดระวังในการผลักดันและลงทุนไปกับกิจการของครอบครัวที่มีมูลค่านับพันล้านบาทให้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง

วิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี 2540 เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ซินไฉฮั้วได้เรียนรู้การอยู่รอดของการดำเนินธุรกิจที่ใครๆ ก็มองว่า สิ้นเปลือง หันมาซักผ้าเอง ไม่ส่งร้านซักแห้งเหมือนดังแต่ก่อน

ระยะเวลาไม่กี่เดือน ครอบครัวกัญจนาภรณ์ผ่านภาวะของการชะลอการใช้สอยของผู้คนในสังคมได้สำเร็จ แต่ดูเหมือนว่าเจ้าตัวจะพบปัญหาหนักในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ ไม่ผิดเพี้ยนอะไรกับปี 2540

ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง และการรณรงค์ให้ผู้คนใส่เสื้อเหลืองในวาระของการเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปี ของในหลวง ทำให้ผู้คนไม่ส่งเสื้อเหลืองมาซักแห้ง แต่นิยมซักกันเองที่บ้าน ขณะที่ค่าเงินบาทที่แข็งตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีคู่แข่งอย่างจีน เวียดนาม ทำให้ธุรกิจการ์เมนท์ยังไม่หวือหวาอย่างที่คิด

พิพัฒน์ยังบอกว่า ซักแห้งก็เหมือนกับการทำก๋วยเตี๋ยว หลากคนหลากความต้องการ บางคนต้องการเส้นใหญ่ ไม่ตับ เส้นเล็ก ไม่เอาพริกไทย ไม่เอาถั่วงอก ไม่เอาเนื้อ ไม่ใส่ลูกชิ้น ต้องให้ตรงกับความต้องการแต่ละคน ทำให้ธุรกิจนี้ค่อนข้างละเอียด การทำ ความสะอาดเสื้อผ้าสี่พันชิ้น แต่เจ้าของเสื้อผ้านั่นอาจมากถึงสามพันคน

ดังนั้นธุรกิจซักแห้งจึงนิ่ง แม้จะไม่ตาย แต่ก็ไม่หวือหวา และที่สำคัญแบรนด์ของซินไฉฮั้วนั้นเกิดจากซักแห้ง สิ่งที่เขาและครอบครัวต้องทำก็คือ การรักษาชื่อไว้

"ในประเทศไทย ผมเชื่อว่าผมเป็นแชมป์สามรุ่นทั้งซักแห้ง ซักน้ำ และฟอกยีน สำหรับการ์เมนท์ผมถือว่าอยู่ในระดับกลาง ไม่ต่ำและไม่สูง ยังอยู่ได้ แต่ถ้ามองในแง่ของแนวโน้ม ผมให้น้ำหนักทางซักน้ำ เพราะเชื่อว่าไปได้ดี ทางซักแห้ง เราไม่ได้หยุดนิ่ง แต่รู้ว่ามันมีข้อจำกัดบางอย่าง มันโตลำบาก แต่เราก็พัฒนาเครื่องจักรใหม่ๆ ไปเรื่อย แต่เรารักชื่อเสียงของเรา มันเป็นชื่อเสียงของตระกูลเรา เพราะเราโตมากับที่นี่ เราเลยไม่อยากทำลายมัน เราเลยต้องลงทุนและทำให้มันเติบโตขึ้น แม้จะต้องเสียเงินลงทุน แต่เราก็จำเป็น เป็นความภูมิใจและอยากจะทำ มากกว่ามองเรื่องรายได้เพียงอย่างเดียว"

"พวกผมค่อนข้าง Conservative นะ ไม่รวย ไม่วูบวาบ เดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ ช้าหรือเร็วแล้วแต่จังหวะของเศรษฐกิจ แต่ก็มุ่งมั่นในแนวทางของตัวเองเสมอมา นี่ถือว่าเป็นอาชีพของเรา เส้นตรงอยู่ตรงนี้ เราไม่วอกแวก มีชื่อเสียง เรารักชื่อเสียง กลัวจะเสียชื่อเสียง ภาพที่คนอื่นมองเราคือ สัมมาอาชีวะ ผมไม่ได้รวยฐานะเท่ากับคนที่โนเนม แต่ผมรวยชื่อเสียง ผมเลยอยากรักษาความรวยของชื่อเสียงแบบนี้เอาไว้ให้นาน" พิพัฒน์ทิ้งท้ายเอาไว้

ก่อนใช้เวลาอีกหลายชั่วโมงพา "ผู้จัดการ" ชมกิจการในส่วนของการ์เมนท์ ขณะที่โรงซักน้ำอุตสาหกรรมเขาบอกว่า "เปิดทางให้ลูกชายผมพาไปเยี่ยมชมนะครับ" เป็นนัยหนึ่งว่า ถึงเวลาเปิดทางให้ลูกชายเข้ามาทำหน้าที่แทนเขาบ้างนับจากนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.