จิตภาพซัดดัม ฮุสเซน


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

สงครามระหว่างประเทศอิรักกับกลุ่มประเทศพันธมิตรภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกายังไม่ทันยุติลง สงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลอิรักกับชนหมู่น้อย 2 กลุ่มในอิรักก็ระเบิดขึ้น บุคคลที่ต้องทำงานหนักที่สุดในทั้ง 2 ศึกใหญ่นี้ได้แก่ประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรัก ซึ่งต่อไปนี้ขอกล่าวถึงผู้นำท่านนี้อย่างสั้นๆว่า "ซัดดัม"

ในฐานะประธานาธิบดีของประเทศอิรัก ซึ่งมีพลเมือง 18.8 ล้านคน ซัดดัมเป็นนักบริหารที่น่าทึ่งและน่าสนใจมาก ใครก็ตามที่ต้องการทำสงครามกับซัดดัมจะต้องคิดหนักและคิดให้รอบครอบ เพราะซัดดัมมิใช่บุคคลธรรมดาที่ใครๆจะจัดการอย่างง่ายดายได้ ท่านเป็นผู้ที่มีความคิดหลักแหลมและล้ำลึก

ขณะนี้ ซัดดัมกำลังเป็นบุคคลที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลก ภาพและชื่อของท่านปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์และวารสารทั่วโลก ท่านมีทั้งคนรักและคนชัง มีทั้งคนนับถือและเหยียดหยาม

แม้ว่าคนทั่วโลกจะรู้จักซัดดัมดี แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักชีวิตในอดีตของท่าน

มีผู้เขียนชีวประวัติของท่านหลายราย แต่ตัวท่านเอง ยังไม่เคยเปิดเผยชีวประวัติของท่าน ความน่าเชื่อถือของเรื่องราวที่ผู้อื่นเขียนไว้จึงต้องขมวดเป็นเครื่องหมายคำถามไว้ก่อน

กล่าวกันว่า พ้าซัดดัมมีโอกาสเขียนอัตชีวประวัติโดยเฉพาะบันทึกความจำเกี่ยวกับสงครามครั้งนี้ท่านคงไม่ต้องหาโรงพิมพ์เอง และหนังสือของท่านคงขายดีติดอันดับที่ 1 อย่างแน่นอน

บุคคลที่ให้ความสนใจต่อชีวประวัติของซัดดัมเป็นพิเศษเห็นจะได้แก่บรรดานักจิตวิทยา นักจิตวิเคราะห์ตลอดจนจิตแพทย์ทั้งหลายในสหรัฐฯ ผู้เชี่ยวชาญพฤติกรรมมนุษย์นี้ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตในอดีตของซัดดัมโดยเฉพาะในสมัยที่ท่านยังเยาว์วัย เพื่อนำไปสร้างจิตภาพที่บ่งบอกอุปนิสัยใจคอใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด เพื่อว่าฝ่ายทหารและฝ่ายรัฐศาสตร์การเมืองจะได้นำจิตภาพนี้ไปสร้างนโยบายตลอดจนแผนยุทธศาสตร์ต่อไป

จิตภาพสำคัญขนาดไหน? ในการทำสงครามสิ่งสำคัญที่สุดมิได้อยู่ที่อำนาจการยิงหรือ?

มีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันว่าอิรักต้องพ่ายแพ้สงครามครั้งนี้ เพราะทหารฝ่ายพันธมิตรมีอาวุธที่เหนือกว่าทั้งในด้านเทคโนโลยีและด้านอานุภาพในการทำลาย เช่น นักบินพันธมิตรสามารถมองเห็นเป้าหมายในตอนกลางคืนได้โดยใช้กล้องระบบแสงอินฟราเรด และสามารถถล่มอาคารกระทรวงกลาโหมทั้งหลังด้วยจรวดขขับนำแสงเลเซอร์ขนาด 1,000 ปอนด์ในช่วงกลางวันแสกๆ ประชาชนอิรัก สามารถมองเห็นจรวดโทมาฮอก ซึ่งถูกยิงจากเรือรบจอดอยู่ในอ่าวเปอร์เซียห่างออกไปหลายร้อยไมล็พุ่งข้ามศีรษะไปชนเป้าหมายอย่างแม่นยำ

จริงอยู่ข้อได้เปรียบทางอาวุธมีส่วนสำคัญต่อผลการรบ แต่สงครามสมัยนี้ ซึ่งเป็นสมัยที่ใครๆก็มีค่านิยมสูงต่อระบบประชาธิปไตย มิติทางการเมืองกลายเป็นอาวุธที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งสามารถทำให้สงครามพลิกล๊อกได้หากไม่ระมัดระวัง

มิติทางการเมืองเริ่มจากเสียงของประชาชน ซึ่งบรรดาสื่อมวลชนสะท้อนให้ได้ยินได้เห็นอยู่ตลอดเวลา ทางหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ยิ่งสมัยนี้มีระบบดาวเทียมช่วยถ่ายภาพทอดแพร่ภาพและเสียงแบบสดหรือภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

การเดินแต้มทางทหารที่ไม่รอบคอบอาจก่อให้เกิดความรู้สึกทางอารมณ์แบบสะเทือนใจจากผู้คนทั่วโลก และอาจทำให้พ่ายแพ้สงครามได้ง่ายๆ ดังเช่นกรณีเครื่องบินพันธมิตรทิ้งระเบิดหลุมหลบภัยทำให้ประชาชนล้มตามเป็นร้อย ประชาชนหลายประเทศที่ทราบข่าวมีการเคลื่อนไหวไม่พอใจมาก ยังผลให้ผู้นำอย่างน้อย 2 ประเทศทำอะไรบางอย่าง ที่ไม่อยู่ในปกติวิสัยจะทำ

กล่าวคือ รัฐบานสเปนประกาศให้ทหารของตนในสมรภูมิตะวันออกกลางหยุดรบและกษัตริย์จอร์แดนทรงประณามฝ่ายพันธมิตรอย่างแรง ทำให้มีความหวั่นวิตกว่าฝ่ายพันธมิตรอาจเริ่มแตกแยกกัน และจอร์แดนอาจโจนเข้าช่วยอิรักอย่างโจ่งแจ้ง ที่น่าวิตกที่สุดก็คือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเริ่มเคลื่อนไหวพิจารณาประเด็นที่ว่า ฝ่ายพันธมิตรกำลังทำเกินขอบเขตหรือไม่

จะเห็นได้ว่า สงครามสมัยนี้ ต้องมีทั้งอาวุธเก่งกาจ และการเดินแต้มทางการเมืองที่ชาญฉลาด มิติทางการเมืองจะสำเร็จหรือไม่ประการใดย่อมขึ้นอยู่ ที่ข้อมูลเกี่ยวกับจิตภาพของผู้นำในแต่ละประเภท ตลอดจนจิตภาพของประชากรในลักษณะที่เป็นภาพรวม

นอกจากนี้ข้อมูลจิตภาพยังนำไปใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์ในการรบได้อีกด้วย

สหรัฐฯมีจิตภาพของบรรดานายพลอีรักหลายคน เพราะนายพลเหล่านี้เคยไปศึกษาต่อในสหรัฐฯ และจากการทำสงครามระหว่างอิรักกับอิหร่านมากว่า 8 ปี ลักษณะแนวคิดต่างๆ ในการรบของทั้ง 2 ประเทศ ถูกบันทึกไว้หมดสหรัฯจึงมีข้อมูลที่ทำให้สามารถทำนายได้ถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ว่า อิรักจะต่อสู้ป้องกันตนอย่างไร

พลเอก นอร์แมน ชวาต์ชคอฟ นายพล 4 ดาว แห่งสหรัฐฯ ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายพันธมิตร ได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งของสหรัฐฯว่าจุดอ่อนของซัดดัมอยู่ที่ท่านเป็นผู้ที่ถูกทำนายได้แม่นยำ กล่าวคือ ซัดดัม จะคิดอะไรทำอะไร ฝ่ายพันธมิตรอ่านไต๋ได้หมด

ก่อนที่สหรัฐฯจะตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรดีกับการรุกรานของอิรักต่อประเทศคูเวต ปรากฏว่ามีเสียงทัดทานได้ว่า หากใช้กำลังทหารเข้าแก้ไขอาจประสบความปราชัยและมีหลายเสียงแนะไว้ว่า ควรรอให้มาตรการปิดล้อมทางเศรษฐกิจของสหประชาชาติบับรัดให้อิรักจำยอมถอนออกจากคูเวต การใช้กำลังทหารอาจก่อให้เกิดการลุกฮือของชาวมุสลิมทั่วโลก ซึ่งอาจก่อให้เกิดวินาศกรรมในประเทศต่างๆ เนื่องจากซัดดัมได้ประกาศตลอดเวลาว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามทางศานา ระหว่างผู้เคร่งครัดกับผู้ทรยศต่อศาสนาอิสลาม

บางเสียงก็เกรงว่าประเทศอาหรับบางประเทศในกลุ่มพันธมิตรอาจแตกแยกในระหว่างสงครามทำให้พันธมิตรต้องรบกันเอง เพราะซัดดัมข่มขู่ว่าจะโจมตีประเทศอิสราเอลทันทีที่ตนถูกฝ่ายพันธมิตรรุกราน ที่น่าวิตกก็คือมีเสียงเตือนว่าทหารอิรักเชื่อกันว่า การสละชีพเพื่อศาสนาอิสลามจะทำให้ได้ไปสวรรค์เมื่อตายแล้ว ซึ่งทำให้มองเห็นทหารอิรักประหนึ่งเป็นหน่วยกล้ายตายทั้งกองทัพ

แต่ในที่สุด สหรัฐฯก็ตัดสินใจร่วมกับพันธมิตรใช้กำลังทหารเข้าแก้ไขเหตุการณ์ เพราะเห็นชัดจากจิตภาพของผู้นำในประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจิตภาพของประชากรในแต่ละประเทศนั้นๆว่า เป็นวิถีทางที่จะแก้ไขเหตุการณ์ได้ดีที่สุด เมื่อสงครามระเบิดขึ้นก็ไม่ปรากฏว่าชาวอิสลามได้ลุกฮือกันทั่วโลก การแตกแยกในกลุ่มพันธมิตรโดยเหล่าทหารอาหรับก็ไม่มี และที่สำคัญที่สุดก็คือทหารอิรักยอมจำนนเป็นเชลยศึกหลายหมื่นคน

การสร้างจิตภาพนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางพฤติกรรมมนุษย์จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ ทางจิตวิทยาสังคมวิทยาโดยแบ่งข้อมูลเป็น 2 ระดับ คือระดับประชากรและระดับผู้นำส่วนบุคคล สำหรับประชาการนั้น ข้อมูลที่เกี่ยวกับค่านิยม ทัศนคติ ตลอดจนกติกาทางสังคม เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี กฎหมายบ้านเมือง ฯลฯ ซึ่งเรียกรวมกันว่าวัฒนธรรมประจำชาติ จะถูกรวบรวมจากเหตุการณ์ประจำวัน เช่น ภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่องใดมีคนดูมากที่สุด? เพราะเหตุใด? มีสิ่งจูงใจอะไรที่บันดาลให้ประชาชนรีบกลับเข้าบ้านเปิดโทรทัศน์ดูภาพยนตร์เรื่องนั้น?

มีข่าวว่าที่กรุงไทเป ไต้หวัน เคยมีภายยนตร์โทรทัศน์ฮิตเรื่องหนึ่ง เมื่อถึงเวลาฉายตอนอวสาน รถราบนถนนหายหมด แม้กระทั่งแท็กซี่ก็หาไม่ได้!

หนังสือพิมพ์ก็เป็นแหล่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นจิตภาพของประชากรได้มาก เช่น ข่าวประเภทไหนที่ได้รับความสนใจจากผู้อ่านมากที่สุด? อาชญากรรมประเภทใดที่ได้รับความสนใจจากผู้อ่านมากที่สุด? อาชญากรรมประเภทใดเกิดขึ้นบ่อย? ประชาชนมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อเหตุการณ์สำคัญ อย่างเช่นการปฏิวัติรัฐประหารฯลฯ? สถาบันศาสนากำลังเป็นอย่างไร? มีอิทธิพลมากน้อยเพียงใดและอย่างไรต่อประชาชน? นอกจากนี้วรรณคดีแห่งชาติมีอะไรบ้าง? มีสาระสำคัญอย่างไร?

ข้อมูลเหล่านี้แสวงหากันได้ไม่ยาก มีอยู่แม้กระทั่งในห้องสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งมีหนังสือภาษาไทยมากมายโดยเฉพาะจำพวกวรรณคดีและสารคดีไทย (ไม่มีนวนิยาย)

การสร้างจิตภาพระดับผู้นำส่วนบุคคลนั้น ข้อมูลทางวัฒนธรรมประจำชาติดังกล่าวจะต้องมีพื้นฐานสำหรับใช้ตีความเหตุการณ์ตามความเข้าใจของประชาชนในชาตินั้นๆ

แต่ข้อมูลที่ต้องใช้มากที่สุดในกรณีนี้ได้แก่ ข้อมูลทางจิตวิเคราะห์และจิตเวชศาสตร์ เพื่อกำหนดให้ชัดเจนลงไปว่า ใครจะมีแนวโน้มตอบสนองต่อเหตุการณ์หนึ่งได้อย่างไร

ในสหรัฐฯ ศาสตราจารย์ เจอร์รอลด์ โพสต์ผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวชศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยจอร์ชวอชิงตัน ได้ทำการประเมินจิตภาพของผู้นำประเทศต่างๆ มากกว่า 20 ปี และเป็นบุคคลสำคัญในการวินิจฉัยจิตภาพของซัดดัม

ในหลักวิชาการ การสร้างจิตภาพของผู้นำส่วนบุคคลมิใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยข้อมูลมากมาย ซึ่งจะต้องเป็นข้อมูลที่เป็นความจริง ไม่ถูกบิดเบือน โดยเฉพาะข้อมูลสมัยเยาว์วัย ซึ่งในกรณีของซัดดัมนั้นหาได้ยากมาก ทั้งนี้ ทำให้เกิดข้อกังขาขึ้นมาว่า การประเมินจะผิดพลาดได้ง่าย

ปัญหาต่อไปก็คือ การวินิจฉัยจิตภาพของใครคนหนึ่ง โดยมองจากวัฒนธรรมหนึ่งที่มิใช่วัฒนธรรมของผู้รับการวินิจฉัยนั้น เปรียบได้กับการพยายามอ่านหนังสือในภาษาหนึ่งที่ตนไม่มีความรู้ วิธีแก้ไขก็คือ ผู้วินิจฉัยจะต้องศีกษาวัฒนธรรมนั้นจนกระทั่งมีความรู้ดีเหมือนตนรู้ภาษาแรกของตน จึงจะเริ่มอ่านวัฒนธรรมของผู้รับการวินิจฉัยออกแล้วจึงเริ่มวินิจฉัยจิตภาพของบุคคลนั้นได้

แม้ว่าจะมีปัญหาอุปสรรคในการสร้างจิตภาพของระดับส่วนบุคคลอยู่มาก ดร.โพสต์ก็มิได้เลิกรา ได้ทดลองวินิจฉัยจิตภาพของซัดดัมออกมา ซึ่งได้รับความสนใจอยู่พอควร

ดร.โพสต์ นำลักษณะ 4 ข้อ ซึ่งบ่งบอกลักษณะของจิตที่มีอยู่ในข่าย cMALIGNANT NARCISSISMe แปลความได้ว่า "ลุ่มหลงตัวเองประเภทอันตรายร้ายแรง" มาประยุกต์และพบว่าภาวะจิตของซัดดัมเข้าข่ายลักษณะ 4 ข้อทั้งหมด

ที่น่าคิดก็คือ ลักษณะ 4 ข้อนี้ เป็นมาตรวัดที่สร้างขึ้นโดยนักจิตวิเคราะห์อีกท่านหนึ่ง คือ ดร.ออตโต เคอร์นเบิร์ค แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐฯ ผู้ปฏิเสธไม่ยอมทำการประเมินจิตภาพของซัดดัม ลักษณะ 4 ข้อ ของจิตดังกล่าว มีดังนี้

1.มีความนึกคิดว่า ตนคือบุคคลที่มีความสำคัญอย่างใหญ่หลวง

2.มีจิตใจโหดเหี้ยม ชอบทำให้ผู้อื่นเจ็บปวด

3.มีความแคลงใจสงสัยหวาดระแวงว่าตนจะถูกทำร้าย

4.ไม่มีความรู้สึกสำนึกผิดแม้แต่น้อย

หากการวิเคราะห์ของ ดร. เคอร์นเบอร์ค ใครก็ตามที่มีลักษณะจิตตาม 4 ข้อนี้ จะเป็นคนที่ หมกมุ่นอยู่แต่ตัวเองมากเสียจนมองเห็นผู้อื่นเป็นเพียงเครื่องมือหรือช่องทางสู่สิ่งที่ตนต้องการ

ดร.เคอร์นเบอร์ค ชี้แนะไว้ว่า "บุคคลเช่นนี้ ไม่สามารถหยั่งถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับผู้อื่นแต่สามารถประเมินได้อย่างฉลาดเฉลียวว่าผู้อื่นจะมีปฏิกิริยาอย่างไร และจะชักนำผู้อื่นโดยไม่คำนึงว่าผู้อื่นจะมีความรู้สึกอย่างไร"

ลักษณะจิตข้อแรกใน 4 ข้อดังกล่าวไม่เพียงแต่สำแดงออกมาให้เห็นถึงความทรนงเท่านั้น แต่ยังเชื่อมั่นว่าตนมีชะตาชีวิตที่พิสดารกว่าใครๆ ซึ่งเมื่อผสมผสานเข้ากับความเชื่อมั่นอีกข้อว่า การก้าวร้าวผู้อื่นเป็นเรื่องชอบ หากทำให้เป้าหมายของตนสัมฤทธิผล จิตข้อนี้จะกลายเป็นประเภทอันตรายร้ายแรงทันที

ดร.เดอร์เบอร์ค ชี้แจงต่อไปว่าคนที่ลุ่มหลงตัวเองประเภทอันตรายร้ายแรงนี้ในจิตในมีแต่ความคิดที่จะทำให้ผู้อื่นเจ็บปวด และมีความสุขอยู่กับความทุกข์ทรมานของผู้อื่น คนนี้เป็นคนขี้ระแวง มองเห็นตัวเองเป็นเหยื่อของแผนปองร้าย มุ่งซัดทอดความโหดเหี้ยมของตนให้กับศัตรู ข้อที่อันตรายร้ายแรงข้อสุดท้ายได้แก่ การขาดความรู้สึกนึกผิด ในด้านศีลธรรม หรือความรู้สึกผิดชอบ ฉะนั้น บุคคลประเภทนี้จะโกหก คดโกง เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นอย่างไม่รู้สึกสำนึกผิด แม้ว่าตนจะจงรักภักดีต่อคนที่ตนต้องพึ่งพา

ดร.โพสต์ มองเห็นลักษณะจิตเหล่านี้ในตัวซัดดัมจากสุนทรพจน์ต่างๆ ซึ่งซัดดัมเสนอถึงการยอมรับนับถือกษัตริย์บาบิโลเนียนองค์หนึ่งทรงพระนามว่า เนบูซัดเนซซาร์ ผู้ทรงยึดครองกรุงเยรูซาเล็มของชนชาติอิสราเอลเมื่อกว่า 2,400 ปีมาแล้ว และการเทิดทูน ซาลาดีนกษัตริย์ผู้ทรงยึดกรุงเยรูซาเล็มก็กลับคืนมาจากคริสต์ชนเมื่อราว 800 ปีมาแล้ว

ดร.โพสต์วิเคราะห์ไว้ว่า "ความหวาดระแวงของซัดดัมทำให้การก้าวร้าวผู้อื่นเป็นเรื่องชอบธรรม" ในความเห็นของซัดดัม ประเทศคูเวตรุกรานทางเศรษฐกิจต่ออิรักก่อน การจู่โจมยึดคูเวตเป็นเรื่องป้องกันตนเองต่อสงครามที่คูเวตริเริ่มขึ้นก่อน ซัดดัมเห็นแต่ว่าการก้าวร้าวของตนนั้น ศัตรูทำให้เป็นเรื่องชอบด้วยเหตุผล มองไม่เห็นว่า ตนได้ก่อให้เกิดสถานการณ์อย่างไรขึ้นมา

ข้อวิเคราะห์ของดร.โพสต์ได้รับการวิจารณ์ว่า เป็นการวินิจฉัยข้างเดียว กล่าวคือ ข้อมูลเดียวกันที่ดร.โพสต์ใช้นั้นสามารถตีความออกมาในทางตรงข้ามได้ข้อสำคัญ ดร.โพสต์อาศัยหลักฐานที่มีอยู่เบาบางมาก

ตัวอย่างเช่นนักจิตวิเคราะห์เชื่อกันว่าอาการลุ่มหลงตัวประเภทร้ายกาจนี้ มักมีสาเหตุมาจากประสงการณ์ในวัยเด็กที่ได้รับความโหดเหี้ยมแบบสุดขีด ไม่ว่าจะได้รับโดยตรงหรือโดยอ้อม ในฐานะผู้เห็นเหตุการณ์

ในกรณีของซัดดัม การค้นหาสาเหตุข้อนี้ประสบปัญหา เพราะบรรดาผู้เขียนชีวประวัติของซัดดัมบรรยายถึงชีวิตวัยเด็กของซัดดัมไว้แตกต่างกันจนไม่สามารถกล่าวได้อย่างแน่ใจว่า ซัดดัมในวัยเด็กเคยถูกเฆี่ยนตีทารุณกรรมบ่อยๆ หรือไม่

แต่ที่ทราบกันแน่ๆ ก็คือ บิดาของซัดดัมถึงแก่กรรมในระยะเดียวกับที่ซัดดัมถือกำเนิดต่อมา มารดาสมรสกับพี่น้องคนหนึ่งของบิดา และมีเรื่องเล่ากันว่พ่อเลี้ยงของซัดดัมเป็นผู้ทำทารุณกรรมซัดดัมแต่เยาว์วัย

เรื่องที่รู้กันทั่วไปเกี่ยวกับชีวิตในวัยเด็กของซัดดัมได้แก่ ตอนอายุ 10 ขวบ วันหนึ่งญาติอายุไล่เลี่ยกันคนหนึ่งมาเที่ยวที่บ้าน ซัดดัมเกิดความประทับใจมากที่ญาติคนนี้สามารถ อ่านหนังสือออก จึงขอพ่อเลี้ยงและมารดาส่งตนเข้าเรียน หนังสือบ้างแต่กลับได้รับการปฏิเสธ

คืนนั้น ซัดดัมแอบหนีพ่อเลี้ยงและมารดาไปอยู่กับลุง ผู้รับผิดชอบส่งเสียให้ได้เรียนหนังสือ ลุงผู้นี้ต่อมาได้เป็นผู้ว่าการกรุงแบกแดด นครหลวงของอิรัก และเป็นผู้ปลูกฝังโลกทัศน์ต่างๆ ให้ซัดดัมจนเติบใหญ่

เรื่องดังกล่าวนี้ สามารถตีความได้หลายทางต่างๆนานา และยังมีผุ้เชี่ยวชาญท่านอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยผู้มีอำนาจอย่างซัดดัม

ดร.จอห์น แมค จิตแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ กล่าวว่า เมื่อใครคนหนึ่งมีอำนาจมหาศาลอยู่ในมือเขาสามารถแปรเปลี่ยนตนให้ผิดแปลกไปจากข้อวินิจฉัยทางวิชาการได้ "เราจะต้องพยายามตีความพฤติกรรมตามอุดมการณ์ วัฒนธรรม และโลกทัศน์ของเขา ตลอดจนต้องคำนึงความสามารถอย่างหนึ่งที่คนทั่วไปไม่มี นั่นคือ ความสามารถในการเปลี่ยนแนวทางของเหตุการณ์ ซึ่งบุคคลผู้นี้มีอยู่ในมือ"

อย่างไรก็ตาม ดร.วิเลียม แมคคินลีรันยันนักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเอบร์คลีย์ กล่าวสรุปไว้ว่า การจะวินิจฉัยให้รอบคอบนั้น เราจำต้องมีรายละเอียดมากมายเกี่ยวกับชีวิตในวัยเด็กและวัยต่อมาของซัดดัม ซึ่งเรายังไม่มี แม้ว่าจะมีเพียงประปรายการวินิจฉัยจิตภาพก็ยังน่าทำอยู่ดี เพราะการมีจิตภาพของผู้นำระดับซัดดัม แม้นจะยังไม่สมบูรณ์นัก ก็ยังจะช่วยทำให้มองเห็นวิธีที่มีชั้นเชิงสำหรับสื่อสารกับซัดดัม

ถ้าเรารู้ว่าคนลุ่มหลงประเภทร้ายกาจ เทิดทูนแต่อำนาจและความแข็งแกร่ง มองเห็นมิตรภาพหรือความประนีประนอมเป็นความอ่อนแอ เราจะมองเห็นจุดอันตรายที่แฝงอยู่ในบุคคลนี้ ซึ่งได้แก่จุดบอดที่มองไม่เห็นอันตรายที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ทั้งนี้เพราะความลุ่มหลงในความสำคัญอันยิ่งใหญ่ของตน อาจทำให้เจ้าตัวรู้สึกว่า ตนไม่มีวันต้องตกอยู่ในเคราะห์กรรมใดๆ

แม้กระนั้นก็ตามจิตภาพที่สร้างขึ้นมาก็ยังมีขอบเขตจำกัดในการทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้า

ดร.โพสต์ เคยกล่าวทำนายไว้ว่า ซัดดัมจะถอนทหารออกจากคูเวตก่อนวันเส้นตายที่สหประชาชาติกำหนดไว้ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ซึ่ง ดร.โพสต์ ชี้แจงว่า "จิตภาพเป็นเพียงรูปแบบและแนวโน้ม เราพูดได้ว่าใครได้ทำอะไรในอดีต แต่เราจะอาศัยข้อมูลจากบุคลิกภาพอย่างเดียวในการทำนายเรื่องยากๆ ไม่ได้"

นอสตราดามุสซึ่งเป็นนักโหราศาสตร์และหมดเมื่อราว 400 ปี ก่อนในยุโรปได้ทำนายไว้ว่า สงครามโลกครั้งที่สามจะเกิดขึ้นในย่านตะวันออกกลาง ถ้าสงครามระหว่างอิรักกับกลุ่มประเทศพันธมิตรเมื่อเร็วๆนี้ คือสงครามโลกดังคำทำนาย ก็นับว่าเป็นสงครามโลกที่คร่าชีวิตมนุษย์น้อยกว่าสงครามโลกครั้งก่อนๆ

แต่ประเด็นสำคัญในที่นี้ คือ แม้ว่าจะมองเห็นเหตุการณ์ในอนาคตได้ แต่ถ้าไม่มีใครสามารถป้องกันเหตุการณ์นั้นได้ การทำนายจะมีประโยชน์อันใด? ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราทำนายได้จากจิตภาพของซัดดัมว่าท่านจะทำอะไรต่อเหตุการณ์ใดแต่ไม่มีใครเปลี่ยนใจท่านได้ การทำนายนั้นจะมีประโยชน์อันใด?

ฉะนั้น เราต้องหันมาทำการป้องกัน ด้วยวิธีที่กอปรด้วยมนุษยธรรม โดยหันมาเน้นการฝึกฝนชนรุ่นต่อไปแต่เยาว์วัย ให้มีความสามารถและต้องการที่จะเสริมเสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพื่อสร้างสรรค์สันติสุขให้เกิดขึ้น

ในโลกนี้ มีหลายศาสนาที่มุ่งฝึกฝนให้คนเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่มักจะมีการเน้นความสัมพันธ์ระวห่างคนกับพระเจ้าผู้มีอำนาจสร้างโลกและจักรวาลทำให้มีจุดอ่อนในความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนในโลกนี้

คำถามที่น่าคิดก็คือ เรามีบุคคลแบบซัดดัมในองค์การธุรกิจหรือไม่?

มีแน่นอนทั้งในระดับผู้บริหารที่มีอำนาจและพนักงานทั่วไป

ถ้ามีในระดับผู้บริหาร กิจการจะเป็นอย่างไร? ในระยะสั้น กิจการนั้นอาจไปได้ดี แต่ในระยะยาวกิจการนั้นอาจต้องสู้ศึกใหญ่ ทั้งศึกนอกและศึกใน ดังเช่นที่อิรักกำลังประสบอยู่

วิธีแก้ไขอยู่ที่มาตรการป้องกัน ด้วยการสร้างค่านิยมในบรรยากาศการบริหารที่เน้นการทำงานอย่างเป็นหมู่คณะสื่อสารกันด้วยเหตุผล และมีเมตตาจิตต่อกัน การบริหารก็จะประสบผลดี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.