โอกาสของธุรกิจไทย ในแนวเส้นทางหมายเลข 9

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ดาวิน จอมแปง
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

หากเปรียบเทียบกับโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจทางตอนบนแล้ว โอกาสของนักธุรกิจไทยที่จะได้ประโยชน์จากพื้นที่ลาวตอนกลาง ตามแนวถนนหมายเลข 9 ของกรอบ EWEC ในภาคอีสาน มีความเป็นไปได้ในเชิงรูปธรรมมากกว่า เพียงแต่การเข้ามาลงทุนต้องตรงกับศักยภาพของพื้นที่และถูกช่องทางจริงๆ

พื้นที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองของ ไทย เชิงสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 2 ที่ จ.มุกดาหาร ช่วงเช้าของต้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ยังคงดูเงียบเหงา

ด้วยเหตุที่วันนั้น มิใช่วันหยุดราชการ การเดินทางของนักท่องเที่ยวจึงไม่ค่อยพลุก พล่าน มีเพียงผู้คนที่จำเป็นต้องเดินทางเพื่อไปติดต่อธุระกับฝั่งลาว ในแขวงสะหวันนะเขต เพียงไม่ถึง 20 คน นั่งรอรถโดยสารประจำทาง ที่วิ่งเชื่อมทั้ง 2 ประเทศ ผ่านสะพานแห่งนี้อยู่เท่านั้น

แต่ในที่จอดรถของด่าน มีรถกระบะขับเคลื่อน 4 ล้อสีบรอนซ์ ป้ายทะเบียนลาว ด้านข้างติดสติกเกอร์ภาษาลาว เขียนว่าบริษัท น้ำตาลมิตรลาว จอดนิ่งอยู่ 1 คัน


"วันนี้จะมีที่ปรึกษาฝรั่งเข้าไปดูงานใน พื้นที่ก่อสร้างโรงน้ำตาล ผู้อำนวยการเลยให้มารอรับ" คนขับรถกระบะซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่คนไทยของบริษัทน้ำตาลมิตรลาว บอก

น้ำตาลมิตรลาว คือบริษัทที่กลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทย จัดตั้งขึ้น เพื่อเข้ารับสัมปทานปลูกอ้อยและสร้างโรงงาน น้ำตาล ในเนื้อที่ 1 หมื่นเฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ เท่ากับ 6.25 ไร่) จากรัฐบาลลาว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2549 อายุของสัมปทาน 40 ปี

ตามกำหนดการ ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทน้ำตาลมิตรลาวได้วางศิลาฤกษ์โรงงานหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล เฟสแรก ซึ่งมีกำลังการผลิตน้ำตาล 5,000 ตันต่อวัน วงเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท และจะเริ่มสร้าง โรงงานหลังผ่านพ้นฤดูฝนประมาณปลายเดือน กันยายน ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี เริ่มรับหีบอ้อยและผลิตน้ำตาลล็อตแรกออกมาขายได้ในเดือนธันวาคมของปีหน้า (2551)

กลุ่มมิตรผล เป็นตัวอย่างของเอกชนไทยรายหนึ่ง ที่สนใจเข้าไปใช้พื้นที่ในลาวตอนกลาง เพื่อใช้เป็นฐานการผลิต

นอกจากมิตรผลแล้ว ยังมีภาคเอกชนไทยอีกอย่างน้อย 6 ราย ที่เข้าไปลงทุนในลาวตอนกลาง โดยเฉพาะในแขวงสะหวันนะเขต ตามแนวเส้นทางหมายเลข 9 ซึ่งเชื่อมระหว่าง จ.มุกดาหารของไทย แขวงสะหวันนะเขตของลาว และเมืองเว้ของเวียดนาม โดยมีปลายทางอยู่ที่ท่าเรือดานัง

ถนนเส้นนี้ซึ่งมีความยาว 246 กิโลเมตร เป็นเส้นทางคมนาคมหลักของกรอบความร่วมมือ East-West Economic Corridor : EWEC ที่เบื้องต้นประกอบด้วยไทย ลาว และเวียดนาม โดยมีจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญล่าสุด คือการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ที่ จ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผลทำให้การเดินทางจากประเทศไทย ผ่านลาวเข้าไปยังชายฝั่งและท่าเรือดานังของเวียดนามมีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตามกรอบความร่วมมือ EWEC ที่สมบูรณ์ จากถนนหมายเลข 9 เมื่อข้าม สะพานจากแขวงสะหวันนะเขตของลาว เข้ามายัง จ.มุกดาหาร สามารถเดินทางในประเทศไทย ผ่าน จ.ขอนแก่น เพชรบูรณ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก และออกไปยังพม่าได้ที่ อ.แม่สอด

ตามทฤษฎีแล้ว ถนนสายนี้สามารถทอดยาวผ่านพม่าเข้าไปยังอินเดีย ผ่านตะวันออก กลางไปจนถึงทวีปยุโรป

ปัจจุบันความคึกคักที่เกิดขึ้นในพื้นที่ EWEC ตามแนวถนนหมายเลข 9 ภายหลังการเปิดใช้สะพานยังคงอยู่แค่ในเขต จ.มุกดาหาร และแขวงสะหวันนะเขต

"หลังเปิดใช้สะพานนี่เห็นได้ชัด มีผู้คนเดินทางข้ามกันมาเป็นจำนวนมาก รวมถึงจำนวนรถขนส่งสินค้าและวัตถุดิบก็เพิ่มขึ้น" อภิชาติ เพ็ชรรัตน์ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลไทย แขวงสะหวันนะเขต บอกกับ "ผู้จัดการ"

การเข้ามาของผู้คนจำนวนมากในแขวงสะหวันนะเขตดังกล่าวมีที่มาจาก 2 สาเหตุ

สาเหตุแรกเป็นการเข้ามาเพื่อลงทุนทำธุรกิจ ส่วนสาเหตุที่ 2 คือเพื่อการท่องเที่ยว

ในด้านการลงทุนทำธุรกิจ แขวงสะหวันนะเขต มีศักยภาพที่เหมาะสมแก่การลงทุนอยู่หลายด้าน โดยด้านหลักคือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร รองลงมาคือด้านที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ เหมืองแร่

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากเริ่มการก่อสร้างสะพานมีบริษัทต่างชาติหลายรายได้เข้ามาขอสัมปทานลงทุนในแขวงสะหวันนะเขตของลาว (รายละเอียดดูจากตาราง)

โครงการใหญ่ๆ ก็เช่น บริษัทอ๊อกเซีย น่า จากออสเตรเลีย ได้เข้ามารับสัมปทานทำ เหมืองทองคำในนามบริษัทล้านช้าง มิเนอรัล ที่เมืองเซโปน และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

"บริษัทนี้ผมได้อ่านจากนิตยสารต่างประเทศ เขาเป็นบริษัทเล็ก แทบจะโนเนม แต่ พอมาทำเหมืองทองคำที่นี่ ก็เหมือนได้พบขุมทอง ทุกวันนี้เลยกลายเป็นบริษัทดาวรุ่งในตลาดหุ้นออสเตรเลีย" อภิชาติกล่าวเสริม

นอกจากนี้ยังมีบริษัทซารามานเดอร์ จากอังกฤษ ได้เข้ามาขอสัมปทานสำรวจน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เพิ่งทำพิธีลงนามในสัญญา สัมปทานไปเมื่อประมาณ 4 เดือนที่ผ่านมา

เบอลา กรุ๊ป ของอินเดีย ก็ได้เข้ามาขอสัมปทานปลูกป่ายูคาลิปตัส ด้วยวงเงินลงทุน 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำในนามบริษัทเบอลาลาว

ไม่รวมโครงการลงทุนจากจีน และเวียดนาม ที่มีเข้ามาแล้วหลายบริษัท

สำหรับไทย นอกจากกลุ่มมิตรผลที่เข้ามาตั้งบริษัทมิตรลาวแล้ว บริษัทน้ำตาลขอนแก่นยังได้ร่วมทุนกับกลุ่มน้ำตาลบ้านโป่ง เข้ามาจัดตั้งบริษัทน้ำตาลสะหวัน เข้ารับสัมปทานปลูกอ้อยและสร้างโรงงานน้ำตาล ในพื้นที่ 1 หมื่นเฮกตาร์เช่นกัน

บริษัทแอ๊ดวานซ์ อะโกร (ดั๊บเบิ้ลเอ) ก็ได้เข้ามารับสัมปทานปลูกต้นยูคาลิปตัสในพื้นที่ 1 หมื่นเฮกตาร์ ในนามบริษัทไชโยเอเอ

บริษัทมาลี สามพราน เข้ามาสำรวจพื้นที่เพื่อปลูกข้าวโพดหวาน เช่นเดียวกับกลุ่มไทยฮั้วยางพาราได้เข้ามาสำรวจพื้นที่เพื่อปลูกยางพารา ซึ่งจะทำในนามบริษัทวงศ์บัณฑิต

เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้ามาใช้พื้นที่ประมาณ 100 เฮกตาร์ (625 ไร่) เพื่อทดลอง ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาแล้วประมาณ 1 ปี ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากสภาพ ดินดี ทำให้ได้ผลผลิตสูงถึง 9 ตันต่อ 1 เฮก ตาร์ มากกว่าที่ผลิตในประเทศไทยในพื้นที่เท่ากัน ซึ่งได้ผลผลิตเพียง 6 ตัน รวมทั้งอัตราส่วนการใช้ปุ๋ยในสะหวันนะเขตก็น้อยกว่า ดังนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงมีแผนจะขอสัมปทานเพื่อขยายพื้นที่ปลูกเป็น 1 หมื่นเฮกตาร์ ภายในอีก 5 ปี

เครือเจริญโภคภัณฑ์เพิ่งทำพิธีเปิดตัวโครงการไปเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้

"แต่อันนี้นี่ก็จะอยู่ในกรอบที่เราเรียกว่า ACMECS เป็นคอนแทรค ฟาร์มมิ่ง คือเข้ามาทำ แล้วรับซื้อในราคาประกัน ซึ่งอันนี้เกษตรกรลาวก็ค่อนข้างพอใจ ทางเจ้าแขวงสะหวันนะเขตเอง เห็นผลแล้วค่อนข้างพอใจ" อภิชาติบอก

ACMECS ที่อภิชาติกล่าวถึงย่อมาจาก Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy ซึ่งเป็นอีกกรอบความร่วมมือหนึ่งของกลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้ที่ประกอบด้วยไทย ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา

สำหรับเอกชนไทยรายล่าสุดที่ได้เข้าไปสำรวจลู่ทางการลงทุนในเขตสะหวันนะเขตเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา คือบริษัทศรีวิโรจน์ฟาร์ม ซึ่งทำฟาร์มเลี้ยงไก่ครบวงจรในจังหวัดขอนแก่น ที่เพิ่งเดินทางเข้าไปเพื่อหาสถานที่ตั้งฟาร์มไก่ครบวงจรแบบเดียวกับที่ตั้งใน จ.ขอนแก่น ในสะหวันนะเขต และได้เชิญรองเจ้าแขวงสะหวันนะเขต ไปดูฟาร์มไก่ของตนเองที่ขอนแก่นเมื่อกลางเดือนมิถุนายน

การที่กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยให้ความสนใจเข้าไปใช้พื้นที่เพาะปลูกของแขวงสะหวันนะเขต นอกจากการเกิดขึ้นของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ที่ทำให้การขนส่งสินค้าทำได้สะดวกขึ้น เพราะผลผลิตที่ได้สามารถส่งออกไปขายยังญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา ผ่านทางท่าเรือดานัง หรือสามารถส่งไปขายยังฝั่งยุโรปได้โดยผ่านท่าเรือแหลมฉบังแล้ว

ยังมีสาเหตุมาจากโครงสร้างการใช้พื้นที่ทำการเกษตรในประเทศไทยเอง ที่กำลัง มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการที่เกษตรกรส่วนใหญ่หันไปปลูกยางพารา เพื่อส่งจำหน่ายออกไปประเทศจีนเป็นจำนวนมาก รวมถึงการเปลี่ยนมาปลูกพืชพลังงาน เพื่อส่งให้โรงงานผลิตเอทานอล

ทำให้พื้นที่เพาะปลูกดั้งเดิมที่อุตสาห-กรรมเหล่านี้ต้องการใช้เป็นวัตถุดิบ ได้หายไปเป็นจำนวนมาก

เฉพาะอุตสาหกรรมน้ำตาล การออกไปแสวงหาพื้นที่ปลูกอ้อย และสร้างโรงงานน้ำตาลในลาว ยังมีสาเหตุเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา การแย่งรับซื้อผลผลิตอ้อยของโรงงานน้ำตาลหลายแห่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในประเทศ ไทย ทำให้การวางแผนผลิตน้ำตาลของโรงงาน หลายแห่งต้องคลาดเคลื่อน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยมาจากรัฐบาลลาวเอง กำลังเปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนจากต่างชาติ โดยให้การสนับสนุนหลายๆ ด้าน อาทิ การจัดหาพื้นที่จำนวนมาก รวมถึง สามารถนำเงินเข้าไปลงทุนได้เต็ม 100% ในบางอุตสาหกรรม โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ร่วมทุนจากฝ่ายลาว

"ทุกวันนี้ลาวค่อนข้างยืดหยุ่นในเรื่องการลงทุน แต่ถ้าเป็นการลงทุนเกี่ยวกับที่ดินผืนใหญ่ นักลงทุนก็จำเป็นต้องเข้าให้ถูกช่องทาง" อภิชาติกล่าว

รังสิมา โอฬาริกบุตร กงสุลไทย ในแขวงสะหวันนะเขต อธิบายเพิ่มเติมกับ "ผู้จัดการ" ว่า ตามโครงสร้างการบริหารของลาว ระดับเจ้าแขวงสามารถอนุมัติการลงทุนของต่างชาติได้ในวงเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอนุมัติพื้นที่ลงทุนได้ไม่เกิน 100 เฮกตาร์ ในขณะที่ระดับ คณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติพื้นที่ลงทุนได้ไม่เกิน 1 หมื่นเฮกตาร์ หากเกินจากนั้นต้องนำเรื่อง เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อขออนุมัติ

อย่างไรก็ตาม ความที่เพิ่งเปิดประเทศทำให้โครงการลงทุนหลายโครงการต้องประสบกับอุปสรรคอยู่บ้าง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของลาวมีไม่เพียงพอที่จะดูแลได้อย่างทั่วถึง

พรชัย ศรีสาคร ผู้อำนวยการ บริษัทน้ำตาลมิตรลาว เล่ากับ "ผู้จัดการ" ว่า กลุ่มมิตรผลเริ่มเข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในลาวตั้งแต่เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ลาวเริ่มออกนโยบายส่งเสริมให้ผู้ลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุน โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนขึ้นมาเป็นการเฉพาะ

เดือนสิงหาคม 2548 เป็นเดือนที่กลุ่มมิตรผลเริ่มเดินเรื่องเพื่อขอสัมปทานอย่างจริงจัง จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 จึงได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ และอีก 1 เดือนถัดมา จึงได้มีการลงนามในสัญญาสัมปทาน ในวันที่ 15 มีนาคม

เบื้องต้น สัมปทานที่กลุ่มมิตรผลได้รับคือพื้นที่ปลูกอ้อยจำนวน 1 หมื่นเฮกตาร์ ในระยะ เวลา 40 ปี และสามารถขยายพื้นที่ออกไปได้ถึง 2.5 หมื่นเฮกตาร์ โดยเป้าหมายเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงงานหีบอ้อยขนาด 1 หมื่นตันต่อวันได้ ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

แต่ปรากฏว่าทางแขวงสะหวันนะเขตไม่สามารถจัดหาพื้นที่ได้ทัน ทำให้กลุ่มมิตรผลต้องแบ่งโครงการลงทุนออกเป็น 2 เฟส ลดขนาดของโรงงานลงมาเหลือเพียง 5,000 ตันต่อวันในเฟสแรก และยืดเวลาการก่อสร้างโรงงานเป็นปลายปีนี้แทน ส่วนเฟสที่เหลือค่อยเริ่มดำเนินการหลังจากได้พื้นที่ครบถ้วนแล้ว

"เราไม่ได้โทษเขา เพราะเขามีความตั้งใจที่จะให้เราจริงๆ แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของเขา ที่ต้องลงสำรวจพื้นที่มีเพียง 3-4 คน เทียบกับพื้นที่ 1 หมื่นเฮกตาร์ ยังไงก็ไม่ทัน เราก็ต้องช่วยเขา ออกไปสำรวจพื้นที่ พูดคุยกับผู้ใหญ่บ้านเพื่อเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง" พรชัยบอก

ปัจจุบันทางแขวงสามารถจัดหาพื้นที่เพื่อปลูกอ้อยให้กับบริษัทมิตรลาวได้แล้ว 7,400 เฮกตาร์ โดยบริษัทได้เริ่มปลูกอ้อยพันธุ์ที่จะใช้เป็นต้นพันธุ์สำหรับปลูกอ้อยส่งโรงงานหีบอ้อยให้ทันในปลายปีหน้า พร้อมกับเริ่มต้นโครงการส่งเสริมเกษตรกรด้วยการนำเกษตรกร ในพื้นที่เป้าหมายเข้ามาทำงานในแปลงเพาะเลี้ยงพันธุ์อ้อย เพื่อศึกษากระบวนการผลิต

พรชัยเชื่อว่าผู้ลงทุนทุกคนที่เข้ามารับสัมปทานในลาวขณะนี้ ต้องเจอกับปัญหาเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้คงต้องให้เวลากับทางลาวอีกระยะหนึ่ง เพื่อเตรียมบุคลากรให้ทันรองรับ กับกระแสการลงทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

ทางด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอีกความหวังหนึ่งของคนพื้นที่ ในช่วงก่อนที่จะมีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 อย่างเป็นทางการ แต่ปรากฏว่าผลที่ได้รับหลังเปิดใช้สะพาน ไม่ได้เป็นไปตามคาดหวังไว้โดยตรงนัก

สอนทะวง เคนนะวง รองประธานสภาการค้า-อุตสาหกรรม แขวงสะหวันนะเขต เจ้าของโรงแรมสะหวันบ้านเฮา บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าหลังจากเปิดใช้สะพานจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางข้ามสะพานมายังสะหวันนะเขตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงก่อนเปิด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีผู้คนเดินทางเข้าเฉลี่ยวันละ 3,000 คน

แต่สิ่งที่แขวงสะหวันนะเขตกำลังประสบ คือจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านเพื่อไปต่อยังประเทศเวียดนาม โอกาสที่นักท่องเที่ยวเหล่านี้จะใช้เวลาอยู่ในสะหวันนะเขต เพื่อจับจ่ายใช้สอย หรือรับประทานอาหารน้อยมาก

"เฉลี่ยคนที่เข้ามา 100 คน จะพักอยู่ในสะหวันนะเขตเพียง 5 คน" สอนทะวงบอกถึงสถิติคร่าวๆ

สาเหตุสำคัญคือในแขวงสะหวันนะเขต มีแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดให้คนไปชมไม่มากนัก ส่วนใหญ่ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาสะหวันนะเขต จะใช้เวลาเดินชมสภาพบ้านเมือง ซึ่งมีอาคารเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่สมัยยังเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสกับวัดวาอารามต่างๆ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์กระดูกไดโนเสาร์ ซึ่งใช้เวลาเพียงครึ่งวันก็สามารถชมได้หมด

"นักท่องเที่ยวมากขึ้น แต่โรงแรม ร้านอาหาร ไม่ได้คึกคักขึ้น"

ภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐของแขวงก็กำลังหาทางที่จะพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น โดยเบื้องต้นได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการผลักดันโครงการท่องเที่ยวที่ชูจุดขายการรับประทานอาหาร 3 ชาติในเวลา 1 วัน โดยนักท่องเที่ยวรับประทานอาหารเช้าในไทย ที่ จ.มุกดาหาร แล้วข้ามมารับประทานอาหารกลางวัน ในแขวงสะหวันนะเขต ก่อนที่จะไปรับประทานมื้อเย็นที่เวียดนาม หรือในทางกลับกัน คืออาหารเช้าที่เวียดนาม กลางวันในสะหวันนะเขต และเย็นที่ฝั่งไทย

สถิติจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในแขวงสะหวันนะเขต ในปี 2548 มีจำนวนทั้งสิ้น 192,560 คน เพิ่มขึ้นจาก 118,821 คน ในปี 2547

ขณะที่จำนวนโรงแรมในสะหวันนะเขต ณ สิ้นปี 2549 มีทั้งสิ้น 10 แห่ง และเรือนพัก (เกสต์เฮาส์) อีก 64 แห่ง

ปัจจุบันการลงทุนสร้างโรงแรมและเปิดร้านอาหาร นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนเองได้ทั้ง 100% แต่หากเป็นบริษัทนำเที่ยว หรือรถรับส่งนักท่องเที่ยว จะต้องเป็น การร่วมลงทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่น

อภิชาติ เพ็ชรรัตน์ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลไทย แขวงสะหวันนะเขต ยอมรับว่าเรื่องการท่องเที่ยวนั้น แขวงสะหวันนะเขตอาจไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง หลังเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 มากนัก

"ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของสะหวันนะเขต เปรียบไปแล้วแตกต่างจากหลวงพระบาง หรือจำปาศักดิ์ ซึ่งมีธรรมชาติ สวยงาม"

สถานกงสุลไทยในแขวงสะหวันนะเขต เองก็ตระหนักในจุดนี้ และพยายามให้ความช่วยเหลือ โดยประสานงานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่ ที่ดูแลเรื่องการท่องเที่ยวของแขวงไปฝึกอบรม ดูงานที่ ททท. พร้อมทั้งชักชวนให้นักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนด้านการท่องเที่ยวในแขวงสะหวันนะเขตเพิ่มขึ้น

โครงการที่อภิชาติมองไว้คือ จุดพักครึ่งทางของเส้นทางหมายเลข 9 ซึ่งน่าจะมีการก่อสร้างเป็นจุดพักรถ เพื่อให้นักท่องเที่ยว ได้ลงมาพักผ่อนอิริยาบถ รับประทานของว่าง รวมทั้งเข้าห้องน้ำ

"เราสามารถนำรูปแบบของปั๊มน้ำมันในไทยที่มีร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารที่ทันสมัย มาให้บริการกับนักท่องเที่ยวเหล่านี้"

ซึ่งตรงกับสอนทะวงที่บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าแขวงสะหวันนะเขต มีโครงการ ก่อสร้างศูนย์แสดงสินค้าพื้นเมือง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 162 ของเส้นทางหมายเลข 9 เพื่อให้เป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง

เรื่องการพัฒนาท่องเที่ยวของแขวงสะหวันนะเขต ยังคงเป็นคำถามที่รอคอยคำตอบ

แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจจากประสบการณ์ของพรชัย ศรีสาคร ผู้อำนวยการ บริษัทน้ำตาลมิตรลาว ที่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในแขวงสะหวันนะเขตแล้วประมาณ 2 ปี ที่บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ความเปลี่ยนแปลงของสภาพบ้านเมืองในแขวงที่เห็นได้ชัดคือจำนวนร้านอาหารและแหล่งบันเทิงของสะหวันนะเขต มีเพิ่มขึ้น โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก คือผู้ลงทุนชาวต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในแขวงนั่นเอง

ปัจจุบันนอกจากการเปิดให้สัมปทานแก่ผู้ลงทุนที่ต้องการใช้พื้นที่จำนวนมากแล้ว แขวง สะหวันนะเขตยังมีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ไซต์

ไซต์เอ เป็นแหล่งที่พักอาศัยและแหล่งบันเทิง ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของเชิงสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว ริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่ง ณ จุดนี้ บริษัทไทย แอร์พอร์ต กราวน์ เซอร์วิสเซส (แทกซ์) ของไทยได้รับสัมปทานสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาว พร้อมกับเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ขึ้น ใช้ชื่อโครงการว่า "สะหวันเวกาส" โดยขั้นตอนขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการหาผู้ร่วมทุน

ส่วนไซต์บีอยู่ลึกเข้าไปในเส้นทางหมายเลข 9 ประมาณ 27 กิโลเมตร ซึ่งจะสร้างเป็นนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากแผนแม่บทของโครงการนี้ ได้รับการศึกษามาอย่างดีจาก JICA

จากการเดินทางเข้าไปสำรวจพื้นที่ในแขวงสะหวันนะเขตของ "ผู้จัดการ" เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ทั้ง 2 ไซต์ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

สาเหตุเนื่องจากสนามบินของแขวงสะหวันนะเขต ยังเป็นสนามบินขนาดเล็ก มีจำนวนเที่ยวบินเข้ามาน้อยมาก หนทางที่จะเดินทางเข้ามาในแขวงสะหวันนะเขตโดยเร็วที่สุด ก็คือการนั่งเครื่องบินไปลงยังสนามบินสกลนคร หรืออุบลราชธานี แล้วนั่งรถต่อเข้ามายัง จ.มุกดาหาร ก่อนจะข้ามสะพานเข้ามายังแขวง

อีกทางหนึ่งก็คือ นั่งเครื่องบินไปลงที่เวียงจันทน์ และนั่งรถต่อเข้ามายังแขวงสะหวัน นะเขต ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม แขวงสะหวันนะเขตเองก็มีโครงการจะขยายสนามบินอยู่แล้ว โดย JICA เข้ามาสำรวจข้อมูลและเขียนโครงการโดยละเอียดเอาไว้แล้ว เพียงแต่รอเวลาให้เหมาะสมว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างได้เมื่อใด

"ถ้ามีสนามบิน โรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องมา เมื่อมีโรงงานเข้ามา โครงการที่พักอาศัย ที่ไซต์เอก็เกิด" เป็นการคาดการณ์ของอภิชาติ

เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในแขวงสะหวันนะเขต จะได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในอีก 3-5 ปีที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน

เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการหลั่งไหลเข้ามาของกลุ่มทุนต่างๆ ที่เข้ามาลงทุนในแขวงสะหวันนะเขต

ซึ่งกลุ่มทุนไทยเองก็ควรต้องตระหนักและตื่นตัว ก่อนที่จะเสียโอกาสให้กับกลุ่มทุนจาก ชาติอื่น โดยเฉพาะจีน เวียดนาม หรือญี่ปุ่น

แล้วคุณล่ะ...สนใจเข้าไปดูลู่ทางการลงทุนในแขวงสะหวันนะเขตเอาไว้หรือยัง?


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.