แพร่ธำรงวิทย์ กับก้าวกระโดดครั้งใหญ่

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

จากผู้รับเหมาท้องถิ่นที่กล้ากระโดดออกไปจับงานก่อสร้างในลาว และสร้างประวัติการก่อสร้างได้เสร็จก่อนกำหนด น่าจะทำให้แพร่ธำรงวิทย์สามารถก้าวข้ามชั้นขึ้นเป็นบริษัทระดับนำได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ตำนานการก่อสร้างถนน R3a ไทย-ลาว-จีน จากเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว-บ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทาในลาว เพื่อที่จะเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมกับไทยที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และกับจีน ที่ชายแดนบ่อหาน อ.เหมิ่งหาน เขตปกครองพิเศษสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ที่ปลุกปั้นกันแบบมาราธอนกว่า 1 ทศวรรษ กำลังจะจบลงภายในสิ้นปี 2550 นี้อย่างแน่นอน

เป็นการเสร็จสมบูรณ์ของถนนยุทธศาสตร์คุนมั่ง-กงลู่ ภายใต้การมีส่วนของ กลุ่มทุนไทยด้วยเช่นกัน และหนึ่งในนั้นเป็นผู้รับเหมาท้องถิ่นจากเมืองแพร่ที่กระโดดเข้ารับงานนี้ร่วมกับพาร์ตเนอร์สัญชาติลาว นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างปฐมบทตำนานผู้รับเหมาท้องถิ่นภาคเหนือรายหนึ่งที่สามารถคว้างานรับเหมาระดับกว่าพันล้านบาท เพิ่ม record ของตัวเอง เพื่อเบียดขึ้นทำเนียบผู้รับเหมาแนวหน้าของเมืองไทยต่อไป

ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) แพร่ธำรงวิทย์ คือ ผู้รับเหมารายนี้

วรงค์ วงศ์วรกุล กรรมการผู้อำนวยการ หจก.แพร่ธำรงวิทย์ วิศวกรหนุ่มใหญ่จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัย 48 ปี พี่ใหญ่ ของ "วงศ์วรกุล" รุ่น 3 ลูกชายคนโตของสุวิทย์ วงศ์วรกุล ผู้ก่อตั้งแพร่ธำรงวิทย์ ยอมรับว่าแพร่ธำรงวิทย์ เป็นผู้รับเหมาท้องถิ่นที่เพิ่งโต จากเดิมที่รับเหมาก่อสร้างบำรุงทางในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น น่าน แพร่ พะเยา อุตรดิตถ์ สุโขทัย มานานหลายสิบปีจนสามารถสร้าง record ของตนเองได้ระดับหนึ่ง

กระทั่งยุควิกฤติเศรษฐกิจ ผู้รับเหมาชั้น 1 ของกรมทางหลวงหลายรายมีปัญหาขาดสภาพคล่อง จึงมีโอกาสเข้าไปรับช่วงต่อในงานรับเหมาในจุดที่มีปัญหา ทั้งเส้นลำปาง-ลำพูน ตอน 1 รวมทั้งลงใต้ไปหาดใหญ่และอีกหลายจุดในภาคใต้ ซึ่งต้องเจออุปสรรค สารพัดรูปแบบ อาทิ เครื่องจักรถูกเผา M 16 กราดยิง แต่สุดท้ายก็เคลียร์งานได้โดยบางงานแทบจะไม่เหลือกำไร

วรงค์จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรม ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2524 จากนั้นไปทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นอยู่ 3-4 ปี ก่อนจะกลับมาช่วยงานของพ่อ ที่แพร่ธำรงวิทย์ร่วมกับน้องชายคนที่ 4 คือ "เสี่ยหน่อง" หรือวรศักดิ์ วงศ์วรกุล ที่ปัจจุบันดูแลกิจการแพร่ธำรงวิทย์ สาขา 2 ที่น่าน โดยช่วง 4-5 ปีแรก ทั้ง 2 พี่น้องยังต้องเป็นผู้ช่วยคอยเรียนรู้ งานจากพ่ออยู่ ก่อนที่จะวางมือคอยดูอยู่ห่างๆ ในเวลาต่อมา

"สิ่งหนึ่งที่เห็นในระยะ 10-20 ปีที่ผ่าน มาก็คือ เมืองไทยงานรับเหมาทำสาธารณูปโภคเริ่มอิ่มตัว เหมือนออกเรือจับปลา เมื่อปลา จำกัด กำไรต่อจุดก็เหลือน้อยไม่คุ้ม ต้องหาแหล่งน้ำใหม่"

เขาเริ่มมองว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังขยายตัวมีความน่าสนใจ นอกจากงานจะมีอีกมากแล้วยังเป็นแหล่งรวมเงินทุน หรือ เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศอีกมาก ทั้งจาก จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย เวียดนาม ฝรั่งเศส ฯลฯ จึงเริ่มศึกษาที่เขมรก่อน แต่ไม่มั่นใจเรื่องคน วัฒนธรรม

ต่างจากในลาวที่เขาค่อนข้างมั่นใจ เพราะภาษาที่พูดกันรู้เรื่อง โดยไม่ต้องแปล และมีแหล่งทุนที่มั่นคงช่วยเหลือ คือ ADB ประกอบกับได้พาร์ตเนอร์ที่ดี ผ่านการแนะนำจากคนรู้จัก เมื่อได้เช็กประวัติแล้วก็เห็นว่าไม่เป็นปัญหา จึงได้เริ่มเข้ามาสำรวจข้อมูลแนวก่อสร้างทางสาย R3a ด้วยตัวเองตั้งแต่กิโลเมตรที่ 0 จนถึงด่านบ่อเต็น

พาร์ตเนอร์ของแพร่ธำรงวิทย์ในการรับเหมาก่อสร้างถนนในลาวคือบริษัทน้ำทาก่อสร้าง ของคำเพิง ทองซะบา นักธุรกิจชาวหลวงน้ำทา ที่เติบโตมาจากการนำสินค้าจากจีนเข้ามาขายให้กับกองทัพลาว และต่อยอดเข้ามาทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

ลักษณะการทำธุรกิจของคำเพิงคือการขายสินค้า หรือก่อสร้างให้ก่อน เก็บเงินทีหลัง เขาจึงได้ชื่อว่าเป็นนักธุรกิจที่มีแขวงต่างๆ เป็นลูกหนี้ทั่วประเทศ

บริษัทแพร่ธำรงวิทย์ Joy venture Namtha Road and Bridge คือบริษัทร่วมทุนที่วรงค์และคำเพิงจัดตั้งขึ้นเพื่อเสนอตัวเข้าประมูลงานก่อสร้างถนนสายนี้ โดยตอนแรกบริษัทได้เข้าประมูลงานในช่วงที่ 2 ซึ่ง ADB เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ แต่แพ้ให้กับกลุ่มเนาวรัตน์พัฒนาการ หลังจากนั้นจึงยื่นประมูลใหม่อีกครั้ง ในงานช่วงที่ 3 ซึ่งรัฐบาลไทยสนับสนุนเงินทุน ผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) และได้งานนี้

"เงินไม่มีปัญหา พาร์ตเนอร์ที่ดี เรื่องคนกับเครื่องมือไม่ใช่ปัญหา เพราะในลาว เราสามารถว่าจ้างเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาทำงานให้ ตามนโยบายของรัฐบาลลาว ที่จะหักเป็นรายได้เข้ารัฐประมาณ 30% ของค่าจ้าง ส่วนเครื่องมือ เราใช้เครื่องจักรใหม่หมด เครื่องเก่าเมื่อถึงกำหนดจะขายทิ้งแทนขนกลับเมืองไทย เพราะไม่คุ้ม ซึ่งถ้าคำนวณแล้ว ลงทุนซื้อเครื่องใหม่ได้ Out Put ดีกว่าใช้เครื่องจักรเก่าที่ใช้ไปซ่อมไปแน่นอน"

วรงค์ยืนยันว่าหลักการนี้เขาพิสูจน์แล้วกับถนนในช่วงกิโลเมตรที่ 0 ถึงกิโลเมตรที่ 84 แขวงบ่อแก้ว ที่ได้เริ่มลงมือทำงานจริงๆ ในเดือนกันยายน 2547 แต่เดือนพฤษภาคม 2550 งานคืบหน้าไปแล้ว 93% เหลือเพียงงานตีเส้นจราจร ตั้งป้ายสัญญาณจราจร และงานบดอัด ลาดแอสฟัลล์ อีก 20 กิโลเมตร ที่ใช้เวลาอีก 10 กว่าวันก็เสร็จ ซึ่งเป็นการจบงานก่อนสิ้นอายุสัญญา 1 เดือน ไม่รวมที่ได้รับการขยายเวลาไปอีก 10 เดือน เพื่อปรับระดับความลาดชันของเส้นทางไม่ให้เกิน 10% จากบางจุดมีความชัน 13% ตามที่บริษัทที่ปรึกษากำหนด แต่ถ้าเป็นไปตามแผนจะใช้เวลาไม่เกิน 6-8 เดือนเท่านั้น

และด้วย record ของแพร่ธำรงวิทย์ บนถนน R3a ช่วงที่ 3 ทำให้เมื่อปลายปี 2549 แพร่ธำรงวิทย์ยังสามารถคว้างานก่อสร้างถนน สายห้วยโก๋น-ปากแบ่ง ที่เป็นโครงข่ายคมนาคม เชื่อมจากชายแดนจังหวัดน่าน เข้าสู่พื้นที่ตอนกลางของลาว ผ่านไปทางเมืองหงสา ระยะทาง 50 กิโลเมตร มูลค่า 840 ล้านบาท เริ่มสัญญาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550 ถึงเดือน สิงหาคม 2552 โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เริ่มนำเครื่องจักรเข้าเปิดงานแล้ว

"ลาวเปิดเต็มที่ 5 ปีจากนี้ทำไม่หมดแน่นอน ทั้งเขื่อนที่อนุมัติไปแล้ว 11 เขื่อน ถนนอีกหลายเส้นทางแต่ต้องไม่ใช่การตีหัวเข้าบ้านเหมือนยุคก่อน" วรงค์กล่าวถึงงานรับเหมาก่อสร้างในลาว ส่วนหนึ่งของพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ พื้นที่ทางเศรษฐกิจใหม่ ที่กำลังเปิดสู่โลกภายนอกอย่างเต็มตัว

แพร่ธำรงวิทย์ปลุกปั้นขึ้นมาโดยสุวิทย์ วงศ์วรกุล ลูกชายของถำชิว แซ่อึ้ง กับไกยิน แซ่ซือ ชาวจีนอพยพ

สุวิทย์เป็นอดีตประธานหอการค้าจังหวัดแพร่ กรรมการหอการค้าไทย เก้าแก่ภูธรที่ได้ ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเจ้าสัวล้านนาตะวันออก ที่วันนี้มีวัย 69 ปีแล้ว

เขาเริ่มต้นจากการเปิดร้านขายจักรยานยนต์ จักรยาน นาฬิกา วิทยุ พร้อมกับรับซ่อมไปในตัว และช่วยงานในร้านโชวห่วยเล็กๆ ที่เมืองน่านของครอบครัว ก่อนร่วมกับเพื่อนฝูงตั้งบริษัทแพร่โยธา จำกัด รับเหมาก่อสร้างอาคารทั้งราชการและเอกชน แต่ไปไม่รอด เพราะหุ้นส่วนแตกคอกัน ทั้งที่ธุรกิจประสบความสำเร็จ

จากนั้นสุวิทย์ได้ก่อตั้ง หจก.แพร่ธำรงวิทย์ ขึ้นมาเพื่อรับเหมาก่อสร้างถนนริมชายแดนลาวในเขตอิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่เสี่ยงและประสบปัญหาหน้างานอย่างหนัก บางครั้งถึงขั้นที่ต้องกู้กับระเบิดเอง รถแทรกเตอร์ถูก ผกค.ซุ่มยิงตกเขาอยู่บ่อยครั้ง

แต่ธุรกิจที่เสี่ยงมากย่อมมีกำไรมากตามไปด้วย แพร่ธำรงวิทย์จึงประสบความสำเร็จด้วยดี

ก่อนที่จะเริ่มรีไทร์ตัวเองจากธุรกิจ ส่งมอบกิจการรับเหมาก่อสร้างที่ปลุกปั้นมากับมือให้กับทายาท ที่ดูเหมือนว่ากำลังนำแพร่ธำรงวิทย์ ผู้รับเหมาท้องถิ่นเมื่อ 10-20 ปีก่อน ขึ้นมา เป็นผู้รับเหมาชั้น 1 ของกรมทางหลวงได้อย่างรวดเร็ว

พร้อมๆ กับกำลังใช้ project ถนน R3a ในลาว เป็นบันไดก้าวกระโดดขึ้นชั้นผู้รับเหมา หัวแถวของเมืองไทยในอีกไม่ช้าไม่นานต่อจากนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.