|
สี่แยกอินโดจีน วันนี้มีเพียงป้ายบอกทาง
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
หากขับรถตามถนนเลี่ยงเมืองพิษณุโลกไปประมาณ 10 กิโลเมตร จากมหาวิทยาลัยนเรศวร จะพบกับสี่แยกที่มีป้ายพื้นสีน้ำเงินตัวอักษรสีขาวโดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ตามมุมทางเลี้ยวต่างๆ ว่านี่คือ
"สี่แยกอินโดจีน"
บ่งบอกว่า จากจุดนี้สามารถเดินทางขึ้นเหนือถึงนครคุนหมิง มณฑลยูนนานของจีน ลงใต้ถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซียไปทางตะวันออกได้ถึงท่าเรือดานัง เวียดนาม และทางตะวันตกถึงเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า
ซึ่งในเชิงภูมิศาสตร์ ณ จุดที่ตั้งของสี่แยกนี้ ถือเป็น ศูนย์กลางของ East-West Economic Corridor และ North-South Economic Corridor ที่ในเชิงทฤษฎีแล้ว สามารถเดินทางตามถนนไปถึงนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน หรือมณฑลอื่นๆ ของจีน ตลอดจน มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว เวียดนาม เชื่อมต่อไปถึงพม่า บังกลาเทศ อินเดีย และไกลได้ถึงยุโรป
สี่แยกนี้จึงเป็นได้ทั้งจุดพักของรถและคน
ในรอบ 10 กว่าปีมานี้ ยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด หรือพัฒนาภาคเหนือ หลายฉบับล้วนระบุไว้ถึงการพัฒนาสี่แยกอินโดจีน ด้วยการผลักดันให้เป็นศูนย์กระจายสินค้า จุดขนถ่ายสินค้า และบริการ
แต่มาถึงวันนี้ โครงการต่างๆ มีเพียงป้ายบอกทางเท่านั้นที่ปรากฏให้คนจับต้องได้
นักธุรกิจพิษณุโลกหลายคนบอกเหมือนกันว่า ทุกวันนี้มีแต่พูดอย่างเดียว รัฐยังไม่มีแผนงาน ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบ ไม่มีงบดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้จังหวัดพิษณุโลกเป็น "สี่แยกอินโดจีน" อย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่รอบ 1 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก จะโอนงาน "Logistic" ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พิษณุโลก รับผิดชอบ เพื่อพัฒนาสี่แยกอินโดจีนให้เป็นรูปธรรม แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งที่ภาคเอกชนร่วมผลักดันและศึกษาโครงการโดยการว่าจ้างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ด้วยงบประมาณถึง 3 ล้านบาทก็ตาม
แต่ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าพิษณุโลกก็ยังคงมีเพียงป้ายบอกเส้นทางไปเมืองต่างๆ หลายเมืองในประเทศต่างๆ รอบทิศทางเท่านั้นที่บอกถึงความเป็นสี่แยกอินโดจีน
ไม่เพียงเท่านั้น วิเศษ วชิราศรีศิริกุล ประธานหอการค้าพิษณุโลก ยังบอกว่าขณะที่ไทยยังไม่ได้ทำอะไร ทุนจีนกลับรุกผ่านนอมินี เข้าเจรจาซื้อที่ดินย่านสี่แยกร้องโพธิ์ หรือสี่แยกอินโดจีนริมถนนมิตรภาพ (สาย 12) เนื้อที่ 40-50 ไร่ ราคาประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นจุดพักรถบรรทุกหัวลาก รับการขนส่งผ่าน "คุน-มั่ง กงลู่"
ดังนั้นไม่แน่ว่า ในที่สุด "สี่แยกอินโดจีน" อาจจะกลายเป็น "สี่แยกสินค้า-ทุนจีน" บนแผ่นดินพิษณุโลกแทนก็เป็นได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|