เส้นทาง R3a กว่า 10 ปี จึงเป็นรูปเป็นร่าง

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Sub regional Economic Cooperation ; GMS-EC) ที่เริ่มต้นผลักดันกันมาตั้งแต่ปี 2535 หรือ 15 ปีที่แล้ว โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) กำหนดแนวพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงไว้ 10 เส้นทาง

1 ใน 10 นั้นก็คือ ถนนไทย-ลาว-จีน (R3a) ระยะทาง 250 กม. ส่วนหนึ่งของเส้นทางสาย "คุน-มั่ง กงลู่" หรือคุนหมิง-กรุงเทพฯ (เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว-ด่านบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ติดชายแดนจีนที่เมือง Mohan อ.เหมิ่งล่า เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน) นั้น เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 2538 ภายใต้โครงการ "สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ" ผ่านมือกลุ่มทุนผู้รับสัมปทานก่อสร้างถนนจากไทยมาแล้วถึง 2 กลุ่มด้วยกัน คือ

- กลุ่ม "ครอบครัวอุษา" ของตระกูล "แซ่เตี๋ยว" แห่งเชียงใหม่ ที่ 1 ในทายาทได้เป็น "เขยลาว" โดยผู้เป็นพ่อตาถือเป็นผู้ที่มีคอนเนกชั่นกับชนชั้นนำของรัฐบาลลาวอย่างแนบแน่น แต่ก็มีปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุน

- บริษัทร่วมพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ จำกัด ที่เข้ารับสัมปทานแทน "ครอบครัวอุษา" แต่ก็มีปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุนอีก เนื่องจาก ADB ไม่ยอมปล่อยเงินกู้ให้ เนื่องจากเป็นบริษัทเอกชน ขณะที่รัฐบาลลาวก็ไม่ยอมที่จะค้ำประกันเงินกู้ให้ เพราะบริษัทไม่ใช่รัฐวิสาหกิจของลาว จนกระทั่งวันที่ 25 กันยายน 2541 รัฐบาลลาวยกเลิกสัมปทานทำถนนเส้นนี้ เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าในการก่อสร้าง

กระทั่งเดือนมกราคม 2545 ADB เข้ามาเป็นตัวกลางจัดประชุม 3 ฝ่าย (ไทย ลาว จีน) เพื่อแก้ปัญหาการพัฒนาเส้นทางสายนี้ตามที่รัฐบาลลาวร้องขอไปเมื่อปี 2541 ซึ่งในการประชุมคราวนี้ที่ประชุมมีมติที่จะสร้างถนนสายนี้เป็น 2 เลน ระยะทาง 228 กม. แบ่งออกเป็น 3 ช่วงตามแหล่งเงินทุนและความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีน ไทย และADB โดยเริ่มปรับปรุงตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา

ช่วงที่ 1 จากด่านบ่อเต็น-น้ำลัง แขวงหลวงน้ำทา (กิโลเมตรที่ 160.8-228.3) ระยะทาง 66.43 กม. จีนเป็นผู้รับผิดชอบ ก่อสร้างโดยเงินให้เปล่า 249 ล้านหยวน และเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยอีก 449 ล้านหยวน ซึ่งการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว เดิมมีกำหนดส่งมอบในเดือนพฤษภาคม 2550 แต่รัฐบาลลาวขอให้รัฐบาลจีน ขยายเวลารับประกันออกไปอีก 1 ปีเป็นเดือนพฤษภาคม 2551

ช่วงที่ 2 จากน้ำลัง-บ้านสอด (กิโลเมตรที่ 84-160.8 เวียงภูคา-บ้านน้ำลัง) ระยะทาง 76.80 กิโลเมตรที่ ADB ให้รัฐบาลลาว กู้จำนวน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการก่อสร้างถนนช่วงนี้ บริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการของไทยเข้ามารับดำเนินการจนถึงขณะนี้การก่อสร้างเกือบเสร็จสมบูรณ์เช่นกัน เหลือเพียงระยะสุดท้ายที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการตัดเส้นทาง บดอัด ราดยาง อีกประมาณ 20 กิโลเมตร โดยถนนช่วงนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2547 สิ้นสุดมีนาคม 2550 แต่ก็ได้รับการขยายเวลาออกไปอีก 10 เดือนเพื่อปรับระดับความลาดชันไม่ให้เกิน 10%

ช่วงที่ 3 จากบ้านสอด-เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว (กิโลเมตรที่ 0-กิโลเมตรที่ 84) ระยะทาง 84.77 กิโลเมตร ที่รัฐบาลไทยให้ลาวกู้จำนวน 1,210 ล้านบาท เปิดประมูลเมื่อปลายปี 2546 โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่ธำรงวิทย์ กลุ่มทุนรับเหมาก่อสร้างท้องถิ่นของภาคเหนือที่มีฐานที่มั่นอยู่ในจังหวัดแพร่-น่าน กระโดดเข้ามารับงาน ระยะเวลาก่อสร้าง 33 เดือน เริ่มจากสิงหาคม 2546-มิถุนายน 2550 แต่ได้รับการขยายเวลาเพื่อปรับความลาดชันของถนนไม่ให้เกิน 10% อีก 10 เดือนสิ้นสุดเมษายน 2551 แต่คาดว่าภายในสิ้นปีถนนช่วงนี้จะเสร็จสมบูรณ์ 100%

หลังจากถนน R3a เสร็จสมบูรณ์ในปีนี้ ก็จะเชื่อมต่อกับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ภายใต้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท ที่ไทย-จีนตกลงที่จะสนับสนุนฝ่ายละ 50% ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดจุดก่อสร้างแล้ว โดยฝั่งลาวจะอยู่ที่บริเวณบ้านดอนขี้นก (กิโลเมตรที่ 9) เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ฝั่งไทยจะอยู่ติดบ้านดอนมหาวัน ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย ห่างจากตัวเมืองเชียงของประมาณ 10 กม.เศษ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2553 โดยประมาณ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.