|
ประตู (อินโด) จีน เปิดแล้ว !!!
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อโครงการร่วมมือทางเศรษฐกิจของ 6 ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งมีการพูดถึงกันเป็นเวลาช้านาน กำลังปรากฏภาพความคืบหน้าออกมาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับภูมิภาคนี้ในอนาคต จึงเป็นคำถามที่ท้าทายต่อการแสวงหาคำตอบ
สภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ลดหลั่น และเบียดบังกันไปมาในเขตพื้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในวันนี้ หากมองดูเผินๆ แล้ว ยังคงดูเงียบสงบ
ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงครองวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ซึ่งยึดถือมานานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด
แต่ภายใต้บรรยากาศที่เงียบสงบเช่นนี้ หากได้สำรวจลึกลงไปในหุบเขาต่างๆ แล้วจะพบกับความเคลื่อนไหวที่กำลังก่อตัวขึ้นมาอย่างเงียบๆ และต่อเนื่อง
ถนนสาย R3a ที่เชื่อมต่อจากพรมแดนตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน (สป.จีน) ผ่าน สปป.ลาว มาจรดกับพรมแดนทางภาคเหนือของประเทศไทย ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในระยะทางเพียง 228 กิโลเมตร กำลังถูกเร่งการก่อสร้างอย่างขะมักเขม้น
ปัจจุบันถนนเส้นนี้ก่อสร้างเสร็จไปแล้วมากกว่า 90% และคาดว่าจะสามารถเปิดใช้อย่างเป็นทางการได้ในปลายปีนี้
เช่นเดืยวกับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 เชื่อมระหว่าง จ.มุกดาหาร กับแขวงสะหวันนะเขต ซึ่งได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการไปตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2549 ทำให้เส้นทางเชื่อมจากไทยผ่านลาวไปสู่ประเทศเวียดนาม ตามเส้นทางหมายเลข 9 ที่ยาวเพียง 246 กิโลเมตร เริ่มครบวงจร
และหากต่อยอดออกไปจนสมบูรณ์ตามแผน ถนนเส้นนี้สามารถทอดขวางยาวจากมุกดาหาร มายัง อ.แม่สอด จ.ตาก ผ่านเข้าสหภาพพม่า และต่อไปถึงประเทศอินเดียได้ในอนาคต
ล่าสุด สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 เชื่อมระหว่าง จ.นครพนม กับเมืองท่าแขก และแห่งที่ 4 เชื่อมระหว่าง อ.เชียงของ กับเมืองห้วยทราย ก็ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะสร้างเสร็จและเปิดใช้ได้ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจของเหล่าประเทศในอินโดจีน อันประกอบด้วยจีน ไทย ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา ที่คนไทยเริ่มต้นรับรู้จากวลี "เปลี่ยนสนามรบเป็นตลาดการค้า" ของพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน
แต่ในขณะนั้นมีน้อยคนนักที่มองเห็นภาพ
และพล.อ.ชาติชาย ก็มิใช่คนแรกที่มองเห็นถึงศักยภาพของพื้นที่แถบนี้
"เติ้ง เสี่ยว ผิง ได้วางนโยบายไว้ตั้งแต่เริ่มคิดจะเปิดประเทศเมื่อกว่า 30 ปีก่อนแล้วว่า จีนจะต้องหาเส้นทางสายไหมเส้นใหม่ โดยมองลงมาทางใต้ เพื่อหาทางออกสู่ทะเล" พิษณุ เหรียญมหาศาล รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวบนเวทีสัมมนาเรื่อง "โอกาสทางการค้ากับจีน" ณ ห้องดอยตุง โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา
เขาอธิบายว่า ในตอนแรกเติ้ง เสี่ยว ผิง มองเส้นทางออกทะเลไว้ที่ชายฝั่งพม่าแถบมะละแหม่งในอ่าวเมาะตะมะ แต่จู หรง จี อดีตนายกรัฐมนตรีของจีน ซึ่งเป็นผู้รับนโยบายนี้มาปฏิบัติ มองว่าเส้นทางผ่านพม่าไปทางลุ่มแม่น้ำสาละวินเป็นเส้นทางที่ลำบาก จึงเปลี่ยนแนวทางมายังประเทศไทยแทน
การเปลี่ยนแนวเส้นทางสายไหมเส้นใหม่ของจู หรง จี เป็นที่มาให้ในภายหลังจีนพยายามผลักดันให้เกิดการก่อสร้างเส้นทาง 2 สาย คือสาย R3a จากเมืองบ่อหาน เขตปกครองพิเศษสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน เข้ามาทางเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทาของลาว มาถึงเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ระยะทาง 228 กิโลเมตร (อ่าน "เส้นทาง R3a กว่า 10 ปี จึงเป็นรูปเป็นร่าง" ประกอบ)
กับเส้นทางสาย R3b ที่ออกจากเมืองต้าลั่ว เขตปกครองพิเศษสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน เข้ามาทางเมืองเชียงตุงของพม่า มาถึงเมืองท่าขี้เหล็ก ที่อยู่ตรงข้ามกับ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ระยะทาง 253 กิโลเมตร
ทั้ง 2 เส้นระยะทางใกล้เคียงกัน แต่เส้น R3a จะสั้นกว่า ขณะที่เส้น R3b แม้ได้สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2547 และเปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้ว แต่ปัจจุบันการขนส่งผ่านเส้นทางนี้กลับไม่เป็นที่นิยม เพราะมีปัญหาต้นทุนสูง จากค่าผ่านทางทั้งในระบบและนอกระบบที่แพงลิบลิ่ว (อ่าน "R3b เส้นทางที่ต้องมีพี่เลี้ยง" ประกอบ)
"เส้นทางสาย R3a นี้ จีนอยากจะให้เสร็จก่อนวันที่ 1 ตุลาคมปีนี้ เพื่อให้ทันการฉลอง วันชาติ" พิษณุบอกกับผู้เข้าฟังการสัมมนา
แต่จีนก็มิใช่เพียงชาติเดียวให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้เช่นกัน เพราะโครงการพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแทบทุกโครงการในประเทศที่เกี่ยวข้องกันนี้ ล้วนได้รับการศึกษาข้อมูลอย่าง ละเอียดจาก JICA (Japan International Cooperation Agency) และเงินทุนที่ถูกนำมาใช้ในการพัฒนา ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจาก OECF (Overseas Economic Cooperation Fund) ซึ่งก็คือ Japan Bank for International Cooperation หรือ JBIC ในปัจจุบัน
รวมทั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)
ย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อน ADB ได้เป็นเจ้าภาพเชิญผู้แทนของ 6 ประเทศ ประกอบด้วยจีน ไทย ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา ไปประชุมร่วมกันที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 20-21 ตุลาคม 2535 ผลจากการประชุมครั้งนั้นได้ถูกพัฒนาขึ้นเป็นกรอบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจของ 6 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregional : GMS)
จากกรอบใหญ่ของ GMS ได้มีกรอบความร่วมมือย่อยที่มีชื่อเรียกต่างๆ ตามมาอีกหลายกรอบตามแนวการเชื่อมโยง โดยแนวเหนือจรดใต้ ไทยได้เป็นเจ้าภาพเชิญตัวแทนของอีก 3 ชาติลุ่มน้ำโขงตอนบน ได้แก่ จีน ลาว พม่า เข้าหารือกันที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 และ 28 พฤษภาคม 2536 ในชื่อ "สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ" (Economic Quadrangle)
ส่วนในแนวตะวันออกและตะวันตกก็มีกรอบของ East-West Economic Corridor : EWEC ที่ประกอบด้วยไทย ลาว และเวียดนาม
รวมถึงยังมีกรอบ ACMECS ที่ย่อมาจาก Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy ที่ประกอบด้วยไทย ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา
ฯลฯ
ปัจจุบันกรอบความร่วมมือต่างๆ ซึ่งถกกันในวงประชุมสัมมนาหลายครั้ง ในรอบ 15 ปีมานี้ กำลังปรากฏผลเชิงรูปธรรมจากโครงข่ายการคมนาคมที่กำลังเชื่อมโยงประเทศต่างๆ เหล่านี้เข้าด้วยกัน
"ต่อไปชื่อของเส้นทาง "คุน-มั่ง กงลู่" อาจจะเป็นชื่อที่คุ้นหูคนไทย" พิษณุบอกกับผู้เข้าฟังการสัมมนาอีกครั้ง
คำว่า "คุน" ย่อมาจาก "คุนหมิง" เมืองหลักของมณฑลยูนนาน มณฑลทางตอน ใต้ของจีน ส่วน "มั่ง" ย่อมาจาก "มั่งกู๋" ก็คือ บางกอก ซึ่งเป็นชื่อที่คนจีนใช้เรียกกรุงเทพฯ
ส่วน "กงลู่" ก็มีความหมายว่า "ทาง หลวง" หรืออีกนัยหนึ่ง คือ "ทางด่วน"
"คุน-มั่ง กงลู่" ก็คือทางด่วนจากคุนหมิง-กรุงเทพฯ ซึ่งมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 1,800 กิโลเมตร ซึ่งกำลังถูกมองว่าเป็นเส้นทางสายไหมเส้นใหม่ และกำลังถูกพูดถึงอยู่ในจีนบ่อยครั้งในขณะนี้
นอกจากทางถนนแล้ว จีนยังมีโครงการสร้างทางรถไฟจากคุนหมิงมาถึงบ่อหาน ซึ่งจะเริ่มในปีหน้า (2551) ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสที่จะเกิดเส้นทางรถไฟจากบ่อหานถึงบ่อเต็น หลวงน้ำทา ต่อเนื่องลงมาถึงหลวงพระบาง เวียงจันทน์ เข้าสู่ จ.หนองคาย ในไทย ที่เคยศึกษากันมาก่อนหน้านี้ ย่อมเป็นไปได้มากขึ้น
รวมถึงหากมีการสร้างทางรถไฟต่อจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ ขึ้นไปถึง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในฝั่งไทย ลาวก็มีโอกาสที่จะสร้างทางรถไฟจากบ่อเต็น ลงมาเชื่อมกับเส้นทางรถไฟในฝั่งไทยสายนี้ด้วยเช่นกัน
การคมนาคมทางน้ำผ่านแม่น้ำโขงจากสิบสองปันนา ลงมาถึง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ถูกใช้มานาน และกำลังได้รับการพัฒนา หลังจากมีการเซ็นสัญญา 4 ประเทศ เพื่อการเดินเรือพาณิชย์อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2544 แม้ว่าปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องระดับน้ำ และเกาะแก่งบางจุดที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรืออยู่บ้าง (อ่าน "ลั่นช้างเจียง ลมหายใจสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ" ประกอบ)
จากโครงข่ายคมนาคมที่กำลังได้รับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมเหล่านี้ได้รับการคาดหมายว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพื้นที่นี้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทั้งด้านการก่อสร้าง พัฒนาระบบสาธารณูปโภค การขยายตัวของการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความร่วมมือ ทางด้านพลังงาน ฯลฯ
คำถามสำคัญคือว่า ใครจะสามารถฉวยประโยชน์สูงสุดจากปรากฏการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ได้ก่อนกัน...?
จีนดูเหมือนจะเป็นประเทศที่มีความตื่นตัวมากที่สุด ภายใต้กรอบความร่วมมือเหล่านี้ เพราะหากโครงข่ายการคมนาคมเสร็จสมบูรณ์ลงเมื่อใด เท่ากับเป็นการเปิดประตูทางออกสู่ทะเลทางฝั่งมหาสมุทรอินเดียให้กับจีน ไม่ว่าจะผ่านทางอ่าวไทย หรือทะเลอันดามัน
แต่ประเทศอื่นก็ใช่ว่าจะไม่ให้ความสำคัญ เพราะความที่จีนกำลังได้รับการคาดหมายว่าจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายใหม่ของโลก จนถึงกับมีคำกล่าวว่าถนนทุกสาย เงินทุนทุกก้อนกำลังหลั่งไหลเข้าไปในจีน
จีนจึงกลายเป็นตลาดใหญ่ที่ทุกคนกำลังจ้องตาเป็นมัน โดยคาดหวังไว้ว่าโครงข่ายคมนาคมที่กำลังมีการก่อสร้างจะเป็นเส้นทางที่นำไปสู่ประตู ซึ่งเปิดเข้าไปในจีนทางตอนใต้
หากมองเฉพาะไทย ความตื่นตัวในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่บริเวณนี้อย่างน้อยก็ทำให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างของไทยหลายรายได้ประโยชน์
ถนนสาย R3a ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 3 ช่วง มีเพียงช่วง 67 กิโลเมตรแรกนับจากชายแดนจีน ที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างของจีนเป็นผู้รับสัมปทาน ส่วนอีก 2 ช่วงที่เหลือ ผู้ที่ประมูลได้ล้วนเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างของไทย คือ บริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ และห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่ธำรงวิทย์ (อ่าน "แพร่ธำรงวิทย์กับก้าวกระโดดครั้งใหญ่" ประกอบ)
สนามบินหลวงน้ำทาซึ่งกำลังก่อสร้างปรับปรุงใหม่ ขยายรันเวย์ออกไป เพื่อให้รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ ระดับโบอิ้ง 747 โดยผู้ที่ประมูลได้คือ บริษัท ส.เหมราช จากไทยอีกเช่นกัน โดยคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีนับจากนี้
ไม่รวมกับการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าอีกหลายแห่งที่ได้บริษัท ช.การช่าง กับบริษัทอิตาเลียน ไทย ดีเวลลอปเม้นท์ เป็นผู้รับเหมา
ด้านความร่วมมือทางด้านพลังงานนั้นค่อนข้างชัดเจน เพราะกระทรวงพลังงานของไทย ได้ยกให้ลาวเป็นประเทศเป้าหมายหลักที่ไทยจะรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนต่างๆ ที่กำลังก่อสร้าง รวมทั้งบริษัทของไทย ก็ได้เข้าไปเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนเหล่านี้ อาทิ บริษัท ผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
ล่าสุดบริษัทบ้านปูเพิ่งลงนามใน Head of Agreement กับรัฐบาลลาว เพื่อรับสิทธิในการเข้าศึกษา และพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากถ่านหินขนาด 1,800 เมกะวัตต์ และเหมืองถ่านหินที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ไปเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549
แต่ในด้านการค้าการลงทุนอื่นๆ นั้น ภาพที่เกิดขึ้นขณะนี้กลับยังไม่ค่อยชัดเจนนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ของลาวตอนเหนือ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับจีนตอนใต้ที่กำลังได้รับการคาดหมายให้เป็นประตูของเส้นทางสายไหมเส้นใหม่
กิจกรรมการค้าส่วนใหญ่ยังเป็นในระดับพื้นที่ แต่ที่สำคัญคือโครงข่ายคมนาคมที่กำลังพัฒนาอยู่ในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจตอนนี้ ทำไปทำมา แทนที่จะเป็นเส้นทางที่เปิดโอกาสให้สินค้า และกระแสทุนของไทยหลั่งไหลผ่านลาวเข้าไปยังจีนตอนใต้ กลับกลายเป็นว่าน้ำหนักของปริมาณ สินค้าและกระแสทุนจากจีนที่หลั่งไหลออกมายังลาวและไทยกลับมีมากกว่า
เหตุผลประการหนึ่งนั้นเนื่องจากข้อตกลงที่ลาวได้ทำร่วมกับจีน ด้วยการเปิดให้ภาคธุรกิจของจีนสามารถเข้ามาลงทุนใน 8 แขวงของลาว ตั้งแต่ตอนเหนือลงมาโดยได้รับเงื่อนไขพิเศษ ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนความช่วยเหลือของรัฐบาลจีน ที่มีให้กับลาวในหลายรูปแบบในช่วงก่อนหน้า
ว่ากันว่า ทุกวันนี้ในบางคืนแขกที่เข้าพักอยู่ในตำมิละ เกสต์เฮาส์ริมแม่น้ำโขงฝั่ง อ.เชียงของ มักได้ยินเสียงคาราโอเกะเพลงเทียนมีมี่ หรือเพลงจีนอื่นๆ ที่ร้องโดยคนจีน ดังข้ามมาจากร้านอาหารในเมืองห้วยทรายที่อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำ แทนที่จะเป็นเสียงเพลงลูกทุ่งจากคนลาวเหมือนแต่ก่อน
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา "ผู้จัดการ" มีโอกาสเดินทางเข้าไปในพื้นที่ตามแนวถนนสาย R3a ตั้งแต่ อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ข้ามไปยังเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว จนถึงพรมแดนจีน-ลาว ที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา พบว่ากลุ่มทุนจากจีนได้เข้ามาปักธงลงทุนไว้ตลอดแนวเป็นจำนวนมาก
ขณะที่กลุ่มทุนของไทยนอกจากกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างที่กล่าวถึงแล้ว ก็มีเพียงกลุ่มแหลมทองลิกไนต์ จากเชียงใหม่ ที่ร่วมทุนกับนักธุรกิจกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับสัมปทานทำเหมืองลิกไนต์ที่เวียงภูคา แขวงหลวงน้ำทา ในนามบริษัทเวียงภูคา ซึ่งเป็นสัมปทานเก่าที่ได้รับมานานแล้ว
เริ่มจาก "เกาะดอนซาว" บ้านต้นผึ้ง เมืองห้วยทราย (ใต้สามเหลี่ยมทองคำ) ตรงข้ามกับ อ.เชียงแสน เดิมเคยมีนักธุรกิจ-นักการเมืองไทยเข้าไปขอสัมปทานจากรัฐบาลลาวมาแล้วหลายราย ล่าสุดปรากฏว่าพื้นที่นี้มีกลุ่มทุนจีน-เกาหลีใต้ได้สัมปทานเพื่อก่อสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งภายในนอกจากจะมีโรงแรมแล้ว ว่ากันว่ายังมีกาสิโนเอาไว้รองรับนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนจีนอีกกลุ่มหนึ่งได้เข้ามาขอเช่าพื้นที่ของบ้านต้นผึ้ง ทำสวนเกษตร อีกหลายพันไร่
ส่วนที่เมืองห้วยทราย ตรงข้าม อ.เชียงของ ก็มีกลุ่มทุนจีนเข้ามาสร้าง "ตลาดอินโดจีน" ขึ้นที่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 5 ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าจากจีนทุกชนิด ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์พืช เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า ไปจนถึงจานดาวเทียม ฯลฯ มีจำนวนแผงค้าเกือบ 100 ยูนิต และยังคงมีการก่อสร้างเพิ่มเติมอยู่ตลอด
พ่อค้าแม่ค้าในตลาดนี้ส่วนใหญ่คือคนจีน
ที่แขวงหลวงน้ำทา ซึ่งห่างจากเมืองห้วยทรายขึ้นไปอีกประมาณ 180-200 กม. ที่ถือเป็น Gate Way ของแขวงตอนเหนือของลาว ที่มีเส้นทางบกเชื่อมต่อไปยังแขวงอื่นๆ รวมถึงกำแพง นครเวียงจันทน์ เมืองเดียนเบียนฟูของเวียดนาม เมืองสิงห์ และเมืองเชียงตุง รัฐฉานของพม่า (ในอนาคตมีโครงการก่อสร้างเส้นทางจากเชียงตุง ข้ามแม่น้ำโขง มาถึงหลวงน้ำทา) แต่ถ้าขึ้น ไปทางเหนือก็จะเชื่อมต่อไปถึงสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ตลอดจนมณฑลอื่นๆ ของจีนได้นั้น ปรากฏว่า ก่อนถึงตัวเมืองหลวงน้ำทา ประมาณ 12 กม. ก็มีกลุ่มทุนจีนคือ บริษัท Laos GN steels จำกัด ในเครือคุนหมิง สตีล กรุ๊ป ได้เข้ามาตั้งโรงงานรีดเหล็กเส้น กำลังผลิต 150,000 ตันต่อปี มีเป้าหมายทำตลาดในลาว เวียดนาม และไทยในอนาคตด้วย เบื้องต้นกำหนด ราคาจำหน่ายหน้าโรงงานไว้แล้ว ที่ 300 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
ขณะที่ในตัวเมืองหลวงน้ำทา ก็มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จากเมื่อ 5-7 ปีก่อน ซึ่งทั่วทั้งเมืองหลวงน้ำทา มีโรงแรมแค่ 2 แห่ง รวม ห้องพักไม่ถึง 50 ห้อง ไฟฟ้ามีให้ใช้ถึง 4 ทุ่ม แต่เจ้าหน้าที่แผนกการท่องเที่ยวของแขวงหลวงน้ำทา ที่มาออกบูธร่วมในงานเฉลิมฉลองอิสรภาพ 45 ปีหลวงน้ำทาจากกองทัพอเมริกัน ระหว่างวันที่ 3-4 พฤษภาคมที่ผ่านมา บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ปัจจุบันมีเกสต์เฮาส์ทั้งหมด 26 แห่ง โรงแรมอีก 1 แห่ง แต่ละแห่งมีห้องพักไม่ต่ำกว่า 15 ห้อง รวมจำนวนห้องพักทั้งหมดไม่น้อยกว่า 400-500 ห้อง อัตราค่าห้องพักต่ำสุดอยู่ที่ 40,000 กีบ หรือประมาณ 150 บาทต่อห้องต่อคืน (1 บาทเท่ากับ 270 กีบ) สูงสุดที่ 500,000 กีบ หรือประมาณ 1,800-2,000 บาทต่อห้องต่อคืน
นอกจากนี้ยังมีกิจการร้านอาหารของกลุ่มพ่อค้าชาวจีน ชาวไทลื้อ เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด รวมไปถึงอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวประเภทแบ็กแพ็ก
"สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า ในหลวงน้ำทาทั้งหมด 95% เป็นสินค้าจีนทั้งสิ้น" อดีตเจ้าแขวงของหลวงน้ำทาคนหนึ่งกล่าว สะท้อนถึงอิทธิพลจีนในดินแดนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
เมื่อเดินทางต่อขึ้นไปทางเหนือผ่านสามแยกนาเตย (ทางแยกไปหลวงพระบาง เวียงจันทน์) ก่อนถึงเส้นเขตแดนลาว-จีน ประมาณ 5 กิโลเมตร ก็ถึงบ่อเต็น หัวเมืองชายแดนลาว-จีน ซึ่งขณะนี้กลายเป็น "เมืองใหม่ของจีน" อย่างเต็มตัว แม้ว่าจะอยู่ในเขตลาวก็ตาม
พมเมือง มอนจันดี รองหัวหน้าแผนกขัวทาง แขวงหลวงน้ำทา บอกว่า รัฐบาลลาวได้ให้สัมปทานแก่จีนพัฒนาพื้นที่ชาย แดนบ่อเต็น-บ่อหาน ในลักษณะเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ระยะเวลา 30 ปี ร่วมกับรัฐวิสาหกิจของลาว ส่วนเนื้อที่ไม่แน่ชัด ทราบแต่เพียงว่า นับจากหลักเขตแดนลาวเข้ามา 5 กิโลเมตร ถือเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จีนเข้ามาทำทั้งหมด
ขณะที่ได้เข้าไปสำรวจพบว่าในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ กลุ่มนักลงทุนจีนกำลังเร่งลงมือก่อสร้างเมืองใหม่ ซึ่งประกอบด้วยศูนย์การค้า และเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ พร้อมกับเปิดให้บริการในส่วนที่ก่อสร้างใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยสิ่งก่อสร้างใหญ่ที่สุด คือโรงแรมหรูที่ชั้นล่างมีกาสิโนระดับมาตรฐานเต็มพื้นที่เกือบทั้งชั้น มีอุปกรณ์การเล่นหลากหลายชนิด มีพนักงานนับพันคนที่หมุนเวียนเปลี่ยนกะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ลูกค้าที่เข้ามาเล่น ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและเกาหลีใต้
นอกจากนี้ยังมีอาคารร้านค้าให้เช่า เพื่อเปิดบริการร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้าปลอด ภาษี เหล้า บุหรี่ ยาจีนทั้งแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ รวมถึงปั๊มน้ำมัน ฯลฯ
"เท่าที่ทราบที่นี่จะเป็นเมืองใหม่เป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมบริการมูลค่าหลายพันล้านบาท ที่นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุน" พัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ที่เคยเข้าไปสัมผัสเมืองเศรษฐกิจใหม่ตอนปลายของถนน R3a มาแล้วยืนยันอีกคนหนึ่ง
และในเมืองใหม่แห่งนี้ การบริหารงานทั้งหมดขึ้นอยู่กับทางจีนเป็นหลัก
เมื่อข้ามเขตแดนลาวเข้าสู่บ่อหาน อ.เหม่งล่า เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑล ยูนนาน ก็จะพบกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนบ่อหานที่รัฐบาลปักกิ่งได้อนุมัติเมื่อปลายปี 2549 มี Yang Zie เป็นผู้อำนวยการ ดำเนินการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจขนาด 22 ตารางกิโลเมตร ล่าสุด เริ่มลงมือถมที่-ทำถนนแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ บริษัททรานส์เอเชียของไทยได้ไปขอลงทุน เปิดนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ลึกเข้าไปในเขตจีนประมาณ 8 กิโลเมตร แต่ยังไม่มีรายละเอียด ของโครงการ
ส่วนโครงการพัฒนาพื้นที่ "นาเตย" ซึ่งเป็นเสมือนเมืองสามแยกอินโดจีนของแขวงหลวงน้ำทา เพราะเป็นทางแยกที่เมื่อลงมาจากจีน ตามเส้นทาง R3a หากเลี้ยวขวาจะไปยังแขวงบ่อแก้ว และชายแดนไทย แต่หากตรงไปจะลงไปถึงเวียงจันทน์ และสามารถออกไปยัง เวียดนามได้ ทางแขวงหลวงน้ำทาก็มีโครงการก่อสร้างเมืองใหม่ โดยได้วางแผนผังการก่อสร้าง และแบบจำลองเอาไว้แล้ว ขาดแต่เพียงการเปิดให้สัมปทานกับกลุ่มทุนที่จะเข้ามาลงทุน
ซึ่งที่สุดแล้ว โครงการนี้อาจหนีไม่พ้นกลุ่มทุนจากจีนที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาด้วยเช่นกัน
นอกจากโครงการใหญ่ที่กล่าวถึงแล้ว พื้นที่ข้างทางถนนสาย R3a ในรัศมี 10 กิโลเมตร จากพรมแดนจีน-ลาว มีกลุ่มทุนจากจีนเข้ามาลงทุนสร้างเป็นลานจอดรถคอนเทนเนอร์ โรงโม่หิน โรงงานยาสูบ รวมถึงแปลงผักเป็นระยะๆ
ไม่เพียงแต่ในฝั่งลาวเท่านั้น กระแสทุนจากจีนได้ไหลเข้ามาถึงประเทศไทยแล้วเป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมระหว่างไทยกับจีนที่สำคัญอีกเส้นทางหนึ่ง
ปัจจุบันการขนส่งทางน้ำจากเชียงรุ่ง เขตปกครองพิเศษสิบสองปันนา มายัง อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย อยู่ในมือกลุ่มทุนจีนทั้งหมด เรือทุกลำเป็นของจีน อาจมีเพียง 1-2 ลำเท่านั้น ที่มีนักลงทุนไทยเช่าทำ แต่ต้องใช้บุคลากรจีนทั้งสิ้น (อ่าน "ผกายมาศ เวียร์รา ผู้ล้างอาถรรพ์แม่น้ำโขง" ประกอบ)
ล่าสุดยังมีกลุ่มทุนจีนมาร่วมทุนกับเอกชนไทย นำโดย "ประธาน อินทรียงค์" นักธุรกิจจากเชียงใหม่กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่-นายด่านศุลกากร ก่อตั้งบริษัท Siam South China Logiatic จำกัด เตรียมพัฒนาห้างห้าเชียงพลาซ่า ของวัฒนา อัศวเหม อดีต ส.ส.สมุทรปราการ เพื่อทำเป็นท่าเรือคอนเทน เนอร์รับการขนส่งคอนเทนเนอร์ผ่านแม่น้ำโขง โดยใช้เรือขนาด 300-500 ตัน 2 ลำ ขนสินค้า ได้ครั้งละ 12 ตู้ต่อลำ พร้อมกับขอเปิดเขตปลอดอากรตามกฎหมายศุลกากร
ใกล้เคียงกันบริเวณริมแม่น้ำโขงก็มีท่าเรือเทคโทน่าของ "ชูเกียรติ ภูวิภิรมย์" อีกแห่งหนึ่ง
ทั้งยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มพัฒนาที่ดินเขตอุตสาหกรรมจากจีน กำลังเจรจากับผู้ร่วมทุนฝ่ายไทย ลงทุนพัฒนาที่ดิน ประมาณ 300-500 ไร่ ติดถนนสายแม่จัน-เชียงแสน เพื่อลงทุนทำเขตอุตสาหกรรม SME ที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมปลอดมลพิษเป็นหลัก คาดว่าจะมีผลเป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือนต่อจากนี้
หลังจากก่อนหน้านี้มีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนเปิดบริการคลังสินค้าฯ แล้ว 5 แห่ง คือ คลังสินค้าอนุมัติเฉพาะคราวเกวรี, เชียงแสนชิปปิ้งเซอร์วิส, นพโรจน์, ชะอุ้ม, โกเหลี่ยม ซึ่งสามารถนำเข้า-ส่งออกสินค้าทาง เรือได้เฉพาะคราว
"รัฐและเอกชนจีนทำงานร่วมกันอย่างได้ผล จนสามารถรุกเข้าครอบครองพื้นที่การลงทุนและธุรกรรมการขนส่งในกรอบสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและเบ็ดเสร็จ" อนันต์ เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการ เพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) กล่าว ในการประชุม คสศ. กับหอการค้า 10 จังหวัด ภาคเหนือ ครั้งที่ 1/2550 ณ ห้องประชุมนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา
เตา ซิน หัว ประธานหอการค้าสิบสองปันนาบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ปัจจุบันมีนักธุรกิจจากสิบสองปันนาเข้ามาเปิดบริษัทในไทย ที่ จ.เชียงใหม่ และเชียงราย รวม 17 บริษัท โดยเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม
แต่ในทางกลับกันที่เมืองจิ่งหง (เชียงรุ่ง) ในเขตสิบสองปันนา มีนักลงทุนไทย นำโดย ชัชวาล ศรีวชิราวัฒน์ ได้เข้าไปลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรม ในชื่อนิคมอุตสาหกรรมจิ่งหง (พื้นที่ก่าตง)
เตา ซิน หัว เป็นอีกผู้หนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการวางโครงข่ายคมนาคมในย่านนี้ เขาเป็นประธานหอการค้าของสิบสองปันนามายาวนานถึง 10 ปี เริ่มรับตำแหน่งตั้งแต่โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ เพิ่งเริ่มต้น
"ถนนนี่ผมเป็นคนมาถางทางเองกับมือ" เขาบอก
นิยามความสำคัญของโครงข่ายคมนาคมนี้ เตา ซิน หัว อธิบายกับ "ผู้จัดการ" สั้นๆ ว่า
"มีคนไปมาหากัน มีของไปมาหากัน แล้วก็มีเงินไปมาหากัน"
ปัจจุบันการค้าขายระหว่างสิบสองปันนากับเชียงรายมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดเมื่อปี 2549 มูลค่าการค้าขายระหว่างทั้ง 2 พื้นที่ สูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และปีนี้ทางรัฐบาลของยูนนานก็วางแผนว่าการค้าขายจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอีก 10%
เตา ซิน หัว ยืนยันว่าถ้าถนนจากสิบสองปันนามาเชียงของเสร็จ มูลค่าการค้าระหว่างทั้ง 2 เมือง ก็จะเพิ่มขึ้นอีก และหากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ที่เชื่อมระหว่าง อ.เชียงของ กับเมืองห้วยทรายสร้างเสร็จ จะมีนักลงทุนจากจีนอีกเป็นจำนวนมากที่จะเดินทางออกมาลงทุนยังพื้นที่แถบนี้ โดยรัฐบาลจีนก็ให้การสนับสนุนการออกมาของนักลงทุนเหล่านี้อย่างเต็มที่
"สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 เชื่อมระหว่างเชียงของกับเมืองห้วยทราย จะเสร็จปี 2554 แน่นอน ขณะนี้กำลังออกแบบ โดยใช้เวลา 1 ปี ก่อสร้างอีก 3 ปี" ปิยะพันธ์ จัมปาสุต รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวยืนยันในการเดินทางมาดูสถานที่ก่อสร้างสะพาน ที่ อ.เชียงของ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา
สะพานแห่งนี้จะเชื่อมต่อเข้ากับถนน R3a ที่บ้านดอนขี้นก เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว หรือบริเวณ กม.9 จากตัวเมืองห้วยทรายไปทางตะวันออก ส่วนฝั่งไทยจะอยู่ที่บริเวณบ้านปากอิงเหนือ ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีทางเข้าติดหมู่บ้านดอนมหาวัน ห่างจากถนนสาย อ.เชียงของประมาณ 6 กิโลเมตร เนื่องจากเป็นจุดที่แม่น้ำโขงมีความกว้างน้อยที่สุดเพียง 480 เมตร ท้องน้ำมีหินดินดาน ทำให้ไม่ต้องตอกเสาเข็มลึกมาก
ตัวสะพานตามแบบก่อสร้างเดิมจะกว้าง 16.70 เมตร ยาว 630 เมตร ถนนฝั่งไทย มี 4 ช่องจราจร ฝั่งลาว 2 ช่องจราจร แต่หลังสุดในการประชุมร่วมระหว่างไทย-ลาว ADB ที่ฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2549 ได้พิจารณาปรับลดเหลือความกว้าง 13.70 เมตร และลดค่าก่อสร้างเหลือ 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,000 กว่าล้านบาท โดย ไทยและจีนร่วมกันออกค่าก่อสร้างฝ่ายละ 50% หรือเท่ากับ 15.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ไม่เพียงเท่านั้นกรมทางหลวงยังมีโครงการสร้างถนนเลี่ยงเมืองเชียงของ เพื่อระบายรถที่จะมากขึ้นในอนาคต รวมถึงถนนเชื่อมเชียงแสน-แม่สาย ด้วย ขณะที่กรมทางหลวงชนบทจะสร้างถนนอีก 2 สาย ให้เชื่อมกับถนนพหลโยธินที่ตัวเมืองเชียงราย ก่อนไปสู่ภาคกลาง รองรับการขนถ่ายที่จะเพิ่มขึ้น
ส่วนกรมศุลกากรก็จะจัดตั้งศูนย์ลอจิส ติกส์ เพื่อตรวจสอบและส่งเสริมการขนถ่ายสินค้าภายใต้ระบบ One Stop Service รองรับการขนถ่ายสินค้าผ่านสะพานแห่งนี้ด้วยเช่นกัน
การที่โครงข่ายคมนาคมในพื้นที่ ซึ่งคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม แต่ภาพของการค้าการลงทุนที่กลับขาดความชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของนักธุรกิจไทย ที่ดูเหมือนจะเป็นฝ่ายตั้งรับ มีโอกาสสร้างประโยชน์จากความคืบหน้าต่างๆ เหล่านี้ได้น้อยกว่านักธุรกิจจากจีนนั้น ว่าไปแล้วมาจากหลายสาเหตุ
"ผู้จัดการ" ได้มีโอกาสสนทนากับนักธุรกิจท้องถิ่นเชียงรายหลายคน ที่ร่วมกันผลักดันโครงการ "สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ" มาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้าเชียงราย ถนอมศักดิ์ เสรีวิชยสวัสดิ์ ประธานกรรมการบริษัทแม่สลองทัวร์ อดีตประธานหอการค้าเชียงราย บุญธรรม ทิพย์ประสงค์ รองประธานหอการค้าเชียงราย ฝ่ายการค้าชายแดน และอนันต์ เหล่าธรรมทัศน์ ประธาน คสศ.ล้วนแต่มีข้อสรุปที่ตรงกันว่า
นโยบายของรัฐบาลไทยในเรื่องสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ เป็นเพียงตัวหนังสือในหน้ากระดาษ ยังไม่มีการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง, ไม่มีแผนแม่บทที่ชัดเจน, การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบ่อยครั้ง ทำให้ นโยบายในเรื่องนี้ได้รับผลกระทบ ฯลฯ
หลายคนไล่เรียงให้เห็นถึงโครงการพัฒนาจากรัฐ เพื่อรองรับโครงการนี้ให้ฟังอย่างคล่องปากว่า เขตเศรษฐกิจชายแดนเชียงราย มีมติ ครม.เมื่อ 2-3 ปีก่อน วันนี้ก็ยังเป็นแค่มติ ครม. นิคมอุตสาหกรรมเชียงแสนเกิดแล้วก็ดับ, ท่าเรือเชียงแสน 2 ยังไม่รู้ว่าจะได้รับงบประมาณในปีไหน ทั้งที่ท่าเชียงแสน 1 รับสินค้าได้ 2 แสนเมตริกตัน ต่อปี แต่ขณะนี้มีสินค้าเข้ามาแล้วปีละ 1.8 แสนเมตริกตัน, นิคมอุตสาหกรรมเชียงของเนื้อที่ 1.6 หมื่นไร่ แถบ ต.ศรีดอนชัย ต.สถาน ห่างจากตัวเมืองเชียงของไปทางทิศใต้ 7 กม. ยังบอกไม่ได้ว่าจะทำได้หรือไม่ เมื่อไหร่
แผนพัฒนาเส้นทางคมนาคมรองรับ โครงข่ายถนนจากคุนหมิง ผ่านพม่า (R3b) และลาว (R3a) ไปถึงกรุงเทพฯ แหลมฉบัง ที่น่าจะใช้การขนส่งระบบรางที่มีต้นทุนต่ำที่สุดมารองรับ ทุกวันนี้ก็ยังเป็น "วุ้น" ทางรถไฟเด่นชัย-เชียงราย ที่ผลักดันกันข้ามทศวรรษ และแม้ว่า สนข. จะมีแผนพัฒนาต่อไปถึงแม่สาย เชียงแสน เชียงของ ก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะออกหัวหรือก้อย
ตอนนี้สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจเป็นรูปเป็นร่างเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน แต่กฎระเบียบต่างๆ ยังไม่มีรายละเอียดที่เห็นชัดๆ แค่สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ที่ จ.มุกดาหาร ก็ยังติดระเบียบหลายเรื่องที่ไม่เอื้อต่อการขนสินค้า หรือแม้แต่ถนน R3a ที่จะเสร็จปีนี้ก็ยังไม่มีการพูดถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่จะนำมาใช้ประกอบ เช่น สินค้าผ่านแดนจากไทยผ่านลาวเข้าจีน ปัจจุบันต้องเสียค่าผ่านแดนถึง 2% ทั้งที่ตามหลักการไม่น่าจะสูงขนาดนี้ เป็นต้น
ประเด็นรายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้ จำเป็นต้องมีเจ้าภาพในการตั้งโต๊ะสะสาง แต่ที่ผ่านมากลับปล่อยให้นักลงทุนไปตายเอาดาบหน้า
"แม้แต่แม่น้ำโขง ทุกวันนี้ยังกลายเป็นท่อส่งน้ำมันให้จีนไปแล้ว" ถนอมศักดิ์ย้ำให้เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่
กล่าวคือทุกคนมองว่าเอกชนไทยไม่มีธงนำ รัฐบาลปล่อยให้ลุยเดี่ยว
แน่นอนว่า หากยังเป็นอย่างนี้ต่อไปพื้นที่เชียงแสน เชียงราย ก็จะเป็นเพียง "ประตูเข้าบ้าน" ให้จีนเข้าถึงกรุงเทพฯ ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
ขณะที่พัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้าเชียงราย คนปัจจุบันที่กำลังมุ่งมั่นเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตั้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจว่า จังหวัดทำอะไรบ้างกับโครงการนี้ การขนส่งก็ยังเป็นระบบเดิม น้ำโขงถ้าน้ำไม่พอก็ต้องรอกำหนดเวลาไม่ได้ ผู้ประกอบการก็ยังเป็นรายย่อย ผู้นำเข้า-ส่งออกในแม่สาย เชียงแสน เชียงของ ที่จดทะเบียนไว้ก็ยังเป็นได้เพียงการค้าชายแดน
ทั้งที่หากทุ่มพัฒนาเรื่องลอจิสติกส์ หรือซัปพลายเชนขึ้นมาจริงๆ รวมผู้ประกอบการขนส่งในพื้นที่ในภาคเหนือหรือทั่วประเทศ เข้ามาด้วยกันเป็นคลัสเตอร์ ใช้หลักคิดแบบการบินของฝูงนก ผลัดเปลี่ยนผู้นำ ใช้ลมใต้ปีกหนุนส่งเพื่อนร่วมฝูง ก็จะทำให้ลอจิสติกส์ไทยมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น
เมื่อลอจิสติกส์เดินได้ การขนถ่ายสินค้าจากไทยเข้าสู่ตลาดสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจีนตอนใต้ ทั้งสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม รวมไปถึงการท่องเที่ยวก็จะตามมา โดยมีเชียงรายเป็น Hub อำนวยความสะดวกให้
"ตอนนี้ผมไม่รอแล้ว อีกไม่กี่ปีระบบคมนาคมเสร็จ ดังนั้นวันนี้เราไม่มีโอกาสเตรียมตัว ไม่มีโอกาสที่จะสัมมนากันอีก ต้องทำไป เรียนรู้ไป ต้องพร้อมก่อนที่สะพานข้ามโขงแห่งที่ 4 รับถนน R3a จะเสร็จในปี 2554" พัฒนาย้ำ
หอการค้าเชียงรายได้ตั้งรองประธานฝ่ายลอจิสติกส์ขึ้นมา และกำลังเดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ โดยเมื่อวันที่ 14 มีนาคม และ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา หอการค้าเชียงรายได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับสมาคมยูนนาน โมเดิร์น ลอจิสติกส์ของจีน ภายใต้หลักการที่ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ, ส่งเสริมความ สัมพันธ์ระหว่างกัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน แต่ไม่มีข้อบังคับผูกพันเป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันเท่านั้น
และในกลางปีนี้ก็จะเชิญคณะผู้ประกอบการขนส่งในท้องถิ่นเชียงราย-ภาคเหนือ เช่นลานนาขนส่ง ลำปางขนส่ง นิ่มซี่เส็ง ฯลฯ เดินทางไปดูการดำเนินงานสมาคมดังกล่าวในจีน
เขาบอกอีกว่า เร็วๆ นี้หอการค้าเชียงรายยังจะทำหนังสือถึงผู้ประกอบการขนส่งต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อจัดประชุมหารือแนวทางการพัฒนาลอจิสติกส์ รองรับธุรกรรมในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ นำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อใช้เป็นแนวทางการทำข้อตกลงด้านการขนส่งกับประเทศภาคีที่ยังไม่บรรลุต่อไป รวมทั้งผลักดันให้รัฐบาลไทยเร่งเตรียมตัวรองรับ
"ถ้าถนน สะพานเสร็จ มีสินค้าเข้า-ออกเชียงของ 3 พันตู้ต่อวัน ก็โกลาหลแล้ว ต้องเตรียมรับมือ แต่ละประเทศมีนโยบายอยู่ เราสามารถดูทิศทางที่จะเกิดขึ้นได้" พัฒนากล่าวย้ำ
เสียงสะท้อนจากนักธุรกิจท้องถิ่นที่ออกมา บ่งบอกข้อเท็จจริงหลายอย่างที่เกิดขึ้น กับโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ เนื่องจากนักธุรกิจเหล่านี้ล้วนตั้งความหวังกับโครงการนี้มานานแล้ว และในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งโครงการยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม มีนักธุรกิจท้องถิ่นหลายคนต้องเจ็บตัวจากการชิงกันเข้าไปลงทุนในพื้นที่ก่อน แต่ต้องขาดทุน เพราะโครงการเดินหน้าช้ากว่าที่พวกเขาตั้งใจไว้
บางคนมองว่าเป็นเพราะที่ผ่านมาพวกเขาเหล่านี้อาจใจร้อนเกินไป
ถนอมศักดิ์ให้ความเห็นว่า หากต้องการให้โครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจเดินหน้าอย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากภาครัฐจะต้องมีแผนแม่บทที่ชัดเจนออกมาแล้ว ยังต้องการการนำจากบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ระดับชาติ เข้ามาเป็นผู้ลงทุนเพื่อนำร่องให้เห็นก่อน
แต่ในมุมของเจ้าหน้าที่รัฐกลับมองว่า ลักษณะคนท้องถิ่นอาจไม่กล้าลงทุน ทำให้มองไม่เห็นโอกาส ทั้งที่อีกไม่นานพื้นที่นี้จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจแน่นอน ขณะที่นักธุรกิจต่างถิ่นกลับมองเห็น และเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้มากขึ้นทุกวัน
"ยอมรับว่า ไม่มีผู้เล่นท้องถิ่นเข้ามามีส่วนในธุรกรรมที่เกิดขึ้นในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจมากนัก ซึ่งรัฐเองก็พยายามกระตุ้นเต็มที่ ก่อนที่เชียงรายหรือภาคเหนือของไทยจะกลายเป็นเพียงทางผ่านเท่านั้น" วิภาดา ตรีสัตย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ซึ่งประเด็นนี้ดูเหมือนจะสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของยักษ์ใหญ่ทางด้านลอจิสติกส์ อย่าง DHL หรือ TNT ที่ตอกย้ำถึงศักยภาพการขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้รับในจีน และอีกหลายประเทศในอินโดจีน ผ่านสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ไทยอย่างต่อเนื่อง
อมรพันธุ์ นิมานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายคนใหม่ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งปลายปี 2549 บอกว่ามีแนวคิดที่จะจัดประชุมผู้ว่าฯ หรือผู้บริหารสูงสุดในพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจขึ้น โดยจะพยายามเริ่มจาก 3 ฝ่าย คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เจ้าแขวงบ่อแก้วของลาว และผู้ว่าเมืองท่าขี้เหล็กของพม่า
จากนั้นก็จะหาทางจัดเวทีพบปะอย่างไม่เป็นทางการกับผู้ว่าราชการ 7 จังหวัด 4 ประเทศ คือ เมืองเชียงรุ่งของจีน เมืองลา เชียงตุง ท่าขี้เหล็กของพม่า แขวงบ่อแก้ว หลวงน้ำทาของลาว และเชียงรายของไทย ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อทุกๆ พื้นที่ในบริเวณนี้ ทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษาวัฒนธรรม อันจะส่งผลดีต่อประชาชนทั้ง 4 ประเทศในอนาคต
"เวทีผู้ว่า 7 จังหวัด 4 ประเทศนี้ น่าจะจัดขึ้นหลังจากการประชุม 3 ประเทศประสบความสำเร็จก่อน ส่วนหนึ่งเชื่อว่าจะช่วยต่อยอดการพัฒนาจากโครงข่ายคมนาคม ที่จะแล้วเสร็จในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย"
โครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ เป็นเพียงกรอบหนึ่งของความร่วมมือของ 6 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่ปัจจุบันแม้จะมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมปรากฏออกมาให้เห็นแล้ว แต่ก็ยังมีคำถามหลากหลายคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ...?
และนี่ก็คือประเด็นที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลและภาคธุรกิจเอกชนไทยที่เกี่ยวข้องว่าจะทำให้ "สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ" เป็นประตูเข้าสู่ตลาดจีน หรือประตูออกสู่ทะเลให้กับจีนตอนใต้กันแน่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|