ปิ่น ซื้อธนานันต์ได้ถูกแสนถูก

โดย บุญธรรม พิกุลศรี
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนานันต์เกิดจากการควบกิจการกันระหว่างบริษัทการเงินที่มีปัญหาในโครงการ 4 เมษาถึง 6 บริษัทหรือที่เรียกกันว่ากลุ่มสากลเคหะ ซึ่งมี สุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต เป็นเจ้าของและผู้บริหารเดิมอันประกอบด้วยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สากลเคหะ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คอมเมอร์เชี่ยบทรัสต์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเงินทุน บริษัทเงินทุนสกุลไทย บริษัทเงินทุนไปแนนซ์เชี่ยลทรัสต์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์สากลสยาม เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2530

สุรินทร์ซื้อกิจการเหล่านี้มาจากกลุ่มธุรกิจอื่นๆ โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีกลุ่มธุรกิจของเขาก็ใหญ่โตขึ้นมาอย่างชนิดที่ทุกคนต้องจับตามอง

การรวมเอาบริษัทถึง 6 แห่งและแต่ละแห่งต่างก็มีศักยภาพในการทำธุรกิจแตกต่างกันออกไปมารวมเป็นศักยภาพของบริษัทเดียว ฉะนั้นนอกจากจะทำให้บริษัทที่เกิดขึ้นใหม่จากควบกิจการมีสินทรัพย์ถึง 9,000 กว่าล้านบาทในทันทีแล้ว บริษัทยังมีใบอนุญตและธุรกิจสาขาจากบริษัทไทยเงินทุนเดิมซึ่งเป็นเจ้าถิ่นครอบคลุมธุรกิจนี้ทางเมืองเหนือถึง 9 สาขา และเมื่อรวมกับที่ทำการของบริษัทอื่นๆที่ให้กลายสภาพเป็นสาขาหลังจากรวมกันแล้วอีก 5 แห่งเป็นทั้งหมด 14 สาขารวมสำนักงานใหญ่เข้าไปด้วย

เรียกว่ามีจุดขายกว้างขวางมากที่สุด

นอกจากนี้ยังได้ทรัพย์สินไม่ว่าจะอยู่ในรูปของกิจการในเครือ และของลูกหนี้จำนองมาจากบริษัทเครดิตฟองซิเอร์สากลสยาม กับบริษัทเงินทุนไฟแนนซ์เชี่ยลทรัสต์อีกจำนวนมาก เพราะเหตุว่าทั้งสองบริษัทนี้เดิมคือ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์และบริษัทเงินทุน ช.อมรพันธ์ ของ ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ เจ้าของสวนสยาม นักพัฒนาที่ดินที่ขึ้นชื่อที่สุดในยุคนั้น ซึ่งแน่นอนเขาย่อมมีที่ดินสะสมไว้ในบริษัทต่างๆมากมาย

ว่ากันว่าเฉพาะสองบริษัทนี้มีที่ดินติดมาด้วยกว่า 1,000 ไร่เป็น 2,000 ไร่ ที่ติดอยู่กับธนานันต์ในปัจจุบัน

ในขณะที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คอมเมอร์เชี่ยลทรัสต์ กลับมีศักยภาพทางด้านธุรกิจเช่าซื้อรถยนต ์และบริษัทเงินทุนสกุบไทยก็เป็นบริษัทแรกที่ยึดพื้นที่โคราชประตูสู่อิสานก่อนคนอื่นๆ ในฐานะเจ้าถิ่นที่ตั้งมาก่อนโดยยังไม่มีสถาบันการเงินไหนจะเข้าไปเปิดแข่ง เช่นเดียวกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเงินทุนที่ยึดพื้นที่ทางภาคเหนือมาก่อนใครอื่น เพราะเจ้าของเดิมจริงๆนั้น คือ "นิมมานเหมินทร์" ตระกูลคหบดีเก่าแก่ของเชียงใหม่

นอกจากความใหญ่ในด้านเครือข่ายสาขาซึ่งยังไม่มีบริษัทการเงินใดมีมากขนาดนี้มาก่อน "ธนานันต์" ที่มาจากการควบ 6 บริษัทเข้าด้วยกันนั้นยังได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ที่ติดมาจากแต่ละบริษัทครบถ้วนทั้ง 8 ประเภท (ครอบทุกประเภทเท่าที่กฎหมายกำหนดให้เป็นธุรกิจควบคุมและจะต้องได้รับใบอนุญาตจึงจะประกอบกิจการได้) อันได้แก่ ทางด้านธุรกิจเงินทุนก็มี เงินทุนเพื่อการพาณิชย์ เงินทุนเพื่อการพัฒนา เงินทุนเพื่อการจำหน่ายและบริโภค เงินทุนเพื่อการเคหะและทางด้านธุรกิจหลักทรัพย์ก็มีนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ค้าหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการลงทุน และจัดจำหน่ายหลักทรัพย์

เดิมใบอนุญาตเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่กับบริษัทต่างๆ บริษัทละ 3-4 ประเภทเท่านั้น

ใบอนุญาตเหล่านี้ทางรัฐบาลมีนโยบายไม่ออกให้ใครเพิ่มเติมอีกมาตั้งแต่ปี 2522 จนถึงปัจจุบัน 12 ปี ทำให้สนนราคาค่าใบอนุญาตในตลาดสูงขึ้นเรื่อยๆ

ว่ากันว่าขณะนี้เฉพาะใบอนุญาตธุรกิจเงินทุนประเมินกันในตลาดประมาณ 50 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ (ครบ 4 ประเภท) ก็ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านขึ้นไป

ยิ่งกว่านั้นธนานันต์ยังเป็นบริษัทสมาชิกหรือโบรกเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย ซึ่งจากการเปิดประมูลเก้าอี้โบรกเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย ซึ่งจากการเปิดประมูลเก้าอี้โบรกเกอร์ในตลาดล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านราคาสูงสุดที่ได้ไปนั้นสูงถึง 309 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการควบกิจการฐานะของบริษัทขาดทุนจำนวนมาก และมีหนี้ที่มีปัญหา คุณภาพต่ำ หลักประกันไม่เพียงพอ และขาดการเดินดอกเบี้ยรวมกันกว่า 2,900 ล้านบาท แม้ทางการจะเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูกิจการ พร้อมทั้งให้เงินช่วยเหลือในรูปเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแล้วตั้งแต่ปลายปี 2527 เป็นต้นมาก็ตามแต่ปรากฎว่าผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงขาดทุนอย่างต่อเนื่องมีจำนวนรวมกันถึง 411 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 3 ปี ระหว่างปี 2527-2529

ฉะนั้นก่อนทางการจะให้ควบกิจการกันในปี 2530 จึงได้สั่งลดทุน (รวมทั้ง 6 บริษัท) จากเดิม 380 ล้านบาทลงเหลือเพียง 87 ล้านบาท แล้วจึงได้เพิ่มทุนเข้าไปอีก 443 ล้านบาทเป็นทุนจดทะเบียนใหม่ 530 ล้านบาท

โดยทุนที่เพิ่มใหม่นี้ซื้อโดยธนาคารกรุงไทย 420 ล้านบาท และซื้อโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินอีก 21 ล้านบาท

ฐานะนานันต์ ณ วันที่รวมกันแล้วเรียบร้อยมีสินทรัพย์รวมกันทั้งสิ้น 9,056 ล้านบาท มีหนี้สินจำนวน 8,806 ล้านบาท ผลการดำเนินงานขาดทุนสะสม 257 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามทรัพย์สินที่เติบโตขึ้นนั้นส่วนใหญ่มากจากการช่วยเหลือของทางการซึ่งนอกจากเงินเพิ่มทุนที่กล่าวแล้ว ยังมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือที่เรียกว่า SOFT LOAN จำนวน 1,380 ล้านบาท ซึ่งจำทะให้บริษัทมีรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยส่วนนี้ประมาณปีละ 150 กว่าล้านบาท (จากข้อมูลของแบงก์ชาติระบุว่าส่วนต่างดอกเบี้ยตกประมาณ 11.50%)

นอกจากนี้ธนาคารกรุงไทยยังให้วงเงินกู้เบิกเกินบัญชีจำนวน 984 ล้านบาทในอัตราดอกเบี้ยลอยตัวตามภาวะตลาด พร้อมกันนี้กรุงไทยยังมีวงเงินเพื่ออาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทอีก 803 ล้านบาท

จากการให้เงินเข้ามาช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่บริษัทางการได้ให้เจ้าของเดิม คือ สุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต นำหลักทรัพย์ส่วนตัวมาค้ำประกันเพิ่มเติมเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 1,742 ล้านบาท

และทรัพย์สินค้ำประกันที่สำคัญที่สุดคือที่ดินจำนวน 60 แปลงเนื้อที่รวมกันประมาณ 2,000 กว่าไร่ ทั้งในเขตกรุงเทพและต่างจังหวัด ซึ่งทางการประเมินมูลค่าให้ ณ วันเข้าโครงการเพียง 640 ล้านบาทเท่านั้น

จึงมีการพูดกันว่าถ้าหากมีการประเมินหรือขายออกไปในตลาดวันนี้อาจได้เงินเข้ามาถึง 4,000-5,000 บาท เช่นที่ดินย่านรามอินทรา มีนบุรี สวนสยาม งามวงศ์วาน รังสิต ซึ่งเป็นของไชย์วัฒน์ เหลืองอมรเลิศ เดิม รวมกันประมาณ 1,000 กว่าไร่ ที่ดินบนถนนบางนา-ตราด ตรงสามแยกบายพาสท์ก่อนเข้าชลบุรีจำนวน 600 ไร่ ที่ เติมศักดิ์ ตุลย์วัฒนจิต พ่อของสุรินทร์ซื้อไว้นานแล้ว ที่ดินที่ระยองติดชายทะเล 60 ไร่ ที่ดินที่ชะอำติดชายทะเล 120 ไร่ และแปลงเล็กแปลงน้อยอยู่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศอีกจำนวนหนึ่ง

นอกจากเจ้าของเดิมจะโอนหุ้นที่มีอยู่เดิมแบบเด็ดขาดจำนวน 25% และแบบยืมเพื่อใช้สิทธิออกเสียงจำนวน 50% ให้แก่ทางการและต้องหาหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยการจำนองนับเป็นพันๆ ไร่ กว่าจะคุ้มหนี้ แล้วทางการยังกำหนดให้เจ้าของเดิมทำหนังสือตกลงสลุสิทธิไล่เบี้ยของผู้ค้ำประกันไว้อีกด้วย

หมายความว่าเจ้าของเดิมที่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิในที่ดินที่ค้ำประกันหนี้ของธนานันต์ที่มีต่อธนาคารกรุงไทยนั้น เมื่อะนาคารบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินที่ค้ำประกันแล้ว ห้ามเจ้าหนี้ไปใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากบริษัทคือะนานันต์ในฐานะผู้ค้ำประกันต่อไป

โดยให้แสดงเจตนาสละสิทธินั่นเสียในสัญญานำทรัสต์เข้าสู่โครงการ

ตามหลักกฎหมายผู้ค้ำประกันเมื่อชำระหนี้แทนลูกหนี้แล้วมีสิทธิที่จะไปไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ตัวจริงอีกทอดหนึ่ง!!

ในปีรุ่งขึ้นคือ 2531 ก่อนที่จะถึงกำหนดสัญญา 5 ปี ที่จะคืนทรัสต์ให้แก่ผู้บริหารเดิมในปี 2532 ทางการได้มีนโยบายที่จะคืนกินการให้แก่ผู้บริหารเดิมที่มีความสามารถทางการเงิน พอที่จะรับซื้อคืนกิจการให้แก่ผู้บริหารเดิม ที่มีความสามารถทางการเงินพอที่จะรับซื้อคืน แต่ถ้าหากกลุ่มใดไม่มีกำลังจะรับคืนได้ทางการก็จะให้ผู้สนใจทั่วไปเข้ามาร่วมทุนหรือซื้อไปทั้งหมด

กรณีของธนันต์มีผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศสนใจที่จะเข้ามาซื้อจำนวนมากพอสมควร ไม่รวมผู้บริหารเดิมอย่าง สุรินทร์ ติลย์วัฒนจิต ที่ต้อสู้กับทางการมาโดยตลอดที่จะขอทรัสต์ของเขาคืนจากทางการ

อย่างเช่นกลุ่มฮ่งเลียงกรุ๊ป นักลงทุนจากสิงคโปร์ ได้มีการติดต่อเจรจากันถึงระดับเข้าตรวจสอบฐานะของบริษัท โดยผ่านทาง พงศ์ เศวตศิลา กัลป์ นิพัทธ พุกกะณะสุต ซึ่งนั่งเป็นกรมการผู้จัดการและประธานคณะกรรมการอยู่ในขณะนั้น

แต่ปรากฎว่าฮ่งเลียงต้องถอยกลับออกไป เพราะกระทรวงการคลังซึ่งประมวล สภาวสุ เป็นรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้นไม่ต้องการขายหลักทรัพย์ให้แก่ชาวต่างชาติ

แต่แหล่งข่าวจากแบงก์ชาติบอกว่าเพราะฮ่งเลียงเงินไม่ถึงจึงตกลงกันไม่ได้ในเงื่อนไขการเพิ่มทุนที่ทางการกำหนดให้ต้องเพิ่มทุน1,500 ล้านบาท และการผ่อนคลายความช่วยเหลือทางด้าน SOFT LOAN การตัดสำรองหนี้ และการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาเพราะเขาพบว่าหนี้เสียของธนานันต์มีมาก

แต่จนปัจจุบันคนที่ทราบเรื่องนี้ดีบอก "ผู้จัดการ" ว่าถ้าเทียบกับเงื่อนไขที่ทางการให้กับ ปิ่น จักกะพาก ในนามเอกธนกิจนั้นต่างกันลิบลับ

ระหว่างนั้นก็มีกลุ่มศรีวิกรณ์สนใจเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ คนที่ใกล้ชิดกับกลึ่มศรีวิกรณ์ยอกว่าธนานันต์มีความเสียหายมากจึงไม่ต้องการเสี่ยงและกลุ่มนี้ก็มีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีธนาอยู่แห่งหนึ่งแล้ว

จึงเข้าทำนองได้ก็เอา ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร

ในขณะที่คนเฝ้าสังเกตุการณ์ ในเรื่องนี้บอกว่าเพราะประมวล สภาวสุ ไม่อาจช่วยให้ เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรณ์ ได้ ธนานันต์ไปในราคาต่ำๆ ตามที่เฉลิมพันธ์เสนอ ก็เลยเลิกสนใจไปเฉยๆ

มิตซูบิชิ ทรัสต์ แอนด์แบงกิ้งจากญี่หุ่นก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาเจรจากับผู้บริหารธนานันต์อยู่นาน แต่สุดท้ายก็ลงเอยกันไม่ได้เพราะทางการ คือ แบงก์ชาติต้องการให้ผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนถือหุ้นถึง 51% ในขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นต้องการเข้ามาลงทุนเพียง 30% แล้วให้ผู้บริหารชุดปัจจุบันดำเนินการ ต่อไปให้มีผลกำไรกลับคืนเท่านั้น

งานนี้ก็ติดต่อผ่าน นิพัทธ พุกกะณะสุต กับ พงศ์ เศวตศิลา เช่นเดียวกัน กล่าวกันว่าการกลับไปกลับมาของแบงก์ชาติทำให้นิพัทธหัวเสียเอามากๆ ถึงกลับต้องยื่นใบลาออกตามด้วย แต่ถูกยับยั้งไว้ทัน

แล้วก็มาถึงรายของ ปิ่น จักกะพาก ดาวจรัสแสงแห่งวงการไฟแนนซ์ไทยในยุคปัจจุบันซึ่งมีฝีมือในการทำโครงการทางการเงินและการเจรจาระดับแถวหน้าที่ยากจะหาตัวจับยาก รุกเข้าเปิดฉากเจรจาบ้าง!

อันที่จริงปิ่นก็เป็นคนหนึ่งที่ใสใจจะเข้าซื้อธนานันต์มานานแล้วเพราะตัวเขาเองเคยมีประสบการณ์ในการเข้าซื้อทรัสต์ในโครงการ 4 เมษา ก่อนแล้ว ครั้งหนึ่งจากาการซื้อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จักรวาลทรัสต์ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นิธิภัทรในปัจจุบัน

ปิ่นเป็นคนมีฝีมือเป็นที่เลื่องลือในการซื้อกิจการตั้งแต่เขาเข้าบริหารบริษัทเงินทุนยิบอินซอยของครอบครัว ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่ค่อยแอคทีพมาแปลงโฉม เป็นบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ ทำธุรกิจทางด้าน อินเวสเมนท์แบงกิ้งอย่างจริงจังจนประสบความสำเร็จ นับตั้งแต่การเข้าไปซื้อบริษัทหลักทรัพย์โกลด์ฮิลล์ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรงแล้วนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ตัวเขาเองและคนอื่นที่เข้าร่วมลงทุนด้วยร่ำรวยไปตามๆ กัน

บังเอิญว่าในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัททั้งสองในช่วงกระจายหุ้นก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้นมีชื่อคนในกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ หรือคนในครอบครัวของบุคคลเหล่านี้อยู่ หลายคน !!

การเจรจาระหว่างปิ่นกับคนทางการหรือว่ากันให้ตรงๆ ก็คือ คนแบงก์ชาติจึงเป็นไปด้วยความราบรื่น

ปิ่นไม่ใช่ว่าจะได้รับความเชื่อถือด้านฝีมือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เขายังเป็นคนที่มีบารมีในระดับที่เรียกว่าสูงเอาการทีเดียว

ประพาส จักกะพาก พ่อของเขาเป็นอดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานธรรมการบริหารธนาคารสหธนาคาร ตามคำขอของกระทรวงการคลังที่จะให้เป็นคนกลางในการประนีประนอมศึกชิงแบงก์ระหว่าง กลุ่มชลวิจารณ์กับกลุ่ม เพ็ญชาติ-อัศวินวิจิตร

พูดถึงบารมีของประพาศ ยังโยงไปถึงทหารที่โตขึ้นมาคุมกองทัพเกืองทุกรุ่นตั้งแต่เขายังเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการดูแลผลประโยชน์ด้านโรงเหล้าแม่โขง

หรือในกรณีกระทรวงการคลังประพาศก็มีความเกี่ยวพันฉันญาติกับ ภุชงค์ เพ่งศรี อดีตข้าราชการกระทรวงการคลังที่มากด้วยบารมี

เอกมล คีรีวัฒน์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเพื่อยุติโครงการ 4 เมษายน 2527 มีหนังสือลงวันที่ 18 สิงหาคม 2534 ถึงประธานกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนานันต์แจ้งให้ทราบ และขอความร่วมมือในการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ และผู้สอบบัญชีของผู้เสนอร่วมลงทุนกลุ่มบริษัทเอกธนกิตเข้าไปตรวจสอบฐานะของบริษัทตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2534 เป็นต้นไปรวมเวลา 6 สัปดาห์

ตามบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ระหว่างคณะกรรมการเพื่อยุติโครงการ 4 เมษาที่เพิ่งลงนามกันเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2534 นั้นระบุว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบ 2 เดือน ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม - 30 เมษายน 2534 โดยใช้กำลังคน 150 คน แบ่งออกเป็น 8 ทีม ประกอบด้วย กฎหมาย สินเชื่อและประเมินหลักทรัพย์ บัญชี สินเชื่อเช่าซื้อ หลักทรัพย์ เงินฝาก บุคคล และการปฏิบัติการ โดยตรวจเอกสารทุกชิ้นที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้เพื่อยืนยันฐานะและความเสียหายของข้อมูลที่ได้รับจากทางการก่อนหน้านั้นแล้วว่า ณ 30 กันยายน 2533 (ยังไม่สิ้นรอบบัญชี) ธนานันต์มีสินทรัพย์สุทธิ 8,402 ล้านบาท ทุนจดทะเบียน 530 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 464 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 69 ล้านบาท

ส่วนทางด้านความเสียหายจากยอดหนี้คงค้างทั้งสิ้น 8,679 ล้านบาท เป็นหนี้ของกลุ่มผู้บริหารเดิม 2,417 ล้านบาท ซึ่งเป็นลูกหนี้ในระดับจัดชั้นเต็มจำนวน 2,417 ล้านบาท ลูกหนี้ทั่วไปจำนวน 3,364 ล้านบาท อยู่ในระดับจัดชั้น 720 ล้านบาท ลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์จำนวน 507 ล้านบาท เป็นหนี้อยู่ในระดับจัดชั้น 241 ล้านบาท เงินลงทุนในหลักทรัพย์จำนวน 2,001 ล้านบาท อยู่ในระดับจัดชั้น 36 ล้านบาท สินทรัพย์ 79 ล้านบาท อยู่ในระดับจัดชั้น 30 ล้านบาท และสินทรัพย์อื่น 328 ล้านบาท อยู่ในระดับจัดชั้น 85 ล้านบาท

รวมเป็นลูกหนี้จัดชั้นทั้งสิ้น 3,532 ล้านบาท และเป็นหนี้ที่ทางแบงก์ชาติระบุว่าจะต้องสำรองหนี้สูญ (หนี้ที่อยู่ในระดับสูญและสงสัยรวมกัน) จำนวน 696 ล้านบาท

หนี้ของผู้บริหารเดิม 2,417 ล้านบาท แบงก์ชาติยืนยันว่าไม่ต้องสำรอง เพราะว่าหลักประกันคุ้มหนี้

ตามบันทึกความเข้าใจระบุอีกว่าหากในกรณีผลการตรวจสอบมีความเสียหายต่างกัน ทางการจะพิจารณาให้การตอบแทนกับเอกธนกิจอีกต่างหาก

แต่จากการตรวนสอบของเอกธนกิจซึ่งนับตัวเลขข้อมูล ณ สิ้นเดือน ธันวาคม 2533 มีความเสียหายที่จะต้องกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญถึง 2,233 ล้านบาท สูงกว่าข้อมูลทางการ 1,400 ล้านบาท แยกเป็นดังนี้ เงินสดและเงินฝากธนาคาร 47 ล้านบาท ลูหนี้ผู้บริหารเดิม 884 ล้านบาท ลูกหนี้ทั่วไป 926 ล้านบาท ลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ 210 ล้านบาท เงินลงทุนในหลักทรัพย์ 17 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่นๆ 116 ล้านบาท ภาระลูกค้าจากการรับรอง 40 ล้านบาท

โดยส่วนที่แตกต่างกันมากก็คือลูกหนี้กลุ่มผู้บริหารเดิมซึ่งข้อมูลของทางการยืนยันว่ามีหลักทรัพย์ค้ำประกันคุ้มวงเงินเป็นหนี้ที่จะต้องตัดสูญเพียง 6.6 ล้านบาทเท่านั้นเอง ในขณะที่การตรวจสอบของเอกธนกิจระบุว่าจะต้องสำรองหนี้สูญถึง 884 ล้านบาท และทรัพย์สินรอการขายซึ่งแบงก์ชาติบอกว่าจะต้องสำรองเพียง 80 ล้านบาท แต่ทางเอกธนกิจระบุว่าจะต้องสำรองถึง 116 ล้านบาท

แหล่งข่าวที่ทำเรื่องนี้คนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าข้อมูลที่แตกต่างกันในส่วนนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการประเมินราคาหลักทรัพย์ค้ำประกันแตกต่างกัน

ส่วนหนี้สินอย่างอื่นก็มีลูกหนี้ทั่วไปซึ่งแบงก์ชาติเห็นว่าจะต้องสั่งสำรองเพียง 373 ล้านบาท และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ 31 ล้านบาท แต่ทางเอกธนกิจเห็นว่าควรจะสำรอง 926 และ 17 ล้านบาทตามลำดับ

การเข้าไปตรวจสอบในชั้นแรกของเอกธนกิจเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2534 แต่เนื่องจากข้อมูลไม่ตรงกัน เพื่อเป็นการยืนยันผลการตรวจสอบให้แน่ชัด ทางเอกธนกิจจึงขอเข้าตรวจสอบให้ละเอียดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ซึ่งผลการตรวจสอบครั้งหลังไม่แตกต่างไปจากเดิมเท่าใดนัก ทางเอกธนกิจจึงขอเงื่อนไขเพิ่มเติมจากทางกรซึ่งกำลังจะถูกแปรสภาพเข้าไปเป็นสัญญาเร็วๆนี้ว่า

หนึ่ง เมื่อกลุ่มผู้ลงทุนใหม่เย้าบริหารแล้วในกรณีที่มีกำไรจากผลการดำเนินงานทางการจำต้องอนุญาตให้ธนานันต์จ่ายเงินปันผลได้ โดยเอกธนกิจในฐานะผู้ถือหุ้นจะให้เงินกู้จำนวนเท่ากับเงินปันผลให้แก่ธนานันต์ทุกครั้ง โดยจะไม่เรียกชำระคืนจนกว่าธนานันต์จะชำระ SOFT LOAN แก่ทางการหมดเรียบร้อยแล้ว

สอง หนี้สินและภาระผูกพันใดๆ ซึ่งปรากฏและไม่ปรากฎในบัญชีของธนานันต์ที่เกิดขึ้นก่อนเอกธนกิจจะเข้าบริหารงาน หากหนี้สินและภาระผูกพันเหล่านั้นเกิดความเสียหายเพิ่มเติมจากการที่ได้ตรวจสอบไป ขอให้ทางการอนุญาตผ่อนผันให้ธนานันต์ตั้งสำรองหนี้ได้ภายในระยะเวลา 10 ปี

ส่วนความเสียหายที่จะต้องสำรองที่ไม่ตรงกันนั้นขอเสนอให้แบ่งออกเป็น 3 รายการกล่าวคือ หนึ่ง รายการความเสียหายที่มีความเห็นตรงกันจำนวน 478 ล้านบาทไม่ต้องผ่อนผันการตัดสำรอง สองความเสียหายยืนยันได้ในระยะเวลาอันสิ้นจำนวน 328 ล้านบาท ขอตั้งสำรองคิดเป็น 50% หรือ 164 ล้านบาท สาม ความเสียหายเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นของลูกหนี้ผู้บริหารเดิมซึ่งไม่มีบุริมสิทธิในหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนวน 663 ล้านบาท ขอให้ผ่อนผันการตั้งสำรองคิดเป็น 40% หรือ 253 ล้านบาท โดยทยอยตั้งสำรองภายในระยะเวลา 7 ปี

หรือไม่เช่นนั้นก็ขอให้ทางการให้ความช่วยเหลืออย่างใดอย่างหนึ่ง!!

คนในแบงก์ชาติคนหนึ่งบอกว่า ข้อเสนอที่ทางเอกธนกิจขอมานั้นเป็นเรื่องการผ่อนผันเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งทางแบงก์ชาติสามารถจะให้ได้ แต่คงจะต้องมีการหาตัวเลขความเสียหายที่ทั้งสองฝ่ายเห็นใกล้เคียงกันมากยิ่งขึ้นกว่านี้

"ถ้าตัวเลขความเสียหายตกลงตรงกันหรือใกล้เคียงกันได้ก็เซ็นสัญญากันได้ ซึ่งตามนโยบายแล้วจะต้องเซ็นกันให้เร็วที่สุดประมาณปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นเดือนมิถุนายนเป็นอย่างช้า" แหล่งข่าวคนเดียวกันกล่าว

เขากล่าว่าการขอตัดสำรองต่ำลงถึง 50% ในระยะเวลายาวนานถึง 7 หรือ 10 ปีก็ดี การขอจ่ายเงินปันผลนั้นคือกำไรที่ซ่อนอยู่ข้างในของกลุ่มเอกธนกิจ

เพราะว่าการจ่ายปันผลก่อนตัดหนี้สูญหมดนั้น เป็นการเปิดช่องให้ผู้ถือหุ้นได้ทุนคืนก่อนที่ฐานะบริษัทจะดีขึ้น ส่วนที่บอกว่าจะนำเงินจำนวนเท่ากับเงินปันผลเขามาฝากนั้นก็เป็นการอำพรางการแสวงหากำไรเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีกของผู้ถือหุ้น

เพราะว่าเงินฝากนั้นจะได้ดอกเบี้ยกลับไป ในขณะที่ฐานะบริษัทยังต้องใช้เงิน SOFT LOAN จากทางการอยู่

แหล่งข่าวที่เป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงินให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" วาตัวเลขความเสียหายมากน้อยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเหตุว่าถ้าความเสียหายสูญก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ต้นทุนในการซื้อกิจการนั้นก็ย่อมถูกลง ในทางกลับกันความเสียหายมีน้อยก็ย่อมจะต้องซื้อแพงขึ้น

"การประเมินราคาหลักทรัพย์ค้ำประกันต่ำไปก็เท่ากับว่ามีกำไรเพิ่มขึ้นจากที่มันซ่อนอยู่ข้างในนั้นด้วย" แหล่งข่าวคนเดียวกันกล่าว

ถ้าปัญหาเรื่องความเสียหายตกลงกันได้เอกธนกิจก็จเข้าซื้อธนานันต์จากทางการในหลักการเบื้องต้น 3 ข้อคือ หนึ่ง - การเพิ่มทุนทางเอกธนกิจตกลงที่จะเพิ่มทุนในปีแรกเป็นจำนวนเงิน 300 ล้านบาท จาก 530 ล้านบาท เป็น 830 ล้านบาท ก่อนเข้าไปฟื้นฟูธนานันต์ และถ้าหากการดำเนินกิจการยังไม่มีผลกำไรก็ให้เพิ่มทุนขึ้นอีก 200 ล้านบาทในปีถัดไป

สอง- การแปลงสภาพหนี้ กล่าวคือทางการจะแปลงเงินกู้ยืมจากะนาคารกรุงไทยในส่วนที่ไม่มีหลักประกันจำนวนเงิน 1,000 ล้านบาท โดยจะแปลงวงเงินกู้ CALL LOAN ก่อนจากยอดคงค้าง 640 ล้านบาทจากอัตราดอกเบี้ยเดิม9-10% เป็นอัตราดอกเบี้ย MOR-0.50% ต่อไป ส่วนเงินที่เหลือจากวงเงินกู้ยืมเบิกเกินบัญชีที่มียอดคงค้าง 886 ล้านบาทจากเดิมอัตราดอกเบี้ย 8% เป็นอัตราดอกเบี้ย MOR -1% ต่อปี

สาม -เงื่อนไขและราคาขายหุ้นของทางการ ทางการจะขายหุ้นให้แก่เอกธนกิจในราคาพาร์คือ หุ้นละ 25 บาท เป็นจำนวนเงิน 1,530 ล้านบาท โดยให้เอกธนกิจชำระค่าหุ้นเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นระยะเวลา 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 8% ต่อปี นับแต่วันเซ็นสัญญาและถ้าเอกธนกิจต้องการชำระเงินให้แก่ทางการคืนก่อนกำหนดระยะเวลา ทางการก็จะคิดส่วนลดให้ 8%

ส่วนในขั้นตอนการเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนานันต์ของบริษัทเงินทุนเอกธนกิจนั้นจะได้ดำเนินการ 7 ขั้นตอน ดังนี้ คือ หนึ่ง-ให้เอกธนกิจซื้อหุ้นธนานันต์ที่ทางการถือจำนวนล้านกว่าหุ้นในราคาพาร์ 25 บาท โดยผ่อนผันให้เอกธนกิจชำระค่าหุ้นให้แก่ทางการภายใน 5 ปี พร้อมด้วยดอกเบี้ย 8% ต่อปี คำนวณทบต้นทุกปีนับแต่วันซื้อหุ้นจนถึงวันชำระ

สอง- ให้เอกธนกิจซื้อหุ้นเพิ่มทุนเต็มจำนวนตามสิทธิที่เอกธนกิจมีอยู่เมื่อธนานันต์ได้รับสั่งจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้เพิ่มทุนจดทะเบียนชำระเต็มมูล ค่าจำนวน 1,300 ล้านบาท และซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่ผู้ถือหุ้นอื่นๆ ไม่ใช้สิทธิภายในระยะเวลากำหนด

สาม- ดำเนินการให้ธนานันต์นำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนส่วนที่ทางการใช้สิทธิซื้อหุ้น จำนวน 1,000 ล้านบาท ไปชำระหนี้ธนาคารกรุงไทยตามวงเงินกู้ยืมเมื่อทวงถาม และตามวงเงินเบิกเกินบัญชีตามสิทธิจำนวน 1,000 ล้านบาท โดยทันที

สี่- ให้เอกธนกิจซื้อหุ้นที่ทางการถืออยู่ทั้งหมด รวมทั้งหุ้นที่ทางการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีกจำนวน 1,000 ล้านบาท ในราคา 25 บาทภายใน 1 วันนับแต่วันที่ธนานันต์เพิ่มทุนตามคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วเสร็จ

โดยเอกธนกิจจะต้องชำระค่าหุ้นให้แก่ทางการภายใน 5 ปี พร้อมด้วยดอกเบี้ย 8% ต่อปี คำนวณทบต้นทุกปีนับแต่วันทำสัญญาร่วมลงทุนจนถึงวันชำระค่าหุ้น เว้นแต่หุ้นที่ทางการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 1,000 ล้านบาท ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทางการจ่ายเงินค่าหุ้นเพิ่มทุน ทั้งนี้และวิธีการและเงื่อนไขการจ่ายชำระเงินให้เป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการเพื่อยุติโครงการ 4 เมษายนกำหนด

ห้า - ทางการจะขายหุ้นของ ธนานันต์ให้แก่เอกธนกิจตามข้อหนึ่ง

หก- ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องมีคำสั่งให้ธนานันต์เพิ่มทุนจดทะเบียนชำระเต็มมูลค่าจำนวน 1,300 ล้านบาท เมื่อเอกธนกิจได้ซื้อหุ้นตามข้อ 1 แล้ว

เจ็ด- ทางการจะต้องซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากสิทธิที่ทางการมีอยู่ 40 ล้านหุ้นๆ ละ 25 บาทรวมเป็นเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ธนานันต์นำเงินจำนวนนี้ไปชำระหนี้ธนาคารกรุงไทย

ด้านความช่วยเหลือของทางการจะมีเงินกู้ SOFT LOAN จำนวน 1,380 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยมีพันธบัตรรัฐบาลเต็มจำนวน เอกธนกิจตกลงที่จะคืนให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งหมด ณ สิ้นปีที่ 5 นับจากวันที่ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนและทางการได้ต่ออายุของวงเงิน SOFT LOAN ไปจนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนพันธบัตรรัฐบาลที่เป็นค้ำประกันเงินกู้ยิมที่กล่าวแล้ว

เกี่ยวกับวงเงินกู้ยืมจากธนาคารแห่งประเทศไทยทางการได้ตกลงให้วงเงินต่างๆ ดังนี้

หนึ่ง- ให้วงเงินเบิกเกินบัญชีที่ธนานันต์ได้รับจากธนาคารกรุงไทยจำนวน 625 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MOR -1% ต่อปีเป็นระยะเวลาไปอีก 3 ปี นับแต่วันที่เอกธนกิจเข้าบริหาร

สอง- ให้คงวงเงินอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 803 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียม 0.5% เป็นระยะเวลาไปอีก 3 ปี นับแต่วันที่เอกธนกิจเข้าบริหาร

และสุดท้าย ทางการยืนยันที่จะให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ช่วยการสภาพคล่องระยะเวลาหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่องกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนานันต์

นักการเงินคนหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงการต่อรองในข้อตกลงดังกล่าวว่างานนี้เท่ากับ ปิ่น จักกะพาก หรือกลุ่มเอกธนกิจใช้เงินของตัวเองเพียง 300 ล้านเท่านั้นในการซื้อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนานันต์ !!

เขากล่าวว่าเพราะเอกธนกิจจะต้องเพิ่มทุนให้ธนานันต์ในทันที 300 ล้านบาทก่อนที่จะเข้าไปบริหารกิจการ การลงทุนอีกส่วนหนึ่งได้มาโดยการรับซื้อหุ้น และสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่เป็นของทางการตามที่มีอยู่ทั้งหมดก็จริง แต่ก็ไม่ได้จ่ายเงินในทันทีแต่ใช้วิธีค้างยอดเอาไว้จ่ายในอีก 5 ปี ข้างหน้าพร้อมกับดอกเบี้ย 8% ซึ่งถูกแสนถูกอยู่แล้ว

"วิธีนี้เขาเรียกซื้อกันด้วยกระดาษเปล่าๆ แต่ก็ไม่ผิดเพราะมันเป็นวิธีทางการเงินที่ยอมรับกันในระดับสากล" แหล่งข่าวคนเดียวกันกล่าว

เมื่อเอกธนกิจส่งคนเข้าไปบริหารภายใต้ความช่วยเหลือจากแบงก์ชาติทุกอย่าง ทั้งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำวงเงินกู้จากธนาคารกรุงไทย วงเงินอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน และเงินเสริมสภาพคล้องไม่ได้ระบุจำนวนอีกต่างหาก ก็แทบจะเรียกได้ว่าสามารถบริหารงานแบบสบายๆ

"ผมดูตามที่ปิ่นเขาถนัดก็คงจะต้องจัดการเรื่องหนี้สินที่มีปัญหาออกไป ซึ่งอาจจะหาบริษัทเข้ามาซื้อทรัพย์ออกไปพัฒนาซึ่งจะทำให้ฐานะของบริษัทดีขึ้นในทันที เพราะไม่ต้องรับภาระทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้"

ผลของการประกอบกิจการที่เกิดขึ้นใหม่ก็จะได้นำมาเป็นกำไรกันอย่างเป็นกอบเป็นกำ จากนั้นก็เพิ่มทุนนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์" แหล่งข่าวคนเดียวกันกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เพราะฉะนั้นการที่แบงก์ชาติจะสั่งให้ธนานันต์เพิ่มทุนอีก 1,300 ล้านบาท นั้นก็สามารถระดมจากตลาดได้สบายๆ ไม่ต้องใช้เงินตัวเองเลย แล้วยังจะได้กำไรจากส่วนล้ำมูลค่าหุ้นที่นำออกจำหน่ายอีกมากมายมหาศาลทีเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.