ส่องหุ้นยุคทุนไหลเข้าดันค่าบาทแข็งโป๊ก!บทพิสูจน์ความแข็งแกร่ง บจ.


ผู้จัดการรายสัปดาห์(23 กรกฎาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

มองอนาคตธุรกิจยุคเงินบาทแข็งฉับพลันหลังทุนนอกไหลเข้า บทพิสูจน์ทักษะและความอยู่รอด กลุ่มนำเข้า-มีหนี้นอกยังยิ้มร่า ด้านกลุ่มส่งออก-อาหารเครื่องดื่ม-ยานยนต์ น้ำตาซึม

ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งขึ้นถึง 3.6% หลังจากปัจจัยการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง ประกอบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจล่าสุดเดือน พฤษภาคม2550 เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวเป็นลำดับ โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจที่ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่เคย Underweight การลงทุนในตลาดหุ้นไทย หันกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง จะเห็นได้จากยอดซื้อรายวันและยอดซื้อสะสมที่ยังคงเป็นทิศทางการซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งช่องทางตลาดหุ้นเป็นเพียงช่องทางเดียวที่การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติที่ไม่เข้าเกณฑ์ถูกกันสำรอง 30%หรือการต้องทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน 100% (Fully Hedge) ตามกฎของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ดังนั้นเมื่อเกิดการไหลเข้าของเงินสกุลต่างประเทศเป็นจำนวนมากก็ย่อมส่งผลถึงต่อค่าเงินบาทให้ให้แข็งขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยแข็งค่าสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ประเด็นทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของมาตรการผ่อนคลายชั่วคราวของ ธปท.ที่เปิดโอกาสให้ผู้มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศ(Non-Resident) ซึ่งมีธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในตลาดต่างประเทศ (Offshore) ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2549 สามารถขอย้ายมาป้องกันความเสี่ยงในตลาดในประเทศ (Onshore) แทนได้ โดยมาตรการนี้จะเปิดให้ทำได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาเงินบาทในตลาด Offshore แข็งเกินพื้นฐาน และจะทำให้ค่าเงินบาททั้ง 2 ตลาดเคลื่อนไหวเข้าหากันเป็นจุดสมดุลย์อีกครั้ง และคาดว่าจากนี้ไป ธปท.จะจับตามองประเด็นค่าเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ซึ่งเป็นจักรกลสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

แน่นอนว่าจากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนี้ ก็ย่อมต้องมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ โดยบทวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ของ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)นครหลวงไทยระบุว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัยพ์(บจ.)ที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่มีหนี้สินเป็นเงินสกุลต่างประเทศ และกลุ่มผู้นำเข้า

โดยบริษัทที่มีหนี้ในรูปเงินตราต่างประเทศจำนวนมากจะได้รับประโยชน์การการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท เนื่องจากต้นทุนหนี้ในรูปเงินตราต่างประเทศเมื่อเทียบเป็นเงินบาทแล้วจะลดลง ได้แก่บริษัทในกลุ่มสื่อสาร อันประกอบไปด้วย บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE), บมจ.ทีทีแอนด์ที, (TT&T) และ บมจ.ชิน แซทเทลไลท์ (SATTLE) รวมถึงกลุ่มพลังงานอันประกอบไปด้วย บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH ) ซึ่งคาดว่าจะบันทึกกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน

ส่วนกลุ่มบริษัทที่มีการนำเข้าวัตถุดิบนั้น ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะช่วยให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบซึ่งคิดเป็นเงินดอลลาร์ลดลง ได้แก่บริษัทในกลุ่มวัสดุก่อสร้างอันประกอบไปด้วย บมจ. ทาทา สตีล (ประเทศไทย) (TSTH), บมจ. สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) และ บมจ. จี สตีล (GSTEEL) รวมถึงกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางแห่งเช่น บมจ. ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) (SPPT)

ด้านผู้เสียประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นก็มีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ด้วยกันคือ กลุ่มผู้ประกอบการส่งออก, กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มยานยนต์

สำหรับผู้ประกอบการส่งออกของไทยยังคงเป็นผู้เสียประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่ใช้ Domestic Content เป็นหลัก อย่างกลุ่มเกษตรที่รายได้จากการดำเนินงานและกำไรสุทธิผันผวนเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการทำอัตราส่วนกำไรสุทธิ (Net profit margin) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เมื่อค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งไตรมาสล่าสุด (Q1/2550) Net profit margin ติดลบ 1.89% และเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง3.6% จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผลประกอบการของบริษัทกลุ่มนี้ใน Q3/2550 จะได้รับผลกระทบค่อนข้างแรงจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอยู่ในขณะนี้

สำหรับกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม แม้ว่าจะเป็นกลุ่มที่เป็น Domestic Content เช่นเดียวกับกลุ่มเกษตรก็ตาม แต่ด้วยสัดส่วนรายได้หลักมาจากการจำหน่ายภายในประเทศ จึงทำให้ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นตลอด 9 ไตรมาสที่ผ่านมามีน้ำหนักน้อยกว่ากลุ่มเกษตร ดังจะเห็นได้จาก Net profit margin) สามารถทรงตัวได้เฉลี่ยที่ 4.5-5.4% ตลอด 9 ไตรมาสที่ผ่านมา

ขณะที่กลุ่มยานยนต์และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถึงแม้ว่ารายได้จะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกับค่าเงินบาท แต่เนื่องด้วยวัตถุดิบบางส่วนเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ส่งออกในกลุ่มนี้สามารถลดความผันผวนหรือผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นได้ สังเกตจาก Net profit margin ที่สามารถทรงตัวตลอด 9 ไตรมาสที่ผ่านมาได้

ในภาวะที่กระแสเงินต่างประเทศเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมากเพื่อลงทุนในตลาดหุ้น ก็ได้สร้างความคึกคักให้กับนักลงทุนในประเทศเป็นอันมากรวมถึงทำให้สินค้านำเข้าอย่างราคาน้ำมันและเครื่องจักรมีราคาลดลง แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกซึ่งเป็นกลไกสำคัญของภาคเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน สิ่งนี้จึงเป็นคำถามที่ตามมาว่าค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นนั้นเป็นความคุ้มค่าหรือการขาดทุน

คำตอบก็คือ...แล้วแต่ว่าคุณจะเป็นใครและมองจากมุมใหน?


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.