รอยฝันที่ยังขรุขระของดีไซเนอร์ไทย

โดย สมชัย วงศาภาคย์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ทางการได้ประมาณการตัวเลขการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปหรือการ์เม้นต์ในปีนี้ว่าจะมียอดประมาณ 76,000 ล้านบาท มันเป็นตัวเลขที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมนี้มีความหมายที่สำคัญที่สุด ต่อการสร้างรายได้ประชาชาติของไทย

อุตสาหกรรมนี้มีรากฐานในเชิงพัฒนาการมาประมาณ 4 ทศวรรษเท่านั้น ซึ่งนับว่าไม่ยาวนักเมื่อเทียบกับเกาหลีและญี่ปุ่นที่มีมาก่อนหน้านี้หลายสิบปี

จรินทร์ ติรชัยมงคลแห่งกลุ่มไทยเกรียง สุกรี โพธิตัตนังกูรแห่งกลุ่มไทยเมลลอนและกลุ่มบริษัทสิ่งทอญี่ปุ่นเทยิ่น เป็นนักบุกเบิกรุ่นแรกๆ ของอุตสาหกรรมนี้ ก่อนที่จะเติบโตตามแรงผลักดันของตลาดอินโดจีนที่อยู่ในสงครามของทศวรรษที่ 60 หลังจากนั้นมาการแตกตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป และสิ่งทอที่เน้นการส่งออก เพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดเอเซีย และยุโรปที่กำลังเผชิญกับค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นจากผลกระทบของวิกฤติการณ์ราคาน้ำมันแพง ทำให้ต้องเปลี่ยนฐานการผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงกว่าก็เกิดขึ้น กลุ่มบริษัทที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ตัวอย่างเช่นบริษัทเสื้อผ้าสำเร็จรูปยักษืใหญ่อย่างกลุ่มสแตนดาร์ดการ์เม้นต์ของยอดยิ่ง เอื้อวัฒนสกุลและไทยรุ่งเท็กไทล์ของบุญนำ บุญนำทรัพย์

เวลานี้อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปไทยเติบโตด้านปริมาณอย่างแข็งแกร่ง มีบริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่ๆมากรายขึ้น เช่นซีด้าการ์เม้นต์ของอาจารี หอมเศรษฐีซึ่งส่งออกไปยังตลาดหลักที่ญี่ปุ่น

"แต่การผลิตของเรายังจำกัดตัวเองอยู่เพียงการรับจ้างผลิตตามแบบและสเป็กของผู้ซื้อ เรายังไม่สามารถพัฒนาไปสู่การผลิตด้วยแบบและสเป็กของเราเอง" บุญนำเคยกล่าวยอมรับกับ "ผู้จัดการ"

รูปแบบการผลิตที่จำกัดตัวเองเป็นแค่รับจ้างผลิต ตามคำสั่งซื้อของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป ว่าไปแล้วก็เหมือนกับอีกหลายอุตสาหกรรมที่มียอดการส่งออกสูง ของไทยเช่นอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนซึ่งทั้งหมดรับจ้างประกอบให้ผู้ซื้อในต่างประเทศตามสเป็กและแบบที่ผู้ซื้อกำหนดมา

"เรายังไม่สามารถพัฒนาด้วยตัวเองไปสู่การออกแบบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งนี้คือเหตุผลสำคัญที่ผมต้องเข้าซื้อกิจการบางส่วนของไทร์คอมมิวนิเคชั่นในยุดรปและโตรอนโตซึ่งมีบริษัทวิจัยและพัฒนารวมอยู่ด้วย" ศิวะ งานทวีแห่งกลุ่มงานทวีพี่น้อง เคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" เพื่อเป็นหนทางออกในความพยายามที่จะดิ้นรนให้อุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภทคีย์โฟนซิสเต็มสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง ด้านการออกแบบอุตสาหกรรมอัญมณีก็ตกอยู่ในสถานะเดียวกันแม้มีส่งออกสูงมากแต่อุตสาหกรรมนี้ก็ยังจำกัดอยู่เพียงการส่งออกพลอยร่วงเป็นส่วนใหญ่ พูดอีกแบบหนึ่งก็คือยังไม่สามารถส่งออกพร้อมตัวเรือนได้

"จุดใหญ่ คือ เรายังสู้ต่างประเทศไม่ได้ในด้านการออกแบบแม้ว่าฝีมือการเจียระไนเราจะดีมากก็ตาม อาจจะมีบางรายที่ส่งออกพร้อมตัวเรือนแต่เข้าใจได้ว่านั่นเป็นเพียงแค่รับจ้างเจียระไนและประกอบเข้าตัวเรือนตามแบบและสเป็กของผู้ซื้อเท่านั้น" ผู้ส่งออกอัญมณีรายใหญ่เล่าให้ฟัง

การขาดแคลนเทคโนโลยีด้านการออกแบบในผลิตภัณฑ์กล่าวถึงที่สุดแล้ว มันคือที่มาของรากฐานที่เปราะบางของอุตสาหกรรมการส่งออกของไทยในช่วงทศวรรษจากนี้ไป หลังจากเสพสุขอยู่กับความได้เปรียบในด้านค่าจ้างแรงงานต่ำมากว่า 3 ทศวรรษ

"เราอยากภูมิใจในการเติบโตของมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่เราสร้างมาเองแล้งตลาดยอมรับมากกว่าการเป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนค่าจ้างราคาถูก" ศิวะ งานทวีกล่าวถึงอุดมคติของเขา ในการสร้างอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก

ธุรกิจที่มีความใหญ่ขนาดอุตสาหกรรมย่อมมีความฝันที่จะมีที่นั่งของตัวเองในใจของลูกค้าในตลาดโลก ตรรกะของสิ่งนี้ ไม่ต่างอะไรกับความฝันของนักออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูงของไทย ที่มุ่งมั่นว่าสักวันหนึ่งตนเองจะได้มีโอกาสแสดงผลงานในงานแฟชั่นโชว์ที่ปารีส มิลานและโตเกียวซึ่งเป็นตลาดแฟชั่นเสื้อผ้าชั้นสูงที่มีอิทธิพลสูงที่สุดในโลก

เหมือนดังที่ อิเส่ มิยาเกะ โยจิ ยามาโมโต้ เคนโซ่ ทาคาดะ และฮานาเอะ โมริ นักออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงชาวญี่ปุ่นที่สามารก้าวเข้าไปมีบทบาทสำคัญในธุรกิจแฟชั่นของตลาดที่นั่นมาแล้วตั้งแต่ปี 1965 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน

"ฝีมือออกแบบพวกเราไม่แพ้ญี่ปุ่น แต่เราไม่มีองค์ประกอบความพร้อมด้านการส่งเสริม จุดนี้ทำใก้นักออกแบบญี่ปุ่นไปได้เร็วกว่าเราขณะที่เราหากินได้เฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น" สมชาย แก้วทองหรือคุณไข่ แห่งห้องเสื้อ แฟชั่นระดับสูงไข่บูติคเล่าให้ฟังถึงสวาเหตุการก้าวสู่ตลาดแฟชั่นโลกของนักออกแบบญี่ปุ่น

สมชาย แห้วทองเป็นนักออกแบบเสื้อแฟชั่นชั้นสูงที่มีผลงานมายาวนาน 20 ปี เป็นเจ้าของยี่ห้อง "ไข่" (KAI) ที่จำหน่ายในห้องเสื้อของเขามากที่สุดในบรรดาดีไซเนอร์ชั้นนำของประเทศถึง 4 แห่งที่ชาญอิสระทาวเวอร์ เวิลด์เทรดเซนเตอร์ ราชดำริและสุขุมวิท 39 "ตลาดผู้ซื้อของเราเป็นคนไทยในกรุงเทพฯที่มีฐานะดี พันจากกรุงเทพฯไปแล้วก็แทบจะไม่มีใครรู้จักยี่ห้อนี้แล้ว" สมชายพูถึงตลาดของเขา

เมื่อ 2 ปีก่อน ห้างสรรพสินค้าเซบุที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นเคยนำผลงานเสื้อผ้าชุดเดินเล่นภายใต้ยี่ห้อของเขาไปวางขายถึง 4เที่ยว มูลค่าประมาณ 3 ล้านบาท แต่เพราะเขาขาดผู้จัดการธุรกิจทำให้เสื้อผ้าของเขาขายได้ในวงจำกัด และในที่สุดทางห้างเซบุก็ยุติการสั่งซื้อเสื้อผ้าของเขา

กระนั้นก็ตามก็นับว่าเขาเป็นดีไซเนอร์คนไทยคนแรกที่สามารถนำผลงานไปขายถึงตลาดห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นขณะที่คนอื่นดูจะไปไม่ถึง

ว่ากันจริงแล้ว ดีไซเนอร์ออกแบบเสื้อผ้าของไทยมีไม่มากนัก แบ่งได้ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นดีไซเนอร์ที่มีประสบการณ์ทั้งผ่านการศึกษาด้านแฟชั่นดีไซน์และดูงานในปารีสมาแล้ว ที่มีชื่อเสียงอยู่ในเวลานี้เช่น สมชาย แก้วทอง พิจิตรา บุญตัตน์พันธ์ พีรพรรณ วรรณรัตน์ กีรติ ชลสิทธ์ ศิระ กุลเศรษฐศิริ นคร สัมพันธรักษ์ แพททริก บูยาเก้ เป็นต้น

ดีไซน์เนอร์กลุ่มนี้เป็นที่ยอมรับของตลาดว่าเป็นดีไซเนอร์ชั้นนำของประเทศ เสื้อผ้าแต่ละชุดของเขาจะมีการดัดแปลงแบบจากดีไซเนอร์ชื่อดังของต่างประเทศและวางจำหน่ายในห้องเสื้อของพวกเขาเองเท่านั้น ไม่มีวางขายตามห้าง

กลุ่มสอง เป็นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่มีประสบการณืผ่านการศึกษาด้านแฟชั่นดีไซน์จากฝรั่งเศสแล้วกลับมาออกแบบสร้างงานเองเช่นห้องเสื้อพรีเซ้นต์ ไทม์เอ็น และการิต้าโฮลเซล

ดีไซเนอร์กลุ่มนี้จะมีฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่มีอำนาจซื้อรองลงมาจากกลุ่มแรก

กลุ่มสาม เป็นดีไซเนอร์ลูกเศรษฐีที่มีเงินทุนมากพอที่จะจ้างดีไซเนอร์มาสังกัดเพื่ออกแบบภายใต้ยี่ห้อของตัวเองเช่นห้องเสื้อจีน่า และเวนิค

ดีไซเนอร์กลุ่มนี้บางคนก็มีความรู้ด้านการออกแบบอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับมืออาชีพ เพียงแต่ที่ลงมาลงทุนก็เพราะใจรักการแต่งรัวเป็นพื้นฐานและมีหัวทางธุรกิจ

กลุ่มสุดท้าย เป็นดีไซเนอร์ที่ผ่านการศีกษาด้านการออกแบบจากสถาบันในประเทศ เช่น ศิลปากร เพาช่าง วิทยาลัยครู แล้วเข้าสังกัดเป็นนักออกแบบประจำบริษ์การ์เม้นต์

ดีไซเนอร์กลุ่มนี้จะออกแบบเพื่อตอบสนองการผลิตขนาดใหญ่จำหน่ายในประเทศ เช่นกลุ่มดีไซเนอร์ของบริษัทฟายนาวเจ้าของยี่ห้อฟายนาวที่มีชื่อสเยงในตลาดห้างสรรพสินค้าชั้นนำ

การเลื่อนขั้นขึ้นมาอยู่แถวหน้าของดีไซเนอร์เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักเพราะผงงานต้องมีคุณภาพเป็นระดับแฟชั่นชั้นสูงจริงๆ

"การไต่อันดับขึ้นมาอยู่แถวหน้าของดีไซเนอร์กลุ่มแรกได้ผลงานของตัวเองต้องเป็นที่ยอมรับของกลุ่มบุคคลชั้นนำเช่นพวกนักแสดงที่มีชื่อเสียง และบุคคลในแวดวงสังคมชั้นสูงและราชวงศ์" ศิระ กุลเศรษฐศิริ ดีไซเนอร์ชื่อดังพูดถึงเงื่อนไขการก้าวสู่การเป็นดีไซเนอร์ชั้นนำของประเทศ

กลุ่มบุคคลชั้นนำเหล่านี้เป็นพวกมีอำนาจซื้อสูงและมีชื่อเสียงในสังคม การแต่งตัวหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งบทบาทการดำเนินชีวิตประจำวันของพวกเขาอยู่ในความสนใจของคนทั่วไป

ดังนั้นการแสดงออกในด้านการแต่งตัวจึงสะท้อนออกมาตามค่านิยมด้วยมาตรฐานที่คนทั่วไปไม่สามารถดำเนินตามได้ "พวกเขาสามารถลงทุนแต่งตัวใส่เสื้อผ้างามๆที่มีอยู่ตัวเดียวในเมืองไทยด้วยราคาเหยียบแสนบาทได้เพียงเพื่อให้ตัวเองดูสง่างาม กว่าคนอื่น" ศิระกล่าวถึงการลงทุนแต่งตัวของบุคคลชั้นนำที่เป็นลูกค้าของเขาซึ่งบางคนประกอบอาชีพเป็นนักแสดง พิธีกร นักบริหาร นางแบบ

ศิระหรือโอ เป็นดีไซเนอร์เสื้อผ้าเจ้าของห้องเสื้อแคเร็คเตอร์ ที่ประสบความสำเร็จรวดเร็วมากเพียง 3 ปี ก็ก้าวมาอยู่แถวหน้า เขาจบการศึกษาด้านแฟชั่นดีไซน์จากสถาบัน ESMOD ในปารีส ก่อนหน้าที่จะเข้ามาสู่ธุรกิจดีไซเนอร์เสื้อผ้า เขามีชื่อเสียงมากในฐานะการเป็นดีไซเนอร์ด้านการแต่งหน้า ซึ่งว่าไปแล้วความสำเร็จจากการเป็นนักออกแบบการแต่งหน้านี้เองเป็นแรงส่งหนุนให้เขาประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในด้านการออกแบบเสื้อผ้า

ศิระเป็นดีไซเนอร์รุ่นน้องสมชายหลายปี แม้จะมีชื่อเสียงในตลาดในประเทศ แต่ต่างประเทศแล้วยังไม่เป็นที่รู้จัก

เขาไม่เคยได้มีโอกาสแสดงผลงานแฟชั่นโชว์ในต่างประเทศเหมือนสมชาย ผลงานการออกแบบได้รับอิทธิพลจากงานของอิเส่ มิยาเกะ และจิอา ฟรังโก้ เฟอร์เล่ย์หัวหน้ากลุ่มดีไซเนอร์ของห้องเสื้อคริสเตียน ดิออร์ในปารีส ซึ่งเขากล่าวว่างานของดีไซเนอร์ทั้งสองมีการผสมผสานระหว่างลักษณะทางตะวันตกและตะวันออกอย่างกลมกลืน (ORIENTALISM) เป็นแบบเพาะของตัวเอง ซึ่งจุดนี้สอดคล้องกับค่านิยมการออกแบบของเขาที่ชอบความทะมัดทะแมงกระฉับกระเฉงและสีสันที่เน้นความเป็นตัวของตัวเองสูงมากกว่าความอ่อนหวาน

"เป็นความจริงที่เรายอมรับกันว่าผลงานการออกแบบไม่ใช่เกิดจากตัวเองล้วนๆ การสร้างสรรค์มันอยู่ที่การรู้จักประยุกต์ดัดแปลงผลงานของดีไซเนอร์ต่างประเทศที่เราชื่นชอบให้เข้ากับค่านิยมเฉพาะตัวมากกว่า" ศิระเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังการออกแบบของดีไซเนอร์ชั้นนำของไทย

การรู้จักดัดแปลงในงานออกแบบให้เข้ากับค่านิยมเฉพาะตัวว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับธุรกิจแฟชั่นดีไซน์

ในต่างประเทศที่เป็นศูนย์กลางการออกแบบเสื้อของโลก งานของดีไซเนอร์ที่โชว์ออกมาในคอลเล็คชั่นต่างๆ มีอิทธิพลต่องานออกแบบของกันและกันเสมอ

ยกตัวอย่างเวลานี้ในปารีสและมิลาน ผลงานของดีไซเนอร์ญี่ปุ่นกำลังมีอิทธิพลสูงมาก โรเมโอจิการี่ดีไซเนอร์ชื่อดังของอิตาลีกล่าวยอมรับว่า"งานของดีไซเนอร์ญี่ปุ่นกำลังเปิด ทิศทางการออกแบบให้แก่พวกเขาด้วยผลงานที่เน้นการผสมผสาน ระหว่างตะวันตกกับตะวันออกได้อย่างตื่นตาตื่นใจ"

เช่นนี้แล้ว ประเด็นที่ว่าแล้วผลงานของดีไซเนอร์ไทยจะมีโอกาสไปโชว์และมีอิทธิพลต่อดีไซเนอร์ฝรั่งตะวันตกเหมือนที่ญี่ปุ่นกำลังทำอยู่ทุกวันนี้ได้หรือไม่ และมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะนำไปสู่จุดนั้น
ประเด็นนี้คือรอยฝันของดีไซเนอร์ไทยทุกคน

สมชายหรือคุณไข่ ดีไซเนอร์ชั้นนำระดับอาวุโส ทั้งด้านฝีมือและประสบการณ์กล่าวว่าฝีมือการออกแบบของอีไซเนอร์ทั่วโลก ว่าไปแล้วเรื่องความคิดสร้างสรรค์ที่ถ่ายทอดออกมาในแบบเสื้อมีความสามารถต่างกันไม่มากหรอก แต่ที่ทำให้ผลมันดูต่างกันก็เพราะว่าโอกาศและโครงสร้างของธุรกิจนี้มันก้าวหน้าต่างกัน

โอกาสที่สมชายกล่าวถึง หมายถึงกระบวนการนำเสนอผลงานสู่ตลาดที่มีระบบแบบแผนระดับมืออาชีพ

ทุกวันนี้ ดีไซเนอร์ไทยจะมีผลงานนำเสนอผลงานสู่ตลาดเฉลี่ยกันปีละ 1-2 คอลเล็คชั่นหรือประมาณ 1-200 ชุด การนำเสนอแต่ละครั้งจะอยู่ในรูปแบบการแสดงแฟชั่นโชว์ที่ต้องลงทุนเองเป็นส่วนใหญ่ "อย่างน้อยครั้งละไม่ต่ำกว่า 400,000 บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายค่าตัวนางแบบ เสื้อผ้า" อรนภา กฤษฏี นางแบบชื่อดังกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ในต่างประเทศที่ญี่ปุ่นหรือยุโรป ดีไซเนอร์ไม่ต่องเข้ามายุ่งในด้านการจัดงานแสดงเลยทุกอย่างแม่แต่ค่าใช้จ่ายในการจัดโชว์อยู่ที่ทีมงวานฝ่ายจัดการของบริษัท และครอริโอกราฟเฟอร์

ดีไซเนอร์มีหน้าที่อย่างเดียวเท่านั้นคือผลิตเสื้อผ้าออกมาโชว์ให้ดีที่สุด

ทีมงานฝ่ายจัดการและครอริโอกราฟเฟอร์จะทำหน้าที่ในการติดต่อสื่อมวลชนที่มีอิทธิพลต่อกิจการแฟชั่น แขกรับเชิญที่มีชื่อเสียกลุ่มลูกค้า นางแบบ รวมถึงแก่นสารของรูปแบบในการนำเสนอบนเวที

เมื่อ 4-5 ปีก่อนบุรณี รัชไชยบุญ ได้เคยเปิดธุรกิจนี้ขึ้นมาแล้วในนามบริษัทแบ็คเสต็จ แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมใช้บริการจากดีไซเนอร์

การนำเสนอผลงานยองดีไซเนอร์ไทยส่วนใหญ่ยังไปไม่ถึงระบบเช่นที่ว่านี้เพราะ หนึ่ง- ธุรกิจแฟชั่นดีไซน์บ้านเรายังอยู่ในรูปของครอบครัวที่การลงทุน และบริหารทุกอย่างอยู่ที่ตัวดีไซเนอร์ไม่มีผู้จัดการระดับมืออาชีพที่กระจายความรับผิดชอบตามแผนกงานต่างๆ เช่นการตลาด

ดีไซเนอร์ไทยไม่มีข้อมูลที่จะล่วงรู้ถึงแนวโน้มความนิยมของแบบเสื้อในตลาดล่วงหน้าได้เพราะไม่มีผู้จัดการที่จะนำข้อมูลจากตลาดมาเป็นเครื่องชี้ การออกแบบจึงอาศัยค่านิยมส่วนตัวของดีไซเนอร์เองมากกว่าตลาด

นอกจากนี้การนำผลงานเสนอสู่ตลาดก็ขาดผู้จัดการที่จะทำหน้าที่วิางเต้นส่งเสริมสู่สถาบันทางการตลาดที่เกี่ยวข้อง

"บริษัทการ์เม้นต์ใหญ่ๆ บ้านเราไม่มีรายไหนสนใจที่จะลงทุนหรือสนับสนุนอาชีพแฟชั่นดีไซน์อย่างจริงจัง ซึ่งต่างจากญี่ปุ่นบริษัทการ์เม้นต์ยักษ์ใหญ่อย่างอิโตกิ ลงทุนให้ฮิโรโกะ โคชิโน่ดีไซเนอร์ชื่อดังของญี่ปุ่นในการนำเสนอผลงานสู่มิลาน ปารีสมาแล้ว" สมชายกล่าวถึงจุดเสียเปรียบของดีไซเนอร์ไทย

ฮิโรโกะโคชิโน่เป็นดีไซเนอร์ที่เมื่อ 10 ปีก่อนไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในญี่ปุ่น แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนจากบริษัทอิโตกิน ทำให้เขามีโอกาสเข้าถึงสื่อมวลชนแฟชั่นที่มีอิทธิพลในมิลาน จนได้รับการต้อนรับให้แสดงผลงานแฟชั่นโชว์มิลานคอลเล็คชั่นจนมีชื่อเสียงได้รับความนิยมทั้งในญี่ปุ่นและอิตาลี

ปัจจุบันนี้โคลิโน่เป็นหนึ่งในสิบของกรรมการผู้จัดแสดงแฟชั่นดชว์โอซาก้าคอลเล็คชั่นที่มีอิทธิพลต่อธุรกิจแฟชั่นเสื้อฟาของญี่ปุ่น มีรายได้อย่างมากมายจากการขายลิขสิทธิ์แบบเสื้อให้บริษัทการ์เม้นต์ต่างๆ ทั่วโลก เหมือนกับอิเส่ มิยาเกะที่ขายลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า SERPENT BLADW OF GRASS FLOWERS INSECTS BIRDS MOONLIGHT ให้บริษัทการ์เม้นต์ทั่วโลกมีรายได้ปี 2532 ถึง 60 ล้านเหรียญ

บริษัทอิโตกินเป็นบริษัทการ์เม้นต์ที่ซื้อลิขสิทธ์แบบและเครื่องหมายการค้าจากโคชิโน่มากผลิตสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปวางขายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทยบริษัทไอซีซีเครือสหพัฒน์ก็ซื้อลิขสิทธิ์มาตัดเย็บและวางขายในประเทศภายใต้ยี่ห้ออิโตกินด้วย

อย่างไรก็ตามเมื่อมองเฉพาะส่วนแล้วสมชายยอมรับว่าแนวโน้มการนำเสนอผลงานของดีไซเนอร์บางคน เริ่มได้รับการจัดการจากบริษัทรับจัดการมืออาชีพมากขึ้น

เท่าที่ทำอยู่เวลานี้คือบริษัทคูโด้ของทินกร อัศวารักษ์ ประกายวิลที่กำลังจะรับจัดการนำเสนอผลงานคอลเล็คชั่นใหม่ของศิระ กุลเศรษฐศิริในปีนี้และบริษัทลติจูดที่รับจัดการนำเสอนผลงานคอลเล็คชั่น "สร้างฝันมาพันร่าง" ของสมชาย แก้วทอง เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่เพิ่งพ้นมา

ธุรกิจรับจัดการแสดงหรือครอริโอการาฟฟี่กำลังเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วมากในเวลานี้ เหตุผลที่สำคัญอาจมาจากผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ เริ่มเห็นความสำคัญของการนำเสนอผลิตภัณฑ์สู่ตลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ เปิดตัวสนามกอล์ฟ คอนโดมิเนียม

"งานแสดงคอลเล็คชั่นสร้างฝันมาพันร่าง บริษัทละติจูดเป็นคนดำเนินการทุกอย่างแม้แต่เรื่องจัดหานางแบบ" สมชายกล่าวถึงเบื้องหลังการนำเสนอผลงานคอลเล็คชั่นล่าสุดของเขา

สอง-ทัศนคติของดีไซเนอร์ส่วนใหญ่ชอบทำงานตัวคนเดียวแบบศิลปิน ไม่มีหัวการบริหารงานยกตัวอย่างที่ง่ายที่สุดเรื่องการจัดหานางแบบ ตามปกติแล้ว การจัดหานางแบบดีไซเนอรทั่วไปมักจะติดต่อนางแบบเองโดยตรงเพราะส่วนใหญ่รู้จักมักคุ้นกันอยู่แล้ว ตัวนางแบบเองก็ชอบที่จะทำงานในลักษระเช่นนี้เพราะอย่างน้อยที่สุดค่าตัวเดินแบบครั้งละ 4,000 บาทก็เข้ากระเป๋าเต็มเม็ดเต็มหน่วย

นางแบบในต่างประเทศ การเดินแบบแต่ละครั้งต้องผ่านบริษัทโมเด็ลลิ่งเอเยนซีซึ่งทำหน้าที่เปรียบเสมือนผู้จัดการหางานมาป้อนให้

"ธุรกิจแบบนี้เมืองไทยเกิดยากเพราะนางแบบไม่ยอมรับ เคยมีความพยายามที่จะทำมาแล้วแต่ไม่สำเร็จ" อรนภา กฤษฏี นางแบบชื่อดังเล่าให้ฟังถึงอดีตที่เธอร่วมกับเพื่อนนางแบบและดีไซเนอร์สมชาย แก้วทอง พยายามที่จะก่อตั้งบริษัทดมดาขึ้นมาแต่ล้มเหลวลง

และบทเรียนสิ่งนี้คือตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นระบบในการทำงานของคนี่เกี่ยวข้องในธุรกิจแฟชั่นดีไซน์ของไทย

รอยฝันที่ยังขรุขระของดีไซเนอร์ไทยในอันที่จะก้าวสู่นานาชาติ นอกเหนือจากอุปสรรคของด้านการนำเสนอผลงานสู่ตลาดแล้ว อุปสรรคด้านโครงสร้างการผลิตที่ยังล้าหลังไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตผลงานแฟชั่นชั้นสูงที่มีคุณภาพ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ดูจะเสียเปรียบกว่าดีไซเนอร์ของญี่ปุ่น

อุตสาหกรรมสิ่งทอญี่ปุ่นมีพัฒนาการที่ยาวนานมาก่อนไทยมาก การวิจัยเทคโนโลยีสิ่งทอของญี่ปุ่นกลไกสำคัญของการสร้างอุตสาหกรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนของสิ่งทอเช่นด้ายที่มีคุณภาพสูง

"ผ้าต่วนและผ้าทราฟต้าหรือผ้าที่ใช้สำหรับงานกลางคืน ไทยผลิตเองไม่ได้ ต้องซื้อจากญี่ปุ่นในราคาแพง แม้แต่ผ้าซับในที่ทอจากผ้าไหม ต้องซื้อจากญี่ปุ่นของไทยมีแค่ฟ้าซับในที่ทำด้วยโพลีเอสเตอร์" สมชาย ยกตัวอย่างคุณภาพสิ่งทอไทยที่ไม่สามารถนำมาใช้ตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงได้

ผ้าไหมไทยเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพสิ่งทอไทยยังไปไม่ถึงไหน

ผ้าไหมไทยได้รับการส่งเสริมจากจิมป์ ทอมสัน สู่ตลาดโลกเมื่อกว่า 20 ปีก่อน แต่เนื่องจากขาดการพัฒนาด้านเทคนิคทำให้ฟ้าไหมไทยจำกัดอยู่ในวงแคบ ของการนำมาใช้ในฐานะเป็นสินค้าที่มีความนิยมในการใช้ประดับกับเฟอร์นิเจอร์เครื่องเรือน ไม่สามารถพัฒนาไปสู่คุณภาพที่สามารถใช้เป็นวัสดุเพื่อการผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงได้

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งผ้าฝ้ายของบ้านไร่ไผ่งามที่เชียงใหม่ นักอุตสาหกรรมสิ่งทอบ้านเราไม่เคยสนใจที่จะพัฒนาให้มีคุณภาพสูงขึ้นเพื่อสามารถนำไปใช้เป็นวัสดุเพื่อการผลิตเสื้อผ้าที่มีคุณภาพสูง

ตรงข้ามกับนักพัฒนาสิ่งทอญี่ปุ่นสามารถนำเอาผ้าฝ้ายของไทยเราจากบ้านไร่ไผ่งามนี้ไปพัฒนาโดยมีเนื้อไหมเจือปนจนมีคุณภาพสูงกว่า

"ฮิโระโกะ โคชิโน่ เป็นคนนำผ้าฝ้ายจากแหล่งนี้ไปให้นักวิจัยสิ่งทอญี่ปุ่นพัฒนา และก็ได้เอามาใช้ทำเป็นเสื้อไฮแฟชั่นวางขายตามห้องเสื้อชั้นนำทั่วโลก"

ตลาดเสื้อผ้าไฮแฟชั่นในปารีส นิวยอร์ก มิลานและโตเกียวมันเป็นตลาด ของดีไซเนอร์ที่ทำงานอย่างมืออาชีพคุณภาพสูงและมีความพร้อมในองค์ประกอบของการทำงานที่มีระเบียบแบบแผน

เพราะการที่ดีไซเนอร์จะสามารถนำผลงานการออกแบบไปโชว์สู่ตลาดนานาชาติระดับสูงได้ คุณภาพการตัดเย็บและวัสดุที่ใช้แม้กระทั่งเส้นด้ายต้องได้ตามสเป็กมาตรฐานระดับโลก

"ผมบอกตามตรงฝีมือช่างตัดเย็บไทย ช่างแพทเทิสน์ที่มีอยู่ยังไม่ถึงขั้นแม้ดีไซเนอร์จะมีความสามารถออกแบบได้ดีขนาดไหน" สมชายเล่าให้ฟังถึงข้ออุปสรรคด้านการตัดเย็บ

เขากล่าวว่า เคยลงทุนซื้อเสื้อยี่ห้อดังของฝรั่งเศษด้วยราคาแพงสุดมาแกะดูเป็นชิ้นๆ เพื่อศึกษาเทคนิคการตัดเย็บ ซึ่งในที่สุดก็ยอมรับว่าทุกขั้นตอนของการตัดเย็บไม่ว่าจะเป็นการอัดผ้ากราวเพื่อให้อยู่ตัวการเข้าวงแขน เป็นเทคนิคชั้นสูงที่ช่างตัดเย็บไทยต้องเรียนรู้และฝึกฝนกันใหม่หมด

สมชายเล่าให้ฟังว่าเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงของดีไซเนอร์ชั้นนำของโลกมีเบื้องหลังการทำงานที่เป็นระบบทีมเวอร์กที่เยี่ยมยอดมาก

การออกแบบแต่ละคอลเบ็คชั่นจะมีการปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดระหว่างดีไซเนอร์กับช่างเทคนิคด้านต่างๆเพื่อหาจุดที่ลงตัวของไอเดียดีไซเนอร์ ตั้งแต่การเดรฟเสื้อไปจนถึงการจัดหาเครื่องประดับทุกชิ้น

กระบวนการทำงานแบบนี้ต่างกับดีไซเนอร์ไทยหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะทุกขั้นตอนของการผลิตเสื้อผ้าในแต่ละคอลเล็คชั่น ดีไซเนอร์ไทยต้องจัดหาวัสดุ ควบคุมการตัดเย็บและการหาเครื่องประดับแต่ละชิ้นด้วยตนเองตลอด

"การจัดแฟชั่นโชว์แต่ละครั้ง เราต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อหาซื้อวัสดุทุกชิ้นมาใช้ตัดเย็บ และประดับในแบบเสื้อของเราเพราะวัสดุเกือบทุกอย่างที่ใช่สำหรับเสื้อไฮแฟชั่นบ้านเราผลิตเองไม่ได้" สมชาย สะท้อนภาพความยากลำบากในการทำงานของ ดีไซเนอร์ไทยที่ได้รับผลมาจากโครงสร้างที่ยังด้อยคุณภาพของอุตสาหกรรสิ่งทอไทยและการขาดแคลนช่างเทคนิคด้านการตัดเย็บคุณภาพสูง

ความล้าหลังด้วยสาเหตุนี้ ว่าไปแล้วเป็นรากฐานที่เหนี่ยวรั้วงศักยภาพของดีไซเนอร์ที่จะได้มีโอกาสก้าวสู่ตลาดแฟชั่นชั้นสูงในตลาดนานาชาติ

การที่จะก้าวสู่ตลาดปารีสหรือมิลานได้ ต้องผ่านงานโอซาก้าคอลเล็คชั่นและโตเกียวคอลเล็คชั่นก่อนเพราะตลาดทั้งสองเปรียบเสมือนประตูที่เปิดสู่การยอมรับในปารีส นิวยอร์กและมิลานที่มีอิทธิพลของโลก

สำหรับดีไซเนอร์อาเซียนแล้ว ถึงทุกวันนี้ยังไม่มีผู้ใดสามารถก้าวไปสู่จุดนั้นได้ ซึ่งรากฐานของอุปสรรคมาจากสาเหตุอันเดียวกันนั่นคือ การขาดแคลนช่างเทคนิคที่มีความรู้ในการตัดเย็บเสื้อผ้า แฟชั่นชั้นสูงและความล้าหลังของการผลิตวัสดุสิ่งทอคุณภาพสูง

เช่นนี้แล้ว รอยฝันของดีไซเนอร์ไทยจะเป็นไปได้อย่างไร

ศิระ สมชายและอรนภา ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับธุรกิจแฟชั่นเสื้อผ้ามานานให้ข้อสรุปที่สอดคล้องกันว่ามี 2 หนทางเท่านั้นคือ หนึ่ง-ต้องขึ้นอยู่กับดวงว่าดีไซเนอร์คนไหนจะโชคดีถูกซื้อตัวไปเป็นดีไซเนอร์ในสังกัดบริษัทแฟชั่นชั้นนำของโลกในปารีส หรือนิวยอร์ก หรือมิลานเหมือนบริาทคริสเตียน ดิออร์ ซื้อจิอาฟรังโก้ เฟอร์เล่ย์มาสังกัด หรือสอง-นายทุนเจ้าของบริษัทการ์เม้นต์ที่มีฐานะร่ำรวยลงทุนสนับสนุนให้ดีไซเนอร์ไทย ไปเปิดห้องเสื้อในเมืองศูนย์กลางของแฟชั่นโลกเช่นปารีส โตเกียว มิลาน หรือนิวยอร์กที่ใดที่หนึ่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.