กรรมติดจรวด! เมื่อ 2พี่น้องตระกูลชินวัตรสิ้นอำนาจ! SC ผลิตบ้านขายไม่ออก “เจ๊แดง” ดิ้นไม่หลุดซุกหุ้น!


ผู้จัดการรายสัปดาห์(23 กรกฎาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

- ไม่เพียง คตส.ไล่เช็กบิลตระกูลชินวัตร!
- บริษัท SC ฐานทัพใหญ่แห่งใหม่ของ “ทักษิณ” กำลังถูกมรสุมรุมเร้าขนาดหนัก
- ผลิตบ้านขายไม่ออก แม้จะอยู่ทำเลดี สาธารณูปโภคเพียบพร้อม
- ฝ่ายเจ๊แดง ก็หนีไม่พ้น เพราะบริษัทในตลาดหุ้นฯที่เคยอู้ฟู่ช่วงเรืองอำนาจ...กำลังจะเป็นดาวโรยด้วยข้อหาซุกหุ้น!?
- จับตากลยุทธ์วิชามาร ผ่องถ่ายหุ้นหวังสร้างราคากระหึ่ม รวยกันอีกรอบ!

นับตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีต้องประสบกับวิบากกรรมทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ปีก่อน โดนยึดอำนาจการปกครองโดยทหาร ทำให้วิถีชีวิตและการดำเนินธุรกิจของตระกูลเริ่มระส่ำระสาย เริ่มตั้งแต่ธุรกิจในมือ พ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน พานทองแท้ พิณทองทา บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รวมถึงพี่น้องในตระกูลชินวัตรไม่ว่าจะเป็นเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และเยาวเรศ ชินวัตร ที่ธุรกิจเริ่มเจอทางตัน ไม่สดใสเหมือนเมื่อครั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเรืองอำนาจอยู่

จากในอดีตที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีอำนาจล้นฟ้า คิดจะทำอะไรก็ทำไม่สนใจว่าประชาชนหรือนักธุรกิจจะคิดเช่นไร จะทำทุกอย่างให้ได้ตามที่ตัวเองต้องการหวังเพียงเพื่อให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับตระกูลชินวัตรเท่านั้น และในช่วง 6 ปีที่บริหารราชการแผ่นดิน ตระกูลชินวัตรทุกคนร่ำรวยขึ้นแบบพลิกฝ่ามือ ภายในเวลาอันรวดเร็ว จนเป็นที่มาทำให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เข้าตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินจำนวนมหาศาลที่อยู่ในมือตระกูลชินวัตร

แต่เวลานี้ดูเหมือนว่า สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำไว้ในอดีตกำลังสร้างปัญหาให้กับตัวพ.ต.ท.ทักษิณ และตระกูลชินวัตรอย่างมาก การดำเนินธุรกิจทุกอย่างไม่ราบรื่นอีกแล้ว เพราะคตส.เร่งตรวจสอบความร่ำรวยผิดปกติของครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน และลูก ๆ รวมไปถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไว้วางใจมากที่สุด และมอบหมายให้ดูแลธุรกิจของตระกูล คือ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นธุรกิจหนึ่งเดียวของตระกูลที่เหลืออยู่ขณะนี้

เล็งอายัดเงินรอบ 9 เม็ดเงินกว่า 500 ล้าน

“การทำงานของ คตส.เป็นไปอย่างรวดเร็ว และได้ประกาศอายัดทรัพย์ตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ไปแล้วรวม 8 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 65,000 ล้านบาท และกำลังจะอายัดรอบที่ 9 ภายในสัปดาห์นี้ เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท”

ผลพวงของการอายัดทรัพย์ ทำให้การดำเนินธุรกิจของตระกูลชินวัตรลำบากมากขึ้น เพราะขาดความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่บริหารงานภายใต้ บริษัท เอสซี แอสเสทฯ ที่หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ โดนโค่นอำนาจ และถูกอายัดทรัพย์ ปรากฏว่าการขายโครงการทุกแห่งขายได้ยากขึ้น (อ่านข่าว เอสซีแอสเสทเจอทางตัน หน้า A2 ประกอบ) หากเทียบกับในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังอยู่ในอำนาจ อยู่บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ดอกเบี้ยอยู่ในอัตราสูง ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า มาจากการขาดความเชื่อมั่นในตัวเจ้าของโครงการ นั่นก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง!!

เบื้องลึก SC รุ่งโรจน์ได้ “ทักษิณ” คุมเกม

ความรุ่งโรจน์ของเอสซี แอสเสทฯ ในช่วงนั้น ต้องยอมรับว่า มาจากได้แบล็คดี อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นตัวหนุนหลัง เพราะมีดีกรี เป็นถึงนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจสั่งการแบบล้นฟ้า อีกทั้งยังสามารถหาซื้อที่ดินแปลงงามๆ ในราคาถูก มาพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรได้ ซึ่งได้เปรียบคู่แข่งอย่างมาก เพราะกลยุทธ์ที่สำคัญของการทำธุรกิจอยู่ที่ต้นทุน หากมีต้นทุนต่ำก็สามารถทำกำไรได้งาม

นอกจากนี้ หัวใจสำคัญที่ทำให้เอสซี แอสเสทฯเติบโตอย่างรวดเร็ว มาจากการใช้อำนาจในทางที่ผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่สั่งการให้นำสาธารณูปโภค ไปลงในที่ที่ใกล้กับแปลงที่ดินของตัวเอง หรือตัดถนนผ่านหน้าโครงการเลย ทำให้การทำการตลาดง่ายขึ้น อีกทั้งยังขายได้ราคาดีอีกด้วย

อาทิ โครงการ “บางกอก บูเลอวาร์ด รามอินทรา” ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้อำนาจสั่งการให้กรมทางหลวงตัดถนนผ่านหน้าโครงการบางกอก บูเลอวาร์ด รามอินทรา ทำให้การเดินทางเข้าออกสะดวก สามารถเข้าออกได้หลายทาง ซึ่งเป็นจุดขายของโครงการบางกอก บูเลอวาร์ด รามอินทรา

การสั่งการในครั้งนั้นทำให้พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ทักษิณ แต่ก็ไม่สามารถคว่ำนายกฯ ทักษิณ ลงได้ ด้วยเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ กุมเสียง ส.ส.ไว้ทั้งหมด

คนพื้นที่แฉใบสั่ง “ทักษิณ”ผุดสะพานข้ามเจ้าพระยาซ้ำซ้อน

ก่อนหน้านี้ก็เช่นเดียวกัน สำหรับการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา คือสะพานนนท์ 1 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้อำนาจในทางเดียวกับที่สั่งกรมทางหลวงตัดถนนผ่านหน้าโครงการ “บางกอก บูเลอวาร์ด รามอินทรา” โดยสั่งการให้ทำสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาลงฝั่งตะวันตกวัดโบร์ถดอนพรหม เชื่อมราชพฤกษ์ เข้าสู่ที่ดินผืนใหญ่ บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ ของตระกูลชินวัตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการ “บางกอก บลูเลอวาร์ด” ทั้งที่บริเวณใกล้กัน ระยะห่างเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น มีสะพานพระนั่งเกล้าที่กรมทางหลวงอยู่ระหว่างปรับปรุงและขยายเป็นสะพาน 2 ชั้น ซึ่งเท่ากับว่า ในระยะห่างกันเพียง 1 กิโลเมตร จะมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 2 แห่ง

หากมองในแง่เศรษฐกิจ ถือว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า และยังสูญเสียงบประมาณแผ่นดินโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลอยู่ในภาวะถังแตก ยิ่งไม่สมควรไปลงทุนโครงการที่ได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับเงินที่ลงไป และประชาชนในย่านนั้น เชื่อว่า โครงการดังกล่าวไม่ชอบมาพากล มีการเอื้อประโยชน์ให้กับตระกูลชินวัตรมากกว่าเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ และประชาชน

โครงการดังกล่าวเริ่มต้นที่บริเวณถนนศรีบุญญานนท์ ซึ่งเป็นทางโค้งของถนนนนทบุรี 1 ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ไปลงบริเวณถนนวัดโบถส์ดอนพรหม ข้ามแปลงที่ดินของบริษัท เอสซีแอสเสทฯ ที่พัฒนาโครงการบางกอก บูลเลอวาร์ด

จ้องฟัน “ทักษิณ” ซุกหุ้น SC เปิดสัมพันธ์ “Win Mark” กับ “Ample rich”

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการปกปิดข้อมูลการถือหุ้นของครอบครัวชินวัตร ที่ถือหุ้นในเอสซี แอสเสทฯ ซึ่ง คตส.อยู่ระหว่างตรวจสอบว่า เอสซี แอสเสท มีความสัมพันธ์กับ Win Mark กับ Ample rich อย่างไร และคาดว่าจะเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณ และพวกได้ เพราะมีหลักฐานชี้ชัดว่า Win Mark กับ Ample rich อยู่ภายใต้การควบคุมของคนคนเดียวกัน อย่างไรก็ตาม คงต้องรอผลพิสูจน์ของ คตส.อีกครั้งว่าจะออกมาในรูปแบบใด

รวมถึงการทุจริตซื้อที่ดินที่รัชดาภิเษก พื้นที่ 33 ไร่ มูลค่า 772 ล้านบาท ของคุณหญิงพจมาน ที่ คตส.กำลังตรวจสอบการได้มาของที่ดินว่า มีการใช้อำนาจในทางที่ผิดของพ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ เพราะขณะนั้นมี พ.ต.ท.ทักษิณ มีอำนาจสั่งการได้ทุกหน่วยงาน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคุณหญิงพจมานผู้เป็นภริยา ให้ชนะการประมูลในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับ

“ที่ดินรัชดาภิเษก ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี มีศักยภาพสูง แวดล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน อีกทั้งยังอยู่ใกล้แนวรถไฟฟ้าใต้ดิน หากจะพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ จะสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับตระกูลชินวัตร เพราะพื้นที่ตรงนี้ สามารถพัฒนาเป็นอะไรก็ได้ ไม่ติดกฎหมายผังเมือง”

แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า “ที่ดินที่รัชดาภิเษก เป็นที่สนใจของนักพัฒนาที่ดินมาก แต่ในช่วงของการเปิดประมูล ในวงการอสังหาริมทรัพย์รู้อยู่แล้วว่า คุณหญิงพจมาน ต้องการที่ดินแปลงนั้น จึงไม่มีใครอยากเข้าร่วมประมูล เพราะรู้ว่าไม่มีโอกาสชนะการประมูล หรือหากชนะก็มีสิทธิ์ที่จะถูกกลั่นแกล้งทางธุรกิจ จึงไม่ค่อยมีนักพัฒนาที่ดินเข้าร่วมประมูล ยกเว้น บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่จำเป็นต้องเข้าร่วมประมูลงาน

เพื่อให้การประมูลเป็นไปตามกติกาที่ต้องมีคู่แข่ง เพราะรู้กันอยู่แล้วว่า อนันต์ อัศวโภคิน เบอร์ 1 ในวงการอสังหาริมทรัพย์ มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับตระกูลชินวัตร ผ่านทางบุญคลี ปลั่งศิริ อดีตซีอีโอ ชินคอร์ป ซึ่งมีความเป็นไปสูงว่า คุณหญิงพจมาน จัดฉากให้อนันต์ เข้าร่วมประมูลด้วย”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เป็นไปไม่ได้ที่อนันต์ อัศวโภคิน มือ 1 ของเมืองไทยในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะพ่ายแพ้การประมูลต่อคุณหญิงพจมาน ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์น้อยกว่าอนันต์ หลายช่วงตัว แต่ที่อนันต์ ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ เพราะไม่ต้องการสร้างศัตรู โดยเฉพาะหากเป็นศัตรูที่มีอำนาจทางการเมือง อนันต์ในฐานะนักธุรกิจย่อมไม่ต้องการสร้างศัตรูในแวดวงการเมืองแน่นอน อีกทั้งการหลบให้กับคุณหญิงพจมานครั้งนี้ ยังทำให้อนันต์มีโอกาสทางธุรกิจมากกว่าคู่แข่งที่ตามติดชนิดหายใจรดต้นคอ หากพ.ต.ท.ทักษิณ ยังครองอำนาจอยู่เช่นเดิม

เครือข่ายชินวัตรแท็คทีมแตกไลน์รุกอสังหาฯ

ในตระกูลชินวัตร นอกเหนือจากเอสซีฯ ที่ยังมีบทบาทในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แล้ว ก่อนหน้านี้ยังมี “เจ๊แดง” หรือ “เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” ที่มีข่าวคราวพัวพันว่าเข้าไปซื้อโครงการบ้านจัดสรรหรูที่ถนนแจ้งวัฒนะ โดยใช้เครือข่ายของตนเข้ามาบริหารแทน ในนามโครงการ “ชิณนิชา วิลล์” แต่ไม่ปรากฏชื่อเจ๊แดงเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการแต่อย่างใด โดยล่าสุดได้ขายโครงการให้กับ ไพวงษ์ เตชะณรงค์ เจ้าของโครงการโบนันซ่า เขาใหญ่ ให้เข้ามาบริหารแทน พร้อมกับเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น “เบเวอรี่ ฮิลล์” ซึ่ง ไพวงษ์ ได้แก้ปัญหาหนี้ก้อนโตกว่า 600 ล้านบาท ด้วยการลงทุนกว่า 30 ล้านบาท สร้างบ้านตัวอย่าง ทำสวน ตกแต่งใหม่ และกระตุ้นยอดขายด้วยการลดราคาลง 10-15% ยอมตัดขาดทุนด้วยการตัดขายที่ดินในราคาถูกลง จากตารางวาละ 80,000 บาท เหลือ 60,000 บาท เพราะต้องการระบายสต๊อกออกไป (เจ๊แดงปั้น “ชินณิชา” จนติดหล่ม)

“เยาวเรศ” ขอแจมอสังหาฯ ส่งลูกชาย-ลูกสาวคุมธุรกิจ

ในด้านของ “เยาวเรศ ชินวัตร” น้องสาวอีกคนหนึ่งก็หันมาจับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกัน ในนาม บริษัท ชินวัตร โฮม จำกัด โดยวางตัวให้ รัตนะ และ ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ บุตรชายและบุตรสาวเข้ามาดูแล ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและฝ่ายขายตามลำดับ ส่วนตนเองดูแลภาพรวมในตำแหน่งซีอีโอ พัฒนา “ดาหลาบุรี” บ้านเดี่ยวและอาคารพาณิชย์สไตล์บาหลี บนแลนด์แบงก์เก่าเก็บกลางเมืองภูเก็ตเป็นโครงการแรก ราคาเริ่มต้น 11 ล้านบาทขึ้นไป มูลค่ากว่า 420 ล้านบาท ซึ่งคอนเน็กชั่นที่มีทำให้โครงการที่มีจำนวนยูนิตไม่มากนักขายได้เกือบหมดแล้ว

“เจ๊แดง” นำ “ทรท.” ไม่ตีบตัน ปั้น ASCON สร้างเม็ดเงิน!

แม้ทรัพย์สินของครอบครัวชินวัตรถูกอายัด ที่ลามมาถึงลูกสาวเจ๊แดง แต่การหาเม็ดเงินเพื่อใช้ในกิจกรรมในการกอบกู้อำนาจของไทยรักไทยยังไม่ถึงทางตัน แม้หุ้น SC,WIN,MLINK ถูกจับตา แต่ตัวอื่นยังใช้การได้ดี ASCON ปูทางสร้างเม็ดเงิน เพิ่มทุนแจกวอแรนต์ แถมหุ้นในเครือพายัพ เดินเครื่องไปก่อนหน้าแล้ว

การไล่ล่าอายัดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) จำนวน 8 ครั้ง เป็นเงินราว 6.5 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้มีการอายัดบัญชีเงินฝากของชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ลูกสาวเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย น้องสาวของทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2550 เป็นเงินจำนวน 100 ล้านบาท

เนื่องจาก คตส.พบว่าเงินจำนวนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเส้นทางเงินที่มาจากการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN ให้กับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ เมื่อ 23 มกราคม 2549 ซึ่งจะมีการพิจารณาคำร้องการพิสูจน์ทรัพย์สินในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ โดยที่แจ้งถึงที่มาของเงินก้อนดังกล่าวว่าเป็นการกู้ยืมมาจากบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมของพจมาน ชินวัตร เพื่อมาดำเนินธุรกิจตามปกติ

หลังจากที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติยุบพรรคไทยรักไทยเมื่อ 30 พฤษภาคม 2550 การเดินหมากเพื่อกอบกู้กลุ่มก้อนของอดีตลูกพรรคไทยรักไทยอย่างเป็นรูปธรรมมีขึ้นเมื่อ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมี เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เรียกประชุมอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย ที่ทำการพรรคเดิม อาคารไอเอฟซีที ถนนเพชรบุรีตัดใหม่

ตามมาด้วยข่าวการวางตัวสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามีของเยาวภา นั่งหัวหน้าพรรคใหม่ เพื่อกอบกู้กลุ่มก้อนของไทยรักไทยอีกครั้ง

นับเป็นการก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกอบกู้สถานการณ์ของกลุ่มไทยรักไทย หลังจากพี่ชายถูกยึดอำนาจและพรรคไทยรักไทยถูกยุบของเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวอดีตนายกรัฐมนตรี ที่แม้ตนเองจะถูกห้ามลงเล่นการเมืองจากการเป็นกรรมการพรรคที่ถูกลงโทษ

การออกมาขับเคลื่อนในครั้งนี้ทำให้ถูกจับตามองจากภายนอกว่า ทุนที่จะนำมาใช้ในการขับเคลื่อนนั้นจะนำมาจากไหน เพราะส่วนของพี่ชายและพี่สะใภ้รวมถึงของหลาน ๆ นั้นได้ถูก คตส.อายัดไปแล้ว หากจะมีเหลือคงเป็นเพียงบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC ที่ถือหุ้นใหญ่เป็นลูกชาย ลูกสาว ภรรยา และพี่ภรรยาของอดีตนายกรัฐมนตรี ที่น่าจะขยับขยายยากเนื่องจากหากเคลื่อนไหวอะไรคงตกเป็นที่จับตาของฝ่ายตรวจสอบ

ทั้งนี้ เรื่องคดีซุกหุ้นที่กรมสอบสวนคดีพิเศษที่กล่าวโทษทักษิณและพจมาน ชินวัตร เมื่อ 19 มิถุนายน 2550 ที่ปกปิดโครงสร้างของผู้ถือหุ้นในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) และผู้ถือหุ้นใหญ่มิได้รายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้น โดยให้นิติบุคคลต่างประเทศเป็นผู้ถือหุ้นอำพรางของ บริษัท เอสซี แอสเซท คอปอร์เรชั่นจำกัด (มหาชน) ก็ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการทางคดี แต่ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคมราคาปรับตัวขึ้นมาบ้างตามทิศทางของดัชนีโดยรวม แต่มูลค่าการซื้อขายไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

จับตาหุ้นเครือเจ๊แดง

ที่น่าจะสะดวกที่สุดเห็นจะได้แก่เครือข่ายของน้องสาวอดีตนายกที่สวมบทแม่ทัพร่วมกับสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ที่มีหุ้นในมือผ่านชื่อของบุตรสาวและบุตรชาย อย่าง บริษัท เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MLINK บริษัท วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ WIN และที่ว่ากันว่าเป็นของกลุ่มวงศ์สวัสดิ์ในทางพฤตินัยอย่าง บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASCON และบริษัท ทราฟฟิก คอร์นเนอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TRAF เนื่องจากเคยถือหุ้นใหญ่ใน 2 บริษัทนี้มาก่อนและได้ขายออกไปให้กับผู้รับซื้อที่บังเอิญเป็นคนในตระกูลวิไลลักษณ์แห่งสามารถคอร์ปอเรชั่น หรือ SAMART เข้ามารับซื้อไว้ทั้งคู่

2 บริษัทแรกไม่มีธุรกรรมทางการเงินใดๆ ที่สร้างความคึกคักให้กับหุ้นทั้ง 2 บริษัทที่ราคาและมูลค่าซื้อขายอยู่ในเกณฑ์ปกติ ขณะที่หุ้นที่มีผู้รับช่วงต่ออย่าง TRAF นั้นอยู่ในช่วงที่มีการลดทุนและเพิ่มทุนใหม่ ราคาหลังจากที่เปิดเทรดได้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาจึงไม่โดดเด่น และกลุ่มวิไลลักษณ์ยังคงถือหุ้นอยู่

แต่ที่ดูเหมือนว่าจะเริ่มมีความเคลื่อนไหวบ้างนั้น คือ พันธมิตรของวงศ์สวัสดิ์ อย่างตระกูลตนุมัธยา และตระกูลวิไลลักษณ์ แห่งกลุ่มสามารถ ได้ขายหุ้นออกมาให้กับทวีฉัตร จุฬางกูร หลานชายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย จำนวน 10 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 11.60 บาท เป็นเงิน 116 ล้านบาท

กลุ่มตนุมัธยาเคยร่วมกับกับวงศ์สวัสดิ์ในการพลิกฟื้นสถานะ ASCON มาก่อนและได้ขายหุ้นออกไปเมื่อเข้าสู่ถนนการเมือง โดยมีกลุ่มสามารถเข้ามาซื้อแทน เหมือนกับกรณี TRAF และที่น่าประหลาดใจคือ MLINK ขายหุ้นบริษัท พอร์ทัลเน็ท จำกัดให้กับบริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ SAMTEL เมื่อ 18 กันยายน 2549 ก่อนหน้าการยึดอำนาจเพียง 1 วัน ซึ่งบริษัทนี้ทำรายได้ให้กับ MLINK มากเนื่องจากได้สัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ

ที่น่าสนใจคือบริษัทที่ทำธุรกิจด้านสื่อสารอย่างสามารถยังได้รับงานบริหารจัดการขยะในสนามบินสุวรรณภูมิอีกด้วย ถือเป็นสายงานใหม่ที่กลุ่มนี้ได้รับในช่วงรัฐบาลไทยรักไทย อีกทั้งชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ยังเคยถือหุ้นในบริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) หรือ SIM ในอันดับที่ 12 จำนวน 2.55 ล้านหุ้นหรือ 0.59%

กลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจ และจุฬางกูร ถือเป็นกลุ่มที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับตระกูลชินวัตร โดยสรรเสริญ จุฬางกูร ประธานกรรมการ และมีมณฑาทิพย์ โกวิทเจริญกุล น้องสาวทักษิณ ชินวัตร อีกคน นั่งประธานกรรมการบริหาร ใน MLINK ของเยาวภา และทวีฉัตรยังถือหุ้นใน SC อีก 2.45 ล้านหุ้น

สร้างเม็ดเงินจาก ASCON

นอกจากนี้ หุ้น ASCON ได้เตรียมตัวติดเครื่องหลังจากที่มติกรรมการบริษัทเมื่อ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนใหม่ 100 ล้านหุ้นเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ในอัตรา 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคา 2.50 บาทต่อหุ้น พร้อมด้วยการมอบใบสำคัญแสดงสิทธิให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่อัตรา 2 หุ้นเดิมต่อ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) ที่ให้อัตราการใช้สิทธิที่ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิแปลงเป็นหุ้นสามัญของ ASCON ได้ 1 หุ้น ที่ราคา 4.50 บาท

“การเพิ่มทุนในครั้งนี้เป็นมติที่ออกมาหลังจากที่กลุ่มตนุมัธยาและวิไลลักษณ์ได้ขายหุ้นให้กับกลุ่มจุฬางกูรเพียง 2 วัน ที่สำคัญคือ แม้ผู้ถือหุ้นเดิมจะไม่ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่ก็ได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิฟรีเช่นกัน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ราคาหุ้นและใบสำคัญแสดงสิทธิของ ASCON จะร้อนแรงในอีกไม่ช้า” นักวิเคราะห์กล่าว

เมื่อพิจารณาจากราคาการใช้สิทธิจากใบสำคัญแสดงสิทธิที่ 4.50 บาทเทียบกับราคาหุ้นสามัญที่จะลดลงจากหุ้นเพิ่มทุน 100 ล้านหุ้นเทียบกับราคาหุ้นที่ประมาณ 12 บาทแล้วก็ยังน่าจูงใจให้เข้าไปลงทุน ส่วนจะใช้สิทธิหรือไม่นั้นคงแล้วแต่บุคคล เชื่อว่าราคาของใบสำคัญแสดงสิทธิเมื่อเข้าทำการซื้อขายแล้วน่าจะมีความคึกคักสูง

ขณะที่โครงการอาคารชุดที่เพิ่งซื้อมาสามารถผันเป็นเงินสดได้อย่างไม่ยากด้วยช่องทางกองทุนอสังหาริมทรัพย์

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า หากจะตั้งข้อสังเกตุว่าเงินของอดีตนายกรัฐมนตรีถูกอายัดไป 5.6 หมื่นล้านบาทแล้ว เม็ดเงินที่จะมาใช้เพื่อการเลือกตั้งครั้งใหม่หรือใช้เพื่อการอื่นของกลุ่มไทยรักไทยนั้น พวกเขายังหาได้ในตลาดหุ้นอีกมาก โดยเฉพาะหุ้นในเครือข่ายที่แม้ไม่ปรากฏชื่อว่าเป็นเจ้าของแต่ก็รู้กันโดยทั่วไปว่ามีตัวแทนเข้าไปถือหุ้นทั้งนั้น

หุ้น SC ของตระกูลชินวัตร และ MLINK หรือ WIN ของเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ คงไม่โดดเด่นมากนัก เพราะเสี่ยงต่อการถูกจับตาจากหน่วยงานรัฐ แต่หุ้นที่อยู่ภายใต้อาณัติของพวกเขาจะกลายเป็นตัวที่เคลื่อนไหวสร้างเม็ดเงินให้แทน และไม่เพียงแค่หุ้นในกลุ่มนี้เท่านั้น แต่ยังมีหุ้นในเครือข่ายของพายัพ ชินวัตร ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างโดดเด่นและซื้อขายกันอย่างคึกคัก

ขณะที่หุ้นใหญ่อย่าง PTT PTTEP TOP และตัวอื่นๆ อีกภายใต้นอมินีต่างชาติที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงนี้ ก็สามารถสร้างเม็ดเงินจำนวนมากให้กับกลุ่มอำนาจเดิมได้อย่างไม่ยากเย็น

อายัดทรัพย์ตระกูลชินฯ 8 รอบ

คตส.เดินหน้าอายัดทรัพย์ล้างบางตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์-วงศ์สวัสดิ์ 8 รอบ แม้ว่าจะมีความพยายามโยกย้ายถ่ายโอนเงินอย่างต่อเนื่อง คตส.มั่นใจไม่เกินสัปดาห์หน้าอาจมีรอบ 9 คาดวงเงินไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท พร้อมกำชับธนาคารสถาบันการเงิน รายการความเคลื่อนไหวเงินตระกูลชินฯทุกขณะ

แผนบันได 4 ขั้นของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) อันได้แก่ ขั้นแรก ยุบพรรคที่ทำผิดกฎหมาย ขั้นที่ 2 ดำเนินคดีอาญากับผู้มีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชัน ขั้นที่ 3 พรรคขั้วอำนาจเก่าแตกสลาย อดีต ส.ส.ที่เป็นสมาชิกวิ่งวุ่นหารังใหม่ แต่ขั้นที่ 4 เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งยังคงต้องรอลุ้นกันต่อไป

ทว่า ตัวแปรสำคัญก็คือ ขั้นที่ 3 ที่ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของรัฐบาล-คมช.ค่อนข้างได้เปรียบอย่างมากก็คือ การอายัดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว ซึ่งจากการอายัดทรัพย์ 8 ครั้ง ซึ่งนับจากมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินไว้ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย. 50 ที่ผ่านมา จนถึงบัดนี้ได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์แล้วรวมทั้งสิ้น 8 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 เป็นครั้งที่มีการอายัดทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงสุดถึง 52,884 ล้านบาทจาก 21 บัญชีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ คุณหญิงพจมาน จากการขายหุ้นชินฯ ซึ่งต่อมา นพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาตระกูลชินวัตร เผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณว่าจะกลับมาสู้คดี แต่ก็เงียบหายไปในที่สุด นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้ควักประเป๋าเป็นเงินกว่า 210 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 945 ล้านบาท เพื่อซื้อทาวน์เฮาส์ ขนาด 5,100 ตารางฟุตอีกด้วย

ครั้งที่ 2 คตส.ได้สั่งอายัดทรัพย์เครือข่ายชินวัตรเพิ่มเติมอีก 8,000ล้านบาท หลังพบว่ามีการโยกย้ายเงินออกจากบัญชีก่อนที่จะถูกคตส.สั่งอายัดทรัพย์ในรอบแรก ซึ่งการอายัดทรัพย์รอบนี้เป็นบัญชีของ "นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์" พี่ชายบุญธรรมของ "คุณหญิงพจมาน ชินวัตร" และ บัญชีของ "นางสาวชิณนิชา วงศ์สวัสดิ์" ซึ่งเป็นบุตรสาวของ "เจ๊แดง" "นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์" ซึ่งภายหลังมีการอายัดทรัพย์ครั้งนี้ มีกระแสข่าวว่าพ.ต.ท.ใช้เงิน 2,000 ล้านเพื่อเจรจากับพล.อ.สนธิเพื่อช่วยเหลือในคดีทุจริตและการอายัดทรัพย์

ครั้งที่ 3 คตส.พบว่ามีการเคลื่อนย้ายเงินฝากจากบัญชีที่ถูกอายัดไว้ จึงต้องตามสอบเส้นทางเงินและสั่งอายัดเพิ่มเติมเป็นบัญชีเงินฝาก 5 บัญชี และเช็คสั่งจ่าย 2 ใบ วงเงินรวม 4,957.2 ล้านบาท ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณเองก็ได้เตรียมการซื้อสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ประเทศอังกฤษด้วยมูลค่าประมาณ 5 หมื่น 6 พันล้านบาท

ครั้งที่ 4 วันที่ 25 มิถุนายน คตส.มีคำสั่งอายัดบัญชีเงินฝากของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เพิ่มเติมอีก 3 บัญชีจากที่ได้อายัดไว้ก่อนหน้านี้ วงเงิน 4,775 ล้านบาท

ครั้งที่ 5 ยังคงเป็นนายบรรณพจน์ ที่ถูกอายัดทรัพย์สินอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้เป็นหุ้นใน 3 บริษัท รวมมูลค่า 2,683 ล้านบาท

ครั้งที่ 6 ในครั้งนี้ ถึงคราวของ "โอ๊ค" นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ที่คตส.ได้ทำการอายัดเงินจากการขายหุ้นชินฯวงเงินประมาณ 1,900 ล้านบาท ทรัพย์ที่ถูกอายัดในครั้งนี้เป็นบัญชีเงินฝากของบริษัท ประไหมสุหรี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด วงเงิน 800 ล้านบาท และบัญชีเงินฝากอื่นๆอีก 3 บริษัทบัญชีละ 600,400,100 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัท ประไหมสุหรีฯ นั้นเป็นก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ยูเค สปอร์ต อินเวสต์เมนต์ (UKSIL) ซึ่งเป็นบ.ตัวแทนในการซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ของ พ.ต.ท.ทักษิณอีกด้วย ซึ่งทาง คตส.เองก็ได้เตรียมขยายผลไปยังการเข้าซื้อสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี้ต่อไป

ครั้งที่ 7 คตส.ได้ออกหนังสือเวียนออกคำสั่งเร่งด่วนเพื่ออายัดบัญชีเงินฝากของนายพานทองแท้ ที่มีส่วนกับการขายหุ้นชินคอร์ปจำนวนเงิน 500 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยเงินสดในบัญชี 3 ธนาคาร

ครั้งที่ 8 ก็ยังคงเป็นการเดินหน้าอายัดบัญชีของนายพานทองแท้ เป็นวงเงินรวมกว่า 1,917 ล้านบาท ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าวงเงินดังกล่าวของนายพานทองแท้ มีการโอนให้กับคุณหญิงพจมาน นอกจากนี้ ทางคตส.ยังได้มีการส่งหนังสือไปยังธนาคารและสถาบันการเงินที่ความเกี่ยวข้องเพื่อรายงานความเคลื่อนไหวของเงินในบัญชีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม คตส.ยังไม่ลดละความพยายามในการตรวจสอบเส้นทางเงินของคนในครอบครัวชินวัตร และดามาพงศ์ เพิ่มเติม ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจมีการสั่งอายัดทรัพย์เพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 9 คาดว่าวงเงินเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

ทั้งนี้ คตส.ได้เปิดโอกาสให้ตระกูลชินวัตร และเครือญาติเข้าจี้แจงหลักฐานการได้มาของทรัพย์สินทั้งหมด ภายใน 60 วัน ซึ่งหากไม่สามารถพิสูจน์การได้มาของทรัพย์สินที่ถูกอายัดได้ ก็จะถูกยึดเข้ารัฐ ซึ่งจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณต่อสู้ได้ยากลำบากมากขึ้นทั้งในทางการเมืองและทางธุรกิจ จึงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะงัดกลยุทธ์ใดเข้ามาสู้ในเกมที่เดิมพันด้วยอนาคตของตนเองและครอบครัว


“เอสซีแอสเสท” เจอทางตันพลิกทุกกระบวนท่าดันยอดขาย

หมดยุค “ทักษิณ ชินวัตร” เรืองอำนาจ เอสซี แอสเสท ต้องเจอมรสุมรอบด้าน โครงการขายยาก ต้องโหมจัดกิจกรรมล้างสต็อกตลอดทุกเดือน ด้านบริหารหมดทางเฟ้นมือดีแทนที่ สุรเธียร จักรธรานนท์ ขณะที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มือยังไม่ถึงด้านอสังหาริมทรัพย์ ต้องพึ่งคนนอกช่วยงานขาย

หลังจากดีลครั้งประวัติศาสตร์ “ขายหุ้นชินคอร์ปให้กองทุนเทมาเส็ก” เกิดขึ้น ธุรกิจที่ครอบครัวอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ถืออยู่ในมือเห็นจะเหลือก็แต่เพียงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในนาม “เอสซี แอสเสท” เท่านั้น ซึ่งหลังจากขายหุ้นชินคอร์ปออกไป ก็โยกให้น้องสาวคนสุดท้อง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่เคยดูแลเอไอเอสให้เข้ามานั่งบริหารเอสซี แอสเสท คอยดูแลพอร์ตการลงทุนพัฒนาที่ดินทั้งหมดแทน

ก้าวแรกในอสังหาฯ ของยิ่งลักษณ์

ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของยิ่งลักษณ์ที่เริ่มต้นจากศูนย์ การเข้ามานั่งเป็นหัวเรือใหญ่ของยิ่งลักษณ์ในเอสซีฯ ตั้งแต่เดือน มี.ค.49 เป็นจังหวะที่ยิ่งลักษณ์ต้องเข้ามาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทั้งหมด โดยมีสหัส ตันติคุณ กรรมการผู้อำนวยการ คอยเป็นมือขวาช่วยบริหารงานในภาพรวมอยู่ไม่ห่าง ซึ่งยิ่งลักษณ์บอกว่าแม้จะต้องเข้ามาเรียนรู้ใหม่ แต่สามารถประยุกต์เอาประสบการณ์เดิมที่เคยผ่านงานในด้านการบริหารจัดการองค์กรขนาดใหญ่ที่เอไอเอสมาใช้ได้

ความเปลี่ยนแปลงอันดับแรกของเอสซีฯ ที่ยิ่งลักษณ์ตั้งใจไว้ก็คือ การรีแบรนดิ้งองค์กรครั้งใหญ่ แม้ว่าหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นความพยายามที่จะลบภาพพัวพันการเมืองออกไปให้ได้ เพื่อให้ธุรกิจของตระกูลชินวัตรยังเดินหน้าต่อไปได้ แต่ยิ่งลักษณ์ปฎิเสธว่า การรีแบรนดิ้งเพราะต้องการให้เอสซีฯ มีภาพของความเป็นดีเวลลอปเปอร์ที่ชัดเจนขึ้นเท่านั้น หลังจากนั้นอีก 8 เดือนต่อมา สหัส ก็ประกาศลาออก โดยให้เหตุผลว่าต้องการออกไปทำธุรกิจส่วนตัว แต่ก็มีกระแสลือว่าสหัสถูกแรงกดดันทางการเมืองในองค์กร รวมทั้งความสามารถที่มีไม่เทียบเท่ากับ สุรเธียร จักรธรานนท์ เจ้าของตำแหน่งคนก่อนที่สหัสมานั่งเก้าอี้แทน

ช่วงเวลาที่ยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารงานในเอสซีฯ เป็นจังหวะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มอยู่ในอาการติดหล่ม จากปัจจัยลบต่างๆ ทั้งราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบทำให้ตลาดรวมซบเซา กำลังซื้อหดหายไปมาก ซึ่งดีเวลลอปเปอร์อย่างเอสซีฯ ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญกับวิบากกรรมครั้งนี้เช่นเดียวกัน กลายเป็นอุปสรรคอีกขั้นที่ยิ่งลักษณ์จะต้องฝ่าฟันเพื่อรักษาธุรกิจที่เหลืออยู่หนึ่งเดียวของตระกูลไว้ให้ได้

ครั้งแรกของการปรากฏตัวของยิ่งลักษณ์ในตำแหน่งใหม่ องค์กรใหม่ต่อหน้าสื่อมวลชน ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงทิศทางของเอสซีฯ ต่อจากนี้ว่า “จะให้ความสำคัญต่อการเติบโตของบริษัทอย่างมีเสถียรภาพ พัฒนาโครงการภายใต้แนวคิด i-home ที่ผนวกเอานวัตกรรมของเทคโนโลยีที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน พร้อมชูกลยุทธ์ Convergence ผสมผสานความทันสมัยของเทคโนโลยีสารสนเทศรวมเข้ากับรายละเอียดต่างๆ ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น การประหยัดพลังงาน การออกแบบ ความปลอดภัย ทำให้บ้านของเอสซีฯ สามารถเติมเต็มความต้องการของผู้อยู่อาศัยที่ชัดเจนมากขึ้น”

สลัดภาพอิงชินคอร์ป

เวลาผ่านไปจากนั้นเกือบ 1 ปี ยิ่งลักษณ์ปรากฏกายต่อหน้าสื่อมวลชนอีกครั้งหลังจากเงียบหายไปนานพร้อมภาพใหม่ของเอสซี แอสเสท ในโลโก้องค์กรใหม่ คอนเซ็ปต์ใหม่ ที่สลัดลูกโลกสีฟ้า โลโก้เดียวกับชินคอร์ปออกไป เหลือเพียงตัวอักษร SC Asset สีส้ม ภายใต้สโลแกน “ชีวิตที่สมบูรณ์แบบเพื่อวันนี้และวันหน้า (Completed Living for Today & Tomorrow)” พร้อมปรับโลโก้ของแบรนด์สินค้าแต่ละกลุ่มใหม่เพื่อสะท้อนจุดเด่นของแต่ละสินค้าด้วย และตีโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคให้เข้ากับความต้องการของผู้ซื้อบ้านยุคใหม่

นอกจากนี้ยังปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ให้ชัดเจนขึ้น ด้วยการแยกสายงานบริหารออกเป็นสายงานพัฒนาทรัพย์สินแนวราบ และแนวสูง พร้อมดึง เรืออากาศเอก กรี เดชชัย อดีตผู้บริหารโครงการแนวราบจากบริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ คิวเฮ้าส์ ดีเวลลอปเปอร์ยักษ์ใหญ่ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานพัฒนาทรัพย์สินแนวราบ พร้อมทั้งช่วยดูแลการวางระบบงานภายในองค์กรโดยรวมด้วย โดยพรชัย ศรีประเสริฐ นั่งตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานทรัพย์สินแนวสูง

โละสต๊อกบ้านกว่า 100 ยูนิต

ก่อนหน้าที่ กรี จะเข้ามาดูแลเอสซีฯ ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว กระทบทำให้เอสซีฯ เหลือสต็อกบ้านสร้างเสร็จก่อนขาย ถึง 100 กว่ายูนิต บางโครงการเปิดขายมาตั้งแต่ปี 2548 สต็อกบ้านเหล่านี้เหมือนเป็นชนักปักหลังทำให้ตระกูลชินวัตรยังไม่สามารถต่อยอดความฝันจะที่จะขยายความยิ่งใหญ่เปลี่ยนผ่านจากธุรกิจเทเลคอมมาสู่อสังหาริมทรัพย์ได้มากนัก ตราบใดที่สต็อกบ้านเหล่านั้นยังไม่แปรเปลี่ยนเป็นสภาพคล่อง หมุนเวียนเป็นเงินลงทุนสำหรับพัฒนาโครงการใหม่ๆ เพื่อเสริมฐานให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งถ้าเอสซีฯ แก้ปัญหานี้ได้ลงตัว น่าจะทำให้ทุกอย่างราบรื่นขึ้น

แผนธุรกิจอันดับแรกที่เอสซีต้องทำ คือ เคลียร์สต๊อกบ้านเก่าเพื่อปิดโครงการ พร้อมกับการลงทุนโครงการใหม่ที่ไม่มากเกินตัว

แนวคิดการทำตลาดแบบใหม่ของเอสซีฯ คือมีการจัดกิจกรรมที่โครงการต่างๆ เฉลี่ยเดือนละครั้ง พร้อมงัดโปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อสามารถดึงลูกค้าเข้าชม และได้เห็นภาพจริงของโครงการแล้ว จะทำให้ลูกค้ามีโอกาสตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น

กรี บอกว่า การจัดกิจกรรมทำให้ยอดขายของเอสซีฯดีขึ้นมาก จากเดิมเฉลี่ย 100 ล้านบาทต่อเดือน เป็น 200 ล้านบาทต่อเดือน ในช่วงการจัดงาน “SC Day มหัศจรรย์วันเดียว บ้านเด่น ทำเลดี ราคาเด็ด” เมื่อ พ.ค.ที่ผ่านมาทั้งโครงการบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม คนเข้ามาเยี่ยมชมโครงการมาก ก็สามารถทำยอดขายได้ 145 ล้านบาท ทะลุเป้าที่ตั้งไว้ 100 ล้านบาท

ส่วนในงานมหกรรมบ้านและคอนโด สามารถทำยอดขายได้ 120 ล้านบาท ทะลุเป้าที่ตั้งไว้ 100 ล้านบาทเช่นเดียวกัน ขณะนี้มียอดขายโครงการแนวราบแล้ว 1,200 ล้านบาท

ความเป็นธุรกิจของตระกูลชินวัตรกับความวุ่นวายของคดีความซุกหุ้นภาค 3 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าเอสซีฯ หรือไม่ กรี ตอบว่า “ทุกวันนี้ 90% ของลูกค้าที่เข้าชมโครงการรับรู้อยู่แล้วว่าธุรกิจเราเป็นของใคร ตั้งแต่ทำมา เพิ่งมีลูกค้าเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ขอเงินคืน หลังจากที่รู้ว่าเราเป็นใคร เพราะไม่มั่นใจว่าอนาคตเราจะเป็นอย่างไร”

เจ๊แดงปั้น “ชินณิชา” จนติดหล่ม

เชียร์-ชิณนิชา วงศ์สวัสดิ์ เจเนอเรชัน 2 แห่งตระกูลชินวัตร กับบทบาทในโลกธุรกิจที่เจ๊แดง-เยาวภา ทุ่มคอนเนกชันสุดตัวสานฝันลูกสาวให้เป็นจริง พร้อมขยายอาณาจักรธุรกิจชินวัตรให้แข็งแกร่ง

ในบรรดาเจเนอเรชันที่ 2 ของตระกูลชินวัตร นอกเหนือจากโอ๊ค-เอม- อุ๊งอิ๊ง ที่ถูกจับตามอง หลังจากกลายเป็นเศรษฐีจากการโอนหุ้นของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร เมื่อคราวซุกหุ้นครั้งแรกแล้ว เชียร์-ชิณนิชา วงศ์สวัสดิ์ บุตรสาวของเจ๊แดง-เยาวภา น้องสาวของทักษิณ กับ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ก็ถูกจับตามองไปด้วย หลังจากที่พบว่า ทุกธุรกิจของตระกูลมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกันแบบไม่ธรรมดา!

เพราะ ชิณนิชา เป็นหลานสาวของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งแม่ก็ยังมีตำแหน่งใหญ่โตทางการเมือง จึงปฏิเสธไม่ได้ที่ใครๆ จะคิดว่าเธอจะใช้คอนเนกชันทางการเมืองของแม่และลุงมาเอื้อกับธุรกิจส่วนตัวของเธอเอง

ทุกครั้งที่เจอหน้า เยาวภา มักจะแก้ต่างแทนเสมอว่า “เชียร์” ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ธุรกิจที่ทำ มาจากความตั้งใจล้วนๆ เพราะมีความตั้งใจที่จะปั้นธุรกิจของตัวเองอย่างจริงจัง “เชียร์” จึงเลือกที่จะเดินในทางสายนี้ ซึ่งโชคดีที่สอดคล้องกับความตั้งใจของคนรุ่นแรกที่หวังจะสร้างความยิ่งใหญ่ของธุรกิจ เป็นรากฐานของตระกูลในระยะยาว

เส้นทางการเมืองของอดีตนายกฯ ทักษิณ หวังเพียงเข้ามาเล่นการเมืองไม่นาน เพื่อปูทางสะดวกให้กับหลายธุรกิจของตระกูลเท่านั้น เพราะอะไรๆ ในโลกใบนี้ย่อมไม่แน่นอน บันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สิ่งที่ทักษิณเรียนรู้ได้ คือ ไม่มีใครยืนอยู่กับความยิ่งใหญ่ในจุดเดิมได้ตลอดกาล

เพราะตัวตนที่แท้จริงของทักษิณ คือ นักธุรกิจ บวกกับสัจธรรมที่ได้เรียนรู้ จึงไม่แปลกที่เขาเลือกจะไม่เล่นการเมืองตลอดไป เมื่อวางหมากในเรื่องต่างๆ ก็พร้อมก้าวลงจากเวทีการเมืองอย่างสง่างาม เพราะทุกอย่างเอื้อให้ธุรกิจของตนแล้ว แต่เพราะดีลขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกองทุนเทมาเส็ก สิงคโปร์ มูลค่ากว่า 73,000 ล้านบาท โดยไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว สร้างความกังขา จนสังคมยอมรับไม่ได้

ลึกๆ “เชียร์” เป็นเลือดใหม่อนาคตไกล ยื่งเมื่อสนใจธุรกิจด้วยแล้ว หากปั้นให้แข็งแกร่ง ก็จะกลายเป็นแขนขาสานความยิ่งใหญ่ของตระกูลได้ไม่ยาก แต่ด้วยวัยวุฒิเพียง 25 ปีในขณะนั้น ภาพของ “เชียร์” กลับโดดเด่นเกินคนรุ่นเดียวกัน ทั้งเป็นผู้บริหารโครงการ ชินณิชา วิลล์ ของบริษัท สร้างสิน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัดและบริษัท วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่ง Chief Strategy Officer (CSO)

นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการในหลายบริษัท ได้แก่ บริษัท แซนด์ฮอค พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด, บริษัท โซล่าร์ พาวเวอร์ ซิสเต็ม จำกัด, บริษัท วาย. ชินวัตร จำกัด, บริษัท วินโคสท์ เซอร์วิส จำกัด, บริษัท อินนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท อินนิค มีเดีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท แอล แอล เอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ตำแหน่งผู้บริหารในหลายบริษัทในวัยเพียง 26 ปี ถูกมองว่าเพราะความเป็นบุตรสาวเจ๊แดง หลานสาวทักษิณ หรือความสามารถที่แท้จริงกันแน่ จึงทำให้ “เชียร์” ก้าวขึ้นมายืนอยู่ในแถวหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะตำแหน่งกรรมการต้องอาศัย ประสบการณ์ที่สั่งสมมานาน ทำให้ผู้ถือหุ้นเชื่อใจได้ว่า บุคคลคนๆ นี้มีกึ๋นพอที่จะกำหนดทิศทางให้องค์กรให้เติบโตต่อไปได้

แบ็คกราวด์การศึกษาของ “เชียร์” มองดูแล้วไม่แตกต่างจากลูกคนมีฐานะทั่วไป หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการเงิน (ภาคภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ไปคว้าปริญญาโท MBA ที่ Kent Business School University of Kent at Canterbury ประเทศอังกฤษ ในขณะที่พี่ชาย ยศชนัน เรียนวิศวกรรมศาสตร์ และน้องสาว ชยาภา เรียนกฎหมาย และหันไปเอาดีด้านการร้องเพลงอยู่พักหนึ่ง ซึ่งผลงานอัลบั้มแรก เจ๊แดงสั่งเปิดค่ายเพลงขึ้นซัปพอร์ตลูกสาวสุดที่รักโดยเฉพาะ ทำให้ทุกคนได้ประจักษ์ว่าเพื่อบุตรสาวเจ๊แดงทำได้ทุกอย่าง

เพราะเหตุนี้จึงไม่แปลกที่ “เชียร์” จะก้าวล้ำนำหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะมีคุณแม่อย่างเจ๊แดง อาศัยคอนเน็คชั่นที่มีเป็นทางลัดให้ “เชียร์” ก้าวสู่จุดหมายได้ในเวลาไม่นาน แม้ชั่วโมงบินในโลกธุรกิจจะน้อยมาก นอกเหนือจากในห้องเรียน “เชียร์” มีแค่ประสบการณ์สมัยเด็กเฝ้าดูการทำงานของคุณแม่ และการฝึกงานสมัยเรียนที่ บริษัท เอ็ม ช็อป โมบาย ซึ่งก็เป็นบริษัทของคุณแม่อีกเช่นกัน

อีกทั้งการบริหารพื้นที่คลังสินค้าย่านบางนาของ วินโค้สท์ฯ ผู้ถือหุ้นในเอ็มลิงค์ (MLINK), ซีเอส ล็อกซอินโฟ (CSL) รวมทั้งก่อนหน้านี้ใน แอสคอน ที่ถอนหุ้นออกไปแล้ว ก็เป็นคอนเน็คชั่นที่ได้มาจากเจ๊แดงทั้งนั้น ที่ วินโค้สท์ฯ เจ๊แดง ส่ง “ภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา” จากเอ็มลิงค์ ธุรกิจของครอบครัววงศ์สวัสดิ์ มาเป็นมือขวาให้ “เชียร์” ในฐานะซีอีโอ โมเดลของวินโค้สท์เปรียบเสมือนหลักสูตรการจัดการผู้นำ เพราะทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยทีมที่คัดสรรมือดีจากหลายอุตสาหกรรม ทุกอย่างถูกวางไว้อย่างรอบคอบ เพื่อผลักดันให้ “เชียร์” เจนเนอเรชั่น 2 ของตระกูลชินวัตร ก้าวสู่แถวหน้าของนักธุรกิจ และรุกคืบสานฝันความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรชินวัตรให้เร็วที่สุด แต่ฝันนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ต้องรอดูว่า “เชียร์” จะให้การ คตส. อย่างไร หลังจากถูกชนักปักหลังที่ คตส.สั่งอายัดบัญชีเงินฝาก 100 ล้านบาทพ่วงไปพร้อมกับญาติๆ อย่างพร้อมเพรียง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.