เบรกธอส.ทำซีเคียวตลาดออฟชอร์หวั่นดันบาทแข็ง-รอเศรษฐกิจขาขึ้น


ผู้จัดการรายวัน(24 กรกฎาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

คลังปิดทางธอส.ทำซีเคียวตลาดออฟชอร์หวั่นกดดันค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ระบุพอร์ตสินเชื่อล็อตแรก 4 หมื่นล้านบาทต้องรอจังหวะเศรษฐกิจขาขึ้นดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุน ขณะที่ดอกเบี้ยสวนทางตลาดโลกอาจทำให้ต้องเลื่อนการขายบอนด์ออกไปอีกระยะหนึ่ง เตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมซีเคียวรีไทเซชั่นร่วมกับสถาบันการเงินทั้งระบบหวังลดความเสี่ยงการปล่อยสินเชื่อ

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การทำซีเคียวรีไทเซชั่นของธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) จากพอร์ตสินเชื่อวงเงิน 40,000 ล้านบาทนั้น จากเดิมที่มีแผนการออกพันธบัตรขายทั้งในประเทศและต่างประเทศอาจเหลือเพียงการขายภายในประเทศเพียงอย่างเดียว เนื่องจากหากมีการขายในต่างประเทศจะทำให้มีเงินสกุลต่างประเทศไหลเข้ามามากอาจเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

"วงเงินทำซีเคียวรีไทเซชั่น 4 หมื่นล้านบาทของธอส.อาจมีการทบทวนแผนการออกบอนด์อีกครั้งจากเดิมที่วางแผนขายทั้งในตลาดออนชอร์และออฟชอร์ คงเหลือเพียงการขายเฉพาะตลาดออนชอร์เท่านั้นเพราะหากเงินสกุลต่างประเทศไหลเข้ามามากจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกได้” นายสมหมายกล่าว

นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า การทำซีเคียวรีไทเซชั่นพอร์ตสินเชื่อของธนาคารจำนวน 40,000 ล้านบาทที่เปิดให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้งไทยและต่างประเทศยื่นข้อเสนอเข้ามานั้นก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะออกพันธบัตรขายได้เมื่อไรเนื่องจากมีปัจจัยความไม่แน่นอนหลายประการทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งหากมีการตัดสินใจทำในช่วงนี้ขั้นตอนการทำจะเสร็จสินภายใน 9 เดือน

ทั้งนี้ ภาวะค่าเงินบาทในปัจจุบันที่มีความแตกต่างกันทั้งในตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศอาจทำให้ต้องเลื่อนการออกพันธบัตรออกไปอีก โดยเฉพาะการออกขายในตลาดต่างประเทศนั้นลำบากมากทำให้ต้นทุนในการออกพันธบัตรสูงขึ้นและหากค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นเช่นนี้ต่อไปอาจระงับการทำซีเคียวรีไทเซชั่นออกไปก่อนได้ต้องรอให้อยู่ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้นก่อน

"การจะทำซีเคียวรีไทเซชั่นหรือไม่นั้นต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยภาวะเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่ท้ายที่สุดแล้วธอส.ก็มีความจำเป็นต้องทำซีเคียวรีไทเซชั่นเนื่องจากกระทรวงการคลังยังไม่พิจารณาเพิ่มทุนให้ธอส. ดังนั้น ธอส.จึงต้องทำซีเคียวรีไทเซชั่นเพื่อเพิ่มเงินทุนในการปล่อยสินเชื่อ แต่หากจะทำทันทีก็ติดปัญหาหลายอย่างรวมทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยที่สวนทางกับดอกเบี้ยในตลาดโลก ต้องรอให้ทุกอย่างอยู่ในภาวะปกติก่อนจึงจะสามารถทำได้” นายขรรค์กล่าว

นายขรรค์กล่าวว่า ธนาคารจะจัดสัมมนาเกี่ยวกับการทำซีเคียวรีไทเซชั่น โดยนำพอร์ตสินเชื่อดีของธนาคารจัดเป็นกลุ่มๆ ออกขายให้กับผู้ที่สนใจทั้งนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน ซึ่งการจัดสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการสัมมนาร่วมกันกับธนาคารพาณิย์และสถาบันการเงินทุกแห่งทั่วประเทศในวันพุธที่ 25 กรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ การทำซีเคียวรีไทเซชั่นสินเชื่อของสถาบันการเงินจะเกิดผลดีต่อสถาบันการเงินนั้นๆ คือสามารถช่วยในการบริหารความเสี่ยงได้ดี ลดความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวได้ดีขึ้นรวมทั้งเป็นการเพิ่มในเรื่องของเงินกองทุน เนื่องจากในปัจจุบันกระทรวงการคลังยังไม่อนุมัติการเพิ่มทุนให้กับธนาคารเมื่อปล่อยสินเชื่อมากขึ้นจะทำให้เงินกองทุนของธนาคารลอลง การทำซีเคียวรีไทเซชั่นจึงเป็นอีกหนึ่งทางออกที่เหมาะสม

"ที่ผ่านมาสถาบันการเงินในประเทศไทยยังไม่เคยมีการพูดถึงการทำซีเคียวรีไทเซชั่นกันอย่างจริงจังการจัดสัมมนาครั้งนี้จึงถือเป็นการระดมความคิดเห็นพูดถึงเรื่องโครงสร้างการทำซีเคียวรีไทเซชั่นว่าหากทำแล้วจะสามารถลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ ของธนาคารได้อย่างไรบ้าง” นายขรรค์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.