มูลค่าอสังหาฯไทยขยับสูงตามค่าบาทฝรั่งกู้นอกซื้อที่อยู่อาศัยจ่ายแพงขึ้น8%


ผู้จัดการรายวัน(24 กรกฎาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

โจนส์ แลงฯ บริษัทให้บริการและบริหารการลงทุนด้านอสังหาฯระดับโลก ฟันธงค่าเงินแข็งโป๊กกระทบธุรกิจอสังหาฯทั้งประเภทโรงงานอุตสาหกรรม โกดัง และอาจพ่วงถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้างโรงงาน หลังเริ่มมีสัญญาณปิดโรงงาน ขณะที่นักลงทุนต่างชาติต้องควักเงินซื้อที่อยู่อาศัย บ้านพักตากอากาศแพงขึ้น คาดปัจจุบันเทียบต้นปี หากกู้เงินซื้อทรัพย์ต้องจ่ายสูงถึง 8%

การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท มีปัจจัยหลักมาจากการที่เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ทั่วโลก ประกอบกับการที่มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะที่ผ่านเข้ามาทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นไปอีก การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ไม่ได้เพียงแต่สร้างความกังวลใจให้แก่ภาคธุรกิจการส่งออกเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อภาคธุรกิจอสังหาฯด้วย

นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนที่สนับสนุนให้รัฐบาล ใช้นโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก เพื่อควบคุมการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งในทางทฤษฎี ดอกเบี้ยระดับต่ำส่งผลดีต่อผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาฯที่พึ่งพาเงินกู้จากสถาบันการเงิน และในขณะเดียวกันจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ภาคธุรกิจที่อยู่อาศัย เนื่องจากจะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยลดลงด้วย แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการแข็งค่าของเงินบาทจะมีผลในเชิงลบต่อภาคธุรกิอสังหาฯโดยรวมมากกว่าผลดี

ในขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงอยู่และการใช้จ่ายของผู้บริโภครวมทั้งการลงทุนมีภาวะชะลอตัว การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องอาศัยภาคการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ แม้มีการคาดว่าในระยะปานกลาง ปัจจัยภายในประเทศน่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อปัญหาต่างๆ ทางการเมืองคลี่คลาย แต่สำหรับในระยะสั้น ทิศทางเศรษฐกิจไม่สดใสมากนัก เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่าเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก

" ทางบริษัทโจนส์ฯ วิเคราะห์ออกมาแล้วว่า อสังหาฯในภาคอุตสาหกรรม น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากการแข้งค่าขึ้นของเงินบาท "

นายทรัพยากร แสนสุขทวีทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายบริการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรมของโจนส์ แลง ลาซาลล์ กล่าวว่า แม้ภาคการผลิตจะมีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูง แต่ผู้ประกอบการหลายราย โดยเฉพาะในส่วนที่ผลิตเพื่อการส่งออก มีการชะลอการตัดสินใจลงทุนเพิ่มในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลว่า หากเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อไปอีก จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข็งขันในตลาดโลก

ในขณะที่มีรายงานว่า เริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนต้องปิดกิจการลง ผู้ประกอบการผลิตหลายรายกำลังมองหาฐานการผลิตใหม่ในประเทศอื่น ที่จะเอื้อให้สามารถผลิตสินค้าราคาที่ต่ำกว่า ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ จะส่งผลกระทบไม่เฉพาะต่ออสังหาฯประเภทโรงงานขายหรือให้เช่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโกดังและศูนย์กระจายสินค้าด้วย

สำหรับอสังหาฯประเภทที่อยู่อาศัยหรือบ้านพักตากอากาศ ที่เจาะกลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยในประเทศไทย และชาวต่างชาติที่ซื้อไว้เป็นบ้านหลังที่สอง หรือสำหรับอยู่อาศัยหลังเกษียณการทำงาน จะได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นด้วย เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะหมายความว่าชาวต่างชาติที่คิดจะซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยจะต้องจ่ายแพงขึ้นเมื่อคิดราคากลับเป็นสกุลเงินดอลลาร์

แนวโน้มเดียวกันนี้ เกิดขึ้นในตลาดการลงทุนซื้อโครงการอสังหาฯในไทยด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ แม้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยจะยังคงนับได้ว่ามีราคาถูกเมื่อเทียบกับอสังหาฯ ประเภทและคุณภาพเดียวกันในหลายๆ ประเทศของภูมิภาค แต่มีการปรับตัวขึ้นไปมากเมื่อคิดเป็นสกุลเงินดอลลาร์จากภาวะการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

“หากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนซื้อโครงการอสังหาฯในไทยในขณะนี้ โดยอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศจะต้องจ่ายสูงขึ้นราว 8% เมื่อเทียบกับการเข้ามาซื้อในช่วงต้นปี จากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท” นางสุพินท์ยกตัวอย่าง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.