|
ส่วนต่างออฟชอร์พุ่ง 4.25 บาท
ผู้จัดการรายวัน(24 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติแจงส่วนต่างเงินบาท “ออฟชอร์-ออนชอร์” ห่าง 4 บาท เพราะมาตรการใหม่เพิ่งออก เชื่อไม่นานส่วนต่างจะแคบลง และออฟชอร์จะปิดตัว เผยวานนี้ออฟชอร์ 29.45 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลส่วนต่างพุ่ง 4.25 บาท คกก.ขับเคลื่อนฯ เสนอ ครม.แก้บาท ชี้ทันที 4 มาตรการ ส่วนให้ผู้ส่งออกทำธุรกรรมเป็นดอลลาร์และกองทุนSME 5 พันล้านบาท ต้องถกซ้ำ “โฆสิต” ฟุ้งอุบไต๋มาตรการเด็ด
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกรณีที่หลายฝ่ายเสนอให้มีการปิดตลาดซื้อขายเงินบาทในต่างประเทศ (ออฟชอร์) ว่า เชื่อว่าเร็วๆ นี้ ค่าเงินบาทตลาดออฟชอร์จะปรับตัวเข้าหาตลาดซื้อขายเงินบาทในประเทศ (ออนชอร์) มากขึ้น และตลาดออฟชอร์หายไปในที่สุด เนื่องจาก ธปท.ได้ผ่อนผันให้มีการย้ายสัญญาป้องกันความเสี่ยงก่อนวันที่ 19 ก.ค.ที่อยู่ในต่างประเทศเข้ามายังในประเทศได้ โดยมีระยะเวลาภายใน 1 เดือน ซึ่งมีผลให้ค่าเงินบาท 2 ตลาด มีส่วนต่างลดลง
“ค่าเงินบาทระหว่าง 2 ตลาดมีผลทางจิตวิทยามากกว่า เพราะไม่เช่นนั้นระดับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง 2 ตลาดจะต้องวิ่งเข้าหากันแล้ว และที่ผ่านมาคนมีความกังวลว่าค่าเงินบาททั้งสองตลาดเชื่อมโยงกัน ดังนั้นการออกมาตรการต่างๆ มาดูแลในช่วงนี้ เพื่อลดผลจิตวิทยาเท่านั้น”
นางธาริษา ระบุด้วยว่า ตลาดออนชอร์ และออฟชอร์ไม่ได้มีการเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ที่ ธปท.ได้มีการออกมาตรการ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.49
ด้านนายสุชาติ สักการโกศล ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ สายตลาดการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า นักลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่มีความสับสนและไม่เข้าใจ การดำเนินการขออนุญาตย้ายการปิดสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า และการทำประกันความเสี่ยง (Hedging) จากตลาดเงินบาทในต่างประเทศมาทำในตลาดเงินในประเทศ ทำให้ยังมีรายการเข้ามาขออนุญาตไม่มาก ส่วนหนึ่งยังเข้าใจว่าจะต้องเป็นธุรกรรมที่ทำในวันที่ 16 ก.ค.-17 ส.ค.50 เท่านั้น ซึ่งไม่ถูกต้องล่าสุด ธปท.จึงได้ออกหนังสือเวียนในลักษณะการถาม-ตอบเพื่อทำความเข้าใจอีกครั้ง และให้คัสโตเดียน แบงก์ ของนักลงทุนต่างชาติเหล่านี้ไปอธิบายให้ชัดเจน นอกจากนั้นยังได้ลงหนังสือดังกล่าวในเว็บไซต์ของ ธปท.ซึ่งนักลงทุนทั่วโลกจะสามารถอ่านเพื่อทำความเข้าใจได้
“ขณะนี้ผลของมาตรการดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีผู้ที่มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (Non-Resident : NR) ที่มีการทำประกันความเสี่ยงในตลาดต่างประเทศมาขอนุญาติแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ยังมีการให้เอกสารหลักฐานไม่ครบ ทำให้ต้องรอหลักฐานให้ครบก่อนที่จะดำเนินการอนุญาต ทำให้วันนี้ ธปท.ยังไม่ได้ให้อนุญาตให้รายการใดมาทำประกันความเสี่ยงในตลาดในประเทศ ทำให้อัตราค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศและในประเทศยังแตกต่างกัน”
ผู้อำนวยการสายตลาดการเงิน ยังได้อธิบายเหตุผล ที่ค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศ ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา จนถึงวานนี้ ( 23ก.ค.) ที่ค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศ ขยับแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ 29.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แตกต่างจากตลาดในประเทศที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.63 บาทต่อดอลลาร์ ประมาณ 4 บาท ว่า เนื่องจากกำหนดสัญญาของการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า และการทำประกันความเสี่ยงในตลาดต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะทำสัญญาล่วงหน้า 3 เดือน ซึ่งเท่าที่สังเกตตั้งแต่19 ธ.ค.49 ที่ผ่านมาแล้ว ทุกครั้งครบสัญญาที่จะต้องส่งมอบเงินบาท ซึ่งอยู่ในช่วงวันที่ 18-19-20 ของเดือน ทุก 3 เดือนค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศก็จะแข็งขึ้นอย่างรวดเร็วครั้งหนึ่ง เพราะมีความต้องการซื้อเงินบาทเพื่อส่งมอบ หรือต่อสัญญา
“ครั้งล่าสุดนี้เท่าที่ประเมิน เหตุผลที่ค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศ ดีดขึ้นไปจนแตะระดับ 29.70 บาทต่อดอลลาร์ เป็นเพราะอยู่ในช่วงครบกำหนดส่งมอบเงินบาทเพื่อปิดสัญญาล่วงหน้า หรือต่อสัญญา แต่รอบนี้อยู่ในช่วงก่อนการให้อนุญาตของ ธปท. จึงไม่สามารถขออนุญาตมาปิดสัญญาไดในตลาดในประเทศได้ทัน ทำให้ต้องหาเงินบาทในตลาดต่างประเทศไปก่อน ส่งผลให้ค่าเงินบาท 2 ตลาดยิ่งห่างกันออกไป ธปท.ไม่ต้องการเห็นความต่างออกไปเรื่อยๆ อย่างนี้ จึงได้ออกมาตรการอนุญาตให้ปิดสัญญาในตลาดในประเทศได้ ซึ่งเมื่อผลของมาตรการนี้ออกมา มีการปิดสัญญาในตลาดในประเทศได้จริง ค่าเงินบาท 2 ตลาดก็จะปรับตัวดีขึ้น”นายสุชาติ กล่าว
ส่วนต่างออฟชอร์-ออนชอร์พุ่ง 4.25
นักบริหารเงิน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า วานนี้เงินบาทปิดตลาดที่ 33.70/72 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงเช้าที่เปิด 33.66/68 บาท/ดอลลาร์ โดยวานนี้เงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 33.64 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ 33.73 บาท/ดอลลาร์
เงินบาทอ่อนค่าตลอดทั้งวัน เนื่องจากตลาดเองมีการปรับ position โดยการเข้าซื้อดอลลาร์เพื่อรอมาตรการเกี่ยวกับค่าเงินบาทของทางการจะประกาศในวันนี้ภายหลังนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว ส่วนวันนี้คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.65-33.80 บาท/ดอลลาร์
สำหรับเงินบาทตลาดต่างประเทศนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ เงินบาทยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 18.00น. เงินบาทต่อดอลลาร์อยู่ที่ 29.45 เทียบกับในประเทศแล้วส่วนต่างห่างกันถึง 4.25 บาท ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ส่วนต่าง 2 ตลาดอยู่ที่ 4 บาท
คกก.ขับเคลื่อนฯ ชง ครม.วันนี้
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวมว่า คณะกรรมการฯ เห็นชอบที่จะให้นำเสนอมาตรการดูแลค่าเงินบาท 6 ข้อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันนี้ (24 ก.ค.) โดยในจำนวนดังกล่าว 4 มาตรการจะสามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนอีก 2 มาตรการยังต้องประชุมในรายละเอียดอีกครั้ง
“2 มาตรการที่ต้องหารือเพิ่มคือ ให้ผู้ส่งออกสามารถทำธุรกรรมเป็นดอลลาร์ และมาตรการจัดตั้งกองทุนขนาด 5 พันล้านบาทเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งต้องกำหนดรายละเอียดของผู้ประกอบการที่จะสามารถขอใช้เงินกองทุนดังกล่าวเป็นทุนหมุนเวียน โดยประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวมจะหารือรายละเอียดของกองทุนดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 6 ส.ค. คิดว่าใน 5 พันล้านบาทจะกันออกมา 500 ล้านบาทให้ผู้ประกอบการที่มีปัญหา NPL แต่มีออร์เดอร์อยู่ โดยธปท.จะจ่ายเงินสมทบ 2.7 พันล้านบาท สมาคมธนาคารไทย 2.3 พันล้านบาท”นายโฆสิต กล่าว
ส่วน 4 มาตรการที่เสนอ ครม.เพื่อออกประกาศได้ทันที ได้แก่ 1.การขยายระยะเวลาการถือครองเงินตราต่างประเทศโดยไม่กำหนดระยะเวลาและวงเงิน และอนุญาตให้ผู้ส่งออกสามารถฝากเงินที่ได้รับจากการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯได้ 2.การให้บุคคลทั่วไปสามารถเปิดบัญชีเงินฝากในรูปเงินตราต่างประเทศได้ 3.การเร่งรัดคืนเงินภาษีมุมน้ำเงินของกรมศุลกากร ดังนั้น จึงขอให้กรมศุลกากรเร่งจ่ายคืน เพื่อเป็นการลดภาระและมีเงินทุนหมุนเวียน 4.การให้รัฐวิสาหกิจเร่งชำระคืนหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศหรือหากไม่สามารถชำระหนี้ก่อนกำหนด เนื่องจากมีค่าปรับก็อาจพิจารณาให้มีการนำดอลลาร์สหรัฐฯฝากในบัญชีต่างประเทศเพื่อรอการชำระหนี้ดังกล่าวในอนาคต
นายโฆสิต กล่าวอีกว่า หลังจากประกาศมาตรการต่าง ๆ ไปแล้ว คงไม่จำเป็นต้องประเมินผล เพราะสถานการณ์จะฟ้องทันทีว่ามาตรการที่ประกาศได้ผลหรือไม่ได้ผล แต่สิ่งที่รัฐบาลจะดู คือ จะทำอย่างไรให้การบริหารจัดการมีความเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีมาตรการออกไปแล้ว หากปัญหายังไม่ผ่อนคลายลงรัฐบาลก็พร้อมจะนำมาตรการอื่นๆ ออกมาประกาศใช้อย่างต่อเนื่อง
“เรามีเครื่องมือเยอะที่สุดที่จะนำออกมาใช้เมื่อจำเป็น ถ้าเราหมดไต๋ ก็เสร็จ เรื่องนี้เป็นสงครามยืดเยื้อ ไม่ใช่แค่ศึกที่มีจุดจบว่าแพ้ชนะ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามาตรการที่นำออกมาใช้เป็นมาตรการที่แรงหรือไม่ เพราะการแก้ไขปัญหาแต่ละสถานการณ์มีความแตกต่างกัน ก็จะต้องมีแนวทางแก้ไขออกมาแตกต่างกัน เพราะหากรัฐบาลเห็นว่ามาตรการใดแรงแล้วนำออกมาใช้แต่ไม่ได้ผลจะเป็นการฟ้องว่ารัฐบาลไม่รอบคอบ”
ตั้งบอร์ดดูค่าเงินรับ พ.ร.บ.ใหม่
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมประชุมทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราร่วมกับ ธปท.ว่า เมื่อวานนี้ (23 ก.ค.) ถือเป็นการประชุมนัดสุดท้ายก่อนที่จะมีการปิดทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนอย่างถาวร ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
“แม้จะมีการยกเลิกทุนรักษาระดับฯ ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการทุนรักษาระดับฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งมีประโยชน์ในการประสานแนวคิดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง ธปท. และกระทรวงพาณิชย์ด้วย ผมจึงได้เสนอแนวคิดให้มีการอะไรมาทดแทนหรือควรมีการเปิดเวทีปราศรัยอื่นขึ้นมา เพื่อมารายงานสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ซึ่งทางธปท.ก็ได้เสนอว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ภายใต้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นประโยชน์ในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจต่อไป”
เร่ง รสก.ชำระหนี้คืน ตปท.แล้ว
นายฉลองภพ เปิดเผยถึงกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าฯ ธปท.เสนอมาตรการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าโดยให้กระตุ้นให้รัฐวิสาหกิจชำระเงินที่เป็นเงินตราต่างประเทศก่อนกำหนด เพื่อเร่งให้มีการซื้อดอลลาร์ในตลาดเพื่อการส่งออก ไปชำระหนี้ในจำนวนสูง จะทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งขึ้นต่อไปทันที และถ้ามีจำนวนสูงมากพอก็น่าจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงได้ ว่ากระทรวงการคลังก็กำลังดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว
“ขณะนี้ได้มีรัฐวิสาหกิจที่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศได้ทันทีถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว การที่จะเร่งชำระหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจก่อนกำหนดนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการกู้ รวมทั้งความพร้อมของแต่ละรัฐวิสาหกิจด้วย แต่อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังก็จะพยายามที่จะผลักดันให้มีการเร่งคืนชำระหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|