"GREEN MARKETING อาจจะดูเป็นแฟชั่น แต่ประโยชน์ต่อประเทศมหาศาล"


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

"การตลาดสีเขียว" หรือ "GREEN MARKETING" ผมว่าคอนเซ็ปต์นี้น่าจะเกิดขึ้นจาก MARKETING CONCEPT ยุคสุดท้ายคือเป็นยุคของการตลาดเพื่อสังคม (SOCIETY MARKETING CONCEPT) คือ นักธุรกิจพยายามทำอะไรเพื่อตอบสนองสังคมอยู่แล้ว อาจเป็นจิตสำนึกของนักธุรกิจเองที่ว่า น่าจะตอบแทนสังคมด้วย อีกประการหนึ่งคือถ้าเขาทำการตลาดเพื่อสังคม ทำให้สังคมรักเขา และเขาจะได้สังคมไว้เป็นพวก ซึ่งมันจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญทางการตลาดตรงที่ว่า ถ้าสมมติว่าเขามีพวก เวลาเกิดอะไรขึ้นทุกคนก็พร้อมจะปกป้องเขา เพราะฉะนั้นมันตรงกับแนวความคิดทางการตลาดที่เรียกว่า SOCIETAL MARKETING CONCEPT

การตลาดเพื่อสังคมนี้เกิดขึ้นเพราะโนว์ฮาวตามกันทันคนจึงหันไปสร้างความนิยมสร้างภาพพจน์ที่ดีกัน อีกประเด็นหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าอำนาจบางส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภค มีส่วนเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจออกมาในแง่ของการรับผิดชอบต่อสังคม

การพิทักษ์หรือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งที่โยงมาจากการตลาดเพื่อสังคม ธุรกิจไหนที่ฉกฉวยโอกาสก่อนน่าจะเป็นธุรกิจที่อยู่ในใจผู้บริโภคอย่างเช่นธุรกิจน้ำมัน ใครที่นำน้ำมันไร้สารตะกั่วออกมาเป็นรายแรก ภาพพจน์ในเรื่องนี้ก็จะได้ไปว่าคุณเป็นคนที่ห่วงใยประชาชนแต่มันจะเหมาะสมก็ต่อเมื่อประชาชนมีความรับรู้ในเรื่องนั้น มีความรู้ว่าอย่างนั้นมันอันตราย แต่ถ้าเขาไม่รู้ก็เป็นหน้าที่ที่จะสอนให้เขารู้ก่อนจึงจะเสริมเรื่องนี้ นอกจากนี้สิ่งที่เราทำจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องจริงๆ อย่างเช่นไร้สารตะกั่วก็ต้องไร้จริงๆ ซึ่งผมเชื่อว่าบริษัทใหญ่ทำอะไรคงไม่พลาด

ถ้าหากจะพูดถึงในแง่ของคอนซูเมอร์โปรดักส์แล้ว ส่วนที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นเรื่องของภาชนะบรรจุที่สามารถย่อยสลายได้นั่น มีเรื่องที่น่าคำนึงถึง คือ คุณสมบัติของภาชนะบรรจุที่สามารถย่อยสลายได้นั้น มีเรื่องที่น่าคำนึงถึง คือ คุณสมบัติของภาชนะที่สามารถย่อยสลายได้นั้น มีเรื่องที่นำคำนึงถึง คือ คุณสมบัติของภาชนะบรรจุมีคุณสมบัติตามที่เราวางแผนการตลาดไว้หรือไม่ เช่นว่า เราอยากให้ภาชนะบรรจุมันโปรเทคท์สินค้า ถามว่าวัสดุที่เราเปลี่ยนโดยไม่ให้เป็นอันตรายต่อสภาวะแวดล้อม มันสามารถโปรเทคท์สินค้าได้หรือไม่ ถ้ามันสามารถก็ถนอมอาหารได้ แต่มันสามารถทำให้สินค้ามีอายุขัยตามที่เรากำหนดไว้หรือไม่ ถ้าสมมติว่าอายุสินค้าสั้นลงการตลาดจะต้องเปลี่ยนเพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบโดยตรง เราอาจจะต้องคุยกับฝ่ายขาย ตัวแทนจำหน่ายในการวางและเก็บสินค้าซึ่งอาจจะต้องเร็วขึ้นหรือไม่จากการเปลี่ยนภาชนะบรรจุทำให้สินค้าสั้นลง ถ้าเราทำได้และอยู่ในภาวะที่เราได้กำไร เราก็น่าจะทำ

การที่หลายบริษัทหันมาทำ GREEN MARKETING กันค่อนข้างมากในช่วงนี้มันดูเหมือนแฟชั่น แต่มันคงไม่ใช่แฟชั่นเพียงแต่ว่าวิธีการเป็นรูปแบบหนึ่งเพราะเขาเชื่อว่า GREEN MARKETING สามารถเสริมภาพพจน์ให้บริษัทได้เพราะยุคนี้เป็นยุคที่คนตื่นตัวเรื่องมลภาวะ เรื่องสภาพแวดล้อม เป็นจังหวะที่เหมาะสมอย่างเช่น ธนาคารซึ่งจำเป็นต้องทำที่ทำเพราะสินค้าธนาคารไม่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นธนาคารจึงต้องสร้างภาพพจน์ ไม่เหมือนกับห้างสรรพสินค้าที่อาจจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ในที่สุด ก็ต้องลุกขึ้นมาสร้างภาพพจน์กัน

การที่ฟูจิ สิงห์โกลด์ กสิกรไทยลุกขึ้นมาพูดกันเรื่องป่าอาจจะด้วยสาเหตุจากเรื่องราวของคุณสืบ นาคะเสถียรที่เป็นตัวจุดประกาย ถือว่าเป็นอะไรที่เข้ากับจังหวะเวลา ผมว่าเขาฉลาดที่เขาจับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที ซึ่งเป็นเรื่องของการตลาดอยู่แล้วที่จะต้องรู้จักฉกฉวยเหตุการณ์พวกนี้ให้มาเป็นผลประโยชน์ต่อบริษัทตัวเอง ผลที่สุดคือเป็นเรื่องของการสร้างภาพพจน์

แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำถึงขนาดที่งบประมาณมากจนเกินไป การทำการตลาดในลักษณะนี้อาจจะเหมาะสมกับสินค้าที่อยู่ในช่วงที่กำลังเติบโต หรือในช่วงที่สินค้าไปได้ดีอยู่แล้ว ถ้าเป็นสินค้าที่เพิ่งจะเข้าตลาดใหม่ๆ คงเป็นเรื่องลำบากพอสมควรเพราะงบที่ใช้ส่วนใหญ่คงต้องมุ่งไปกับการออกตัวของสินค้า นอกเสียจากเราเริ่มต้นจากตัวสินค้าใหม่ของเราเลย และจับจุดการตลาดสีเขียวมาเป็นจุดขายของเรา

การที่จะใช้ GREEN MARKETING สินค้าที่มีอยู่อาจจะมีการปรับปรุงหรือไม่ปรับปรุงก็ได้ แต่ตัวสินค้าจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่โฆษณา อาจจะเป็นไปได้ว่าเดิมเป็นอย่างนั้นอยู่แล้วหรือปรับสูตรใหม่เพื่อให้เป็นไปตามโฆษณา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

ผลของการทำการตลาดสีเขียว มันจะเป็นผลดีกับประเทศไทยในระยะยาวเพราะเป็นการปลูกจิตสำนึกสำหรับเด็กให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยส่วนรวม แต่ระยะเวลาอาจจะต้องนานนิดหนึ่ง เพราะคนไทยมักทำอะไรตามสบาย เป็นสังคมที่ไม่ค่อยเป็นระเบียบ มีคนในสังคม กลุ่มหนึ่งที่แก่งแย่งชิงดีและไม่ค่อยเห็นใจผู้อื่น ซึ่งผมงงมากกับพฤติกรรมบางอย่างของคน อย่างเช่นการไม่เคารพกฎจราจรหรือการไม่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ การทำ GREEN MARKETING อาจช่วยย้อมจิตใจคน แต่คงจะเริ่มต้นจากคนรุ่นต่อไป เด็กถ้าเราปลูกฝังบ่อยๆให้มีแนวความคิดของการอนุรักษ์ธรรมชาติ เขาจะต้องเป็นคนที่มีความอ่อนโยนพอสมควรและเห็นใจผู้อื่น ไม่เอาเปรียบผู้อื่น มันจะเป็นผลดีต่อสังคมส่วนรวม ผมอยากวิงวอนบริษัทใหญ่ทั้งหลายให้ลุกขึ้นมานั่งทำเป็นตัวอย่างและปลูกสำนึกอันนี้ ยิ่งคนไทยลืมง่ายก็ต้องทำกันบ่อยๆ มันมีผลทางจิตใจและจะมีผลทางอ้อมไปกระทบกับเรื่องของการรับผิดชอบต่อสังคมตั้งแต่เด็ก

ผมไม่รู้จะโทษใคร หน่วยงานของรัฐหรือไม่ในการควบคุม สำนึกของธุรกิจหรือไม่หรือเวลาเรารับเทคโนโลยีเขามาเราศึกษารอบคอบหรือไม่ เราดูหรือไม่ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นและเราหาทางแก้ไขในเรื่องเหล่านั้นหรือไม่ ผมว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทุกคนลุกขึ้นมาพูดกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.