ธนาคารกสิกรไทยในมุมมอง McKinsey

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ประสบการณ์ล่าสุดของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ยักษ์ ใหญ่อันดับสองของไทย และเป็นธนาคารเอกชนแห่งหนึ่ง ที่มีระบบบริหารที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้ให้เห็นถึงปัญหา ที่สถาบันการเงินย่านเอเชียกำลังเผชิญในขณะที่กำลังฟื้นฟูกิจการธนาคารกสิกรไทยเริ่มต้นดิ้นรน เพื่อความอยู่รอดตั้งแต่เมื่อปี 2541 แต่วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจหนักหน่วง จนทำให้การพยายามปรับโครงสร้างทุนในครั้งแรกไม่บรรลุผล และกดดันให้ต้องดำเนินความพยายามอีกเป็นคำรบ ที่สอง

การดำเนินการตามกลยุทธ์ ที่กำหนดขึ้นอย่างดีตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ช่วยให้ธนาคารกสิกรไทยระดมทุนเพิ่มได้ 884 ล้านดอลลาร์จากตลาดหุ้น ทั่วโลกเมื่อเดือนมีนาคม 2541 โดยการขายหุ้นในราคาหุ้นละ 88 บาท ทำให้ตระกูลล่ำซำ ซึ่งถือหุ้นส่วนใหญ่ของธนาคารถือครองหุ้นลดลงเหลือน้อยกว่า 10% ขณะที่นักลงทุนประเภทสถาบันจากต่างชาติถือหุ้น 49% ธนาคารเร่งหาทางแก้ไขปัญหาเงินทุนหมุนเวียนด้วยการประกาศงดรับพนักงานใหม่ พร้อมๆ กับพิจารณาลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นลง ธนาคารตัดสินใจแก้ไขปัญหาหนี้เสียโดยตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญพิเศษถึง 8 ทีม โดยมีผู้ร่วมงานทั้งหมด 150 คน เพื่อจัดการเฉพาะในเรื่องการเร่งรัดหนี้สิน ด้วยวิธีการนี้ ธนาคารสามารถปรับปรุงระบบจัดการหนี้เสียเหล่านั้น และแยกแยะว่าการให้บริการนี้ แตกต่างจากการให้สินเชื่อ และมักต้องอาศัยกลไกอิสระ ที่ไม่ยึดติดอยู่กับความสัมพันธ์กับลูกค้า เพื่อบังคับการชำระหนี้

ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ธนาคารประกาศเข้าซื้อหุ้นเพิ่มในบริษัทภัทรธนกิจเป็น 51% จากเดิม 49 % ในขณะนั้น ภัทรธนกิจกำลังประสบปัญหา ด้านการเงิน เนื่องจากผู้ฝากเงินแห่กันมาถอนเงินด้วยเกรงถึงความมั่นคงของสินทรัพย์ของตนเอง ในช่วงนั้น ราคาหุ้นของธนาคารกสิกรไทยลดลงเหลือหุ้นละ 40 บาท ธนาคารพาณิชย์อีก 7 แห่งก็ประกาศผลประกอบการในเดือน กรกฎาคม ปี 2541 ว่าลดลงเนื่องมาจากสัดส่วนหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น ราคาหุ้นของธนาคารกสิกรไทยจึงขยับลดลงเหลือเพียงหุ้นละ 35 บาท ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ธนาคารกสิกรไทยยังคาดการณ์อีกว่าเงินกู้ ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกิจการจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 38% ของยอดการปล่อยสินเชื่อทั้งหมดในช่วงกลางปีนี้โดย 50% ของเงินกู้ ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นี้จะถูกตัดเป็นบัญชีหนี้เสีย ข่าวนี้ทำให้ราคาหุ้นของธนาคารลดลงฮวบฮาบเหลือเพียงหุ้นละ 20 บาท

เมื่อเป็นเช่นนี้ เงินทุน 834 ล้านดอลลาร์ ที่ระดมมาจากตลาดหุ้นทั่วโลก จึงไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาเงินกู้ แต่ธนาคารก็ประสบความสำเร็จเมื่อตัดสินใจเพิ่มฐานเงินทุนด้วยกลยุทธ์การระดมทุนมูลค่า 40,000 ล้านบาท (3,100 ล้านดอลลาร์) ด้วยการออกหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นกู้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

โดยสรุป จะเห็นได้ว่าธนาคารกสิกรไทยดำเนินการอย่างทันท่วงที จนสามารถรั้งตำแหน่งผู้ชนะท่ามกลางวิกฤติการณ์การเงินร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ความพยายามของธนาคารกสิกรไทยสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมองอุปสรรคท้าทายต่างๆ ด้วยความฉับไว ซึ่งรวมถึงการบริหารหนี้เสีย ระดมทุน ปรับโครงสร้างค่าใช้จ่าย และเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆ ความสำเร็จจึงขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่น และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวพ้นอุปสรรค ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว และภาคธุรกิจมีการปรับโครงสร้าง

(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง "Asian Banking : After the Storm" จากวารสาร McKinsey Quaterly 1999 November, 2)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.