สนทนานักลงทุน

โดย ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

แนวโน้มของตลาดหลักทรัพย์ไทย

การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยทำให้ภายธุรกิจโดยรวมมีการขยายตัวตามไปด้วย ธุรกิจเดิมที่มีอยู่อย่างเช่น อุตสาหกรรมอาหาร พาณิชย์ ก่อสร้างที่ดิน มีอัตราการขยายตัวทางรายได้และขนาดของบริษัทที่ค่อนข้างสูงมาก หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมใหม่ๆ อย่างเช่น อุตสาหกรรมสินค้าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องโดยตรงไปกับการพัฒนาประเทศ จากจุดนี้จึงทำให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจ และมีแนวโน้มของการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มากขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนบริษัทเดิมที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีแนวดน้มที่จะเพิ่มทุนเพื่อขยายกิจการอีกมาก

จากการวิเคราะห์ทางเทคนิคประกอบกับการวิเคราะห์พื้นฐานนั้น DAIWA พบว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์กำลังอยู่ในช่วงแนวขึ้น โดยที่ดัชนีอาจขึ้นไปถึงช่วง 950-1,000 จุดภายในช่วงปลายปีนี้ สำหรับในช่วงเวลาระยะกลางอยู่ในช่วงระยะเวลาของการปรับฐานจึงทำให้ดัชนีในช่วงนี้มีการปรับตัวลง

ตลาดไทยในสายตาของนักลงทุนญี่ปุ่น

สำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีจุดที่ควรคำนึงอยู่ถึง 3 จุด ก็คือ ขนาดของตลาด (มูลค่าการซื้อขาย) ประสิทธิภาพของข้อมูล ข้อจำกัดสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

ประการที่หนึ่ง ในส่วนของมูลค่าการซื้อขาย ตลาดไทยยังเล็กอยู่มากเมื่อเทียบกับตลาดที่มีการพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นอเมริการ ลอนดอน มูลค่าซื้อขายคิดเป็นเพียง 2-3% ของการซื้อขายในญี่ปุ่น จากจุดนี้ตลาดหลักทรัพย์จะขยายตัวต่อไปได้โดยมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดฯ มากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่มีคุณภาพและอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการขยายตัวสูง และบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้วควรเพิ่มทุนด้วยวิธีการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป มากกว่าที่จะเพิ่มทุนโดยการเสนอขายกับผู้ถือหุ้นเดิม

ประการที่สอง ในแง่ของข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุนนั้นยังขาดอยู่อีกมาก กอปรกับนักลงทุนไทยยังไม่ให้ความสนใจกับความสำคัญของข้อมูลเท่าที่ควร จุดนี้จึงเป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ไทย

ประการที่สาม เกี่ยวกับข้อจำกัดของนักลงทุนชาวต่างชาติ ตัวอย่างเช่น ข้อจำกัดของอัตราส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในแต่ละบริษัท เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีความน่าสนใจน้อยลง

กลยุทธ์ในการลงทุน

การลงทุนของบริษัทโดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนแบบระยะยาว อยู่ในช่วงเวลา 2-3 ปี ซึ่งแตกต่างไปจากนักลงทุนรายย่อยทั้งนักลงทุนไทยหรือยุโรปที่เป็นนักลงทุนระยะสั้นและนักเก็งกำไร การลงทุนในสายตาของ DAIWA ต้องคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานของอุตสาหกรรที่น่าสนใจก่อน ต่อจากนั้นจึงลงสู่ระดับบริษัท ศึกษาประวัติความเป็นมาของบริษัทโครงสร้างทางการเงิน แนวโน้มการทำกำไร โครงการในอนาคต สภาวะการแข่งขัน และกฎหมายข้อบังคับต่างๆ ต่อจากนั้นก็จะวิเคราะห์ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อหาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการซื้อขาย ในการเลือกซื้อหลักทรัพย์ DAIWA จะจัดอันดับของบริษัทจาก A-D โดยระดับที่ตัดสินใจซื้อควรไม่ต่ำกว่าระดับ C จึงจะยอมรับได้ สำหรับการคัดเลือกหลักทรัพย์อย่างง่ายของผมก็คือ การเลือกซื้อหลักทรัพย์ที่มีอัตราส่วน P/E ต่ำ

กลุ่มของอุตสาหกรรมที่น่าสนใจในปัจจุบัน

DAIWA แบ่งอุตสาหกรรมที่น่าสนใจออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน คือ ธนาคารพาณิชย์ วัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกลุ่มสุดท้ายก็คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

เริ่มจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ DAIWA มุ่งไปสู่ธนาคารขนาดกลางและเล็กอย่างเช่น ธนาคารทหารไทย ธนาคารนครหลวงไทย เพราะมองเห็นถึงโอกาสในการทำกำไรสำหรับบริษัทแล้ว ธนาคารในระดับนี้เป็นธนาคารที่น่าสนใน แต่ข้อจำกัดของนักลงทุนต่างชาติก็คือ อัตราส่วนของการลงทุนที่ถูกจำกัด จึงไม่สามารถจะลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ได้เพียงพอเท่าที่ต้องการ

กลุ่มที่สอง กลุ่มวัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นอุตสาหกรรมที่พัฒนาพร้อมๆ ไปกับการพัฒนาประเทศ หลักทรัพย์ที่น่าสนใจเห็นจะหนีไม่พ้น ปูนซิเมนต์ไทย ปูนซิเมนต์นครหลวง ส่วนกลุ่มพัฒนาที่ดินอันได้แก่ แลนด์แอนด์เฮ้าส์

กลุ่มที่สาม สินค้าที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เมื่อประเทศมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง มาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนโดยทั่วไปจึงสูงขึ้น ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้นตัวอย่างเช่น กรณีของสุขภาพสตรี การสวมใส่ถุงน่องในประเทศไทยเป็นสิ่งไม่จำเป็นเพียงแต่เพื่อความสวยงามเท่านั้น หรือแม้กระทั่งเครื่องสำอางที่มีคุณภาพและยี่ห้อที่มีชื่อเสียง บริษัทที่น่าสนใจเห็นจะเป็นบริษัทในเครือสหพัฒนพิบูล นิวซิตี้ ไทยวาโก้

กลุ่มสุดท้าย สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการพัฒนา และมีแนวโน้มที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเทคโนโลยีได้ เนื่องจากข้อได้เปรียบทางด้านค่าแรงที่ยังพอมีอยู่บ้าง และสถานการณ์ภายในประเทศที่ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อเทียบกับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ตัวอย่างของสินค้าเห็นจะเป็นไอซี และแผงวงจรที่ใช่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ไร้สาย บริษัทที่น่าสนใจก็คือ ยีเอสเอสฯ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.