ไทยสกายทีวี จุดเริ่มต้นอาณาจักรบันเทิง ของคีรี กาญจนพาสน์


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักกันในวงการเรียลเอสเตทและสามารถเข็นบริษัทธนายงเข้าไปปักหลักในตลาดหุ้นได้สำเร็จ คีรี กาญจนพาสน์ กำลังจะเริ่มก้าวที่สองของการสร้างอาณาจักรธุรกิจในเมืองไทยด้วยธุรกิจเคเบิลทีวีในชื่อไทยสกายทีวี

ไทยสกายทีวีดำเนินการโดย บริษัท สยามบรอดคาสติ้งซึ่งได้รับสัมปทานจาก อสมท. เมื่อเดือนกรกฏาคมปีที่แล้วในยุคที่ราชันย์ ฮูเซ็นยังเป็นผู้อำนวยการอยู่ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนในเรื่องผลปรโยชน์ตอบแทน คือ หนึ่ง หุ้นจำนวน 7% ของสยามบรอดคาสติ้งจะต้องเป็นของ อ.ส.ม.ท.

สยามบรอดคาสติ้งมีทุนจะทะเบียน 20 ล้านบาท และภายในสามปีจะต้องเพิ่มทุนให้ถึง 50 ล้านบาท ตามเงื่อนไขข้อที่สองในสัญญาที่ทำไว้กับ อ.ส.ม.ท.

เงื่อนไขข้อที่สามคือเรื่องผลตอบแทนขั้นต่ำที่จะต้องจ่ายให้ อ.ส.ม.ท. เป็นเงิน 175 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 20 ปี หรือจ่ายให้ 6.5% ของรายได้ก่อนหักภาษีของสยามบรอดคาสติ้ง แล้วแต่ว่าจำนวนไหนจะมากกว่า

อีกข้อหนึ่ง คือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ซึ่งสยามบรอดคาสติ้งจะต้องออกอากาศตามสัญญา สยามบรอดคาสติ้งจะต้องโอนทรัพย์สิน อุปกรณ์ทุกอย่างให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ อ.ส.ม.ท.

อ.ส.ม.ท. ได้ให้สัมปทานเคเบิลทีวีกับบริษัทไอยีซีของพ.ต.ต.ดร. ทักษิณ ชินวัตรไปก่อนหน้านี้แล้ว การให้สัมปทานแก่สยามบรอดคาสติ้งอีกรายหนึ่งจึงเท่ากับเป็นการทำให้เกิดการแข่งขันกันขึ้น

ทุกวันนี้ใครๆ ก็รู้ว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมนั้นมีความสำคัญและเป็นธุรกิจที่จะทำรายได้ให้มหาศาล แต่ใช่ว่าใครที่ได้ครอบครองสื่อทางด้านนี้ไว้ในกำมือแล้วจะต้องได้ประโยชน์สูงสุดเสมอไป คลื่นความถี่ของเคเบิลทีวีซึ่งถือได้ว่าเป็น MASS MEDIA แบบเดียวกับคบื่นวิทยุและโทรทัศน์นั้นถ้าปราศจากซึ่งซอฟต์แวร์ หรือรายการที่มีคุณภาพแล้วก็ไม่ต่างอะไรจากรายการทีวีอันน่าเบื่อที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ที่สำคัญคนที่จะทำเคเบิลทีวีให้เป็นทางเลือกใหม่ของคนดูทีวีได้นั้น จะต้องมีวิญญาณของผู้ประกอบการที่กล้าลงทุนในเรื่องรายการที่มีคุณภาพ

"เราไม่ต้องการเป็นแค่โทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกเท่านั้น แต่เราวางเป้าหมายที่จะเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจบันเทิงเต็มรูปแบบของประเทศไทย" คีรีพูดถึงเป้าหมายทางธุรกิจในระยะยาวของสยามบรอดคาสติ้งซึ่งมีไทยสกายเป็นเสมือนช่องทางไปถึงผู้บริโภค ธุรกิจบันทิงที่เขาพูดถึงก็คือสินค้าที่จะผ่านช่องทางนี้ โดยมีผลตอบแทนคือค่าสมาชิกเป็นรายเดือนจากผู้ชมที่ต้องสมัครเป็นสมาชิก

ไทยสกายได้จ้างบริษัทดีมาร์ทำการวิจัยตลาดเคเบิลทีวีพบว่า ประมาณ 30% นั้นเป็นสมาชิกไอบีซีอยู่แล้ว 10% ยังไม่ได้เป็นแต่สนใจที่จะเป็น อีก 50% ไม่รู้เรื่องเคเบิลทีวีเลย ที่เหลืออีก 10% รู้เรื่องแต่ไม่สนในที่จะเป็นสมาชิก

"ส่วน 10%ที่สนใจแต่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกนั้น คือ ตลาดแรกที่เราจะเข้าไปส่วนอีก 50% ที่ไม่รู้เรื่องและ 30% ที่เป็นสมาชิกไอบีซีอยู่แล้วแน่นอนว่าอยู่ในความสนใจของเราซึ่งจะต้องใช้กลยุทธ์ใมนการเจาะกลุ่มนี้ให้ได้" ผู้บริหารของไทยสกายอธิบายขนาดของตลาดซึ่งยังมีที่ว่างอยู่อีกถึง 60%

จุดแข่งขันที่สำคัญคือตัวโปรแกรมว่าจะมีความน่าสนใจเพียงไร

ความจริงแล้วต้องถือว่าธุรกิจบันเทิงนั้น คือ สนามที่คีรีได้แสดงฝีไม้ลายมือของตัวเองอย่างเต็มที่ ธุรกิจเรียลเอสเตทอย่างโครงการธนาซิตี้นั้นต้องนับว่ายังอยู่ภายใต้ร่มเงาของผู้เป็นพ่อที่ได้วางรากก่อฐานไว้ให้แล้ว

ธุรกิจของเขาที่ฮ่องกงนอกจากภัตคารเครือตินตินแล้ว คีรียังมีธุรกิจส่วนตัวในการเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์รายการบันเทิงและกีฬาอย่างเช่น โอลิมปิคเกมส์ที่โชล มาขายให้กับสถานีโทรทัศน์ที่ฮ่องกง เขาจึงไม่ใช่คนหน้าใหม่ในธุรกิจบันเทิง หากแต่มีประสบการณ์พอตัวในเรื่องการซื้อขายรายการบันเทง และมีสายสัมพันธ์กับตัวแทนของผู้ผลิตรายการต่างๆ ทั่วโลกซึ่งมักจะต้องมีสำนักงานอยู่ที่ฮ่องกงด้วย

เทียบกับไอบีซีซึ่งครั้งหนึ่ง พ.ต.ต.ดร. ทักษิณ ชินวัตรเคยบ่นว่าไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของเจ้าของรายการในต่างประเทศสักเท่าไรทำให้ไม่สามารถหาซื้อรายการดีๆ มาป้อนได้แล้ว ข้อนี้คือจุดแข็งของไทยสกาย

ความสำเร็จในการซื้อลิขสิทธ์การถ่ายทอดสดการประกวดนางงามจักรวาลครั้งล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว การดึงนางงามจักวาลมาประเทศไทยเป็นประเทศแรกพร้อมๆ กับการจัดงานยูนิเวอร์สกาลาไนท์ ซึ่งมีดารา นักร้องชื่อดังทั้งอเมริกันและฮ่องกงมาร่วมงาน และการได้สิทธิ์จัดประกวดนางงามจักรวาลขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในปี 2535 นั้น ต้องถือว่าเป็นข้อพิสูจน์ความพร้อมของไทยสกายในเรื่องของรายการที่จะออกอากาศ และเป็นจังหวะที่ดีเยี่ยมในการประชาสัมพันธ์ชื่อไทยสกายให้คนไทยได้รู้จัก

ความพร้อมอีกด้านหนึ่ง คือ บุคลากรซึ่งใช้มือาอชีพจากฮ่องกงเข้ามาบริหาร โดยมีลอเรนซ์ โฮ อดีตผู้อำนวยการเอทีวีของฮ่องกงเป็นคนรับผิดชอบโครงการทั้งหมด

"ผู้บริหารเป็นคนไทย พวกฮ่องกงนี่เราเอาเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในตอนแรกๆ เท่านั้นที่ปรึกษาในตอนแรกๆ เท่านั้นเพราะเขามีประสบการณ์มาก่อน พอทุกอย่างเข้าที่แล้วพวกนี้ก็จะกลับไป" ผู้บริหารคนหนึ่งของไทยสกายอธิบาย

สยามบรอดคาสติ้งใช้เงินลงทุนสำหรับไทยสกายทีวีเป็นเงินทั้งหมด 200 ล้านบาท

รายการของไทยสกายแย่งออกเป็นสามช่องคือ ไทยสกาย 1 เป็นรายการข่าวและกีฬา จาก NBC NEWS, VISNEWS, BBC DAILY NEWS BULLETIN, JAPAN TBS DAILY NEWS และข่าวในประเทศซึ่งไทยสกายลงทุนตั้งทีมทำข่าวขึ้นมาเอง

ไทยสกาย 2 เป็นรายการดนตรี รายการโชว์ทั้งของสหรัฐฯ และยุโรป

ส่วนไทยสกาย 3 เป็นรายการบันเทิงนานาชาติซึ่งประกอบด้วยรายการภาพยนต์เพลง รายการแสดง จากญี่ปุ่น ฮ่องกง ซึ่งแหล่งข่าวในไทยสกายเองบอกว่าช่องนี้มีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่คนญี่ปุ่นและฮ่องกงซื่อซึ่งมาทำงานอยู่ในไทยโดยเฉพาะ

จุดขายที่ไทยสกายเน้นเป็นพิเศษ คือ การถ่ายทอดสด การแข่งขันกีฬานัดสำคัญๆ รายการแสดงคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ๆ ในช่วงสองปีแรกนั้น ยังไม่มีแผนการที่จะผลิตรายการด้วยตัวเอง ยกเว้นรายการข่าวในประเทศ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนสูงมาก

และถ้าวาเคไทยซึ่งเป็นของคีรีเช่นเดียวกันชนะการประมูลสัมปทานดาวเทียมของกระทรวงคมนาคมแล้ว โครงการถ่ายทอดสดจากต่างประเทศก็จะยิ่งง่ายขึ้น และไทยสกายซึ่งสามารถแพร่ภาพได้ในกรุงเทพ และปริมณฑลเท่านั้นก็อาจจะมีโอกาสขยายไปทั่วประเทศโดยผ่านดาวเทียม

"แต่ไม่ว่าใครจะได้ เราก็ต้องทำอยู่แล้ว" ผู้บริหารของไทยสกายพูดถึงทิศทางในอนาคต

ไทยสกายจะเริ่มบุกตลาดหาสมาชิกอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนนี้ โดยมีของล่อใจ คือการให้ดูฟรีเป็นเวลาสองเดือนก่อน ซึ่งจะเป็นช่วงของการทดลองออกอากาศ ก่อนที่จะแพร่ภาพจริงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535 ตามสัญญาที่ทำกับอ.ส.ม.ท.

คนที่จะต้องเหนื่อย คือ ไอบีซี หลังจากใช้วิธีซื้อรายการถูกๆ เก่าๆ จากสหรัฐฯ มาฉายใหสมาชิกซึ่งจ่ายเงินเดือนละ 600 บาทดูมาเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม ก็เริ่มปรับปรุงด้วยการซื้อข่าวจาก CNN มาแพร่ภาพ และต่อจากนี้จะต้องลงทุนปรับปรุงคุณภาพของรายการมากขึ้น เพราะไม่ใช่เป็นรายเดียวในธุรกิจนี้อีกต่อไป นี่คือประโยชน์ของการแข่งขันที่จะบังคับให้ต้องสร้างคุณภาพของสินค้าและผลประโยชน์จะเป็นของผู้บริโภค



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.