พีรนาถ โชควัฒนา ทายาท (คนโต) รุ่นที่ 3 ของนายห้างเทียม


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

"ผมไม่ชอบให้สัมภาษณ์เพราะผมไม่อยากให้คนรู้จักผม ผมอยู่อย่างนี้ก็ดีอยู่แล้ว ผมยินดีที่จะเริ่มต้นแบบเงียบๆ จนกว่าสิ่งที่ผมทำจะประสบผลสำเร็จ"

พีรานาถ โชควัฒนา อายุ 29 ปี เป็นลูกชายคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 4 คน ของบุญเอก โชควัฒนา ลูกชายคนโตของ ดร.เทียม และคุณนายสายพิณ โชควัฒนา พีรานาถนับว่าเป็นหลานคนโตในจำนวนหลานทั้งหมดของนายห้างเทียมที่มีอยู่ 17 คน ซึ่งทั้งหมดกำลังเติบโตขึ้นมาเพื่อรองรับธุรกิจในเครือสหกรุ๊ปที่ขยายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในฐานะของทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล "โชควัฒนา"

พีรนาถ เรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นไปศึกษาต่อปริญญาโททางด้านวิศวเคมีที่ CALIFORNIA INSTITUTE OF TECHNOLOGY สหรัฐอเมริกา หลังจากกลับมาเข้าศึกษาตอปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในระหว่างที่เรียนต่อทางด้านบริหารธุรกิจ พีรนาทได้เรียนรู้งานไปพร้อมๆ กันด้วยการเข้าทำงานในบริษัท บริหารสากล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการจัดการของโชติ โสภณพนิช ในขณะเดียวกันก็ช่วยงานของพ่อ (บุญเอก) ในบริษัท ซัน คัลเล่อร์ จำกัดและ บริษัท บุญรวี จำกัด โดยเข้าไปเป็นกรรมการบริษัทฯช่วยดูแลงานทางด้านบัญชีกับคอมพิวเตอร์

หลังจากที่ทำอยู่กับบริหารสากลได้ 2-3 ปี พีรนาถก็ออกมาเรียนรู้งานที่บริษัทอินเตอร์ เนชั่นแนล คอสเมติกส์ หรือ ICC ซึ่งเป็นบริษํทในเครือสหพัฒนในตำแหน่งพนักงานคนหนึ่ง โดยช่วยดูแลโครงการใหม่ๆของบริษัทที่จะมีเข้ามา

และหนึ่งในโครงการพีรนาถได้รับมอบหมายจากบุญสิทธ์ผู้เป็นอาให้สานงานต่อ คือ การทำธุรกิจร้านอาหาร "ฟูจิย่า" ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณชั้นที่ 1 ของห้างสรรพสินค้าเยาฮัน ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่บุญสิทธิ์เป็นผู้ริเริ่มขึ้นโดยมีการเจรจาที่จะร่วมลงทุนกันกับฟูจิย่าญี่ปุ่นเมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมา จนกระทั่งเพิ่งมีการเซ็นสัญญากันอย่างจริงจังเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2533

ฟูจิย่าได้เริ่มดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 2453 จนถึงปีนี้ก็ 81 ปี แล้วโดยเริ่มจากการเป็นร้านขนมเค้กและร้านจำพวก COFFEE SHOP ที่เมืองโยโกฮาม่า หลังจากนั้นได้เปิดร้านขนมเค้กและร้านอาหารตามเมืองใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นและจากปี 2495 เป็นต้นมาก็ได้เริ่มทำกิจการเกี่ยวกับลูกกวาด ช็อกโกแลตและบิสกิต นอกจากนี้ในปี 2505 ก็ได้เริ่มขยายกิจการของขนมเค้กและร้านอาหารเป็นแบบ FRANCHING SYSTEM โดยเริ่มในญี่ปุ่นก่อน

ปัจจุบันฟูจิย่าทำยอดขายได้ถึงว 1,280 ล้านเยน ต่อปี ยอดขายดังกล่าวนี้มาจากร้านของฟูจิย่าเองและจากการส่งไปขายในร้านต่างๆ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างละ 50% ฟูจิย่ามีร้านขายขนมเค้ก 1,000 ร้านและร้านอาหาร 250 ร้าน นอกจากนั้นเป็นพวก BASKIN ROBBINS ไอศกรีม NESTLE MACKINTOSH HARSHEY JAPAN และมีร้านขายฝากอื่นๆ อีกในต่างประเทศนั้นนอกจากมีร้านอาหารประเภท STEAK ที่อเมริกา ชื่อ FUJISAN U.S.A แล้วยังมีลูกกวาดและว็อกโกแลตขายด้วย

สำหรับการเข้ามาในเมืองไทยด้วยการร่วมทุนกับสหกรุ๊ป เป็นโครงการแรกของการขยายตลาดในต่างประเทศของฟูจิย่าในรูปแบบของการลงทุนร่วม

สิ่งแรกที่พีรนาถดำเนินการหลังจากที่ได้รับมอบหมายให้สานงานต่อ คือ การจัดตั้งบริษัท ไทยฟูจิย่า จำกัด ขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปีที่ฟฟผ่านมาด้วยทุนจดทะเบียน 35 ล้านบาท โดยสหกรุ๊ปถือหุ้น 51% และฟูจิย่า ถือหุ้นที่เหลือ 49% ในขณะที่กำหนดการเปิด SOFT OPENING ของห้างสรรถสินค้าเยาฮัน คือ วันที่ 13 เมษายน 2534 เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้ร้านฟูจิย่าเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในช่วงระยะเวลาไม่กี่เดือนจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับพีรนาถ

ถึงแม้ว่าวันนี้ร้านฟูจิย่าจะเปิดให้บริการแล้วแต่ยังไม่เป็นดังที่พีรนาถคาดหวัง การปรับปรุงยังคงมีอยู่ตลอดเวลา

"ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับเรา ในขณะที่เวลาเตรียมตัวก็น้อยมาก ปัญหาต่างๆ มีเข้ามามากไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคลากรที่จะเข้ามา หรือรสชาติอาหาร ซึ่งคนของสหพัฒนเองไม่มีความรู้ด้านรสชาติหรือสูตรอาหาร ในขณะที่ญี่ปุ่นเองก็ไม่เคยรู้ว่าคนไทยชอบอาหารแบบไหน คงต้องสังเกตจากที่นี่ว่าเป็นอย่างไรและค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป" พีรนาถกล่าวในฐานะของกรรมการรองผู้จัดการบริษัทไทยฟูจิย่า

ซึ่งถ้าหากจะดูจากวิชาที่ร่ำเรียนมาแล้ว พีรนาถน่าจะรับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับโรงงานมากกว่า ในขณะที่พีรนาถเองมีแนวความคิดของตนเองแบบลึกๆ ที่อยากจะทำงานด้านการเงิน ซึ่งเป็นความรู้สึกส่วนตัวว่ามันน่าสนใจ พีรนาถบอกว่า "มันเป็นแค่ความรู้สึกเท่านั้น ซึ่งทำจริงๆ อาจไม่น่าสนใจก็ได้สำหรับผมให้ทำอะไรผมก็ทำตัวให้รู้สึกรักมัน ชอบมันก็น่าสนใจไปเอง อย่างกรณ๊ของฟูจิย่ามีคนเอาโบชัวมาให้ผมดูมีแต่ขนมเค้ก ซึ่งส่วนตัวก็ไม่ชอบกินเค้ก อาหารก็ทำไม่เป็น ไม่เคยคิดจะทำแต่เมื่อต้องทำก็ทำตัวให้มาสนใจมัน พยายามเข้าใจมันก็ทำได้"

การที่พีรนาถเป็นหลานคนแรกที่เกิดและเติบโตในบ้านเดียวกับนายห้างเทียม ดังนั้นสิ่งที่ได้เรียนรู้และได้เห็นมาตลอดคือ ความขยัน ความสื่อสัตย์ ความรักที่นายห้างเทียมมีต่อพนักงาน ความเป็นคนชอบศึกษาคิดทบทวนในสิ่งที่ได้ผ่านมาโดยเฉพาะลักษณะอย่างหนึ่งที่นายห้างเทียมมักจะปฏิบัติ คือ การรู้อะไรมาแล้วมักจะเล่าให้คนอื่นฟัง ซึ่งพีรนาถถือว่าเป็นอะไรบางอย่างที่มีประโยชน์มาก เพราะยิ่งเล่ายิ่งจำมันได้และเข้าใจมันดีขึ้นซึ่งตนเองเคยนำวิธีการนี้ไปทดลองใช้ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ

และในฐานะที่เป็นหลานคนโตของทายาทรุ่นที่ 3ที่ในอนาคตจะต้องสืบทอดธุรกิจต่อจากทายาทรุ่นที่ 2 ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้กันในตระกูลโชควัฒนาก็ตาม แต่การที่พีรนาถได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของสหกรุ๊ปในการเข้าบริหารงานในไทยฟูจิย่า น่าเป็นเครื่องบ่งบอกได้ดีถึงการมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบงานที่มากขึ้นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งพีรนาถเองก็ยอมรับว่าการทำร้านอาหารฟูจิย่าเป็นการจับงานแบบเต็มตัว ในขณะที่แต่เดิมเพียงแค่เข้าไปช่วยงานบางเรื่องในบางบริษัทในเครือเท่านั้น และสำหรับร้านฟูจิย่าที่ไม่เพียงแต่เป็นที่ฝึกฝนวิทยายุทธ์ ในการทำงานให้กับพีรนาถเท่านั้น ยังเป็นที่ฝึกฝนประสบการณ์ให้กับบรรดาทายาทรุ่นที่ 3 ของนายห้างเทียมซึ่งยังไม่พ้นวัยเรียนอีกหลายคนในตำแหน่งพนักงานเสริฟโดยมีปณิธานและประวรา ปวโรฬารวิทยา (ลูกของสิรินา โชควัฒนา) ชัยลดล และชัยลดา โชควัฒนา (ลูกของบุญชัย) กิติยาภรณ์ โชควัฒนา (ลูกของบุญเกียรติ) และทิวาลักษณ์ โชควัฒนา (ลูกของบุญเอก) บทบาทของทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลโชควัฒนาได้เริ่มขึ้นแล้ว!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.