|
"บิ๊กแอ้ด" รับ 6 ข้อเสนอแก้บาทแข็ง-ตั้งกองทุน 5 พันล.อุ้มเอสเอ็มอี-ส่งออก
ผู้จัดการรายวัน(20 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
"โฆสิต-ฉลองภพ" จูงมือ "ธาริษา" รายงานสถานการณ์ค่าบาท "บิ๊กแอ้ด" เช้าวันนี้ เผยนายกฯ ยอมรับข้อเสนอของภาคเอกชน 6 ข้อ ชี้บางมาตรการประกาศใช้ทันที ส่วนมาตรการที่เหลือเตรียมนำเข้า ครม.อังคารหน้า ล่าสุด เตรียมจัดตั้งกองทุน 5 พันล. ช่วนเหลือผู้ประกอบการ "เอสเอ็มอี-ส่งออก"
มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลา 09.30 น. เช้าวันนี้(20 ก.ค.) นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีฯอุตสาหกรรมพร้อมด้วย นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงรายละเอียดมาตรการดูแลค่าเงินบาททั้ง 7 ข้อที่คณะกรรมการร่วมภาคเอชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เป็นผู้เสนอมา
ทั้งนี้ นายโฆสิต กล่าวก่อนเข้าร่วมหารือกับนายกฯ โดยเชื่อว่า หากมาตรการดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากนายกฯแล้ว มีบางมาตรการซึ่งสามารถประกาศใช้ได้เลย แต่บางมาตรการจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 24 ก.ค.นี้
ล่าสุด หลังการหารือ นายโฆสิต ได้ออกมาเปิดเผยว่า รัฐบาลจะมีมาตรการเร่งด่วนในการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) และผู้ส่งออก โดยให้มีทุนประเดิมกองทุนขนาด 5 พันล้านบาทที่จะใช้ในการปล่อยกู้สนับสนุนสภาพคล่อง ซึ่งที่มาของเงินดังกล่าว 50% จะมาจากสมาคมธนาคารไทย และอีก 50% จะมาจากเงินกู้ผ่อนปรนของ ธปท.
"รัฐบาลรับข้อเสนอของภาคเอกชน 6 มาตรการจากทั้งหมด 7 มาตรการที่เสนอมา ส่วนมาตรการที่เสนอให้สต็อกน้ำมันคงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบด้านราคา และจำเป็นต้องหารือกันในระยะต่อไป"
ทั้งนี้ หลังจากนำมาตรการดังกล่าวเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าแล้ว จะชี้แจงรายละเอียดอีกครั้งว่าแต่ละหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง หรือ ธปท.จะทำหน้าที่รับผิดชอบด้านใด และมีแนวทางการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าอย่างไรบ้าง
สำหรับข้อเสนอของเอกชน 6 มาตรการระยะสั้นที่รัฐบาลเห็นด้วย คือ การให้บริษัทเอกชนไทยถือครองเงินตราต่างประเทศได้ไม่กำหนดระยะเวลา, ให้บุคคลธรรมดาถือเงินตราต่างประเทศไม่จำกัดเวลารวมทั้งเพิ่มวงเงินถือครองเงินดอลลาร์ได้มากกว่า 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ, เปิดโอกาสให้เอกชนสามารถใช้จ่ายและชำระสินค้าระหว่างกันเป็นเงินตราต่างประเทศได้, ขอให้ภาครัฐเร่งคืนภาษีให้แก่ผู้ส่งออกตามมาตรา 19 ทวิ, ให้รัฐบาลผลักดันให้รัฐวิสาหกิจอาศัยช่วงเงินบาทแข็งค่าเร่งชำระหนี้ต่างประเทศ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือ SME ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าเงินบาท
นางธาริษา ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงมาตรการดูแลค่าเงินบาท โดยยืนยันว่า ธปท.ยังยืนยันที่จะใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ(Managed Float) ต่อไป เพราะมีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศและของโลกในปัจจุบัน โดยไม่มีแนวคิดจะกลับไปใช้การตรึงอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เหมือนในอดีต
"เราผ่านจุดนั้นมาแล้ว ได้บทเรียนมามากแล้ว เงินทุนในโลกก็มีมากด้วย การที่เสนอให้คงที่แบบมีการจัดการ สามารถทำได้ในระยะหนึ่งเท่านั้น แนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์มีทั้งถูกและผิด ต้องดูสภาพการณ์ที่เหมาะสม"
สำหรับแนวทางในการออกมาตรการรับมือการแข็งค่าของเงินบาทนั้น ธปท.รับข้อเสนอของภาคเอกชนเกือบทั้งหมด ยกเว้นการสำรองน้ำมัน ซึ่งนายโฆสิต จะเป็นผู้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|