|
แอร์ไลน์นอกขับเครื่องบินหนีไทย ชี้แผน5ปีงดเพิ่มเที่ยวบิน-จี้รัฐแก้ก่อนแผนสู่ฮับล่ม
ผู้จัดการรายวัน(20 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
“นายกBAR” ระบุ แผน 5 ปี สายการบินต่างประเทศเมินบรรจุแผนเพิ่มเที่ยวบินมาไทย หันบินเข้า จีน อินเดีย เวียดนาม ทดแทน เหตุสุวรรณภูมิเก็บค่าแลนด์ดิ้งแพง ฉะปัญหา 2 สนามบินในไทยทำเอาผู้โดยสารเสียเวลาต่อเครื่อง จี้รัฐบาล และ AOT เร่งแก้ปมปลดล็อกปัญหา หวั่นไทยหมดหวังเป็นฮับในภูมิภาค
นายไบรอัน ซินแคลร์-ทอมสัน (Brian Sinclair-Thompson) นายกสมาคมธุรกิจการบิน (Board of Airline Representatives หรือ BAR) ประเทศไทย และ ผู้จัดการทั่วไป สายการบิน สวิส ซึ่งมีสมาชิก คือสายการบินต่างประเทศที่มีเส้นทางบินเข้ามาในประเทศไทย กล่าวว่า ในแผนการดำเนินงานธุรกิจ 5 ปี ของสมาชิก ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีแผนที่จะเพิ่มเที่ยวบินเพื่อบินเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมิ
ทั้งนี้เพราะสนามบินสุวรรณภูมิ มีการปรับค่าธรรมเนียมขึ้น-ลงท่าอากาศยาน(แลนด์ดิ้งฟี) ขึ้นอีก 35% ส่งผลให้ค่าแลนด์ดิ้งของสนามบินสุวรรณภูมิแพงกว่าสนามบินอื่นๆ ในประเทศใกล้เคียงที่เป็นคู่แข่งขัน หากสายการบินใดบินเข้ามาก็จะมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งในสถานการณ์ธุรกิจการบินที่มีการแข่งขันสูงอยู่แล้ว ประกอบกับต้นทุนค่านำมันที่แพงขึ้น ทุกสายการบินจะต้องยอมประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ เกือบทุกสายการบินจึงมีนโยบายตรงกันว่าจะไม่บินเข้ามาประเทศไทย
“ในส่วนของสายการบินสวิส ซึ่งปัจจุบันบินเข้าสุวรรณภูมิสัปดาห์ละ 6 เที่ยวบิน ซึ่งจากดีมานด์ของลูกค้า บริษัทฯสามารถเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 7-10 เที่ยวบินก็ได้ แต่เราไม่ทำ เพราะค่าแลนด์ดิ้งที่นี่สูงมาก จึงหันไปเพิ่มเที่ยวบินไปลงที่กรุงเดลี ประเทศอินเดียแทน ขณะที่สมาชิกBar เท่าที่คุยกัน สรุปว่า หากจะเลือกบินเข้ามาในภูมิภาคนี้ คงเลือกบินลงที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเขาให้อินเซนทีฟเป็นสัญญาฟรีค่าแลนด์ดิ้งถึง 5 ปี หรืออาจบินไปลงที่จีน อินเดีย หรือ เวียดนามก็จะได้อินเซนทีฟที่ดีกว่า”
นายกBAR ยังกล่าวอีกว่า จะเห็นได้ว่า สายการบินใหม่ๆ ที่เปิดเส้นทางบินเข้ามาประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ(โลว์คอสต์) และ สายการบินจากกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ดังนั้นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เพิ่มขึ้นมาในประเทศไทยขณะนี้ จึงเป็นนักท่องเที่ยวทั่วไป และ กลุ่มเมดิคัล ทัวร์ริสซึม แต่ นักท่องเที่ยวระดับบน และ กลุ่มนักธุรกิจจะลดน้อยลง เพราะมีเที่ยวบินเข้ามาประเทศไทยน้อยทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับความสะดวก
นอกจากนั้นการเปิดใช้ 2 สนามบินของประเทศไทยก็ถือว่าเป็นปัญหา เพราะผู้โดยสารที่มาจากต่างประเทศกว่า 70% จะต้องเข้ามาต่อเครื่องเพื่อเดินทางต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยว หรือประเทศอื่นๆ ซึ่งการมี 2 สนามบิน ทำให้ผู้โดยสารต้องใช้เวลาต่อเครื่องนานกว่า 1-2 ชั่วโมง จากเดิมที่ใช้สนามบินดอนเมืองจะเสียเวลาต่อเครื่องเพียง 50 นาที
ปัญหาทั้งหมดดังกล่าว ทาง BAR เคยส่งหนังสือถึง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ AOTแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการจัดการ หรือปรับให้ดีขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะยังขาดผู้นำที่จะตัดสินใจได้ เพราะมีเพียงผู้บริหารระดับรักษาการ จึงไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ
“สุวรรณภูมิ มีศักยภาพที่จะเป็นฮับทางการบินในภูมิภาคนี้ได้ เพราะอยู่ใกล้เมือง และการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเช่น แอร์พอร์ตลิ้ง ใกล้จะเสร็จแล้ว แต่ปัญหาคือปัจจุบันสุวรรณภูมิเองก็มีการใช้พื้นที่เต็มหมด จนต้องย้ายมาใช้สนามบินดอนเมือง การขึ้นค่าแลนด์ดิ้งฟี ทั้งหมดคือปัจจัยลบ ที่ทำให้สายการบินต่างๆเมินที่จะเข้ามา ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการอีกคือขยายอาคารผู้โดยสาร และ เพิ่มรันเวย์ ให้เพียงพอ”
อย่างไรก็ตาม ยังต้องการเสนอให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ การบินไทย ออกโรดโชว์ร่วมกันในงานส่งเสริมการท่องเที่ยวในต่างประเทศ เพราะจะได้มั่นใจได้ว่า มีสายการบินรองรับในตลาดที่ ททท.ไปโปรโมต ทำให้ผลการโรดโชว์มีประสิทธิภาพ ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามารปะเทศไทยได้เพิ่มขึ้นคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|