|
กบข.ลงทุนตปท.เต็มเพดาน15%
ผู้จัดการรายวัน(20 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
กบข.สนองนโยบายรัฐ เตรียมใส่เงินลงทุนต่างประเทศเต็มเพดาน 15% ภายใน 1 เดือนจากพอร์ดเดิมที่ลงทุนอยู่ 12.64% ก่อนเดินหน้าเจรจากระทรวงการคลัง ขอเพิ่มวงเงินเป็น 25% แสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าในประเทศ ย้ำไม่มีใบสั่งภาครัฐ "วิสิฐ" ระบุเป็นห่วงปัญหาค่าเงินบาท เผยหากแข็งค่าเกินกว่านี้ กระทบส่งออกพร้อมกดดันเศรษฐกิจชะลอตัวแน่ แถมมีสิทธิหนุนต่างชาติทิ้งหุ้นไทยเร็วขึ้น ชี้ระดับ 35-36 บาทถือว่าเหมาะสม
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า อีก 1 เดือนข้างหน้า กบข.จะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในต่างประเทศให้เต็มเพดาน 15% ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้สามารถลงทุนได้ จากพอร์ตการลงทุนปัจจุบันที่กบข. มีอยู่แล้วประมาณ 12.64% ซึ่งแบ่งเป็นกระจายการลงทุนในหุ้นประมาณ 7.6% และตราสารหนี้ประมาณ 5% โดยเร็วๆ นี้ กบข.เตรียมยื่นข้อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาเพิ่มเพดานการลงทุนในต่างประเทศอีก 10% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 25% ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาทของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด
ทั้งนี้ การเพิ่มเพดานการลงทุนดังกล่าว เป็นนโยบายการลงทุนของกบข. เอง โดยไม่มีการขอความช่วยเหลือจากภาครัฐให้มีการออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นเพื่อช่วยผ่อนคลายปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทแต่อย่างใด ซึ่งวงเงินที่จะขอไปดังกล่าว เป็นกลยุทธ์การลงทุนเพื่อโอกาสในกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น การลงทุนในตราสารหนี้ ที่ปัจจุบันมีช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศห่างกันถึง 2% นอกจากนี้ กบข.เองก็เคยขอเพดานการลงทุนต่างประเทศไว้ในระดับ 25% ก่อนหน้านี้ แต่ก็ได้รับอนุญาตให้ลงทุนได้เพียง 15% เท่านั้น
"นโยบายการลงทุนในต่างประเทศของเรา เป็นกลยุทธ์การลงทุนที่เราเห็นว่าน่าจะเป็นสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในประเทศได้ โดยไม่มีการขอความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อให้พยุงการแข็งค่าของเงินบาทแต่อย่างใด แต่จากสถานการณ์ของค่าเงินบาทในตอนนี้ เชื่อว่าวงเงินลงต่างประเทศที่เราจะขอเพิ่มไปน่าจะได้รับการพิจารณาโดยเร็ว"นายวิสิฐกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พอร์ตการลงทุนในต่างประเทศของกบข. ให้ผลตอบแทนกลับมาประมาณ 2.06% ซึ่งอาจจะเป็นผลตอบแทนที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่การลงทุนในหุ้น ได้ผลตอบแทนในรูปเงินดอลลาร์ประมาณ 9% แต่จากการแข็งค่าของเงินบาททำให้ผลตอบแทนลดลงมาเหลือ 5% หลังแปลงเป็นเงินบาทแล้ว โดยในช่วงครึ่งปีหลัง เราคาดการณ์ว่าผลตอบแทนในส่วนของการลงทุนต่างประเทศจะดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนทั้งปีขยับขึ้นได้อีก
นายวิสิฐกล่าวถึงปัญหาเงินบาทแข็งค่าในขณะนี้ว่า หากย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปี 2549 จนถึง 6 เดือนแรกของปี 2550 ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปแล้วประมาณ 20% ซึ่งส่งผลต่อการส่งออกของประเทศพอสมควรโดยเฉพาะผู้ส่งออกที่มีกำไรในระดับ 10-15% จะเริ่มเห็นการขาดทุนบ้างแล้ว เพราะไม่สามารถปรับโครงสร้างของบริษัทได้ทัน และหากค่าเงินบาทแข็งค่าไปมากกว่านี้ อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศถดถอยได้ ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่าค่าเงินบาทในระดับที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ระดับ 35-36 บาท ซึ่งก็คงจะไมเห็นเร็วๆ นี้แน่นอน
"ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจาก 3 ปัจจัยหลัก นั่นคือการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ การขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และปัจจัยที่เห็นชัดเจนคือ เงินลงทุนทั่วโลกที่ไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในไทยเองมีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นกว่าแสนล้านบาท ทำให้มีความต้องการเงินบาทค่อนข้างมาก"นายวิสิฐกล่าว
สำหรับแนวโน้มการลงทุนตลาดหุ้นไทย นายวิสิฐกล่าวว่า เงินลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ P/E ของตลาดหุ้นไทยขยับขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ P/E ของประเทศในภูมิภาคแล้ว ซึ่งหลังจากนี้คงไม่มีข่าวร้ายที่จะเข้ามากระทบต่อบรรยากาศการลงทุนไปมากกว่านี้แล้ว ประกอบกับตลาดหุ้นไทยมีความหวังเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศจึงทำให้ยังทรงตัวอยู่ได้ และยังน่าสนใจลงทุนอยู่ แต่ยังมีความกังวลเรื่องของเงินบาทอยู่บ้าง ส่วนเงินลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนกว่าแสนล้านนั้น คงไม่สามารถบอกได้ว่าจะอยู่อีกนานแค่ไหน แต่หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่นักลงทุนจะทำกำไรค่าเงินบาทออกไป
ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดดอกเบี้ยอาร์/พี 1 วันลงอีก 0.25% มองว่าเป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว เพราะมีเรื่องของอัตราเงินเฟ้อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่การปรับลดดังกล่าวทำให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค จึงมีความเป็นไปได้ที่เงินลงทุนจะไหลออกไปลงทุนในประเทสที่ดอกเบี้ยสูงกว่า ในขณะที่การขายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ เชื่อว่าครึ่งปีหลังจะยังขยายตัวได้ดี และในช่วงไตรมาส 4 ของปี เศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ และจะเข้ามาชดเชยการส่งออกที่ชะลอลงไปและจะหนุนให้ทั้งปีเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ประมาณ 4%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|