ผืนป่าอาณาเขต 1,019,379 ไร่ที่ทอดตัวเงียบกริบคลุมอยู่ในท้องที่ของอำเภอลานสัก
อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตากโอบเก็บชีวิตคนและสัตว์ไว้ในความห่างไกลอย่างมิดชิด
ที่นี่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ผืนใหญ่ 1
ในจำนวนน้อยนิดที่เหลืออยู่ของประเทศไทยและของโลกกำลังจะได้รับการเชิดชูขึ้นเป็นมรดกโลกในเร็ววันนี้
เพื่อที่จะเลื่องชื่อและเป็นที่ชื่นชมของใคร ๆ ยกเว้นคนจำนวนหนึ่งผู้ซึ่งผูกพันกับห้วยขาแข้งแน่นแฟ้นยิ่งกว่าการเป็นเพียงสถานที่โด่งดังระดับจักรวาล
กว่า 180 ชีวิตมนุษย์ผู้มีหน้าที่พิทักษ์รักษาผืนป่าแห่งนี้มีข้าราชการปะปนเป็นคนส่วนน้อยอยู่เพียง
16 คน นอกนั้นเป็นพนักงานหรือลูกจ้างประจำ 31 คน และคนงานหรือลูกจ้างชั่วคราวประมาณ
140 คน พวกเขาทำงานในป่ามีป่าเป็นทั้งสถานที่ทำงานและเป็นบ้านที่ต้องเฝ้าดูแลให้ดี
ปริญญา อรุณโรจน์คือคนหนึ่งในจำนวนเหล่านั้น
"ผมทำงานที่นี่มา 5 ปีย่าง ก่อนทำอาชีพนี้ผมก็ทำรับจ้างเขาทั่วไป"
เขาเริ่มต้นเล่าชีวิตตัวเอง
ปริญญาเป็นคนงานรักษาป่า ตำแหน่งที่เล็กที่สุดในบรรดาประเภทตำแหน่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ส่วนใหญ่คนในตำแหน่งนี้คือชาวบ้านธรรมดาจากชุมชนใกล้เคียง ทำงานรับเงินเดือนจากกองอนุรักษ์สัตว์ป่า
กรมป่าไม้ทว่าไม่เคยได้รับการนึกถึงเยี่ยงคนราชการแต่อย่างใดไม่ว่าจะเป็นคนงานของเขตฯ
ไหนก็ตกอยู่ในสถานะอันเดียวกัน
นั่นคือแม้จะทำงานมาเนิ่นนานปีก็ยังคงเป็นเพียงลูกจ้างรายวันค่าแรงต่ำที่ต้องรับเงินเป็นราย
2-3 เดือนไม่มีค่าล่วงเวลา ไม่มีสวัสดิการดูแลรักษา และนายจ้างอยากจะปลดออกเมื่อไรก็ทำได้โดยมิอาจต่อรองเรียกร้อง
พื้นเพเดิมปริญญาเป็นคนจังหวัดชัยภูมิภายหลังย้ายภูมิลำเนามายังบ้านลานหมาไนยอำเภอลาดยาว
จังหวัดนครสวรรค์ หมู่บ้านที่อยู่ติดกับแนวป่ากันชนของห้วยขาแข้ง ก็ได้เข้ามาสมัครทำงานในเขตฯ
ตามการชักชวนของเพื่อนบ้านด้วยวุฒิการศึกษาที่ค่อนข้างสูงกว่าหน้าที่มากคือ
ประกาศนียบัตรชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
หน้าที่แรกที่ได้รับก็คือ การเป็นยามประจำด่านปากทางเข้าเขตฯ ทำอยู่ถึง
2 ปี จึงเริ่มต้นชีวิตตระเวนไพรโดยการไปประจำที่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่ดี จากนั้นย้ายไปหน่วยฯ
ห้วยยู่ยี่ หน่วยฯ ห้วยน้ำตื้น เพิ่งจะเข้ามาประจำที่ทำการเขตเมื่อต้นเดือนสิงหาคม
"งานหลักเวลาอยู่หน่วยก็คือตรวจปราบปราม ถ้าเว้นจากตรวจก็ปรับปรุงหน่ยกันไปลาดตระเวณทีก็จะเตรียมเสบียงกันออกไป
4-5 วัน มีเปล ปลากกระป๋อง มาม่า หม้อสนาม ผ้าห่ม ส่วนเสื้อผ้าก็ชุดเดียว
ออกกัน 7-9 คน นอกจากคอยดูพวกคนบุกรุกลักลอบแล้ว ระหว่างเดินก็ต้องเก็บข้อมูลส่งให้ศูนย์วิจัยเขานางรำบ้าง"
ปริญญาพูดถึงงานพิทักษ์ป่า งานที่สำคัญที่สุดของแต่ละเขตฯ
ห้วยขาแข้งมีหน่วยพิทักษ์ป่าทั้งหมด 12 หน่วยขึ้นอยู่กับหัวหน้าเขตฯ โดยตรงซึ่งปกติประจำอยู่
ณ ที่ทำการเขต อยู่นอกแนวป่า ส่วนหน่วยฯ ต่าง ๆ นั้นกระจายอยู่รอบพื้นที่
ส่วนใหญ่มีทางติดต่อกันได้แต่สภาพค่อนข้างกันดาร หน้าฝนอาจถูกตัดขาดจากโลกภายนอก
และมีอยู่หน่วยหนึ่งที่ไปถึงได้โดยทางเรือเท่านั้นคือหน่วยฯ องค์ทั้งส่วนห้วยน้ำตื้นเป็นหน่วยฯ
ใหม่ล่าสุด หัวหน้าหน่วยฯ รุ่นบุกเบิกคือ สุนทร ฉายวัฒนะ
โครงสร้างการทำงานของหน่วยฯ ประกอบไปด้วยหัวหน้าซึ่งเป็นข้าราชการ พนักงานพิทักษ์ป่า
2 คน และคนงานพิทักษ์ป่าอีก 9 คน
ข้าราชการนั้นสั่งตรงไปจากกอง มีอัตราเงินเดือนตามซี มีสวัสดิการ มีเบี้ยเลี้ยง
มีบำเหน็จบำนาญเช่นเดียวกับคนของรัฐทั่ว ๆ ไป สำหรับพนักงานบรรจุแล้วรับเงินเดือนตามขั้น
มีสวัสดิการเช่นเดียวกัน แต่เมื่อปลดเกษียณแล้วไม่ได้บำนาญ ส่วนคนงาน นอกจากค่าตอบแทนอัตรา
75 บาทต่อวันแล้ว พวกเขาก็ไม่ได้อะไรอีก
ในขณะที่ในการออกป่าอุปกรณ์ทั้งหลายที่ต้องเตรียมไปเป็นภาระหน้าที่ของแต่ละคนที่จะต้องรับผิดชอบตัวเอง
ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือเครื่องนอน อุปกรณ์ส่วนกลางมีเพียงอาวุธปืนจำนวนหนึ่งเท่านั้น
"เรื่องปัจจัยไม่เพียงพอเป็นปัญหาหลักของเรา คุยไปคุยมาจะไม่พ้นเรื่องนี้
เช่น รถไม่พอ อัตรากำลังขาด งบประมาณน้อย อุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่เพียงพอ"
สุนทร ฉายาวัฒนะ ปัจจุบันทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์กล่าว
ปัญหาเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ "หัวหน้าสืบ" ย้ำอยู่เสมอว่าจะต้องแก้ไขปรับปรุง
สืบ ให้ความสำคัญและพยายามหาทางช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานระดับล่างของเขาตลอดมา
จนกระทั่งเมื่อการแก้ไขไม่อาจมาจากมือของเขาแล้วมูลนิธิสืบนาคะเสถียรก็ยังคงจะเป็นผู้สานต่อต่อไป
"พวกผมบางทีก็มีความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ความน้อยใจมันมีบ้างในช่วงที่หนัก
ๆ หายเหนื่อยก็เลิกคิด ผมเองถือว่าการทำงานเป็นเรื่องสนุก เดินป่าก็เหมือนไปเที่ยว
แต่ถ้าสวัสดิการดีกว่านี้ก็จะดี อีกอย่างที่ผมห่วงคือเมื่อแก่ ๆ ไปแล้วทำงานไม่ไหว
ลูกเมียจะทำอย่างไร ตอนนี้ผมก็หวังอยู่ฮะว่าจะได้บรรจุ" นั่นคือเสียงแห่งความจริงใจที่ดังออกมาจากราวป่าด้วยหวังว่าคงจะสะเทือนถึงเมืองบ้าง