มูลนิธิสืบฯ ทำอะไรไปแล้วบ้าง

โดย สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัญหาภายในของมูลนิธิสืบฯ มีอยู่จริง และภาพของมูลนิธิฯ ก็เงียบหายไปทุกที สิ่งนี้กรรมการต่างยอมรับ ทว่าทุกคนก็ยังรู้สึกว่า เท่าที่ผ่านมา ถ้าจะเฉลิมฉลองความสำเร็จของการทำงานครบรอบ 1 ปี ก็มีเรื่องควรเฉลิมฉลองอยู่ไม่น้อย

ความภาคภูมิใจแรกสุดก็คือการถือกำเนิดขึ้นได้ขององค์กรอนุรักษ์แห่งนี้ ที่สาธารณชนทุกระดับชั้นต่างมีส่วนร่วมแรงกายแรงใจ โดยมอบความไม่วางใจให้กับกลุ่มคนที่เป็นเพื่อนของสืบอย่างแท้จริง

อย่างน้อยก็เป็นองค์กรอนุรักษ์ของคนไทยแท้ ๆ ที่เชื่อได้ว่าจะไม่มีวันออกนอกลู่นอกทางเห็นดีงามกับการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือขายธรรมชาติเพื่อสิ่งอื่น

เงินส่วนใหญ่ของมูลนิธิฯจะทุ่มเทไปยังเขตรักษพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร แบ่งเป็นแห่งละ 600,000 บาท เพื่อการใช้ประโยชน์อะไรก็ได้ตามแต่หัวหน้าเขตฯ จะเห็นสมควร นอกจากนั้นยังมีเงิน 400,000 บาทอีก 2 ก้อนที่เรียกว่าเงินยืมสำรองจ่ายเป็นเงินค่าจ้างพนักงานและคนงานในช่วงคาบเกี่ยวของปีงบประมาณตั้งแต่เดือนตุลาคมที่เงินรัฐมักออกล่าช้า

ห้วยขาแข้งยังจะได้เครือข่ายวิทยุสื่อสารในวงงบประมาณ 1,060,000 บาท ติดตั้งตามจุดต่าง ๆ เท่าที่จำเป็นเพื่อการติดต่อประสานการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งแผนงานเดียวกันนี้ทุ่งใหญ่นเรศวรก็จะได้รับด้วยเมื่อมูลนิธิฯหาเงินเพิ่มได้

ส่วนการจัดสร้างอนุสรณ์สถานของสืบ นาคะเสถียรก็เป็นงานใหญ่ที่มูลนิธิฯ เป็นเจ้าภาพอีกงานหนึ่ง ส่วนประกอบของอนุสรณ์สถานได้แก่ อาคารนิทรรศการ ห้องประชุมและห้องสมุด ความหมายในทางนามธรรมเท่ากับเป็นการรำลึกถึงสืบ แต่ก็มีคุณค่าตามมาในแง่ของการจัดให้เป็นสถานที่ศูนย์กลางเชื่อมคนที่แวะเข้าไปให้รู้จักกับห้วยขาแข้งมากขึ้น อาจจะโดยการฉายสไลด์หรือฟังบรรยาย

แม้ความสำเร็จของโครงการเหล่านี้ ยังเป็นเรื่องของอนาคต แต่ก็พอจะเห็นวี่แววกันได้อยู่ว่าหน้าตาของห้วยขาแข้งจะเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปอย่างไรบ้าง ซึ่งนอกจากมูลนิธิฯ แล้ว ทางราชการก็เข้ามาเสริมบางส่วนด้วย อย่างเช่น โครงการลาดยางถนนเข้าที่ทำการเขตฯทางหน่วย่งานเร่งรัดพัฒนาชนบทก็จะเก็นผู้ดำเนินการ

ชัชวาล พิศดำขำ หัวหน้าเขตฯ ห้วยขาแข้ง คนปัจจุบันและเป็นกรรมการมูลนิธิสืบฯ โดยตำแหน่งด้วยกล่าวถึงการช่วยเหลือจากทางมูลนิธิฯ ว่า "ผมยัง มีความเห็นวาคนมักจะมอง ว่ามูลนิธิฯ ให้อะไรกับห้วยขาแข้งบ้างที่เป็นวัตถุ แต่ผมไม่เน้นเรื่องนี้หรอกครับ เพราะยังมีเขตอื่นๆ ต้องการได้รับความช่วยเหลืออีก บางแห่งมากกว่าห้วยขาแข้งด้วยซ้ำ และมูลนิธิฯ เองก็ไม่ได้หลงลืมเรื่องนี้"

อย่างไรก็ตามเขตอื่น ๆ ก็คงจะต้องรอกันสักระยะหนึ่ง เนื่องจากเงินดอกผลของมูลนิธิฯ ก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก

สำหรับงานวงกว้าง อันได้แก่การจัดสัมมนาว่าด้วยปัญหาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร, เรื่องทิศทางป่าไม้ไทย และเรื่องถนน 48 สาย ทั้ง 3 งานเป็นการจัดในรูปสัมมนาโต๊ะกลม เรื่องแรกจัดวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมการเคหะแห่งชาติมีเนื้อหาว่าด้วยแนวทางแก้ไขปัยหาที่เกิดขึ้นกับเขตฯ ทั้งสอง เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นแนวในการทำงานของมูลนิธิฯ ด้วย

งานที่ 2 เป็นงานที่ต่อเนื่องตามมาจากครั้งแรก โดยจัดร่วมกับศูนย์วิจัยป่าไม้ ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันที่ 30 มีนาคสม มีผู้สนใจเข้าร่วมมากถึง 200 คนโดยประมาณ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ผลคือได้ข้อสรุปเกี่ยวกับทิศทางที่ควรจะเป็นของป่าไม้หลายประเด็นยื่นเสนอไปถึงอาณัติ อาภาภิรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ส่วนเรื่องถนน 48 สาย นับเป็นความภูมิใจที่เงียบ ๆ และยิ่งใหญ่ของคณะกรรมการ เนื่องจากการสัมมนาหัวข้อนี้สามารถรวมเอาบรรดาตัวแทนจากฝ่ายต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหามานั่งปรึกษาหารือกัน แลกเปลี่ยนและรับฟัง

ความคิดเห็นอันแตกต่างหลากหลาย จนกระทั่งได้ข้อสรุปที่ดี

แผนงานสร้างทางเพื่อความมั่นคงในเขตพื้นที่กองทัพภาคที่ 1-4 จำนวน 48 สายทาง เป็นโครงการที่สืบเนื่องมาแต่อดีตจากความจำเป็นเรื่องการแก้ปัญหาพื้นที่ล่อแหลมจากการต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ และการคุกคามจากภัยภายนอก ซึ่งเป็นปัญหาที่สภาพการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่โครงการยังคงอยู่โดยปรับวัตถุประสงคืมาว่าด้วยการสร้างความมั่นคงภายใน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแผนงานนี้ออกมาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2533

จุดสำคัญอยู่ที่ว่า ถนน 48 สายนั้นจะตัดผ่านเข้าไปในพื้นที่ป่า โดยผ่านพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจำนวน 8 แห่ง เขตอุทยานแห่งชาติ 6 แห่ง และพื้นที่ที่เป็นเขตลุ่มน้ำชั้น 1 A จำนวนหนึ่ง ที่เหลือเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่มีบางแห่งกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตอุทยานแห่งชาติ

"เรื่องนี้เราทำได้ผลค่อนข้างชัดเจนคือ เส้นไหนที่ตัดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่าก็คงจะต้องระงับไว้ก่อน ส่วนเส้นอื่น ๆ ก็ให้มีการศึกษาผลกระทบว่าจะแก้ไขได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นความใจกว้างของทุก ๆ ฝ่าย" วีรวัธน์ ธีระประสาธน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรกล่าว

และล่าสุดงานอบรมครูระดับมัธยมปลาย 120 กว่าคนจากทั่วประเทศเมื่อวันที่ 22-26 กรกฎาคมก็สัมฤทธิผลไม่น้อยทีเดียว บรรดาครูผู้ผ่านการอบรมทั้งหลายพร้อมใจกันเรียกตัวเองว่า เป็น "กวางผารุ่นที่ 1" โดยทำให้สอดคล้องกับ LOGO ของมูลนิธิที่เป็นรูปของกวางผาโผนสู่เปลวเพลิง ซึ่งก็เป็นที่คาดหวังกันว่า กวางผาคงจะมีอีกหลาย ๆ รุ่นและแต่ละรุ่นก็จะผลิตลูกกวางผาตามมา

นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังมีกิจกรรมอีกจำนวนหนึ่งที่อาจจะอยู่ในขั้นริเริ่มคิดหรือลงมือทำไปบ้าง เช่น การจะจัดตั้งกองทุนผู้พิทักษ์ป่าสำหรับเป็นสวัสดิการและสร้างความมั่นคงในบั้นปลายชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่รักษาป่าทั้งหลาย ซึ่งการดำเนินการเรื่องนี้ฝ่ายประชาสัมพันธ์โดยดวงดาว สุวรรณรังษี เป็นผู้รับผิดชอบและจะหาทุนเป็นการเฉพาะเองหรือย่างงานทางวิชาการ ขณะนี้ BELINDA STEWART COX ก็ได้รับมอบหมายให้ทำรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการศึกษาสัตว์ แต่ละชนิดว่าจะมีวิธีการอย่างไรบ้าง

เหล่านี้คือความเป็นไปเบื้องหลังภาพนิ่งที่กล่าวได้ว่ามีความเคลื่อนไหวอยู่ไม่น้อยเลย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.