1 ปีมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเถียงกันยังไม่จบ

โดย สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

การแสวงหาความเป็น สืบ นาคะเสถียร ในหมู่กรรมการมูลนิธิ ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันไม่จบ มีกรรมการลาออกไปแล้ว 2 คน อนาคตมูลนิธิสืบยังไม่ราบรื่นในการเดินสู่เป้าหมาย...ทำไม ?

สืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจเหนี่ยวไกปืนอำลาโลกไปวันที่ 1 กันยายน 2533 ขณะที่สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของประเทสกำลังถูกรุกรานจนร่อยหรอและเสื่อมทรามลงทุกวัน

การจากไปของสืบสร้างผลสะเทือนอย่างมากต่อผู้คนในแวดวงอนุรักษ์ธรรมชาติ เลยออกไปถึงสังคมวงกว้าง ด้วยความสะเทือนใจกลุ่มเพื่อนและคนรู้จักจำนวนหนึ่งจึงคิดที่จะร่วมกันสร้างบางสิ่งไว้เป็นอนุสรณ์เพื่อการสืบสานเจตนารมณ์-อุดมคติของเขา

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร - มสน. (SEUB NAKHASATHIEN FOUNDATION - SNF) ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2533 โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครด้วยเงินทุนเริ่มแรกในขั้นต่ำสุดตามกฎหมาย 200,000 บาท

หลังจากวันนั้น องค์กรอนุสรณ์แห่งนี้ก็เติบใหญ่มีชื่อเสียงขจรขจายออกไป จำนวนเงินบริจาครวมหลายล้านบาทที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ คือเครื่องบ่งบอกถึงความหวังที่บรรดาคนให้เงินต่างฝากเอาไว้กับองค์กรนี้ว่าจะเป็นผู้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

จวบถึงวันนี้เกือบครบขวบปีชื่อของมูลนิธิสืบสนาคะเสถียรกลับเลือนหายไปท่ามกลางความวิกฤตของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ภาคกิจกรรมไม่ปรากฏเด่นชัดราวกับว่าการแจ้งเกิดเมื่ปลายปีที่แล้วไม่มีความหมายอะไร และการจากไปของสืบก็ไม่ส่งผลใด ๆ

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

"จริง ๆ เป็นเรื่องจิตใจของพวกเราทั้งหลาย อยากเห็นสิ่งที่ดีอยากเห็นป่าคงอยู่และก็มีความรู้สึกว่า เป็นหน้าที่ของมูลนิธิฯ ที่จะทำสิ่งนี้ได้ ตอนนี้เราก็พยายามรักษาไว้ให้ได้ก็พยายาม MOVE อยู่ตลอดเวลา แต่ภาพ MOVE ไม่ปรากฏออกมาอาจเป็นเพราะว่าไม่ได้ประชาสัมพันธ์" เป็นคำตอบของประธานมูลนิธิฯ รตยา จันทรเทียร

"ผมรู้สึกอย่างนี้อาจจะเป็นมุมมองที่ต่างกันคือว่ามูลนิธิสืบ ฯ เป็นมูลนิธิใหญ่ งานที่ออกมาอาจจะดูไม่ค่อยสมตัวแต่ถ้ามองมูลนิธิสืบฯ เป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมจริง ๆ โดยไม่ได้เน้นงานประชาสัมพันธ์ ผมรู้สึกว่างานมูลนิธิสืบฯ ประสบผลสำเร็จแล้ว งานที่ผ่านมานั่นคือผลงานที่เพียงพอ" วีรวัธน์ ธีระประสาธน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กรรมการโดยตำแหน่งคนหนึ่งให้ความเห็น

"ถ้าคุณดูความคิดของสืบ เขาเป็นคนที่จะทำแต่โครงการเล็ก ๆ ทำแต่โครงการเล็ก ๆ ทำอย่างดี และเงียบ ๆ ไม่เคยกังวลกับการต้องประชาสัมพันธ์งาน กังวลแต่สิ่งที่ถูกต้องและแนวทางที่ดี แต่ตอนนี้ดูเหมือนเขาจะเป็นที่ใหญ่โต มีชื่อเสียง ทั้งที่จริง ๆ แล้วเขาคือสิ่งเล็ก ๆ ที่ดี แต่นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของใคร เมื่อเขาตายคนก็ช็อกกัน เกิดพลังมาก มูลนิธิฯ เป็นเหมือนนิวเคลียร์บอมม์ บางทีฉันคิดว่ามันน่าสงสาร แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว และฉันเชื่อว่ามูลนิธิฯ โอเคจะทำกิจกรรมบางอย่างได้ดี" BELINDA STEWARTCOX หรือคนที่สืบ นาคะเสถียรเรียกชื่อว่า 'เบ' กล่าว

ในปัจจุบันองค์กรที่ทำงานด้านอนุรักษ์ธรรมชาติของประเทศไทยมีอยู่หลายองค์กรด้วยกัน เนื่องจากกระแสความตื่นตัวต่อเรื่องนี้มีอยู่สูงมาก หลายองค์กรที่ทำงานด้านพัฒนาทั้งภาคชนบทและภาคเมืองต่างหันมาเพิ่มแนวการทำงานที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม แม้แต่คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชนบทซึ่งเป็นองค์กรรวมของบรรดาองค์กรพัฒนาชนบทก็ยังจับงานทางนิเวศน์ด้วย หรืออย่างมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมที่ทำงานด้านการอบรมบ่ม เพราะนักพัฒนารุ่นใหม่มาโดยตลอดก็ได้หันมาทำโครงการทางสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

นอกจากนี้ ยังมีชมรมและสมาคมต่าง ๆ เช่น ชมรมดูนกกรุงเทพ ชมรมนักนิยมธรรมชาติ สมาคมหยาดฝน สมาคมสร้างสรรค์ไทย ฯลฯ เหล่านี้ล้วนมีกิจกรรมคาบเกี่ยวอยู่กับการอนุรักษ์ฯ ทั้งสิ้นแต่ออกจะมีลักษณะการทำงานเฉพาะในบางเรื่อง

ส่วนองค์กรที่ทำด้านการอนุรักษ์โดยตรงในเชิงกว้างจริง ๆ มีอยู่ไม่มากนัก ที่สำคัญและมีชื่อเสียงมากคือ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งเป็นองค์กรร่วมของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WORLD WIDE FUND FOR NATURE - WWF) ก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2526 มีนพ.บุญส่ง เลขะกุล เป็นประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ เป้าหมายขององค์กรคือทำงานอนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายของพรรณพืชและสัตว์ป่า รวมทั้งสภาวะอันสมดุลของธรรมชาติ

อีกองค์กรหนึ่งก็คือ โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ก่อตั้งเมื่อปี 2529 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการประสานงาน การวิจัย การเผยแพร่ปัญหาทางด้านนิเวศวิทยา ตลอดจนเพื่อผลักกระแสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพื่อฟื้นฟูสภาพทางนิเวศให้ยั่งยืน ประธานคือ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก

สำหรับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงนับว่าเป็นองค์กรที่ 3 ที่มีเป้าหมายชัดเจนทางด้านสภาพแวดล้อมและนิเวศวิทยา

กล่าวโดยทั่ว ๆ ไป มูลนิธินั้นหมายถึง องค์กรหาทุนและให้ทุนแก่ กลุ่มหรือหน่วยต่าง ๆ ไปประกอบกิจกรรม ไม่ใช่ผู้ที่จะต้องลงมือทำงานเองแต่มูลนิธิสืบฯ จัดเป็นลักษณะพิเศษที่พยายามมีบทบาททั้งสองส่วน

"ตอนที่มูลนิธิฯ ตั้งขึ้นทุกคนมีความคิดว่าจะมีลักษณะแบบ NGO (NON-GOVERNMENT ORGANIZATION) ในความหมายแคบที่ว่า เป็นองค์กรทำงานเชิงเคลื่อนไหวรณรงค์กับปัญหาต่าง ๆ จากระดับรากฐาน เป็นหน่วยงานที่ทำงานได้ด้วย ทำงานเองมีโครงการเอง หรืออาจจะเป็นแหล่งทุน สามารถสนับสนุนคนอื่น โดยภาพคือไม่ได้เป็นแบบมูลนิธิทั่วไป คือเหมือนกับในแวดวงสิ่งแวดล้อมได้เกิดองค์กรใหม่ขึ้นมาช่วยทำงานด้านนี้" กรรมการคนหนึ่งของมูลนิธิฯ บอกเล่า

อย่างไรก็ตาม การจัดรูปของมูลนิธิสืบฯ กลับเป็นแบบเดียวกับมูลนิธิทั่ว ๆ ไป คือมีเพียงคณะกรรมการ 25 คน และเจ้าหน้าที่ธุรการประจำ 2 คน ครึ่งเวลา 1 คน เคยมีตำแหน่งผู้จัดการแต่ก็ยุบเลิกไปแล้วเมื่อคนเก่าลาออก

แนวทางแบบนี้ถูกเลือกเพื่อกันปัญหาการใช้เงินผิดเป้าหมาย มูลนิธิสืบไม่ต้องการให้มีการรั่วไหลของเงินไปกับเรื่องการจัดการหรือการจ้าง STAFF เพื่อที่จะเก็บเงินดอกผลประมาณปีละ 2,000,000 บาทเอาไว้ใช้ประโยชน์ในงานอนุรักษ์อย่างเต็มที่

ในการทำงานกรรมการแต่ละคนจึงต้องเป็นอาสาสมัครผู้เสียสละไปพร้อมกัน เพราะไม่เพียงแต่จะต้องประชุมกันในระดับว่าด้วยนโยบายหรือการอนุมัติ-จัดการด้านทรัพย์สินตามหน้าที่กรรมการเท่านั้น แต่ต้องคิดและสร้างงานในนามมูลนิธิฯ ด้วยซึ่งถ้าเทียบกับมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน เพราะนอกจากมีการจ้างคนทำงานเต็มเวลาแล้วก็ยังมีอาสาสมัครโดยเฉพาะจากต่างประเทสมาเป็นผู้ทำงาน กรรมการไม่จำเป็นที่จะต้องจัดการผลักดันสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองเลย

มูลนิธิสืบฯ มีแผนงานรับอาสาสมัครภายในประเทศเข้ามาช่วยงานด้วยเช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาได้มีการพบปะกันบ้างแล้วระหว่างอาสาสมัครด้วยกันเองและกรรมการ กำหนดว่าภายในเดือนตุลาคมนี้คงจะได้มีการสัมมนากันเพื่อวางแนวทางการทำงานแต่ขณะนี้ก็ยังกระจัดกระจายอยู่

นี่เองเป็นจุดที่มีปัญหาเพราะว่ากรรมการแต่ละคนต่างก็เป็นผู้ที่มีภาระควมรับผิดชอบอื่นมากมายอยู่แล้วทั้งนั้น

"กรรมการแต่ละท่านมีภาระอื่นกันมากอย่างผมก็ยอมรับเลยว่าไม่ได้ทำประโยชน์ให้มากเท่าไหร่ซึ่งอีกอันที่น่าคิดคือ ผู้บริหารงานในมูลนิธิควรจะเป็นระดับมืออาชีพสักนิด คือในด้านการบริหารงานด้านการจัดกิจกรรม ก็ต้องเอาคนที่ทำงานได้จริง ๆ มาจ้างซักเดือนละ 10,000 หรือ 15,000 อย่างมูลนิธิฯ ก็ไม่น่ามีปัญหาเรื่องเงิน เพราะไม่มีคนแล้วจะมีงานได้ไง จะมาพึ่งพวกเราแต่ละคนไม่ไหวหรอก เอาแค่เป็นตัวยืนในด้านนโยบายก็พอแล้ว" ประพัตร แสงสกุล ผู้เป็นเหรัญญิกกล่าว

แต่ในความรู้สึกของกรรมการอีกหลายคนก็เห็นว่ามูลนิธิไม่ได้มีเงินให้ใช้ได้มากนัก และยังเชื่อว่าในเมื่อบ้านเมืองยังมีคนที่พร้อมทำงานด้วยความเสียสละอยู่มากมาย การมีภาระมากไม่ใช่อุปสรรคเพียงแต่ภาระอาจจะเป็นตัวกำหนดว่า ควรทำอะไรได้แค่ไหน ซึ่งถึงอย่างไรการเป็นกรรมการก็จะต้องพร้อมกับงานหนักอยู่แล้ว ต้องเป็นคนเสียสละ ไม่ใช่ใครจะเป็นก็ได้ ถ้าหากไม่เสียสละ ก็เป็นคนธรรมดาไปก่อน ที่ผ่านมามูลนิธิสืบฯ สามารถผลักดันงานออกมาได้ก็ด้วยการทุ่มเทของกรรมการที่คิดเห็นเช่นนี้

โครงสร้างการทำงานทุกวันนี้มีอนุกรรมการ 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายการเงิน ฝ่ายกิจกรรม ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เป็นตัวจักรผลักดันภายใต้การควบคุมประสานงานของคณะกรรมการบริหารทั่วไป แต่ในทางปฏิบัติจริงก็มิใช่ว่าอนุกรรมการทุกคนจะมีบทบาทเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครมาร่วมประชุมติดตามงานมูลนิธิใกล้ชิดกว่าบทบาทในการกำหนดงานให้เป็นไปตามแนวทางอย่างตนก็เป็นไปได้สูงโดยปริยาย

กิจกรรมสำคัญ ๆ ของมูลนิธิฯ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมามี 8 โครงการด้วยกันคือ 1. การอนุมัติงบประมาณให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรห้วยขาแข้ง-สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ 2. การจัดสาร้างอนุสรณ์สถานและอนุสาวรีย์สืบ นาคะเสถียร ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 3. การจัดสร้างเครือข่ายวิทยุสื่อสารให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 4. การจัดสัมมนาเรื่อง "ปัญหาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง" 5. การจัดสัมมนา "การป่าไม้เมืองไทยจะไปทางไหนกันแน่" ร่วมกับศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 6. การจัดสัมมนาเรื่อง "เราควรตัดถนน 48 สายผ่านเขตป่าอนุรักษ์" 7. โครงการจัดทำหนังสือ "ป่าตะวันตกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร มรดกทางธรรมชาติของโลก" การจัดทำข้อเสนอแนะต่อ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 และเขตพิทักษ์สัตว์ป่า 8. โครงการอบรมการพัฒนาเนื้อหาและวิธีการสอนการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับมัธยมปลายให้สอดคล้องกับพื้นที่

ในจำนวน 8 งานนี้มี 4 งานที่เสร็จสิ้นไปแล้ว คือ งานด้านการจัดสัมมนาและการอบรม นอกนั้นอยู่ระหว่างดำเนินการ

"ก็อาจมีเสียงจริงว่ามูลนิธิฯ ยังไม่เห็นทำอะไรแต่นี่ไม่ได้เป็นเพราะมูลนิธิฯ ไม่ได้ทำ แต่เพราะคนอยากรู้แล้วไม่ได้รู้ และมันก็ไม่ใช่ปัญหาประชาสัมพันธ์ เป็นปัญหาซึ่งเมื่อเรามีวัตถุประสงค์อยู่อย่างนี้ 7 ข้อ ประกาศให้สาธารณะได้รับรู้ไปแล้ว เราก็ทำตามนั้นทุกประการ" ปริญญา นุตาลัย รักษาการเลขาธิการมูลนิธิฯ ให้ความเห็น

วัตถุประสงค์ของมูลนิธิทั้งที่ปรากฏในตราสาร และที่เป็นแนวทางตั้งแต่ริเริ่มตั้งเน้นน้ำหนักไปตามสิ่งที่ผู้เป็นเจ้าของชื่อมูลนิธิให้ความสำคัญกล่าวคือ ก่อนหน้าที่จะเสียชีวิตสืบเคยมีความคิดที่จะจัดตั้งกองทุนขึ้น เพื่อเกื้อกูลด้านสวัสดิการให้แก่พนักงาน และคนงานในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญนเรศวร รวมทั้งเพื่ออุดหนุนงานวิจัยด้านสัตว์ป่าใน 2 เขต ฯ นี้

จากการคุยกันในระหว่างงานศพ กลุ่มเพื่อนร่วมรุ่นวนศาสตร์ 35 เพื่อนนักอนุรักษ์ อาจารย์คณะวนศาสตร์ และข้าราชการกรมป่าไม้กลุ่มเล็ก ๆ ที่รู้จักและสนิทสนมกับสืบเห็นพ้องตรงกันว่าจะต้องสานต่อความคิดนี้ให้เป็นจริง ซึ่งความต้องการของสืบทั้ง 2 ข้อ ก็ได้แปรมาเป็นนโยบายของมูลนิธิฯ ข้อหนึ่ง - สามในเวลาต่อมา พ่วงเติมมาด้วยงานอนุรักษ์ในแง่กว้าง เช่นการเผยแพร่ความรู้-ข้อมูลปลูกจิตสำนึก และการรณรงค์แก้ปัญหาอื่น ๆ รวมกันเป็นนโยบาย 7 ข้อพอเหมาะพอสมกับขนาดขององค์กรที่เปลี่ยนแปลงไป

ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นจากตัวแปรหลักคือจำนวนเงิน

ยอดบริจาคที่ได้รับจากการตั้งโต๊ะหน้าศาลาวางศพเป็นเวลา 5 วันจำนวน 166,030 บาท ก็นับว่ามากอยู่แล้วเมื่อเปรียบเทียบกันเวลาและพิจารณาจากแหล่งที่ให้ซึ่งล้วนเป็นคนธรรมดา....มีแต่เพียงความศรัทธาอาลัยสืบเป็นที่ตั้ง

ต้องยอมรับว่าการจบชีวิตของข้าราชการนักอนุรักษ์อย่างสืบสร้างความสั่นสะเทือนได้
กว้างขวางมาก ความตื่นตัวด้านการอนุรักษ์ในประเทศไทยกลายเป็นกระแสสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

กรมป่าไม้ กองทัพ ตลอดจนถึงผู้ใหย่ของประเทศต่างพากันยกย่องในคุณงามความดีของเขาเลยไปถึงการตะหนักและเอาใจใส่กับปัยหาการทำลายป่าและคร่าชีวิตสัตว์มากขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนทั่ว ๆ ไปที่รับรู้เรื่องราวและงานของสืบจากสื่อมวลชนก็เริ่มหันมาเหลียวแลกับสภาพทรัพยากรธรรมชาติในประเทศของตน

แต่เกียรติยศสูงสุดที่สืบได้รับคือ การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังได้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เองเข้าสมทบกองทุนถึง 2,000,000 บาท ร่วมมากับส่วนอื่นอีก 400,000 บาท กลายเป็นทุนรากฐานก้อนใหญ่ที่ทำให้มูลนิธิสืบ นาคะเสถียรได้มีโอกาสถือกำเนิดขึ้น

ส่วนแรงศรัทธาจากคนกลุ่มกว้างของสังคมนั้นส่วนใหญ่เทเข้ามาผ่านรายการรับบริจาคทางทีวีเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม หลังจากมูลนิธิจัดตั้งขึ้นแล้วยอดเงินที่มีผู้แสดงความจำนงบริจาครวมแล้วสูงถึงเกือบ 19 ล้านบาท ซึ่งปกติรายการลักษณะนี้เมื่อถึงเวลาตามเก็บเงินโอกาสที่จะได้จริงมีอยู่เพียงประมาณ 50% เท่านั้น แต่ของมูลนิธิสืบได้มาประมาณ 90%

"คิดว่าเป็นมูลนิธิเดียวในเมืองไทยที่ได้เงินจากประชาชนเพราะที่ผมดูรายชื่อมีคนให้เงินระดับพันมากกว่าระดับแสน เป็นคนธรรมดาทั้งนั้น ผมไม่เชื่อว่ามีมูลนิธิไหนได้ขนาดนี้ บางองค์กรเขาได้งบปีละเป็น 10,000,000 จริง แต่เขาได้เงินจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ มูลนิธิที่ได้เงินจากภายในประเทสส่วนใหญ่เขาก็รับบริจาคจากบริษัทห้างร้านเสียมาก" ศรัณย์ บุญประเสริฐ กรรมการคนหนึ่ง และอดีตผู้จัดการของมูลนิธิสืบฯ กล่าว

ด้วยเหตุที่มูลนิธิสืบฯ เป็นความสำเร็จที่ก่อร่างขึ้นจากแรงกายแรงใจของคนทั่วไปเช่นนี้ ความคาดหวังจากมวลชนภายนอกจึงเป้นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้และการที่มูลนิธิฯ จะเดินไปในทิศทางไหนหรือมีกิจกรรมหรือไม่ก็ย่อมต้องมีสายตาจับจ้อง

"เราไม่เคยนึกว่ามันจะใหญ่อย่างนี้ ผมเองไม่เคยคาดฝันไว้เลยว่ามันจะเป็นมูลนิธิซึ่งมีเงินหลายล้านขนาดนี้ ผมก็เริ่มเห็นปัญหาจากจุดนี้แล้วว่า ถ้าเป็นมูลนิธิใหญ่ คนจากทั่วสารทิศที่บริจาคเข้ามาแน่นอนย่อมคาดหวังกับผลงาน แล้วแต่ละคนก็คาดหวังในแบบที่ต่างกันด้วย ฉะนั้นเราจะตอบสนองคนเหล่านี้หมดได้อย่างไร" วีรวัธน์ ธีระประสาธน์กรรมการและเป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่สนิทสนมกับสืบมากให้ความเห็น

สืบ วีรวัธน์กับเพื่อนอีก 2 คน คือ วิฑูรย์ เพิ่งพงศาเจริญ ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติและ BELINDA STEWART-COX นักวิจัยเรื่องสัตว์ชาวอังกฤษ เคยคิดที่จะทำองค์กรเกี่ยวกับ WILDLIFE CONSERVATION ร่วมกันมานานแล้วตั้งแต่เมื่อสืบเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตฯ ห้วยขาแข้งใหม่ ๆ ในปี 2532 โดยวางแผนว่าจะพิมพ์หนังสือรายงานเกี่ยวกับการเป็นมรดกโลกของห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่ออกขายเพื่อหาเงินทำโครงการ แต่ก็ยืดเยื้อกันมาเรื่อย ๆ เมื่อครั้งที่ทาง "กลุ่มคนรักป่า" ผู้จัดงานคอนเสิร์ตวัน EARTH DAY ปี 2533 มอบรายได้ให้แก่สืบ 200,000 บาท สืบก็ยังคงพูดถึงความคิดนี้อยู่

"ฉันคิดว่าเขาจะต้องประหลาดใจมาก ๆ ที่มีมูลนิธิฯ เพราะเขาเป็นคนที่ไม่มีความคิด ที่จะเอาตัวเองไปยุ่งเกี่ยวกับสาธารณชน เขาไม่เคยวางแผนที่จะมีชื่อเสียง ไม่เคยที่จะ PROMOTE ตัวเอง เขาได้แต่ต่อสู้เพื่อการอนุรักษ์และสัตว์ป่าตามที่เชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโลกนี้ ประเทศไทยนี้ที่เป็นของสัตว์ด้วยไม่ใช่แต่คนอย่างเดียว เขาต้องการทำงานหนักอย่างเงียบ ๆ เพื่อพัฒนาบางอย่าง ฉันคิดวาถ้าเขารู้ว่ามีมูลนิธิเป็นชื่อเขา มีชื่อเสียงมากอย่างนี้เขาต้องแปลงใจ" BELINDA STEWART-COX กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงความเป็นสืบ

กล่าวได้ว่าในระยะต้นกรรมการต่างก็มีความสับสนทั้งจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดอย่างรวดเร็วและกับการคาดหวังของคนภายนอก ประกอบกับมีภารกิจหลักเบื้องต้นเรื่องการจัดการเงินบริจาค ซึ่งยุ่งยากมากเข้ามารบกวน กิจกรรมจริง ๆ กว่าจะได้เริ่มต้นจึงล่าช้ามาก

การประชุมกรรมการเต็มรูปตามวาระสามัญเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในเดือนธันวาคมไม่ก่อให้เกิดอะไรมากนักนอกจากการสะสางปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ทำให้ต้องมีการเรียกประชุมอีก 4 ครั้งตามมาจึงสามารถตัดสินงบประมาณได้

เงินใช้จากดอกผลส่วนใหญ่ประมาณ 70% ถูกทุ่มเทให้กับห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่ ๆ ในรูปของโครงการจำนวนหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นกิจกรรมหลักของมูลนิธิ ส่วนนี้กรรมการทุกคนล้วนเห็นพ้องตรงกัน แต่ส่วนที่เหลือคือปัญหาว่าจะทำอะไร ซึ่งกรรมการคนหนึ่งชี้ว่า พ้นจากเรื่องของการเกื้อหนุนห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่ฯ แล้ว กับเรื่องอื่น ๆ นั้นยากที่กรรมการทั้งหลายจะมีความคิดคล้องจองกัน

ความแตกต่างทางความคิดในหมู่กรรมการดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่แท้จริงที่สุดขององค์กรที่ชื่อสืบนาคะเสถียร

การลาออกของเลขาธิการที่เอาจริงเอาจังและมีใจให้มูลนิธิฯ มาแต่ต้นอย่างเสกสรรค์ประเสริฐกุลคือจุดเริ่มที่ปัญหาปะทุออกอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนโดยที่เขาเคยเป็น 1 ใน 4 หัวหอกดำเนินการจดทะเบียนมูลนิธิฯ ด้วย

สาเหตุของเรื่องนี้มาจากการที่ผู้จัดการประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ ได้แจ้งความจำนงผ่านมาทางท่านผู้หญิงบุญเรือนในอันที่จะปันรายได้จากการจัดงานส่วนหนึ่งให้ เผอิญทีมบริหารของมูลนิธิฯ ท่านหนึ่งได้ตกปากรับคำเอาไว้ก่อนที่จะนำเข้าประชุม แต่เสกสรรค์ไม่เห็นด้วยในขณะที่กรรมการบริหารส่วนใหญ่ยอมรับได้

"ผมได้ข่าวเรื่องเสกสรรค์ออกทีหลัง ที่ประชุมกันก็ไม่ได้เห็นตรงกันนะ ผมถือว่าอย่างนี้คือโจรใส่บาตรพระ พระรับไหม รับ คนที่เราบอกว่าเขาเลวเราก็เลยไม่เปิดโอกาสให้เขาทำดีอย่างนั้นหรือเพราะทุกคนไม่ได้ดีหมดหรือเลวหมด เมื่อไรเขาดีเราก็ควรยอมรับ ดูพฤติกรรมในขณะนั้น แล้วเขาเอาเงินมาให้ก็ไม่เสียหายตรงไหนเลย มูลนิธิก็ยังยืนหยัดในวัตถุประสงค์ในเรื่องนี้นะ ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกัน เราก็ฟังเขาได้ เขาก็ฟังผมได้" ปริญญา นุตาลัยผู้ขึ้นรับตำแหน่งแทนกล่าวสะท้อนถึงความคิดในแนวทางหนึ่ง

ส่วนเหตุผลของฝ่ายไม่ยอมรับหรือเหตุผลของดร.เสกสรรค์มีอยู่ว่า เงินนั้นไม่มีความหมายอิสระ แต่เกี่ยวข้องกับที่มาที่ไป เงินที่ได้มาจากกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องหรือขัดแย้งกับเจตนารมรณ์ของมนูลนิธิฯ จำเป็นจะต้องได้รับการปฏิเสธ บางเรื่องแม้ไม่ใช่ปัญหาทางสิ่งแวดล้อม แต่เป็นปัญหาทางสังคม สืบเองก็มีความตระหนักอยู่ไม่ใช่น้อย

เมื่อประเด็นนี้เกิดเป็นปัญหาได้มีการนำขึ้นพูดคุยในระดับกรรมการทั่วไป ปรากฏว่าความเห็น 2 ข้างแตกออกจากกันอย่างเห็นชัดจริง ๆ และกรรมการส่วนที่ไม่ยอมรับนั้นมีมากกว่าที่ยอมรับ

เสกสรรค์พ้นจากมูลนิธิฯ ไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เหตุการณ์นี้ทำให้กรรมการที่เหลือเริ่มหันมาพิจารณาถึงสภาพขององค์กรมากขึ้น ประกอบกับในเวลาต่อมามีการติดต่อเพื่อขอใช้ชื่อมูลนิธิหรือขอให้มูลนิธิร่วมจัดกิจกรรมหาทุนมากมาย จึงได้มีประชุมกันวางกรอบการรับเงินขึ้นมาเป็นระเบียบเรียกว่า "ระเบียบการหาทุน"

ระเบียบนี้กำหนดถึงข้อปฏิบัติต่าง ๆ เกี่ยวกับการให้ทุนแก่มูลนิธิฯ ว่าโดยทั่วไปควรจะเป็นไปโดยไม่มีเงื่อนไขข้อผูกพัน ส่วนการที่องค์กรหรือบุคคลภายนอกจะจัดกิจกรรมหาทุนในนามมูลนิธิฯ ก็จะต้องเสนอโครงการให้พิจารณาเป็นกรณีไปโดยมีเงื่อนไขที่จะต้องยึดปฏิบัติหลายประการด้วยกัน ส่วนมากเป็นการกำหนดแนวทางการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างกัน เช่น ในข้อ 7.3.2 กำหนดว่า การขอทุนสนับสนุนกิจกรรมในนามมูลนิธิทุก ๆ โครงการจะต้องมียอดเงินสมทบทุนมูลนิธิจำนวนร้อยละ 30 ของรายจ่ายของโครงการ ฯลฯ

จากจุดนี้เองได้ทำให้ผู้จัดการมูลนิธิลาออกไปอีกคนหนึ่งด้วยความเข้าใจต่อรายละเอียดอันหนึ่งเหลื่อมล้ำกัน

"ผมคิดว่ามันมีปัญหาอยู่แล้ว ทุกคนต่างก็พยายามผลักให้มูลนิธิเป็นไปอย่างที่ตัวเองคิด ของผมมีจุดตัดสินใจอยู่ 2-3 จุด ซึ่งผมคิดว่าถ้ามูลนิธิฯ ทำบางสิ่งนั้นผมคงไม่มีความชอบธรรมที่จะดำรงอยู่ในฐานะผู้จัดการ อย่างที่ผมบอกว่มูลนิธิไม่มีสิทะที่จะทำอะไรที่ขัแย้งโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดสืบ มันมีเหตุการณ์นั้น ผมเลยต้องออก" ศรัณย์ บุญประเสริฐ อดีตผู้จัดการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเล่าถึงจุดตัดสินใจ

ศรัณย์เป็นกรรมการคนหนึ่งมาตั้งแต่ต้น เข้ารับตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำขั้นสูงสุดเพียงคนเดียว ของมูลนิธิฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์และลาออกเมื่อวันที่ 10 เมษายน เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งกับการเรียกเก็บเงิน 30% ตามระเบียบฯ ที่ออกมา

สืบได้เคยแสดงทัศนะเรื่องการไม่เห็นด้วยกับการชักเงินจัดการในเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง ที่สืบถูกองค์กรแห่งหนึ่งชักเงินบริจาคที่ให้สำหรับโครงการของเขาไป 10% เป็นค่าจัดการ เขาคิดว่าระเบียบแบบนี้ควรจะเลือกปฏิบัติไปตามความเหมาะสมโครงการดี ๆ ที่เงินจะมีความหมายได้มากไม่ควรจะต้องสูญเสียไปแม้แต่บาทเดียวไม่ว่าทางใด

แต่ปริญญาผู้นำในการร่างระเบียบฯ ได้กล่าวยืนยันว่า การหัก 30% นั้นไม่ได้ตั้งขึ้นสำหรับการให้ทุนทำกิจกรรม หากกำหนดสำหรับกิจกรรมที่มีลักษณะของการลงทุนแล้วแบ่งกำไรให้มูลนิธิ

"ตอนหลังมันมีปัญหามาก อย่างขนมกรอบบางชนิดก็ยังมาขอใช้ชื่อมูลนิธิในการโฆษณา คือเรื่องนี้เราไม่อยากให้เลยด้วยซ้ำ แต่เพื่อถนอมน้ำใจชาวบ้านว่างั้นเถอะก็เลยให้ทำโดยดูโครงการก่อน แล้วก็ตั้ง 30% ไว้เผื่อว่ายังไงงานนั้น ๆ ถ้าไม่ได้กำไร มูลนิธิฯ ก็ไม่ขาดทุน ได้มาก่อนแล้ว 30% ถ้ามีกำไรยังต้องแบ่งอีก 50% ด้วยในเมื่อเขาอยากใช้ชื่อมูลนิธิก็ต้องทำตามนั้น ถ้าไม่อยากทำก็ไม่ต้องมาใช้ชื่อ ดีซะอีก เราจะได้ไม่ยุ่ง เพราะคนที่เขาอยากช่วยจริง ๆ แค่บริจาคมาก็หมดเรื่องแล้ว" ปริญญากล่าว

ความเห็นต่อเรื่องต่าง ๆ ของบรรดากรรมการ 26 คนมักจะไม่ตรงกันอย่างนี้เสมอ นี่เป็นเพียงมิติหนึ่งที่แค่ยังวนเวียนอยู่ในเรื่องเงินก็เสียคนไปถึง 2 คนแล้ว มิพักต้องพูดถึงเมื่อต้องสร้างกิจกรรมและบริหารงาน

ต่อมาแม้จะว่าไม่มีกรรมการคนใดลุกขึ้นลาออกอีก แต่การไม่มีส่วนร่วมในสัดส่วนที่เหมาะสมและการไม่ค่อยมีบทบาทของกรรมการหลายคนก็เป้นเรื่องที่ส่อแววไม่ดีนัก

"ในขณะซึ่งเราเกือบทุกคนมีงานประจำ ส่วนใหญ่ก็รับราชการ ใช้เวลาไปเยอะแล้ว มูลนิธิสืบฯ ยังออกมาคล้าย ๆ เป็นราชการอีกก็เลยทำให้เบื่อหน่ายกัน ผมว่าตรงนี้เป็นตัวที่ตองเร่งแก้ไขให้เป็นการทำงานแบบพี่น้อง ครอบครัว ไม่มีการบังคับบัญชา รูปแบบก้อย่าติดกับระเบียบกฎเกณฑ์เพราะตรงนั้นยิ่งทำให้น่าเบื่อหน่ายมากที่สุด" กรรมการมูลนิธิที่อยู่ในระบบราชการคนหนึ่งวิจารณ์ถึงการบริหาร

ที่มาของกรรมการทั้งหลายเกิดขึ้นจากการประชุมที่สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2533 วันที่คน 19 คนนั่งลงคุยกันอย่างเป็นจริงเป็นจังที่สุดเกี่ยวกับการจัดตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กรรมการ 12 ใน 26 คนมาจากผู้เข้าร่วมประชุม ส่วนที่เหลือคือคนที่วงประชุมร่วมกันเสนอจากคนรู้จักมักคุ้นทุกคนล้วนอยู่ในแวดวงอนุรักษ์ และมีคุณสมบัติพิเศษร่วมกันคือต่างรู้จักกับสืบ

การฟอร์มทีมโดยพยายามดึงคนจากทุกสายงานอนุรักษ์ เพื่อหวังประโยชน์ในการประสานงานระยะยาวก่อให้เกิดความหลากหลายเหลื่อมล้ำอันยากพรรนา

ข้าราชการ อาจารย์จากรั้วมหาวิทยาลัย นักศึกษา นักพัฒนา สื่อมวลชน ตัวแทนกลุ่มกิจกรรมท้องถิ่น คนเหล่านี้ต่างกันทั้งสถานภาพ ตำแหน่ง คุณวุฒิ วัยวุฒิ ตลอดจนถึงความคิดและทัศนะต่องานอนุรักษ์

บางคนเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่ตลอดเวลาที่ผ่านมามักทำงานอยู่คนละข้างกับภาคราชการ บางคนก็เป็นนักวิชาการที่ทำหน้าที่เผยข้อมูลความเป็นจริง บางคนเป็นนักรณรงค์เปิดประเด็นปัญหา ในขณะที่บางคนข้องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติในแง่ของความสวยงามเป็นหลัก

คนเหล่านี้ได้มาอยู่รวมกันในฐานะบอร์ดของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ปรากฏการณ์ที่มีกรรมการบางคนจงใจถอยห่างออกไปแท้จริงแล้วจึงเท่ากับเป็นการคัดเลือกแนวทางการทำงาน แบ่งสรรให้ชัดเจนว่า ใครจะมีบทบาทอยู่ในมูลนิธิมาก เพื่อแนวงานก็จะออกมาในแบบนั้น เช่น ถ้าข้าราชการมีบทบาทสูง งานก็เป็นราชการกันไป อาจจะทำงานเคลื่อนไหวรณรงค์น้อย แต่มีเรื่องการอบรมเผยแพร่มาก ขณะเดียวกันปรากฏการณ์นี้ยังได้พิสูจน์ให้เห็นด้วยว่า กรรมการคนไหนยืนอยู่ ณ จุดใด

ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ว่า ไม่มีใครตระหนักรู้อย่างน้อยก็พอจะเห็นอยู่ด้วยกันทั้งนั้น

ในยุคสมัยของเลขาธิการคนเก่า เคยมีความพยายามดันให้เกิดการสัมมนาความคิดขึ้น แต่ทำแล้วก็ไม่อาจละลายความต่างเข้าหากันได้ภายในเวลาอันสั้น ซึ่งมักมีเรื่องเฉพาะหน้ามากมาย ซ้ำบางคนก็เห็นว่างานจะต้องรีบออก

ปัญหาหลักที่จะยังเถียงกันอย่างไม่อาจหาข้อสรุปดูเหมือนจะอยู่ตรงสิ่งที่เรียกว่า อุดมคติรวบยอดขององค์กร ซึ่งทุกองค์กรต้องมีและจะเป็นตัวชี้ถึงงานรูปธรรมว่าจะออกมาเช่นไร แม้เป็นองค์กรที่ทำงานด้านเดียวกันก็ย่อมมีครรลองต่างกัน มีบุคลิกที่แตกต่างกันออกไป

"ความเข้าใจของฉันคือน่าจะเป็นองค์กรรณรงค์ มูลนิธิฯ ควรจะเหมือน AGENT ในการทำสิ่งที่เป็นไปได้ เช่น ใครจะทำ PROJECT อะไรมูลนิธิฯช่วยได้ และขณะเดียวกันก็มีความคิดและกิจกรรมของตัวเองด้วย แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ มีองค์กรเล็ก ๆ ที่ฉัน สืบ วีรวัธน์ วิฑูรย์ร่วมงานกัน สืบและฉันสนใจเรื่องป่า วิจัย และการอนุรักษ์ วีรวัธน์คล้ายสืบเข้าใจในบทบาทของการเป็นหัวหน้าวิฑูรย์สนใจเรื่องปัญหาชาวบ้าน วีรวัธน์กับวิฑูรย์มีความเข้าใจการเมือง ซึ่งฉันกับสืบไม่ฉลาดเรื่องนี้กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ดี ไม่มีข้อขัดแย้ง ไม่มีปัญหาแต่ปัญหาคือจะทำให้เป็นจริงได้ช้ากว่า" BELINDA STEWART COX ให้ความเห็น

คนใกล้ตัวสืบอีกคนหนึ่งที่วาดหวังไว้คล้าย ๆ กันก็คือวีรวัธน์ ธีระประสาธน์

"ผมคิดมาตั้งนานแล้ว ก่อนหน้าที่สืบจะตายด้วยซ้ำ คือผมเห็นว่าเราจะต้องมีองค์กรที่เน้นงานเชิงรณรงค์ แต่ว่ามีความพร้อมทางวิชาการด้วยผมเองเคยเสนอมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ผมอยากเห็นเราเป็นองค์กรมีบทบาทด้านเดียวเท่านั้น คือสนับสนุนกลุ่มสำหรับการศึกษาวิจัยและเคลื่อนไหวรณรงค์ถ้าเท่านั้นฝ่ายต่าง ๆ ก็ไม่ต้องมีเลย กรรมการก็ไม่ต้องเยอะ" วีรวัธน์คือผู้ที่ทางมูลนิธิฯ ยกย่องให้เป็นผู้ได้รับ "รางวัลสืบ นาคะเสถียร" เป็นคนแรกในปีนี้ในฐานะที่เป็นบุคคลซึ่งอุทิศตนให้แก่งานอนุรักษ์มาโดยตลอด

ทางด้านนพรัตน์ นาคสถิตย์ รองเลขาธิการมูลนิธิฯ เพื่อนร่วมรุ่นวนศาสตร์ 35 ของสืบอีกคนหนึ่งกล่าวอย่างกว้าง ๆ ว่า "สิ่งที่องค์กรด้านอนุรักษ์บ้านเรายังขาดก็คือขาดความบ้าเลือด หมายความถึงคนที่เข้มแข็งจริงจัง สังคมบ้านเราเป็นทั้งระบบทำดีหน่อยก็โดยอัดแล้วก็เลิกไป เราต้องการคนที่ยืนหยัดจริงจัง ทุกคนก็หวังว่ามูลนิธิสืบจะไปถึงจุดนั้น แต่ว่าองค์กรนี้ก็มีหลายชั้นอายุ เป็นนักคิดกันเยอะ"

กรรมการกลุ่มหนึ่งนั้นมักคุยในเรื่องนี้กันอย่างจริงจังและก็มีความเห็นว่า มูลนิธิสืบฯ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสานต่อเรื่องแนวความคิดหรืออุดมคติของคนที่ชื่อสืบ นาคะเสถียร อย่างไรก็ตามเฉพาะในแนวความคิดนี้ก็ยังไม่เคยมามีการถกกันจริง ๆ ว่าอะไรคืออุดมคติของสืบกันแน่

ส่วนทางด้านรักษาการเลขาธิการมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นผู้ทุ่มเททำงานมูลนิธิฯ เป็นอย่างมากกล่าวว่า "ที่จริงวัตถุประสงค์มีค่อนข้างชัดเจนแล้ว คือเน้นที่ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และเขตฯ อื่น ๆ ด้วย องค์กรนี้เป็นองค์กรอนุรักษ์โดยตรง เรื่องอื่น ๆ เช่นการรณรงค์ก็อาจมีบ้างตามความจำเป็น เราไม่จำเป็นต้องมีหน้าตาแต่มีหลาย ๆ หน้า แล้วแต่ว่าสวมหัวโขนอันไหน"

ขณะที่ประธานมูลนิธิฯ รตยา จันทรเทียร ยอมรับเช่นกันว่าบุคลิกของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังหาไม่พบ แต่ก็เชื่อว่าเพราะองค์กรยังมีอายุน้อยมาก เพียงไม่ถึง 1 ปีบุคลิกจึงยังไม่ออกมา

ความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้เป็นเรื่องที่รู้ ๆ กันอยู่ภายใน มีการถกเถียงกันอยู่บ้าง โดยหลายครั้งอาจจะเต็มที่ แต่บางครั้งอาจจะไม่ เพราะภายในเวทีกรรมการเองก็มีเรื่องของตัวบุคคลที่เป็นผู้บังคับบัญชากับใต้บังคับบัญชาในหน้าที่อาชีพอยู่ด้วยกัน มีผู้น้อยกับผู้อาวุโส มีผู้ยึดมั่นกับผู้ผ่อนปรนถึงยังไม่มีความคิดรวบยอดอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีโครงการต่าง ๆ ออกมาได้จากอนุกรรมการหรือจากกรรมการคนใดคนหนึ่งภายใต้รูปแบบการบริหารงานที่กำหนดตายตัวแล้ว

"ความหลากหลายทำให้การประชุมแต่ละครั้งเป็นเรื่องน่าสนใจมากเลย ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องแปลกเพราะสังคมไทยมักว่ายังไงว่าตามกัน แต่ไม่ใช่มูลนิธินี้ซึ่งเป็นลักษณะดี เป็น CHECK AND BALANCE แต่ถ้าถึงเวลาผลักดันงานต้องใช้ทีมงาน งานเถียงงานหนึ่ง งานทำอีกงานหนึ่ง ต้องเอาทีมไปลุย" ปริญญากล่าว

ถ้าถามถึงความคาดหวังอย่างใจจริง กรรมการที่เหลือทั้ง 24 คนก็ยังคงมีทิศมีทางที่ไม่มีทางจะเหมือนกันโดยสมบูรณ์ เพียงแต่ทุกวันนี้ต่างกำลังเริ่มที่จะปรับช่องว่างความต่างให้แคบลงมากขึ้นเพื่อความสมบูรณ์ของมูลนิธิฯ

เป็นเรื่องของการมองไปข้างหน้าดังเช่นที่กรรมการคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า "เราคงเรียกสิ่งที่เราอยากให้เป็นกลับมาไม่ได้หรอก ภาระหน้าที่ของกรรมการก็คือ ทำให้มูลนิธิฯ เดินต่อไป"

ทั้งนี้ โดยที่ในการปรับก็คงไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยตามเวรกรรมสู่ทิศทางใดก็ได้ ยังมีกรอบความควรไม่ควรอยู่เหมือนกัน อย่างน้อยสิ่งที่ขัดแย้งกับความเป็นสืบอย่างเต็มที่ ก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นตามคตินิยมของคนไทย ที่ให้ความสำคัยกับการเอาชื่อคนตายมาใช้ ต้องใช้โดยความเคารพ

เพียงแต่ว่าถ้ายังจะผูกมัดมูลนิธิฯ ไว้กับความเป็นสืบ นาคะเสถียรอย่างเต็มที่โดยที่ก็ไม่มีใครยืนยันได้อย่างแท้จริงว่า ทางใดถูกและทางใดผิดขวบปีที่ 2 อาจจะต้องเสียไปในความยุ่งเหยิงเหมือนที่ผ่านมาอีก ซึ่งคงไม่ก่อประโยชน์อะไร

มูลนิธิสืบฯ เป็นองค์กรอนุรักษ์ที่มีศักยภาพ 1 ใน 3 ของไทยที่พอจะฝากความหวังทางด้านสิ่งแวดช้อมและทรัพยากรเอาไว้ด้วยได้ เพียงขวบปีแรกแห่งการเดินทางขององค์กรที่เกิดอย่างกะทันหันแต่แบกภาระเต็มสองหลังไหล่ย่อมยังมีเวลาที่จะพิสูจน์ตัวกันอีกนาน

ว่าไปแล้วในขั้นของการเริ่มต้นและทดลองนี้ โอกาสที่จะสะดุดล้มลุกคลุกคลาน เพื่อลุกขึ้นใหม่ยังเกิดได้อีกหลายครั้งนัก ขอแต่ให้ในการลุกอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ละครั้งนั้นเต็มไปด้วยความมั่นคงเอาจริงเอาจัง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.