สภาวะแห้งแล้งรุมเร้าอย่างหนักในปีนี้ส่งผลชัดเจนถึงขนาดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องสั่งระงับการทำนาในพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำ
20 จังหวัด แถบภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนเพื่อนสำรองปริมาณน้ำอันมีน้อยนิดเอาไว้
แม้ว่า ในภายหลังสถานการณ์จะดีขึ้นเนื่องจากฝนช่วยจนเกษตรในบางจังหวัดแถบลุ่มน้ำแม่กลองเริ่มได้รับอนุญาตให้ลงมือเพาะปลูกได้
แต่วิกฤตแห่งการขาดแคลนน้ำในภาพรวมก็ใช่จะยุติลง
ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลยังคงมีระดับต่ำกว่าปกติจนไม่อาจให้กำเนิดเครื่องปั่นไฟฟ้า
กระแสไฟที่เข้ามาทดแทนนั้นได้จากการเผาผลาญลิกไนท์ที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง
อันเป็นต้นเหตุของปัญหาฝนกรดที่ยังยืดเยื้ออยู่
"การที่ประเทศไทยมีสภาวะแห้งแล้ง ไม่เกี่ยวกับเรื่องฝนแล้ง"
สมิทธ ธรรมสาโรช อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวหนักแน่น
"ฝนที่ตกแต่ละปีนั้น มีปริมาณใกล้เคียงกัน ปีนี้อาจจะตกน้อยกว่าปีก่อนบ้างเล็กน้อยแต่ที่เราประสบภาวะแห้งแล้งเป็นเรื่องขององค์ประกอบหลายอย่าง
เนื่องจากป่าน้อยลง การระเหยของน้ำพื้นดินมากขึ้น ประชากรมากขึ้น ปริมาณการใช้น้ำก็มากขึ้นและใช้อย่างฟุ่มเฟือย
ทั้งยังไม่มีการเก็บกักน้ำจากฤดูฝนไว้ใช้ เพราะฉะนั้นก็เกิดปัญหา" สมิทธอธิบายถึงสาเหตุ
ทุก ๆ ปี น้ำฝนจะตกลงสู่ประเทศไทยประมาณ 800,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ค่าเฉลี่ยในรอบ
30 ปี) จากจำนวนนี้ ส่วนหนึ่งจะระเหยหายไปโดยกระบวนการบางอย่าง อีกส่วนไหลลงดินที่เหลือประมาณ
219,000 ล้านลูกบาศก์เมตรคือน้ำที่กระจายไปตามแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อไหลลงสู่ท้องทะเล
น้ำจำนวน 219,000 ล้านลูกบาศก์เมตรนี้ เมื่อรวมกับน้ำในชั้นใต้ดินอีกประมาณ
5% เป็น 230,000 ล้านลูกบาศก์เมตรคือน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งถ้าคิดเทียบต่อประชากรก็เท่ากับคนไทยแต่ละคนมีปริมาณน้ำใช้ประมาณ
12,600 ลิตรต่อวันมากกว่าค่าเฉลี่ยที่คนเมืองใช้กันทุกวันนี้ประมาณ 50 เท่า
ไม่น่าเชื่อว่า สภาวะขาดแคลนน้ำเกิดขึ้นได้
"ปัญหาคือคล้ายกับว่าประชาชนมีอยู่ 55 ล้าน ต้องใช้น้ำ 10 ตุ่ม เรามีเพียง
8 ตุ่มมันก็ไม่พอใช้ ในความเห็นของผมก็คือต้องสร้างเขื่อนเพิ่มเพราะในบางกลุ่มน้ำ
ยกตัวอย่าง ป่าสัก มีน้ำถึง 19,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ปล่อยลงทะเลไปโดยไม่มีการใช้ประโยชน์"
เจ้ากรมอุตุนิยมวิทยาเสนอทางแก้ไข
ปัญหาขาดแคลนน้ำมักถูกโยงเข้าสู่ปัญหาการเก็บกักน้ำเสมอ ในขณะที่ ณ เวลานี้ประเทศไทยมีการเก็บกักน้ำอยู่แล้วโดยเขื่อนหรือฝายหรืออะไรก็ตามประมาณ
100,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำใช้ประจำวันต่อหัวก็ยังคงมากกว่าปกติอยู่ถึง
20 เท่า
"จริง ๆ เราคงไม่อาจกักได้อีกมากนัก เพราะถ้ากักทั้งหมดแล้วคนปลายน้ำก็จะไม่มีใช้
ผมคิดว่าอย่างน้อยต้องรักษาลุ่มน้ำลำธารไว้ประมาณ 50% จึงจะดี ซึ่งการกักของเราก็เกือบจะถึงครึ่งหนึ่งแล้ว
แต่น้ำก็ยังขาดแคลน ซึ่งผมว่าขึ้นอยู่กับเรื่องของการบริหารจัดการ "
นักวิชาการด้านน้ำแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ กล่าวด้วยมุมมองอีกแง่หนึ่ง
แต่เดิมนั้น ภาคเกษตรกรรม เป็นภาคที่ถือครองสัดส่วนการใช้น้ำมากที่สุด โดยเฉพาะ
เมื่อมีการเร่งรัดการส่งออกข้าว ทำให้เกิดการทำนา 2 ฤดูกาลในรอบ 1 ปี รวมทั้งการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจแปลงใหญ่
ก็ยิ่งทำให้ปริมาณการใช้น้ำของภาคเกษตรเพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก็ตามในรอบหลายปีที่ผ่านมาการเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการก้ต้องการใช้น้ำจำนวนมหาศาลเช่นกัน
ภายใต้ขอบเขตทรัพยากรน้ำเท่าเดิม คนใช้กลับเพิ่มมากขึ้นเขื่อนภูมิพลเอง
จากที่เคยต้องให้น้ำเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า และอุดหนุนเกษตรกรก็กลับต้องรับภาระโอบอุ้มนิคมอุตสาหกรรมตลอดจนสนามกอล์ฟหลายต่อหลายแห่งเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ดร.ประกอบได้เปรียบเทียบเอาไว้ว่า สนามกอล์ฟ 1 สนามมีสัดส่วนการใช้น้ำเท่ากับชุมชนขนาดอำเภอ
1 อำเภอ อย่างจังหวัดเพชรบุรีที่ถูกสั่งระงับการทำนาด้วยในตอนต้นมีสนามกอล์ฟ
18 สนามก็เท่ากับมีอำเภอเพิ่ม 18 อำเภอ
ภาวะน้ำขาดแคลนที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ กับบางภาคส่วนย่อมสะท้อนถึงทั้งปัยหาในเรื่องน้ำโดยตรงและปัญหาการจัดสรรทรัพยากรที่เหลื่อมล้ำไปด้วยในตัว
ถ้าพูดถึงทางออกด้วยการสร้างตุ่มเพิ่มก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยังไกลเกินจำเป็น
เพราะปริมาณน้ำที่เก็บไว้นั้นมีอยู่เพียงพอแล้วเพียงแต่ขาดการจัดส่วนการใช้ให้เหมาะสม
ส่วนใหญ่ปัญหาเรื่องน้ำมักถูกมองข้าม ไทยเองไม่มีแม้กระทั่งหน่วยงานดูแลเรื่องนี้ที่เป็นเรื่องเป็นราว
และครอบคลุมพอแม้แต่แหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ภายในประเทศก็ยังไม่เคยได้รับการสำรวจศึกษา