|
ปฏิบัติการอุ้ม“อิลิทการ์ด”อยู่ก็เหนื่อย...ตายก็หนัก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
การต่อชะตาให้ “ไทยแลนด์ อิลิทการ์ด”ดำเนินธุรกิจต่อไปของมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) นอกจากจะยังมองไม่เห็นอนาคตว่าบัตรดังกล่าวจะสามารถเนรมิตให้เป็นไปตามแผนงานแต่อย่างใด กลับสร้างความไม่พอใจกับกับวงการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งๆที่มีกระแสคัดค้านให้ยุบโครงการทิ้งไป
การบริหารจัดการที่ขาดทุนมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องของการดำเนินธุรกิจบัตรเทวดานอกจากจะไม่ก่อให้เกิดผลกำไรตามแผนที่วางไว้กลับจะส่งผลต่ออนาคตภาพรวมการท่องเที่ยวของไทยในอนาคต ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของวงการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะหยุดโครงการนี้ทันที
โดยเฉพาะ กงกฤช หิรัญกิจ นายกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และเป็นกรรมมาธิการ สนช.ยังคงยืนยันให้รัฐบาลควรยุบโครงการไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ลง ถึงแม้ว่าจะจัดทำแผนใหม่มาเสนออีกกี่ครั้งก็ตามทาง สนช.ก็ไม่เห็นด้วยแต่คณะรัฐมนตรีก็ยังมองว่าควรจะให้มีโครงการนี้ต่อไป
บริษัททีพีซี เป็นบริษัทเชิงธุรกิจแม้จะมีกำไรมากหรือน้อยก็ตาม แต่ก็ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ของรัฐบาลตามที่ได้แถลงไว้เมื่อครั้งที่เข้ามารับตำแหน่ง โดยระบุไว้ชัดเจนว่า รัฐบาลจะพึ่งส่งเสริมเอกชนในการทำธุรกิจ ไม่ใช่รัฐบาลจะมาตั้งบริษัทดำเนินธุรกิจเสียเอง ซึ่งถือว่าผิดในหลักการและหากมองว่า เมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ที่ได้จากการเลือกตั้งเข้ามาจะดึงโครงการนี้ขึ้นมาทำต่อ จึงเกรงว่าภาพลักษณ์ของประเทศไทยจะเสียหาย เพราะเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลนโยบายก็เปลี่ยนนั้น ตรงนี้เชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่จะใช้ดุลพินิจก่อนแน่นอนว่าสมควรหรือไม่และที่ผ่านมาได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรหรือการรีแบรนด์บัตรใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น อย่างเช่น อีลิท โมเมนท์ ที่มุ่งเน้นการให้บริการด้านการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เช่น การเล่นกอล์ฟ การให้บริการสปาชั้นนำ การใช้บริการท่าเรือยอชต์ และมี อีลิท ลิฟวิ่ง เป็นการเน้นการให้บริการทางด้านการรักษาโรค หรือผู้ที่ต้องการพักนานวัน(ลองสเตย์)การมาเพื่อศัลยกรรมสวยงาม ทำฟันทำเลสิก ฯลฯ
และตบท้ายด้วย อีลิท คอนเนคชั่น ที่เป็นการประสานด้านการลงทุนในประเทศไทยให้กับสมาชิกบัตรซึ่งจะมีการติดต่อหรือนัดหมายกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกบัตรแต่ผลงานที่ออกมา ซึ่งทุกอย่างก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ความสำเร็จได้
แม้แผนใหม่ของอีลิท จะมองไปในอนาคตถึง 15 ปี ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ จะเลี้ยงตัวเองได้จากดอกเบี้ยและผลกำไร ตลอดจนสร้างเงินตราเข้าประเทศ โดยใน 3 ปีข้างหน้าหากได้ดำเนินกิจการต่อ บริษัทก็จะมีกำไร สามารถใช้คืนเงินทุนให้แก่ ททท.ได้ ตรงนี้เป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งมีความไม่แน่นอน รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลรักษาการ ไม่ควรคิดทำการอะไรที่วาดยาวไปถึงอนาคตเช่นนี้ ดังนั้นแผนธุรกิจของทีพีซีฉบับใหม่นี้จะเชื่อถือได้อย่างไร และไม่มีใครกล้ายืนยันได้ 100% ว่า จะเป็นตามที่วางแผนไว้ทุกประการ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วทำไมจะต้องมาเสียเวลาให้ทีพีซี ลองผิดลองถูกต่อไปอีกปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้แผนธุรกิจที่ ทีพีซี วางไว้กลับพังลงไม่เป็นท่า และทำให้สถานะของบริษัทย่ำแย่ลงไปอีก
จากการวิจัยพบว่าบัตรอีลิทได้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทย ในแง่ผลประโยชน์ทางตรงนั้นสมาชิกบัตรที่เข้ามาจะมีวันพักเฉลี่ย 14 วันต่อครั้ง ซึ่งสูงกว่าจำนวนพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวปกติที่มีอยู่ที่ 8 วันต่อครั้ง ขณะที่ค่าใช้จ่ายโดยรวมของผู้ถือบัตรจะอยู่ที่ 470,112 บาทต่อครั้ง แต่นักท่องเที่ยวปกติจะอยู่ที่ 32,000 บาทต่อครั้ง ส่วนผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยอ้อม เช่น ก่อให้เกิดการจ้างงาน และการเข้ามาลงทุนของสมาชิกบัตร
ด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำให้รัฐบาลชุดนี้ตัดสินใจเดินหน้าโครงการบัตรไทยแลนด์ อีลิทต่อไป แต่ต้องมีการปรับธุรกิจใหม่โดยควบคุมค่าใช้จ่ายให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการใช้บริการสำหรับบริการบางประเภท รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการในส่วนที่ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายและเป็นบริการที่หาซื้อไม่ได้ เช่น การเปิดช่องทางด่วนรับรองลูกค้าในการผ่านเข้าประเทศ
ขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับธุรกิจเพื่อให้เกิดมีกำไร ทีพีซี ต้องปรับค่าสมาชิกบัตรไทยแลนด์ อีลิท ขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านบาท เพียงแค่ 15 ปี จะสามารถทำกำไรทางบัญชีประมาณ 13,665.9 ล้านบาท และในระยะเวลา 30 ปี จะมีกำไรทางบัญชีประมาณ 40,437.9 ล้านบาททีเดียว
แต่ถ้าหากปล่อยให้บริษัทดังกล่าวหยุดการเติบโต คือมีสมาชิกเท่าเดิมในระยะยาว 30 ปีทางบริษัทจะต้องใช้จ่ายเงินเป็นค่าบริหารจัดการเพื่อดูแลสมาชิกถึง 6,038 ล้านบาท รวมถึงหากปล่อยให้ยกเลิกกิจการไป อาจจะเสียเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับการเจรจา แต่ก็ยังจะมีผลที่ตามมาจากภาพลักษณ์ที่สูญเสียไป รวมถึงอาจต้องรับภาระจากการฟ้องร้องกับบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีก
ด้วยข้อมูลตัวเลขจุดนี้เอง ส่งผลให้บอร์ด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาฯ ตัดสินใจเดินหน้าตะเบงบัตรอีลิทต่อไป
ทั้งนี้ แผนใหม่ที่จะชงให้ ครม.เป็นผู้ชี้ขาดนั้นแบ่งได้เป็น 2 ประเด็นหลักคือ 1.แผนบริหารจัดการระยะยาว 20 ปี โดยมุ่งเน้นลดต้นทุนเพิ่มรายได้เข้าบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิประโยชน์บางประการ การเก็บค่าธรรมเนียม การลดค่าคอมมิชชั่นกับตัวแทนจำหน่ายบัตร จากเดิม 25% ของมูลค่าบัตร 1 ล้านบาท เหลือ 15% การปรับโครงสร้างคณะกรรมการใหม่ ซึ่งเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบการบริหารงานมากขึ้น โดยจะเพิ่มตัวแทนจาก ททท.(เจ้าของเงิน)จาก 1 คน เป็น 3 คน เป็นต้น 2.การดำเนินงานต่อภายใต้การจำกัดจำนวนสมาชิกบัตร ซึ่งแนวทางนี้ไม่เน้นหวือหวา แต่ทำเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย และควบคุมบริการให้มีคุณภาพเหมาะสมกับความเป็นอีลิทยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมามีการตั้งสมมติฐานว่า ยอดสมาชิกน่าจะจำกัดอยู่ที่ไม่เกิน 20,000 บัตร อย่างไรก็ดี เพื่อให้บริษัท ทีพีซี อยู่รอดก็จำเป็นจะต้องมีการปรับขึ้นค่าสมาชิกใหม่
แม้จะปรับราคาค่าบัตรให้สูงขึ้นจาก 1 ล้านเป็น 1.8 ล้านบาทก็ตาม...แต่ดันไปลดเรื่องของสิทธิประโยชน์พิเศษที่สมาชิกจะได้รับลงไป เป็นการสวนกระแสของการทำตลาดทางธุรกิจ ซึ่งน่าจะส่งผลทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วบัตรเทวดาจะขายได้อย่างไร ?
ในขณะที่ความสับสนของปัญหาเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆยังคงไม่ได้รับการแก้ไขคาราคาซังอยู่แบบนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการทำแผนธุรกิจระยะยาว 20 ปี โดยมีดัชนีตัวเลขสวยหรูปั้นแต่งมาแสดงให้เห็นก็ตาม ขณะเดียวกันก็เพิ่มบทบาทของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กลับไปตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทำงานของอีลิท การ์ดอีกชั้นหนึ่งก็ตาม...หากแผนงานการบริหารจัดการใหม่เกิดล้มเหลวขึ้นมาอีกถามว่า
ใคร ? คือผู้รับผิดชอบและแน่นอนคำตอบก็ยังไม่มีอีกเช่นเคย
กูรูด้านท่องเที่ยวเชื่อกันว่าผู้ที่หัวชนฝาไม่อยากให้ "ยกเลิก"โครงการนี้น่าจะมีนัยยะสำคัญอะไรบางอย่าง โดยใช้เรื่องของการถูกต่างชาติฟ้องร้องเสียค่าเสียหายมาเป็นประเด็นหลักเพื่อสร้างกระแสให้เกิดความหวั่นวิตกถึงภาพลักษณ์ของประเทศ ส่งส่งผลให้รัฐบาลชุดนี้ต้องดันทุรังเพื่อยืดระยะเวลาของบัตรเทวดาต่อไป แถมยังปรับราคาบัตรให้สูงขึ้นพร้อมดึงหน่วยงานอย่าง ททท.มาเป็นผู้ตรวจสอบเพื่อการันตีว่าอนาคตของโครงการไทยแลนด์ อีลิท การ์ด จะสามารถสานฝันต่อได้
หากดูตามข้อเท็จจริงแล้วผลประโยชน์น่าจะตกไปอยู่กับเอเย่นต์หรือตัวแทนขายบัตรอีลิท การ์ด ซึ่งถือเป็นตัวจักรสำคัญในการทำการตลาดของบัตรเทวดา ตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีคอมมิชชั่นเป็นค่าตอบแทนและถ้าแผนงานระยะยาว 15-30 ปีของโครงการไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ผ่านความเห็นชอบด้วยแล้วผลตอบแทนค่าเหนื่อยที่จะได้รับก็จะกลายเป็นเม็ดเงินมหาศาลตามไปด้วยเช่นกัน
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไม่มีความเคลื่อนไหวของ เอเย่นต์ขายบัตร ออกมาในช่วงนี้ซึ่งต่างกับในช่วงแรกๆที่มีข่าวว่าจะยุบโครงการไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ลงจะเห็นว่าค่ายใหญ่ๆที่เป็นเอเย่นต์จะออกมาประกาศก้องว่าถ้ายุบต่างประเทศฟ้องกลับแน่นอน...แต่ครั้งนี้กลับเก็บตัวเงียบ
หากย้อนไปในอดีตที่ผ่านมาฝ่ายบริหารของไทยแลนด์อีลิทการ์ดเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นเปรียบเสมือนหัวโขนที่ไม่มีบทบาทอะไรมากนัก ขณะเดียวกันก็ยืมจมูกของเอเย่นต์หายใจมาโดยตลอดซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าฝ่ายบริหารแทบไม่ต้องทำอะไรหรือออกแรงน้อยมาก
ปัจจุบันบทบาทหน้าที่สำคัญของฝ่ายบริหารในการนำเสอนแผนธุรกิจใหม่เพื่อให้ ไทยแลนด์อีลิทการ์ด อยู่รอด นั้นกลายเป็นโจทย์ที่หาคำตอบได้ยาก แม้ว่าจะใช้วิธีลดค่าใช้จ่ายและหารายได้เพิ่ม ด้วยการลดค่าคอมมิชชั่นแก่ตัวแทนขายหรือเอเย่นต์ลง ซึ่งจากเดิมหากรวมทั้งจากเปอร์เซ็นต์ยอดขาย ค่าโฆษณา ค่าการตลาด ทำได้ตามเป้า รวม ๆ แล้วร่วม 30 % นั้นนับว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจไม่เบา
โดยเฉพาะค่าคอมมิชชั่นที่ตัดทอนแบ่งให้เอเย่นต์ขายบัตรจะลดเหลือแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่ในความเป็นจริง เอเย่นต์ขายก็ยังได้ประโยชน์เป็นกอบเป็นกำอยู่ดี เพราะเท่ากับคิด 15 เปอร์เซ็นต์จากราคาขายบัตรใหม่ที่จะถูกปรับขึ้นมาเป็น 1.8 ล้านบาท ไม่ใช่ 15 เปอร์เซ็นต์จาก 1 ล้านบาทของเดิม
จุดประสงค์หลักที่ต่างชาติต้องการเป็นสมาชิกบัตรเทวดานั้น คงจะเป็นเรื่องของบริการทาง "วีซ่า" ตลอดชีพมากกว่าสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ถูกวางไว้ในโปรแกรมไม่ว่าจะเป็นตีกอล์ฟ พักโรงแรมหรู ใช้บริการสปา หรืออื่นๆที่สมาชิกบัตรแทบไม่ค่อยมีเวลาไปใช้บริการเลย
แม้ว่าเรื่องนี้จะเถียงกันแทบเป็นแทบตายระหว่างรัฐบาลกับสนช.มาแล้วก็ตาม แต่ผลประโยชน์กลับตกไปอยู่เอเย่นต์ขายบัตรเสียมากกว่า... และแผนใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ถูกนำออกมาใช้หากไม่สามารถทำได้ตามแผนงานที่วางไว้อาจจะกลายเป็นปัญหาที่ต้องคอยแก้ไขตลอดเวลา....เชื่อได้ว่าคงไม่มีใครที่กล้าเอาหัวมาเป็นประกันแน่นอน?
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|