|

กระแสแตกกิจการสร้างมูลค่าเพิ่มเริ่มแพร่หลายในตลาดโลก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
หนทางที่ผู้ประกอบการในธุรกิจประเภทต่างๆ จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจการของตนมีด้วยกันหลากหลาย แต่หนทางที่วงการแฟชั่นเลือกใช้กันมากขึ้นในขณะนี้ คือ การแยกธุรกิจออกไปต่างหากเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน การหาพันธมิตรทางธุรกิจไปจนถึงการขายกิจการต่อด้วยราคาที่สูงขึ้น
กลยุทธ์การแยกกิจการย่อยๆ ออกไปเป็นอิสระด้านการบริหารจัดการของตนเองเป็นกลยุทธ์ที่ทำกันมานานหลายทศวรรษก็จริง แต่ในแง่มุมของการตลาดสำหรับวงการแฟชั่นเรื่องนี้ ไม่ค่อยมีข่าวออกมาให้เห็นกันมากนัก
นักการตลาดในวงการวิเคราะห์ว่าการที่กลยุทธ์การแยกกิจการหลับมาเริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อเร็วๆ นี้น่าจะมาจากแรงกดดันต่อผู้บริหารระดับสูงของกิจการชั้นนำที่ต้องการเพิ่มอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเพื่อดึงดูดนักลงทุนที่ซื้อหุ้นและสนใจหุ้นของกิจการที่มีแนวโน้มว่าราคาตลาดของหุ้นยังจะต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นของกิจการ
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมากิจการในสหรัฐฯที่มีการแยกย่อยกิจการออกไปดำเนินงานเป็นแต่ละธุรกิจไปมีมูลค่ารวมกัน ระหว่าง 2.5-5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และมูลค่าสูงสุดก็มากกว่า 1.45 แสนล้านดอลลาร์ทีเดียว
ปีนี้ผ่านมาแล้ว 6 เดือนการแยกย่อยกิจการออกไปเป็นหน่วยงานบริหารจัดการอย่างอิสระมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์แล้วเพิ่มขึ้นจากเพียง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ในระยะเดียวกันปีที่แล้ว
การแยกย่อยกิจการที่ถือว่าเป็นรายใหญ่ที่สร้างความตะลึงให้กับวงการตลาดก็คือ การแยกย่อยกิจการของ อัลเตรีย กรุ๊ป ในสหรัฐฯที่มีหุ้นกว่า 89% ในบริษัท คราฟท์ ฟูดส์ และบริษัท ดุ๊ก เอนเนอจี้ คอร์ป ออกเป็นหน่วยธุรกิจด้านก๊าซธรรมชาติในชื่อของ สเปคตรา เอนเนอจี้ คอร์ป
สิ่งที่นักการตลาดชี้ให้เห็นคือ การแยกย่อยกิจการเกิดขึ้นในกิจการที่มั่นคงมีผลการดำเนินงานดี และดึงเอาจุดแข็งของกิจการไปเป็นตัวหลักในการสร้างมูลค่าเพิ่มของกิจการที่แยกย่อยออกไปเพื่อไต่เต้าไปสู่กิจการที่มีมูลค่าหุ้นแพงกว่าเดิมหลายเท่า
นอกจากนั้น ยังเห็นได้ว่าการแยกย่อยกิจการไม่ได้ทำเพื่อหาทางจำหน่ายหุ้นออกไปในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น หลายกิจการยังแยกย่อยกิจการเพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตทางธุรกิจของกลุ่มธุรกิจของตนเองด้วย อย่างเช่นกรณีของ คาร์ล ไอคาห์น หรืออาจเป็นเพราะเผชิญหน้ากับการเสนอซื้อที่ไม่พึงประสงค์จากกิจการลงทุนสถาบันในตลาด
ประโยชน์ที่เกิดจากการแยกย่อยกิจการมีทั้งสองทาง ทางแรก ประโยชน์กับบริษัทแม่สามารถหาข้ออ้างได้ว่า การแยกย่อยกิจการเพื่อให้กิจการของแม่ได้หันไปทุ่มเทความพยายามทางการตลาดหรือมุ่งเน้นกิจการที่เป็นธุรกิจหลักได้มากขึ้น
ทางที่สอง สำหรับกิจการย่อยที่แยกตัวออกมาจะอ้างว่าสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิผลมากกว่าไปพึ่งพานโยบายและเครือข่ายการตลาดของบริษัทแม่อย่างเดียว ในอีกแง่มุมหนึ่ง การแยกย่อยกิจการออกจากบริษัทแม่ได้กลายมาเป็นวิธีการหนึ่งในการเผชิญหน้ากับนักลงทุนสถาบันที่อยากเข้าไปซื้อกิจการที่สนใจแทนที่ผู้บริษัทของบริษัทที่เป็นเป้าหมายในการซื้อกิจการจะหนีอย่างเดียวก็หันไปเผชิญหน้ากับนักลงทุนสถาบันเหล่านั้นด้วยการแยกย่อยกิจการออกจากบริษัทแม่มาเจรจาขายกิจการกันให้เป็นเรื่องเป็นราวเลยจะได้ราคาขายที่ดีกว่าถูกซื้อแบบไม่เต็มใจ
การแยกย่อยกิจการออกจากบริษัทแม่แพร่หลายไปแม้แต่ในวงการบริการทางการเงิน และการธนาคารที่ครั้งหนึ่งเคยรวมกิจการเข้าด้วยกัน เพราะเมื่อไม่นานมานี้ มาร์แชล แอนด์ ฮิสเลย์ ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในวิสคอนซินประกาศแผนการแยกย่อยกิจการออกจากบริษัทแม่ของตน ในส่วนของการดำเนินงานเรียกเก็บเงินและบริการรับชำระ โดยดึงเอานักลงทุนสถาบันชื่อ วอร์เบิร์ก พินคัส มาลงทุนร่วมเป็นเงินกว่า 625 ล้านดอลลาร์ หรือราว 25% ของหุ้นทั้งหมดของกิจการที่มีการแยกย่อยกิจการออกจากบริษัทแม่
และเมื่อไม่นานมานี้ ลากูน่า บีช ก็ทำท่าว่าจะมีการแยกย่อยกิจการออกจากบริษัทแม่ ในส่วนของการทำแมกกาซีน “ทีน โวค” ออกมาจากการบริหารแมกกาซีน “โวค” ดั้งเดิมของกิจการ โดยจะประกาศข่าวนี้ด้วยการจัดงานปาร์ตี้ “ยัง ฮอลลีวู้ด” เพื่อให้วงการได้รู้กันอย่างทั่วถึง และเป็นการรวมพลของแฟนโวคที่เป็นวัยรุ่นและมีรสนิยมที่ทันสมัยมากกว่ากลุ่มของ “โวค” เดิม
การดำเนินงานของโวคพบว่ากิจการสามารถแยกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายออกได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น คลาสสิค โวค หรือ เมน โวค และ ทีน โวค
การแยกย่อยกิจการออกจากบริษัทแม่จึงไม่ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมากนักในเชิงการบริหาร แต่จะเป็นการเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น เพราะแต่ละกลุ่มมีรสนิยมในด้านสไตล์การแต่งตัวการท่องเที่ยว อาหารโปรด ศิลปะ วัฒนธรรม และแนวแฟชั่นที่แตกต่างกัน
นักการตลาดที่เชี่ยวชาญกับกลยุทธ์แนวนี้เชื่อว่า แนวคิดนี้จะมีกิจการอื่นดำเนินการตามอีกหลายรายด้วยกัน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|