เงินร้อน"ดาบพิฆาต"ดันค่าบาทแข็งภาคส่งออกชะตาขาด-รัฐเกาไม่ถูกที่คัน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 กรกฎาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

"เงินร้อน" บินข้ามน้ำข้ามทะเลเข้าเก็งกำไรผ่านตลาดหุ้นไทย ดันดัชนี และค่าบาทแข็งสุดทุบสถิติใหม่ในรอบ 10 ปี เชื่อกันว่าเป็นผลพวงของนักเล่นค่าเงินเข้ามาป่วน ที่รอให้เงินแข็งถึง 32 บาทต่อดอลลาร์ จากนั้นคอยเวลาเหมาะถอนตัวออกพร้อมกำไรล้นกระเป๋า ขณะที่ "ภาครัฐ" มืดแปดด้านหาทางช่วยภาคส่งออกไม่ได้นอกจากแนะนำให้ปรับตัวตามสถานการณ์

จริงอยู่ที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นตามภูมิภาคเดียวกัน แต่การทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 วิ่งระหว่าง 33.99-34.02 บาทต่อดอลลาร์ กลายเป็นคำถามว่า การแข็งขึ้นของค่าเงินดังกล่าวเร็วเกินไปหรือไม่...?

การแข็งขึ้นของค่าบาทอย่างรวดเร็วนั้นส่วนสำคัญมาจากเม็ดเงินที่ไหลทะลักเข้าตลาดหุ้น จนทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไม่น้อยหน้าค่าบาททำสถิติสูงสุดในรอบ10ปีเช่นกันนับจากปี 2539 ที่ทำไว้สูงสุด 831.57จุด และวันที่ 9 กรกฎาคม2550 ดัชนีปรับตัวขึ้น 832.38จุด

ว่ากันว่าเหตุผลที่เงินไหลทะงักเข้ามานั้น เพราะต่างชาติเริ่มมีความมั่นใจในสถานการณ์ทางการเมือง และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น ...

หากเท็จจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่...ยังตอบไม่ได้...เพราะแม้แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยังไม่รู้ หรือว่ารู้แต่ไม่บอก

จนเกิดความสงสัยและตั้งเป็นคำถามในใจว่าเม็ดเงินที่ไหลทะลักเข้าตลาดหุ้นในทุกวันนี้มาจากนักลงทุนต่างประชาติจริง ๆ หรือนักลงทุนไทยที่ลงทุนผ่านทางต่างประเทศ...โดยมีเป้าหมายโจมตีค่าเงินบาท...ประหนึ่งตั้งใจสร้างความเสียหายให้ประเทศ

นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่าค่าบาทจะแข็งไปถึง 32 บาทต่อดอลลาร์ ที่คาดเช่นนี้เพราะตัวเลขดังกล่าวคือเป้าหมายที่นักเล่นค่าเงินวางไว้ในการเก็งกำไร และเมื่อดำเนินมาถึงจุดที่ตั้งไว้เมื่อไร...ก็พร้อมจะถอนทุนขนเงินกลับบ้านพร้อมกำไรที่ไดทั้ง2เด้ง จากกำไรการขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้น และอัตราแลกเปลี่ยน

แต่เรื่องนี้ก็เป็นแค่กระแสข่าว...ที่รอวันพิสูจน์ความจริง

ทั้งนี้ภาครัฐบอกว่าเงินร้อนที่เข้ามาผ่านตลาดหุ้นไทยนั้นจะอยู่เพียงช่วงสั้น สักพักก็จะออกไป แต่ระยะเวลาดังกล่าวก็อาจทำให้ภาคส่งออกในบางอุตสาหกรรมชะตาขาดได้

การแข็งของค่าบาทได้สร้างผลกระทบต่อภาคการส่งออก..อาจมองว่าที่ผ่านมาภาครัฐ "โอ๋" และให้ความสำคัญมากเกินไปหรือไม่?

แต่ถ้าวัดลำดับความสำคัญกับภาคอื่นๆ การส่งออกมีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 60% ของจีดีพี... สัดส่วนที่สูงเช่นนี้เองทำให้ภาครัฐไม่สามารถปล่อยให้ภาคส่งออกตายได้ อำนาจการต่อรองของภาคส่งออกจึงมีมากกว่าหลายอุตสาหกรรม

ว่าไปแล้วภาพลักษณ์เศรษฐกิจไทยที่พอดูได้อยู่ในทุกวันนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากภาคส่งออกจริงๆ...

แต่การให้ความช่วยเหลือดูเหมือนวันนี้รัฐเองก็มืดแปดด้าน ช่วยผู้ประกอบการภาคส่งออกได้ไม่มาก จะมีก็แต่แนะว่าให้ฉวยโอกาสที่ค่าบาทแข็งซื้อเครื่องจักเพิ่มกำลังการผลิต... การเสนอความคิดดังกล่าวเหมือนดี แต่ภาคธุรกิจเห็นว่ารัฐเกาไม่ถูกที่คัน สิ่งที่ผู้ประกอบการเรียกร้องคือ อย่าให้ค่าบาทแข็งมากไปกว่านี้เพราะกระทบต่อรายได้ และการแข่งขัน ถ้าต้องแก้ก็ให้ตรงจุดไม่ใช่ให้ซื้อเครื่องจักร

เมื่อโดนแบบนี้ภาครัฐจะทำอย่างไร...? จะให้การแทรกแซงค่าเงินบาทแบบฝืนธรรมชาติ....ย่อมเป็นไปไม่ได้ผลนั้นเสียมากกว่าได้ ...เรื่องนี้พิสูจน์ให้เห็นจากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540แล้ว...ดังนั้นแน่นอนว่ารัฐบาลคงไม่ทำอะไรที่เสี่ยงมากไปกว่านี้

นอกจากคำแนะนำ ก็คงเป็นคำปลอบใจที่ว่าไตรมาส3ปีนี้ รัฐบาลจะมีการลงทุนมากขึ้น ซึ่งการลงทุนจะทำให้มีการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งการสั่งซื้อสินค้าในต่างประเทศอาจส่งผลให้ขาดดุลทางการค้า และปัจจัยนี้ก็จะช่วยให้ค่าเงินบาทที่แข็งกลับมาอ่อนลงได้

นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องพึ่งตัวเองให้มากขึ้น ตั้งแต่การเพิ่มมูลค่าสินค้า การขยายตลาดใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ประกอบการ

ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบการส่งออก ยามนี้ นอกจากหาทางยื้อชีวิตต่อไป แม้จะมีบาดแผลจนเลือดโชกจากเงินบาทที่แข็งค่าแค่ไหนก็ต้องช่วยเหลือเยียวยาด้วยตัวเองก่อน คงหวังพึ่งน้ำบ่อหน้าไม่ได้...เพราะไม่รู้ว่าจะมีหรือไม่...ที่สำคัญอย่าลืมว่าแนวโน้มของค่าเงินบาทคงไม่กลับไปอ่อนอีกแล้ว ตราบที่มีเงินทุนไหลทะลักเข้าประเทศเช่นนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.