|

ศึกคอมมูนิตี้ มอลล์ ร้อนฉ่าเซ็นทรัล โลตัส ขอขย่ม เอสเอฟ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
- อุณหภูมิร้อนในสมรภูมิศูนย์การค้าชุมชนกำลังเพิ่มขึ้นทุกขณะ เมื่อรายใหม่ที่มีขีดความสามารถสูงกระโดดร่วมวงด้วยคน
- เมื่อเป็นเช่นนี้รายเก่าจึงต้องปรับกลยุทธ์ให้สามารถสู้ศึกใหญ่ที่กำลังถั่งโถมเข้ามา ด้วยค่ายใหม่ล้วนมีไม้เด็ดที่ประสบความสำเร็จในวงการค้าปลีกมาแล้ว
- รูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์จะหลากหลายมากขึ้นตามจุดแข็งแต่ละราย
สถานการณ์คอมมูนิตี้ มอลล์ หรือศูนย์การค้าในชุมชน กำลังทวีความร้อนแรงมากขึ้นทุกขณะ หลังจากมีข่าวเมื่อ 1-2 อาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ยักษ์ใหญ่ในวงการดิสเคานต์สโตร์อย่างทางเทสโก้ และพี่เบิ้มในวงการห้างสรรพสินค้า อย่างกลุ่มเซ็นทรัล มีแผนจะสยายปีกเข้ามาในธุรกิจนี้ด้วยคน ซึ่งการที่ทั้งคู่แย้มแผนเช่นนี้ออกมาย่อมก่อให้เกิดแรงสะเทือนขึ้นในวงการคอมมูนิตี้ มอลล์ อย่างช่วยไม่ได้
เหตุผลที่ทั้งคู่หันมาให้ความสนใจในธุรกิจศูนย์การค้าชุมชนต่างมีเหตุผลต่างกัน โดยในส่วนของโลตัส ก็เพื่อที่จะลดแรงต้านจากสังคม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ให้ความสำคัญกับการขยายสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตซึ่งปัจจุบันมีกว่า 60 สาขา ส่งผลกระทบต่อผู้ค้าในชุมชนและนำไปสู่การต่อต้านการขยายสาขาของโลตัส กระทั่งมีการวางกรอบในการขยายสาขาของห้างใหญ่ แต่ในที่สุดเทสโก้ โลตัส ก็หาทางออกด้วยการทำโมเดลร้านค้าที่เล็กลง ไม่ว่าจะเป็น ร้านคุ้มค่า ตลาดโลตัส และโลตัส เอ็กซ์เพรส ซึ่งรูปแบบหลังดูจะก่อให้เกิดแรงต้านจากสังคมอีกเนื่องจากมีขนาดที่เล็ก ใช้พื้นที่เพียง 300 ตารางเมตรก็ก่อสร้างได้แล้ว ทำให้สามารถแทรกซึมสู่ชุมชนได้อย่างทั่วถึง โดยปัจจุบันโลตัส เอ็กซ์เพรสมีสาขามากเกือบ 200 สาขา กระทบไปถึงร้านโชวห่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้นโลตัสจึงพยายามหาโมเดลที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนด้วยการทดลองสาขารูปแบบใหม่ที่ชื่อว่า เทสโก้ โลตัส คอมมูนิตี้ มอลล์ โดยมีโลตัสเอ็กซ์เพรสเป็นตัวเอก และเปิดพื้นที่ว่างให้ชุมชนได้มีโอกาสเข้ามาค้าขาย นอกจากนี้ยังมีสินค้าและบริการอื่นๆที่จะตอบสนองวิถีชีวิตของผู้บริโภคเช่นธนาคาร ร้านอาหาร สถาบันการศึกษา มาร่วมสร้างชุมชน คอมมูนิตี้ มอลล์ โดยจับตลาดชุมชนเกิดใหม่หรือตามหมู่บ้านจัดสรรซึ่งมีข่าวออกมาว่าอาจมีการทำ เทสโก้ โลตัส คอมมูนิตี้ มอลล์ มากถึง 5 แห่งในปีนี้ โดยเริ่มทดลองสาขาแรกที่ย่านรังสิต คลอง 2
"เวลาเราเข้าไป เราไปยกระดับคุณภาพชีวิตเขาให้ดีขึ้น เราไม่ได้ไปแข่งกับเขา จึงไม่มีปัญหากับชุมชน อย่างกรณีย่านทองหล่อ ซึ่งหลังวิกฤติเศรษฐกิจมีร้านค้าในย่านนั้นปิดตัวไป แต่พอเราเข้าไปทำเจ อะเวนิว สร้างสีสันให้กับชุมชน ปัจจุบันทองหล่อกลับมาเป็นไลฟ์สไตล์สตรีต ร้านค้าในย่านนั้นต่างก็ได้รับอานิสงส์ที่ดีด้วย" เป็นคำกล่าวอของ นพพร วิฑูรชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเม้นท์ ที่ยืนยันชัดเจนว่าคอมมูนิตี้ มอลล์ เป็นโมเดลที่ไม่มีปัญหากับชุมชน
จะว่าไปแล้ว หากลองพิจารณาให้ดีก็จะเห็นว่าคอมมูนิตี้ มอลล์ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับ เทสโก้ โลตัส เพราะในการทำสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ต นอกจากโลตัสจะเป็นผู้ค้าแล้วยังปล่อยพื้นที่ให้ร้านค้าเข้าไปเช่า อีกทั้งมีฟู้ดคอร์ตซึ่งก็ถือว่าเป็นคอมมูนิตี้แบบหนึ่งเพียงแต่มีขนาดที่ใหญ่
ในส่วนของเซ็นทรัลก็เป็นการเชื้อเชิญจากกลุ่มอารียา พร็อพเพอร์ตี้ ที่ทำโครงการคอนโดเอสเปซที่สุขุมวิท 77 ทองหล่อ โดยมีการเตรียมพื้นที่ไว้ 7 ไร่เพื่อรองรับการสร้างคอมมูนิตี้ มอลล์ ตอบสนองความต้องการให้กับผู้พักอาศัยในโครงการ ซึ่งนอกจากมีการเจรจากับกลุ่มเซ็นทรัลแล้วยังมีการเจรจากับกลุ่มสยามฟิวเจอร์ด้วย ทำให้เซ็นทรัลไม่อาจละทิ้งดิวนี้ได้ เพราะกลุ่มเป้าหมายที่มาพักอาศัยในโครงการเป็นกลุ่มเดียวกับลูกค้าที่มาใช้บริการในเซ็นทรัล การเปิดโอกาสให้คู่แข่งเข้ามาชิงตลาดจึงเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ที่สำคัญหากปล่อยให้คู่แข่งเข้ามาสร้างตลาดชุมชนเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น เท่ากับทำให้ผู้บริโภคเหล่านั้นคุ้นเคยกับการใช้บริการใกล้บ้าน ส่งผลให้เดินทางไปห้างใหญ่น้อยลง ดังนั้นเซ็นทรัลจึงยังต้องพยายามที่จะให้ผู้บริโภคเหล่านี้นึกถึงเซ็นทรัลเป็นแห่งแรกในการชอปปิ้ง
ที่ผ่านมาอาจจะมีหลายค่ายออกมาทำคอมมูนิตี้แต่ก็เป็นเพียงรายเล็กๆที่ไม่ได้ชำนาญด้านศูนย์การค้าโดยตรง ทำให้สยามฟิวเจอร์ไม่ต้องหวั่นเกรงอะไรมากนัก แต่สำหรับเทสโก้ โลตัส และเซ็นทรัล เป็นคู่แข่งที่สยามฟิวเจอร์จะประมาทมิได้ เพราะด้วยศักยภาพและสายป่านที่ยาว การเป็นยักษ์ใหญ่มีพันธมิตรมาก ย่อมสามารถต่อกรกับสยามฟิวเจอร์ได้อย่างสบาย อีกทั้งกลุ่มเซ็นทรัลถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่างๆมากมาย ประกอบกับการมีธุรกิจในเครือทั้งกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก และโรงแรม ย่อมเกื้อกูลกันได้ดีหากจะทำคอมมูนิตี้ มอลล์ขึ้นมาสักแห่ง
อย่างไรก็ดีสยามฟิวเจอร์ยังคงกัดฟันพูดว่าการมีคู่แข่งมากเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะช่วยผลักดันตลาดให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เนื่องจากคอมมูนิตี้ในเมืองไทยยังถือว่าเป็นช่วงที่ยังต้องเอ็ดดูเคตให้ผู้บริโภคได้รู้จักและคุ้นเคยมากกว่านี้ ดังนั้นการมีคู่แข่งมากจึงถือเป็นอัตราเร่งให้สยามฟิวเจอร์ได้ลงมือทำโปรเจกต่างๆที่ยังไม่พร้อมให้มีความพร้อมมากขึ้น
นพพร วิฑูรชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเม้นท์ ให้ทัศนะว่าการทำธุรกิจเป็นความถนัด ซึ่งกรณีของตนคือความถนัดในการทำคอมมูนิตี้มอลล์ที่อาศัยพื้นฐานจากการทำตลาดสดย่านมีนบุรีมาก่อน ในขณะที่กลุ่มเซ็นทรัลมีความถนัดในการทำห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ถ้าจะมาทำคอมมูนิตี้ มอลล์ โดยลำพังก็เป็นเรื่องยาก ขณะที่สยามฟิวเจอร์มีพันธมิตรหลายราย โดยเฉพาะผู้ร่วมทุนอย่างเครือเมเจอร์ที่ช่วยสร้างสีสันให้กับคอมมูนิตี้ มอลล์ได้มากกว่า
ก่อนหน้านี้มีการประกาศตัวเข้าสู่ธุรกิจศูนย์การค้าชุมชนมากมายไม่ว่าจะเป็น เพียวเพลส ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างโรงกลั่นน้ำมัน คือ ระยองเพียวริฟายเออร์ ร่วมกับ สัมมากรซึ่งเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก่อตั้งบริษัท เพียวสัมมากร ดีเวลลอปเม้นท์ เพื่อพัฒนา Community Mall โดยแห่งแรกตั้งอยู่หน้าหมู่บ้านสัมมากร รังสิต คลอง 2 บนพื้นที่ 6.73 ไร่ มีการใช้งบลงทุน 120 ล้านบาท โดยวางคอนเซ็ปต์ที่เน้น "ชีวิตพอเพียง ทันสมัย ใกล้บ้าน" และเป็นศูนย์การค้าประชาคมที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยมีจัสโก้ซูเปอร์มาร์เก็ต พร้อมด้วยร้านอาหาร ธนาคาร และบริการต่างๆ และมีปั๊มน้ำมันเพียวเป็นอีกแม่เหล็กหนึ่งในการดึงดูดลูกค้าในย่านดังกล่าว โดยคาดการณ์ว่าจะมีลูกค้ามาใช้บริการวันละ 4,000-5,000 คน พร้อมกันนี้ยังตั้งเป้าที่จะขยาย Community Mall เพิ่มเป็น 5 สาขาใน 5 ปีภายใต้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพียว เพลส ถือเป็น Community Mall ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการหมู่บ้านของสัมมากรส่วนระยองเพียวริฟายเออร์ก็ได้ประโยชน์จากการขยายปั๊มน้ำมันเพียวเข้าสู่ตลาดกรุงเทพฯและปริมณฑล
นอกจากนี้และยังมีรายเล็กรายย่อยรวมถึงยักษ์ใหญ่อีกหลายรายโดยเฉพาะธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการต่อยอดธุรกิจหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าที่มาอาศัยในโครงการด้วยการสร้างคอมมูนิตี้ มอลล์ ออกมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เช่น เช่น แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ ใช้บริษัทในเครือคือ พรสันติ ในการทำ Community Mall หน้าโครงการคอนโดมิเนียมต่างๆที่ได้ก่อสร้างไปก่อนหน้านี้ ในขณะที่ เค.อี.แลนด์ ก็มีการสร้าง Community Mall ภายใต้คอนเซ็ปต์ แฟมิลี่ ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ โดยใช้ชื่อว่า เดอะ คริสตัล หน้าโครงการ คริสตัล พาร์ค
รูปแบบและแนวโน้มคอมมูนิตี้ มอลล์
คอมมูนิตี้ มอลล์ แบบเดิมๆจะค่อนข้างใหญ่ แต่แนวโน้มต่อไปคือมีขนาดเล็กลงเพราะห้างใหญ่มีข้อจำกัดด้านกฎหมาย และอาจจะเล็กลงในระดับคอนวีเนียนสโตร์แต่เข้าถึงลูกค้าได้ใกล้ชิดมากขึ้น โดยมีพันธมิตรอื่นๆเป็นองค์ประกอบในการดึงดูดผู้บริโภค ปั๊มน้ำมันก็ถือเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ หรือศูนย์การค้าชุมชนได้เช่นกันเพราะสามารถไปได้ทุกที่ทั้งกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด โดยมีร้านค้าในปั๊มมาช่วยเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภค
"สยามฟิวเจอร์ เรามีการอัพสเกล คอมมูนิตี้ มอลล์ เพื่อเซิร์ฟย่านที่มีกำลังซื้อสูง โดยมีซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีระดับ มีเอนเตอร์เทนเมนต์ มีร้านอาหาร และสินค้าอื่นๆที่สนองไลฟ์สไตล์ เนื่องจากผู้บริโภคยุคนี้ยอมจ่ายหาสินค้านั้นสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของเขา แต่เราก็ไม่ได้ทิ้งศูนย์การค้าชานเมือง เพียงแต่อาจจะมีจำนวนไม่มากนัก" นพพร กล่าว
สำหรับสยามฟิวเจอร์มีการจำแนกรูปแบบคอมมูนิตี้ มอลล์ ออกเป็น 4 แบบคือ คอนวีเนียน เซ็นเตอร์ พื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร มีคอนวีเนียนสโตร์เป็นแม่เหล็ก โดยสยามฟิวเจอร์มีอยู่ 3 แห่ง ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแต่มีสเกลที่เล็ก ทำให้สยามฟิวเจอร์ หันไปเน้นรูปแบบที่เป็นไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์มากขึ้น ซึ่งทำให้ต้องมีการศึกษาเทรนด์ใหม่ๆในตลาดอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นความนิยมในการอยู่ การกิน โดยผู้บริโภคจะได้รับอิทธิพลจากการสื่อสารเนื่องจากปัจจุบันช่องทางสื่อสารมีมากมายไม่ว่าจะเป็นทีวี สิ่งพิมพ์ โรงภาพยนตร์ อินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข่าวสารได้ไว และแต่ละคนต่างก็มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น จึงเกิดไลฟ์สไตล์ใหม่ๆมากมาย
แบบที่ 2 คือ คอมมูนิตี้ มอลล์หรือ เนเบอร์ฮูด ชอปปิ้ง เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นรูปแบบของตลาดสดกลายพันธุ์มีซูเปอร์มาร์เก็ต แบบที่ 3 เป็นคอมมูนิตี้ เซ็นเตอร์ มีพื้นที่ใหญ่ขึ้น มีไฮเปอร์มาร์เก็ต เป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้บริโภค และแบบสุดท้ายเป็น ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีการอัพสเกลในย่านที่มีกำลังซื้อสูง และมีสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตลรวมถึงเอนเตอร์เทนเมนต์ด้วย
ทั้งนี้คอมมูนี้ตี้ มอลล์ ที้ง 4 รูปแบบ ต่างมีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป โดยในส่วนของสยามฟิวเจอร์ตั้งเป้าที่จะขยายสาขา 5 แห่งในปีนี้ แบ่งเป็น ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ 2 แห่ง เนเบอร์ ฮูด 2 แห่ง และคอมมูนิตี้ เซ็นเตอร์ 1 แห่ง
อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ ขนาดใหญ่หรือเล็กก็ตาม ต่างก็มีจุดขายที่แตกต่างจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่มีสินค้าครบเครื่องให้ผู้บริโภคไปเดินชอปปิ้งไม่ว่าจะเป็นไฮแบรนด์ แฟชั่น เพชร อัญมณี หรือแม้แต่รถยนต์ ในขณะที่คอมมูนิตี้ มอลล์ เน้นตอบสนองชีวิตประจำวัน มีซูเปอร์มาร์เก็ต มีบริการธนาคาร ไปรษณีย์ คลินิก ร้านทำผม ขายยา โรงเรียนสอนดนตรี ทำให้มีทราฟฟิกที่สูงกว่าห้าง โดยนพพรคาดว่าผู้บริโภคมีการใช้บริการในคอมมูนิตี้ มอลล์ 8 ครั้งต่อเดือน ในขณะที่ไปใช้บริการในห้างใหญ่เพียง 4 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น
ในการเกิดขึ้นของชุมชนมากมายจะมีมาตรฐานอย่างไรที่จะทำสาขามิให้เกิดการแข่งขันกันเอง นพพร ให้ทัศนะว่าพันธมิตรจะเป็นผู้ให้คำตอบว่ารัศมีแค่ไหนที่ควรขยายสาขาโดยไม่กระทบกับสาขาที่มีอยู่
คีย์ซักเซส
แม้คอมมูนิตี้ มอลล์ จะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ก็มิได้หมายความว่าทุกที่จะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นจะต้องอาศัยกุญแจแห่งความสำเร็จซึ่งประการแรกคือเรื่องของทำเล ประการต่อมาคือการวางคอนเซ็ปต์ของศูนย์ฯ และยังมีเรื่องของการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของประสบการณ์และชื่อเสียงซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องสั่งสม แต่ก็มิได้หมายความว่ารายใหม่จะไม่สามารถเข้ามาได้ เนื่องจากตลาดยังไม่อิ่มตัว ยังมีช่องว่างสำหรับคอมมูนิตี้ มอลล์ เพราะการขยายตัวของเมืองยังมีอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงของการค้ารูปแบบเดิมๆก็เป็นโอกาสให้เกิดคอมมูนิตี้ มอลล์ หรือตลาดสดกลายพันธุ์ แต่ทั้งนี้ในบางพื้นที่ก็ยังไม่มีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นโมเดิร์นเทรด ดังนั้นการบริหารจัดการที่ดีจะทำให้ตลาดแบบเดิมมีความทันสมัยขึ้นมาได้ ผนวกกับการมีพันธมิตรก็จะช่วยให้เกิดเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ขึ้นมาได้
"ในช่วงที่เศรษฐกิจตก คนที่อยู่ได้คือคนที่บริหารเป็น เรามีทุนน้อย ก็นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ประสิทธิภาพเกิดจากการบริหารที่ดี อย่างกรณีที่ดินเรามีมากพอที่จะใช้ในการขยายธุรกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า แต่เราก็ไม่สะสมที่ดินเอาไว้เฉยๆโดยไม่เกิดประโยชน์" นพพร กล่าว
การเกิดขึ้นของคอมมูนิตึ้ มอลล์
"คอมมูนิตี้ มอลล์ เป็นรูปแบบการค้าแบบเดิมๆในชีวิตประจำวันที่เราไม่ได้สังเกต สมัยก่อนมีตึกแถว มีตลาดสด มีชุมชน เพียงแต่ไม่ได้มีการจัดรูปแบบให้ทันสมัย สะดวกสบาย สะอาด ปลอดภัยเหมือนทุกวันนี้ พื้นฐานเดิมผมก็ทำตลาดสดมีนบุรี 60 ไร่ เรามี 2 ตลาด มีรถเมล์มาลง มีห้องแถว 300 กว่าห้อง มีร้านค้ากว่า 3,000 แผง จะเป็นรองก็คงแค่ตลาดยิ่งเจริญกับตลาดรังสิต เราก็มาคิดว่าจะจัดระเบียบอย่างไรให้ตลาดมีความทันสมัย เราก็เปลี่ยนจากตลาดสดเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต ตึกแถวแบบเดิมที่มีขนาดเท่ากันหมดก็มาทำพื้นที่ใหญ่เล็กให้แตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน มีการยกระดับการบริการ มีพื้นที่ส่วนกลาง มีระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งจริงๆแล้วคอมมูนิตี้ มอลล์ก็คือตลาดสดกลายพันธุ์ดีๆนี่เอง" นพพร วิฑูรชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเม้นท์ กล่าว
ในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาก็มีคอมมูนิตี้มอลล์กว่า 90% จากศูนย์การค้าทั่วอเมริกาที่มีกว่า 45,721 แห่ง ซึ่งหากย้อนไปในอดีตทางยุโรปเองก็จะมีสแควร์ที่มีการค้าขาย มีการแสดงความสามารถต่างๆ นั่นก็ถือเป็นคอมมูนิตี้อย่างหนึ่ง ซึ่งอยู่คู่โลกมาเป็นพันๆปี เพียงแต่ของใหม่มีการทำให้เป็นโปรเฟสชันนอลมากขึ้น
ดังนั้นจึงถือได้ว่าคอมมูนิตี้ มอลล์เป็นสิ่งที่มีมานานเพียงแต่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มองข้าม หรืออาจจะมีบางคนหันมาทำแต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากขาดความครบเครื่อง ขาดพันธมิตรที่จะมาสร้างสีสันและแรงดึงดูดที่ดีพอ ส่วนใหญ่เราจะเห็นมืออาชีพทำแต่ศูนย์การค้าใหญ่ๆเพราะมี Economy of Scale ที่ใหญ่กว่า
ทั้งนี้โดยความเป็นจริงแล้ว คอมมูนิตี้ มอลล์ ก็มีห้างใหญ่ทำอย่าง โลตัส คาร์ฟูร์ บิ๊กซี มีห้าง มีร้านค้าเช่า มีฟู้ดคอร์ต มีที่จอดรถสะดวก ก็ถือเป็นคอมมูนิตี้กลายๆ เพียงแต่ห้างเหล่านั้นเล่น 2 บทบาท คือมีความเป็นรีเทลเลอร์ร่วมด้วย ดังนั้นถ้าเรานับดิสเคานต์สโตร์เหล่านี้ร่วมด้วยก็เชื่อว่าตลาดคอมมูนิตี้มีไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดเมืองไทย
คอมมูนิตี้ มอลล์ เน้นไปตั้งย่านชุมชน ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นใจกลางเมือง โอกาสเติบโตของคอมมูนิตี้จึงมีมากพอสมควรเพราะโตไปพร้อมกับการขยายของเมือง นอกจากนี้การที่ตลาดในเมืองใหญ่มีการแข่งขันสูงก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ใครต่อใครกระโดดเข้าสู่คอมมูนิตี้ มอลล์ เนื่องจากไปได้ทุกที่ตั้งแต่ชุมชน หมู่บ้านจัดสรร แม้กระทั่งคอนโดมิเนียม
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|