|

ธุรกิจส่งออก-นำเข้าดิ้นรับมือบาทแข็ง
ผู้จัดการรายวัน(16 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
กลุ่มผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ -วัสดุก่อสร้าง ดิ้นปรับกลยุทธ์ หลังค่าเงินบาทแข็งแตะ 33 บาทต่อดอลล่าร์ "อินเด็กซ์" เผยประเมินรายได้ช่วงค่าบาทอยู่ที่ 39-40บาทต่อเหรียญดอล์ล่าร์ ยอดขายเท่าเดิมแต่รายได้หดกว่า 15-20% ขณะที่กำไรหายกว่า 10%แจงปัจจุบันค่าเงินบาทแตะที่ 33บาทกำไรเหลือนิดเดียว ธุรกิจกระเบื้องค่ายRCIยิ้มรับค่าบาทแข็ง เหตุนำเข้ากระเบี้องจากจีนทำตลาดกว่า 30% คาดสิ้นปียอดขายตามเป้า 1,800 ล้านบาท ขณะที่กระเบื้อง"ตราเพชร" แจงผลบวกค่าบาทแข็ง ต้นทุนวัตถุดิบลด เหตุนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศกว่า 60%
จากสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับภาคการส่งออก เริ่มประสบปัญหากับค่าเงินที่มีผลต่อความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันทางด้านราคา ถึงกระนั้น ในบางภาคธุรกิจก็อาจจะได้รับผลบวกจากการที่เงินบาทแข็งค่า หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน จึงได้สำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจต่างๆ เกี่ยวกับผลเสียและผลเสียจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
อินเด็กซ์ฯปรับตัวออกสินค้าใหม่ดันกำไร
นายกิจจา ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ ลีฟวิ่งมอลล์ จำกัด ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ทำตลาดในประเทศและส่งออก เปิดเผยว่า ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตเพื่อส่งออกอย่างมาก หลังจากที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างรวดเร็ว จากที่39-40 บาทต่อดอลล่าร์ และแม้ค่าเงินบาทระดับดังกล่าว ผู้ประกอบการก็ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว แต่ถือว่าเป็นระดับที่ผู้ประกอบการยังสามรถรองรับต้นทุนได้ อย่างไรก็ตามการแข็งค่าของเงินบาทนั้น เดิมทีคาดว่าไม่น่าจะเกินระดับ 36บาท
ทั้งนี้ ในช่วงที่ค่าเงินบาทแตะระดับที่ 36บาทต่อดอลลล่าร์นั้น บริษัทได้รับผลกระทบทางด้านรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศนั้น ไม่สามารถปรับราคาขายขึ้นได้ เพราะลูกค้ารับไม่ได้กับราคาที่จะปรับขึ้น ประกอบกับการทำสัญญาซื้อขายสินค้าระยะยาว ซึ่งลูกค้าจะสต็อกสินค้าไว้ประมาณ1ปี (สัญญาซื้อขายราคาเดิมโดยคงราคาขายราคาเดิม1ปี) ทำให้บริษัทไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งตัวขึ้นก็ตาม
นอกจากนี้ สาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ เนื่องจากการแข็งขันในตลาดต่างประเทศค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะจากประเทศจีนและเวียดนามที่จ้องจะเข้ามาตีตลาดเฟอร์นิเจอร์จากประเทศไทย ซึ่งหากบริษัทปรับขึ้นราคาสินค้า ก็จะทำให้สินค้าจากประเทศจีนที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า สามารถเข้ามาเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดได้
"การแข็งค่าของเงินบาทที่ขึ้นมาอยู่ที่ 33 บาทนี้ กระทบต่อบริษัทอย่างมาก ซึ่งโดยในช่วงที่ค่าเงินบาทอยู่ในระดับ 39-40บาท นั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อบริษัทอินเด็กซ์ฯ ยอดรายได้จากการส่งออกลดลง 15-20% เนื่องจากอัตราแรกเปลี่ยนทำให้เมื่อแปลงเป็นเงินบาทกลับได้น้อยลง ในขณะที่ด้านอัตรากำไรเบื้องต้นลดลงถึง 10% ทำให้เหลือกำไรจากการส่งออกเล็กน้อย และยิ่งเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแตะที่ระดับ 33บาทนี้ ยิ่งส่งผลต่อกำไรให้ลดลงเหลือน้อยมากในขณะนี้"
นายกิจจา กล่าวว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น แต่ในส่วนของบริษัทเองก็ยังคงไม่มีการปรับลดสัดส่วนการส่งออกและยังคงเพิ่มยอด(ออร์เดอร์)การส่งออกไว้เท่าเดิม โดยในปี50นี้บริษัทยังคงเป้าการส่งออกไว้ที่40% ของยอดขายรวมของบริษัท 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้สาเหตุที่ในปีนี้ บริษัทมีสัดส่วนการส่งออกเหลือเพียง40% นั้น เนื่องจากตลาดในประเทศมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก จากผลตอบรับกลยุทธ์การขาย Joy price หรือสินค้าราคาเดียว ทำให้ยอดขายในประเทศเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านๆมา
สำหรับการปรับตัวในตลาดส่งออกนั้น บริษัทได้มีการปรับและออกแบบสินค้าใหม่ที่มีดีไซน์หลากหลายเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านรูปแบบ และสีสัน และออกแบบสินค้า(ดีไซน์)ให้มีความเฉพาะตัวมากขึ้น ซึ่งทำให้ในแต่ละปีบริษัทมีสินค้าดีไซน์ใหม่ที่ออกมาจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยการออกสินค้าใหม่ และมีรูปแบบดีไซน์เฉพาะตัวมากขึ้น นี้จะทำให้บริษัทสามารถปรับราคาขายสินค้าตัวใหม่ได้สูงขึ้น และเพื่อให้สามารถแข่งขันกับสินค้าจากจีนและประเทศคู่แข่งอื่นๆได้
" เดิมที่กำหนดว่าในแต่ละยอดสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้า จะต้องมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000 ชั้น แต่ขณะนี้เราลดลงจำนวนมาเหลือต่ำสุด 600 ชิ้นต่อยอดการสั่งซื้อ ทำให้เราได้เปรียบสินค้าจากจีน เพราะจีนขายสินค้าราคาต่ำแต่ปริมาณสั่งซื้อต้องมากในแต่ละครั้ง จึงจะทำให้มีกำไรจากการขายได้ นอกจากนี้ เรายังได้เปรียบด้านดีไซน์สินค้าด้วย ทำให้เราสามารถแข่งนั้นกับจีนได้"
ส่วนกรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้ว จะทำให้สินค้าจากประเทศจีนทะลักเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น นายกิจจา กล่าวว่า สินค้าจีนเข้ามาในประเทศไทยนานแล้ว แต่ยังมีจำนวนไม่มากนั้น เพราะการเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยไม่ง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากมีอุปสรรค์ปัญหาหลายๆ ด้านทั้งในส่วนค่าขนส่ง พื้นที่โรงงานสต็อกสินค้าซึ่งจำเป็นต้องมีขนาดที่ใหญ่มากๆ นอกจากนี้ ยังมีภาษีนำเข้าด้วยทำให้ต้นทุนในการขายสูงขึ้นด้วย
ตลาดกระเบื้องยิ้ม-นำเข้าต้นทุนถูกลง
ด้านนายสัญญา นองสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม จำกัด(มหาชน) หรือ RCI กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนการส่งออก5% และที่เหลือเป็นการขายในประเทศ 95% จากเป้ายอดขายที่วางไว้ทั้งปี 1,800ล้านบาท ทำให้การแข็งค่าของเงินบาทนั้น ส่งผลกระทบกับบริษัทค่อนข้างน้อย แต่การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาที่ 33 บาท ต่อดอลล์ล่าร์ ทำให้เกิดผลดีกับบริษัท เนื่องจาก RCI นำเข้าสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาทำตลาดกว่า 30%
ดังนั้นในระยะสั้น ผลดีจึงเกิดกับบริษัทมากกว่าผลเสีย โดยการแข็งค่าของเงินบาทนี้ จะส่งผลดีต่อบริษัททำให้ในปีนี้ มีโอกาสทำยอดขายได้ตามเป้าที่วางไว้ จากเดิมที่ในช่วงต้นปีที่ผ่นมา ตลาดค่อนข้างชะลอตัว เนื่องจากธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ย่ำแย่กันหมด ยกเว้นตลาดในกลุ่มคอนโดมิเนียม แต่เป็นตลาดที่มีสัดส่วนไม่มาก แต่เมื่อค่าเงินบาทแข็งขึ้น ช่วยให้บริษัทมีกำไรจากการขายมากขึ้น อย่างไรก็ตามในระยะสั้นนั้นผลดีอาจจะเกิดต่อบริษัท แต่ในระยะยาวแล้วในฐานะผู้ผลิตสินค้าก็ได้รับผลเสียมากกว่า เพราะการเข้ามาของสินค้าจีนจะส่งผลกระทบต่อตลาดในประเทศค่อนข้างมาก
"ผลกระทบจากการไหลเข้าของสินค้าจีน ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งนี้ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากประเทศได้มีการเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศจีน(FTA) ดังนั้นผู้ประกอบการเอง จำเป็นต้องปรับตัวและช่วยเหลือตัวเองเพื่อเอาตัวรอดภายใต้การแข่งขันเสรี "
นายสาธิต สุดบรรทัดผู้จัดการทั่วไปสายการขายและการตลาด บริษัท กระเบื้องหลังคาตราเพชร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้รับผลดีมากกว่าผลเสียจากการแข็งค่าของเงินบาท เนื่องจากการส่งออกของบริษัทมีสัดส่วนเพียง 10% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากการขายในประเทศ
นอกจากนี้ในส่วนของการส่งออกนั้น กลุ่มประเทศที่บริษัทส่งออกยังเป็นกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะอิงเงินสกุลเงินบาทเป็นส่วนใหญ่ หรือหากจ่ายเป็นเงินดอลล์ล่าร์ บริษัทก็จะแปลงค่าเป็นเงินสกุลยูโร ก่อนแรกกลับเป็นเงินไทย ทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่มาก ในขณะเดียวกับบริษัทกลับได้ผลดีมากกว่า เนื่องจากต้นทุนของบริษัททั้งหมด 100% แบ่งเป็นต้นทุนการผลิต20% ส่วนที่เหลือ80% เป็นต้นทุนวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าถึง 60%ส่วนอีก 20% เป็นวัตถุดิบในประเทศ อาทิ ปูนซีเมนต์ แก๊ส ฯ ลฯ ดังนั้นเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าจึงส่งผลดีกับธุรกิจของบริษัทเพราะต้นทุนวัตถุดิบจากการนำเข้าลดลงไปมาก
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|