|
ตลาดหุ้นฟุ้งมาร์เกตแคปสิ้นปีแตะ7ล.ล้าน
ผู้จัดการรายวัน(16 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดหลักทรัพย์ฯ วาดฝันมาร์เกตแคปปีนี้แตะ 7 ล้านล้าน เชื่อปี 53 มาร์เกตแคปโตเท่าจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ 75-80% "ภัทรียา" ระบุตั้งแต่ต้นปีบริษัทจดทะเบียนใหม่มีมาร์เกตแคปรวมเกือบแสนล้าน เผยไม่อยากปรับลดเป้าบจ.ห่วงกระทบความมั่นใจบริษัทที่เตรียมระดมทุน ด้าน ก.ล.ต. หนุนเชื่อมตลาดหุ้นต่างประเทศ เปิดช่องให้บริษัทไทยในต่างประเทศกลับเข้ามาระดมทุนได้ง่ายขึ้น ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือไต้หวัน ศึกษาจดทะเบียนดูอัล ลิสติ้ง ETF เพื่อเพิ่มสินค้าให้นักลงทุน คาดพร้อมเปิดซื้อขาย 2 ตลาดภายในปีนี้
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่ตั้งเป้ามาร์เกตแคปตลาดหลักทรัพย์ในปี 2553 จะเท่ากับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จากปัจจุบันที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้มาร์เกตแคปปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 6.5 ล้านล้านบาท หรือ 75-80% ของ GDP ซึ่งปรับเพิ่มจากก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่เพียง 60% ของจีดีพี และมีความเป็นไปได้ที่มาร์เกตแคปในช่วงสิ้นปีจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ แม้ว่าช่วงที่ผ่านมามาร์เกตแคปตลาดหลักทรัพย์ฯจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากแต่เป็นการปรับขึ้นจากราคาหุ้น ซึ่งที่จริงแล้วตลาดหลักทรัพย์ฯ อยากให้การปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องทั้งราคาหุ้นและจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่ควรจะต้องเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับมูลค่ามาร์เกตแคปของบริษัทจดทะเบียนใหม่ที่เข้ามาระดมทุนในปีนี้ตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 9.7 หมื่นล้านบาท โดยตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างการหารือกับบริษัทที่สนใจจะเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่ามีความพร้อมที่จะเข้าจดทะเบียนหรือไม่อย่างไร ส่วนการประชุมของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเรื่องเป้าหมายบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียนว่าจะมีการปรับลดลงหรือไม่นั้น ส่วนตัวยังหวังว่าจะคงเป้าเดิมเนื่องจากหากมีการเปลี่ยนแปลงอาจจะส่งผลต่อความมั่นใจของบริษัทที่เตรียมจะเข้ามาระดมทุน
"เราไม่อยากจะปรับลดเป้าบจ.เพราะอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของบริษัทที่จะเข้ามาระดมทุน แต่เรื่องดังกล่าวจะต้องพิจารณาหารือร่วมกับคณะกรรมการอีกครั้งว่าจะสรุปออกมาอย่างไร" นางภัทรียา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ สนับสนุนให้บริษัทที่ต้องการระดมทุนเพิ่มนำไปขยายธุรกิจเข้ามาระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นเกิดต่อระบบเศรษฐกิจจริง เพราะปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจโดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีค่อนข้างมาก
นางภัทรียา กล่าวอีกว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงที่ผ่านมาค่าพีอีเรโชปรับเพิ่มขึ้นทำให้ส่วนต่างระหว่างตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นต่างประเทศแคบลงมาอยู่ที่ประมาณ 2-3 เท่า จากเดิมที่ห่างถึงมากกว่า 5 เท่า ขณะที่อัตราหนี้สินต่อทุน หรือดีอี เรโช ปัจจุบันปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมากจากก่อยวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5 เท่ามาอยู่ที่ 1.1 เท่า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนนั้นเอง
ทั้งนี้ จากตัวเลขการะดมทุนโดยการกู้จากสถาบันการเงินปัจจุบันอยู่ในระดับประมาณ 70% เมื่อเทียบกับ GDP ขณะที่การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 65% ของ GDP และการระดมทุนโดยออกพันธบัตรอยู่ที่ประมาณ 60% ของ GDP ซึ่งในส่วนของการออกพันธบัตรในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำและเริ่มมีเสถียรภาพน่าจะส่งผลทำให้บริษัทจดทะเบียนมาการออกพันธบัตรมากขึ้นได้ในอนาคต
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึง แผนงานการเชื่อมโยงตลาดทุนไทยกับต่างประเทศ ว่า สำนักงานก.ล.ต.ต้องการเชื่อมโยงระหว่างตลาดทุนกับต่างประเทศเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ การหารือกับตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศที่จะให้มีการนำสินค้ามาซื้อขายระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีระหว่างตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 2 แห่งเนื่องจากนักลงทุนไทยสามารถมีทางเลือกในการลงทุนได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่อยู่ระหว่างเตรียมที่จะเปิดซื้อขาย กองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟ (ETF) มีแผนที่จะนำสินค้า ETF ของไทยไปจดทะเบียนในต่างประเทศใน ขณะเดียวกันจะนำ ETF ของตลาดหุ้นในต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งจะทำให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้
นอกจากนี้ การขยายการลงทุนและการส่งเสริมให้มีการเข้ามาใช้ตลาดทุนเพื่อระดมทุนเป็นอีกแนวคิดที่ก.ล.ต.ให้ความสำคัญโดยที่ผ่านมาได้เปิดโอกาสให้บริษัทไทยในต่างประเทศแถบเอเชียอาคเนย์ 10 ประเทศที่มีการจำกัดว่าจะต้องเป็นบริษัทร่วมทุนทุนไทยในต่างประเทศ (Joint Venture) สามารถนำบริษัทที่ไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศเข้ามาระดมทุนในประเทศเพื่อนำเงินออกไปขยายกิจการในต่างประเทศได้
ทั้งนี้ ในอนาคตอาจจะมีการขยายขอบเขตของบริษัทไทยที่ไปประกอบธุรกิจในต่างประเทศให้ครอบคลุมในปลายประเทศมากขึ้นที่สามารถนำบริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนไทย โดยการระดมทุนอาจจะเป็นการขายหุ้น หรือการออกพันธบัตรเพื่อนำไปสร้างโรงงานหรือลงทุนในต่างประเทศได้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้อนุมัติวงเงินในการระดมทุนขั้นต้น 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
"เราอาจจะขยายให้ครอบคลุมในหลายประเทศมากขึ้น แต่คงต้องพิจารณาอีกครั้งเพราะหากเปิดจนหมดก็ไม่มีความจำเป็นเพราะประเทศที่อยู่ไกลเค้าก็ไม่เข้ามาจดทะเบียนกับเราอยู่ดี" นายธีระชัย กล่าว
นางภัทรียา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันในการที่จะนำกองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟ (ETF) เข้ามาจดทะเบียนซื้อขายแบบ 2 ตลาด หรือดูอัล ลิสติ้ง (Dual Listing) ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถที่จะเปิดมีการซื้อขาย ETF ระหว่างตลาดหุ้นไทยและไต้หวันได้ภายในปีนี้ หลังจากที่นำ ETF เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นไทย
สำหรับการทำ ดูอัล ลิสติ้ง ETF นั้น ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการที่จะส่งเสริมให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ และปัจจุบันตลาดหุ้นในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และเกาหลี มีการทำดูอัล ลิสติ้ง ETF แล้ว ขณะที่กระบวนการทำงานในการทำ ดูอัล ลิสติ้ง ETE กับตลาดไต้หวันจะทำได้สะดวกจากก่อนหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันในเรื่องการสนับสนุนได้อนุพันธ์
"เมื่อ ETF เข้าเทรดในตลาดหุ้นไทยแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯจะขอดูในเรื่องการซื้อขายว่าจะเป็นอย่างสักระยะหนึ่งก่อน แล้วจะมีการพิจารณานำไป ดูอัล ลิสติ้ง กับไต้หวัน ซึ่งอยากเห็นให้เกิดการทำธุรกรรมดังกล่าวในปีนี้" นางภัทรียา กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|